ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 11-17 มกราคม 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

9 มกราคม 2562 “มติชน” ก้าวสู่ปีที่ 42

ยังอบอุ่นจากญาติมิตร เพื่อนพ้องที่นำพรมาให้เฉกเช่นทุกปี

“มติชนสุดสัปดาห์” ซึ่งอยู่ในร่มเงา “มติชน” เป็นปีที่ 39 ก็อบอุ่นใจไปด้วย

แต่ในความอบอุ่นใจดังกล่าว

กลับรู้สึกโหวง-โหวง อยู่ในส่วนลึกๆ ไม่ได้

พลิกไปอ่านที่หน้า 56 คอลัมน์ “หน้าพระลาน” ของจัตวา กลิ่นสุนทร

ก็จะรู้ว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น

 

ใช่แล้ว

จัตวา กลิ่นสุนทร เขียนถึง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” หลังรับทราบข่าวปิดตัวลงเมื่อตอนสิ้นปี พ.ศ.2561

จัตวา กลิ่นสุนทร ไม่ใช่คนแปลกหน้าของสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์อย่างแน่นอน

เพราะเริ่มต้นชีวิตการทำหนังสือที่นั่น

และเติบโตกระทั่งเป็น “บรรณาธิการ”

ดังนั้น “2497-2561” 65 ปี “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” / ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง ที่จัตวา กลิ่นสุนทร กลั่นกรองออกมา

จึงเป็นประสบการณ์ “ตรง” ที่มีกับนิตยสารเล่มนี้

เป็นประสบการณ์ตรงที่มองย้อนหลังไปอย่างเข้าใจในอนิจลักษณะ

 

“…ไม่น่าแปลกประหลาดอะไร ความเปลี่ยนแปลง คือ ความไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งหมายรวมถึงในอุตสาหกรรมการโฆษณา

มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล จำนวนมากหลายช่องจนน่าเรียกว่าเกินความต้องการ

เกิดการช่วงชิงเม็ดเงินของการโฆษณาจนต้องชะลอตัวลง

สื่อสิ่งพิมพ์เป็นอันดับแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจนแทบปรับตัวไม่ทัน

ต้องล้มหายตายไปจากแผงหนังสือด้วยการปิดตัวเองลง

แน่นอน บุคลากรทั้งหลายทั้งปวงย่อมตกงาน เปลี่ยนงาน หางานทำกันใหม่

จากการเสพสื่อ การติดตามความเคลื่อนไหวเป็นไปในวงการของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ รายเดือน

รู้สึกใจหาย

ที่หลายๆ แห่งค่อยๆ ปิดตัวเองลงไปโดยไม่สามารถจะยืนหยัดต่อสู้กับความขาดทุนอย่างไม่มีโอกาสจะฟื้นคืนกลับได้อีกต่อไป

นอกจากต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคแห่งความร่วมสมัยของเทคโนโลยี

สิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ยอดจำหน่ายสูงสักเพียงไหนย่อมสั่นสะเทือนทั้งนั้น

เพราะเหตุว่าทุกวันนี้ประชาชนคนส่วนใหญ่ทั่วไปไม่อ่านหนังสือพิมพ์กันแล้ว ยังคงเหลือก็แต่เหล่าผู้สูงวัยเท่านั้น…”

นั่นคือสภาพของสื่อไทยที่ “จัตวา กลิ่นสุนทร” ฉายภาพให้เห็นสิ่งที่กำลังเผชิญ

อันรวมถึง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ด้วย

 

“สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ปรากฏโฉมบนโลกสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497

ภายหลังหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ประมาณ 3 ปีกว่า-4 ปี

โดยศาสตราจารย์ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช”

ซึ่งกำลังโด่งดังเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะคอลัมนิสต์ผู้รอบรู้ กล้าหาญเฉียบคมในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งส่วนมากจะเป็นรัฐบาลทหาร

เพราะมีแนวนโยบายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจอิทธิพล

จึงถือเป็น “สถาบันสื่อ” ที่อยู่ในความฝันของคนหนุ่มสาว ที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันแห่งนั้น

แน่นอน นามของขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ, เสถียร จันทิมาธร แห่งมติชน

ต่างล้วนผ่าน “สถาบันสยามรัฐ” มาทั้งสิ้น

 

กล่าวสำหรับแวดวงนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์

มติชนสุดสัปดาห์ และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

ดำรงอยู่ทั้งการเป็น “คู่แข่ง”

ทั้งเป็น “เพื่อน” ร่วมวิชาชีพ

และกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัวให้ทัน

แต่ที่สุด ความรู้สึกโหวง-โหวงในใจก็บังเกิดขึ้นอย่างที่ว่า

เมื่อเหลียวไปมองเห็นเพื่อนสื่อ “ร่วง” ไปอีกฉบับแล้ว