สุรชาติ บำรุงสุข : ย้อนอดีตเลือกตั้งสกปรก 2500 เกิดปรากฎการณ์อะไรขึ้นบ้าง ?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เมื่อพวกท่านต้องการจะเดินขบวนกันจริงๆ ถ้าท่านเดินไปทางซ้าย ข้าพเจ้าก็จะเดินไปทางขวา”

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

คำปราศรัยหน้าเสาธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2 มีนาคม 2500

ปีใหม่ 2562 เริ่มด้วยสัญญาณการเมืองไทยที่สำคัญคือ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีอดมองด้วยความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองไม่ได้ว่า หนึ่งในหน้าสำคัญของการเมืองไทยก็คือการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500

แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนาน แต่ประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นคำเตือนเสมอว่า รัฐบาลอำนาจนิยมอาจเอาชนะในคูหาเลือกตั้งได้ แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับแล้ว ชัยชนะจากบัตรลงเสียงอาจกลายเป็น “วิกฤตการเมือง” ได้

บทเรียนที่ทุกรัฐบาลยังต้องพึงสังวรเสมอจาก “การเลือกตั้งสกปรก” ก็คือ ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ชนะใจประชาชน แม้รัฐบาลจะมีอำนาจมากแค่ไหน ก็อยู่ไม่ได้!

การเมืองยุคกึ่งพุทธกาล

การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในระบบพรรคการเมือง อันเป็นผลจากการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498 ว่าที่จริงการเมืองชุดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการ “รื้อฟื้นประชาธิปไตย” ในปี 2498 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

การตัดสินใจนำเอาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกลับสู่การเมืองไทย เป็นผลมาจากการเดินทางเยือนต่างประเทศในช่วงกลางปี 2496 การเยือนครั้งนี้เป็นการเดินทางดูการเมืองรอบโลก

เมื่อเดินทางกลับมาแล้ว จอมพล ป. ได้นำเอารูปแบบบางส่วนของการเมืองตะวันตกมาใช้ ได้แก่ การแถลงข่าวของรัฐบาลอย่างเป็นทางการและเป็นประจำ

การอนุญาตให้มีการเปิดอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ (หรือที่เรียกว่าการ “ไฮด์ปาร์ก”) เช่น ที่ท้องสนามหลวง

และการออกกฎหมายพรรคการเมือง อันส่งผลให้กลุ่มการเมืองเริ่มฟื้นบทบาทอีกครั้ง เพราะหลังจากการรัฐประหาร 2490 แล้ว การเมืองไทยไม่เปิดให้มีการแข่งขันในรูปแบบของพรรคการเมืองเท่าใดนัก

พรรคการเมืองแรกที่มาจดทะเบียนคือพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล น่าสนใจว่าในยุคนั้นมีความชัดเจนว่า ถ้าฝ่ายรัฐบาลจะเล่นการเมืองและต้องการที่จะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปิดปัง หรือไม่จำเป็นต้องเล่นการเมืองแบบ “ปิดลับ” และกล้าที่จะเปิดเผยตัวด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองของฝ่ายรัฐบาล

พรรคนี้มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการ และกรรมการพรรคก็เป็นนายทหารระดับสูงในรัฐบาล เช่น จอมพลผิน ชุณหะวัณ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ และพลเรือเอกหลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นต้น

วันถัดมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ยื่นขอจดทะเบียน โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า และนายใหญ่ ศวิตชาติ เป็นเลขาธิการ

นอกจากนี้กลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมได้จัดตั้งพรรคขึ้น เช่น พรรคเศรษฐกร พรรคสังคมนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย การจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปอย่างคึกคัก และมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อันเป็นการกลับสู่การแข่งขันในระบบเปิดอีกครั้ง

พรรคการเมืองที่มาขอจดทะเบียนเป็นพรรคสุดท้ายคือพรรคสหภูมิ การเปิดตัวของพรรคนี้กลายเป็นความสับสนของฝ่ายรัฐบาล มีนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ปัญหาคือเลขาธิการพรรค คือนายสงวน จันทรสาขา เป็นน้องชายต่างมารดาของจอมสฤษดิ์ และพรรคมีนโยบายสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับที่พรรคธรรมาธิปัตย์ที่เคยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้า มีนโยบายที่ชัดเจนเช่นกันในการสนับสนุนจอมพล ป. เป็นนายกฯ…

ความแตกแยกระหว่างสองจอมพลปรากฏขึ้น เช่นที่เห็นถึงความแตกแยกคู่ขนานระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับ พล.ต.อ.เผ่า อันสะท้อนถึงการแข่งขันทางการเมืองระหว่างผู้นำที่เป็นทหารบกกับผู้นำที่เป็นตำรวจ

ทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะ!

