สมหมาย ปาริจฉัตต์ : “กบยจ.-กศจ.” ความหวังหรือตกม้าตาย? ปฏิรูปการศึกษา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

กบยจ.-กศจ.

กบยจ. มาจากคำเต็มว่า คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาจังหวัด กศจ. มาจากคำเต็มว่า คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด

ครับ สัปดาห์นี้ผมชวนย้อนหลังกลับไปถึงเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของการบริหารการศึกษาก่อนยุคแม่น้ำห้าสาย ก่อนคลอดคำสั่งการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค 3 ฉบับออกมาใช้บังคับจนถึงขณะนี้

โดยชี้ประเด็นว่า หากคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ตามคำสั่งที่ สป 1556/2558 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน นำแนวคิดการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม มีสมัชชาการศึกษาจังหวัด หรือสภาการศึกษาจังหวัดก็ตาม เข้าไปผสมผสานแนวทางจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ผ่านกลไกระดับจังหวัดดังกล่าว อาจจะเกิดคู่ขนานกับ กศจ.

บทบาทด้านการจัดการเชิงยุทธศาสตร์และพัฒนาการศึกษาของ กศจ.น่าจะชัดเจน ก้าวหน้ากว่าที่ผ่านมา ไม่ต้องรอให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นำมาบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ เป็นหนามตำใจนักการศึกษาแนวดิ่งต่อไป

 

ประวัติศาสตร์การบริหารการศึกษาไทยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย จึงต้องฉายภาพกลับไปสิบปีที่แล้วเมื่อครั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษา พ.ศ.2552 ลงวันที่ 22 เมษายน 2552 ให้มีกลไก 3 ระดับ ได้แก่

คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (กบย.ศธ.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการทั้ง 5 แท่งเป็นกรรมการ

คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษากลุ่มจังหวัด (กบย.กจ.) ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในกลุ่มจังหวัดเป็นที่ปรึกษา หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษา สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาจังหวัด (กบยจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตในจังหวัด ผู้แทน สกอ.ในจังหวัด 1 คนที่ สกอ.แต่งตั้ง ประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด ผอ.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด ผู้แทนสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษา หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เกิน 2 คน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน ซึ่งประธานคณะกรรมการแต่งตั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม หรือผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงด้านบริหาร ด้านวิชาการ ด้านติดตามประเมินผล ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม

ในจำนวนนี้ต้องมีผู้แทนการศึกษาเอกชนจำนวน 1 คน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

ความแตกต่างขององค์ประกอบระหว่าง กบยจ. กับ กศจ. นอกจากตัวกรรมการและเลขานุการและกรรมการที่มาจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว จะเห็นว่าอำนาจหน้าที่ของ กศจ.มีมากกว่า กบยจ.

โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ในข้อ 4 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 เสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

ขณะที่ กบยจ.มีอำนาจหน้าที่จำกัดเฉพาะด้านการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด และส่งเสริม ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งมีการจัดทำเอกสารข้อมูล แผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด มาตั้งแต่ปี 2553-2556 แล้ว ยังไม่ทันได้ขับเคลื่อนจริงจังก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน

เหตุที่กลไก กศจ.เน้นการทำงานไปในเรื่องบริหารงานบุคคล เพราะเห็นว่าปัญหาการขาดธรรมาภิบาล ทุจริตในวงการการศึกษาเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องจัดการให้ลดลงหรือหมดไป

และคงเป็นผลมาจากองค์ประกอบของคณะทำงานที่คิดกลไก กศจ. ซึ่งมาจากกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เป็นทีมเลขาฯ ส่วนกลุ่มที่คิดให้มี กบยจ. ใช้บุคลากรจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นทีมเลขาฯ

ผลงานหรือข้อเสนอที่ออกมาและมีผลถึงทิศทางการบริหารการศึกษาหรือด้านอื่นๆ ก็ตาม กรณีตัวอย่างจากสองกลไกนี้คือ กบยจ. กับ กศจ. ในเชิงการบริหารจัดการ สะท้อนให้คิดว่า การเลือกใช้ทีมงานเลขาฯ มีความสำคัญ และมีผลต่อผลผลิตที่ออกมาแตกต่างกันอย่างชัดเจน

หากคณะทำงานทบทวนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการยุคแม่น้ำห้าสายเอาแนวทาง กบยจ.มาเป็นฐานคิด คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจจะแตกต่างไปจากที่ประกาศออกมาก็เป็นได้

ประเด็นปัญหาความขัดแย้ง ช่องว่างระหว่างศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งขึ้นต่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งขึ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีการฟื้นตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่คิดกลไก กศจ. คงเห็นว่า ถ้าไม่ฟื้นศึกษาธิการจังหวัดขึ้นมา แนวคิดการบริหารจัดการเชิงพื้นที่โดยจังหวัดเป็นศูนย์กลาง จะเกิดขึ้นไม่ชัดเจน

 

บทสรุปของปัญหา ยักษ์สองตนที่ยังยืดเยื้ออยู่ในหลายจังหวัดจะมีจุดจบอย่างไร กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไม่ยอมฟันธง แต่เสนอทางออกใหม่ไปอีกทาง รายละเอียดเป็นอย่างไร ไว้ค่อยว่ากันต่อไป

ภายใต้สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ ความเป็นจริงที่น่าเศร้าก็คือ แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด กลุ่มจังหวัด ที่เคยทำท่าว่าจะจุดติดตั้งแต่ปี 2553 ยังอยู่ในกระดาษ ไม่ได้ลงมือปฏิบัติเสียที

ผลจากความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย ทำให้จุดเน้นทางการบริหารของผู้บริหารแต่ละคนแตกต่างกัน สิ่งที่คนเดิมทำไว้ไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจัง ชะตากรรมการศึกษาไทยจึงเป็นเช่นนี้เรื่อยมา

ที่ผมเอาหนังม้วนเก่ามาฉายใหม่นี้ ก็เพื่อให้การบริหารการศึกษาไทยได้รับการปฏิรูปจริงๆ เสียที หากยังห้ำหั่นช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์กันอยู่ ทั้งในระบบราชการและสนามการเมืองวันนี้ เด็กไทยและอนาคตประเทศไทยยิ่งมืดมนลงไปทุกวัน