การเลือกตั้งในปี 2500 มีนัยสำคัญสำหรับจอมพล ป. แม้คณะราษฎรจะสิ้นสภาพไปแล้วจากการรัฐประหาร 2490 และการปราบกบฏวังหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 แต่ปี 2500 เป็นปีที่จอมพล ป. จะอายุครบ 60 ปี และการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมีวาระครบ 25 ปี เช่นเดียวกับในทางพุทธศาสนาจะเป็นวาระครบ 25 พุทธศตวรรษ หรือที่เรียกว่า “กึ่งพุทธกาล” ซึ่งรัฐบาลเองได้เตรียมการฉลองใหญ่ไว้ในวาระเช่นนี้

และในทางการเมือง จอมพล ป. ได้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เห็นว่าจอมพล ป. แม้จะเป็นผู้นำทหาร แต่ก็เป็นนักประชาธิปไตย และยังหวังด้วยว่าการลงเลือกตั้งด้วยตนเองเช่นนี้จะช่วยลดทอนเสียงการวิจารณ์รัฐบาลลงบ้าง อีกทั้งยังให้ท่านผู้หญิงละเอียดลงรับสมัครที่จังหวัดนครนายกด้วย

สื่อในยุคนั้นเล่าว่า ที่จอมพล ป. ให้ท่านผู้หญิงลงจังหวัดนี้ เพราะ “ชื่อเมืองนี้ก็บอกแล้วว่า เป็นเมืองของนายกฯ จึงให้เมียนายกฯ ไปลงสมัคร”

แน่นอนว่าการแข่งขันทางการเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้น เพราะพรรครัฐบาลมีทิศทางชัดเจนที่จะต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้…

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าใด การแข่งขันก็ยิ่งเข้มข้นมากเท่านั้น

และเห็นได้ชัดว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างสองพรรคคือ พรรคเสรีมนังคศิลา (พรรครัฐบาล) กับพรรคประชาธิปัตย์

และในสภาพเช่นนี้จะมีการใส่ร้ายป้ายสีกันอย่างมากด้วย

นอกจากนี้จากรายงานของสื่อยังพบว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแนวโน้มที่จะได้คะแนนนิยมสูงในพื้นที่ของกรุงเทพฯ เพราะไปปราศรัยที่ไหนก็จะมีประชาชนมาฟังอย่างเนืองแน่น และขณะเดียวกันก็มีข่าวลือถึงการเตรียมโกงการเลือกตั้งของฝ่ายรัฐบาล

จอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นผู้คุมกำลังทหารไว้แต่ฝ่ายเดียว จำเป็นต้องออกมากำชับให้ “ทหารเป็นกลางทางการเมือง”

และให้ตระหนักว่าทหารเป็นทหารของชาติ จึงไม่ควรให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใด และเปิดเกมด้วยคำสัมภาษณ์ว่า

“พอรู้ข่าวว่าจะมีการเล่นสกปรกด้วยการสั่งพลร่มไพ่ไฟนับจำนวนร้อยไปลงคะแนน ทำให้ผมเป็นทุกข์เป็นร้อนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ รู้สึกแปลกใจเหลือเกินว่า ทำไมใครๆ จึงเข้าใจว่าคุณเผ่าจะโกงเสียเรื่อย ผมขอพูดอย่างเปิดอกตรงไปตรงมาว่า ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง คุณเผ่าไม่เคยสั่งผมในเรื่องที่ว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือให้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร แต่หากลูกน้องคุณเผ่าที่ภักดีเกินไปจะเล่นแบบนั้น ผมไม่รู้ด้วย…”

เป็นคำสัมภาษณ์ที่มีนัยซ่อนเร้นอย่างมาก และบ่งบอกถึงรอยร้าวของสองผู้นำ

ผู้กว้างขวาง!

บุคลากรของพรรคเสรีมนังคศิลาจะได้รับแจก “แหนบติดเสื้อตราไก่” เป็นสัญลักษณ์ (ไก่เป็นสัญลักษณ์ของจอมพล ป. ซึ่งเกิดปีระกา) บุคคลเหล่านี้เมื่อกระทำความผิดจึงทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่กล้าเข้าจัดการ

ในอีกด้าน คนเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็น “นักเลง” พล.ต.อ.เผ่าที่เป็นเลขาฯ พรรคและเป็นผู้แจกแหนบนี้ ต้องออกมาอธิบายว่า คนของพรรคเหล่านี้ไม่ใช่นักเลงอย่างที่มีเสียงวิจารณ์ แต่เป็น “ผู้กว้างขวาง” ต่างหาก

นอกจากแหนบติดเสื้อแล้ว ยังมีการพิมพ์บัตรเป็นเครื่องหมายตราไก่อีกด้วย บัตรนี้จึงกลายเป็น “บัตรอภิสิทธิ์” ในตัวเอง และในวันเลือกตั้ง คนเหล่านี้กระจายออกไปยังหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทำหน้าที่อย่างเดียวคือ ทำให้ผู้สมัครของพรรครัฐบาลชนะเสียงเลือกตั้ง

การทุจริตในการเลือกตั้งซึ่งในยุคนั้นคือการเวียนลงคะแนนเสียงซ้ำ ที่เรียกว่าให้ “เวียนเทียน” หรือการทิ้ง “พลร่ม” การเลือกตั้งจึงเต็มไปด้วยการทุจริต

ผู้สื่อข่าวตามหน่วยเลือกตั้งถูกคุกคามจากบรรดา “ผู้กว้างขวาง” ของพรรครัฐบาล บางหน่วยมีบัตรมาวางรออยู่เพื่อเตรียมใส่หีบเลือกตั้ง เช่น กรณีบัตรเจ็ดปึกใหญ่ที่หน่วยสมาคมสตรีไทย อุรุพงษ์ เมื่อต้องเปิดให้ประชาชนดู พบว่าเป็นบัตรที่ออกเสียงให้แก่พรรครัฐบาล หรือบางหน่วยไม่ยอมเปิดหีบให้ประชาชนตรวจสอบ และเมื่อถูกกดดันให้เปิดก็พบบัตรที่กาแล้วของฝ่ายพรรครัฐบาลอยู่ภายใน หรือผู้คุมบางหน่วยกาหมายเลขของผู้สมัครพรรครัฐบาลบังคับใส่มือของประชาชนที่ไปลงเสียง… การทุจริตเป็นไปอย่างกว้างขวางและ “โจ่งครึ่ม” จนปิดหีบ

ข่าวการ “ทิ้งพลร่มไพ่ไฟ” กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว แทบทุกหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาความไม่โปร่งใสอย่างมาก เมื่อถึงเวลานับคะแนน บางหน่วยในขณะนับคะแนนเกิดไฟฟ้าดับ และพอไฟติดก็พบว่าบัตรในหีบเป็นของสมาชิกพรรครัฐบาลแทบทั้งสิ้น

หรือพอไฟติด หีบที่บัตรถูกนับเกือบหมด กลับพบว่ามีบัตรเต็ม และเมื่อนับก็เป็นเสียงของฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น หรือบางหน่วยหีบบัตรหาย ใช้เวลาหานาน แต่เมื่อพบก็มีแต่บัตรของฝ่ายรัฐบาล สภาวะเช่นนี้ถูกเรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก”

การนับคะแนนใช้เวลาถึง 2 วัน 2 คืน ผลการเลือกตั้งจากจำนวน 160 ที่นั่งคือ พรรคเสรีมนังคศิลาได้ 83 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 28 เสียง และที่เหลือเป็นของพรรคอื่นๆ และในเขตกรุงเทพฯ พรรครัฐบาลได้ 7 ที่ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 2 ที่ และจอมพล ป. ได้คะแนนสูงสุด ผลนี้จะทำให้รัฐบาลชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลต่อไป แม้จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่าดีใจ แต่เป็นภาวะชั่วคราวอย่างยิ่ง

จอมพล ป. ชี้แจงว่า การเลือกตั้งวุ่นวายนั้น เป็นเพราะ “ถูกคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซง” และเป็นเพียงการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อยเท่านั้นเอง ไม่ใช่ “การเลือกตั้งสกปรก” อย่างที่ถูกกล่าวหา

การประท้วงของนิสิตนักศึกษา

การประท้วงเริ่มขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2500 ด้วยการรวมตัวของนิสิตที่หน้าเสาธงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิสิตได้ลดธงลงครึ่งเสา

การชุมนุมเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จนในเวลาสายของวันดังกล่าว จอมพลสฤษดิ์พร้อมด้วย พล.ท.ถนอม กิตติขจร และ พล.ต.ประภาส จารุเสถียร ต้องเดินทางมาจุฬาฯ และได้กล่าวปราศรัยแบบมีนัยสนับสนุนการประท้วงที่หน้าเสาธง

และเมื่อจอมพลสฤษดิ์คล้อยหลังจากจุฬาฯ ไปเพียงอึดใจ นายสรวง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินนำขบวนจากจุฬาฯ ไปกระทรวงมหาดไทย

เมื่อถึงกระทรวงมหาดไทยได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากเข้ามาร่วมสมทบ พร้อมนายสุวิช เผดิมชิต ประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำนักศึกษาเข้ามาร่วมด้วย การชุมนุมนี้มีคนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก และนำไปสู่การยื่นข้อเรียกร้อง 5 ประการคือ

1) ยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉิน

2) ประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจัดเลือกตั้งใหม่

3) ให้นิสิตนักศึกษาเป็นกรรมการการเลือกตั้งและเป็นกรรมการในหน่วยเลือกตั้ง

4) ให้ลงโทษผู้กระทำผิด

และ 5) ให้รัฐบาลตอบภายใน 24 ชั่วโมง

กระทรวงมหาดไทยบอกปัดข้อเรียกร้อง และแจ้งว่าได้ส่งเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลแล้ว นิสิตนักศึกษาจึงตัดสินใจไปทำเนียบรัฐบาล

และเมื่อทหารรักษาแนวกีดขวางที่สะพานมัฆวานต้องเผชิญกับขบวนของผู้ประท้วง ได้เกิดความตึงเครียดขึ้น

กำลังทหารเหล่านี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ ร.อ.อาทิตย์ กำลังเอก (ยศในขณะนั้น) แต่จอมพลสฤษดิ์มาถึงและประกาศด้วยประโยคสำคัญว่า “ทหารตำรวจทุกคนหยุด อย่าทำร้ายประชาชน… เปิดทางให้ประชาชนผ่านไปได้”

แม้การประท้วงจะเริ่มที่จุฬาฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วเกิดจากการประชุมของทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และศิลปากร

ด้วยคำตอบสั้นๆ เพียงเท่านี้ ก็ตามมาด้วยเสียงตอบรับโห่ร้องแสดงความพอใจ แล้วนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็ข้ามสะพานมัฆวานไปยังทำเนียบรัฐบาล ผู้ประท้วงมีเป็นจำนวนมาก จนประตูด้านหน้าของทำเนียบไม่อาจทานแรงดันได้และพังลง ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันอยู่ที่สนามหญ้าของทำเนียบ จอมพล ป. พยายามชี้แจง แต่ก็มีแต่เสียงโห่แสดงความไม่พอใจ พร้อมกับเสียงเชียร์จอมพลสฤษดิ์ การชี้แจงจบลงด้วยความไม่พอใจ แต่เสียงตะโกนสุดท้ายคือ “ไชโย ไชโย จอมพลสฤษดิ์จงเจริญ” รัฐบาลชนะเลือกตั้งด้วยบัตรลงเสียง แต่รัฐบาลไม่ชนะเสียงสนับสนุนจากประชาชน

การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวมากขึ้น รัฐบาลหมดความชอบธรรมในสายตาประชาชน และในวันที่ 20 สิงหาคม นายทหารระดับสูงในสายของจอมพลสฤษดิ์ก็ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองพร้อมกัน และในวันที่ 10 กันยายน นายทหารบกจำนวน 46 นายก็ลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลา ตามมาด้วยในวันที่ 13 กันยายน นายทหารบก 58 นาย (รวมจอมพลสฤษดิ์) ลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

และในวันที่ 16 กันยายน จอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจทำรัฐประหาร ปิดฉากยุคจอมพล ป. ลงอย่างสมบูรณ์

(ข้อมูลจาก : ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน, 2543)