บทสรุปธุรกิจไทย 2561 “ร้านสะดวกซื้อ” ค้าปลีกพลิกชุมชน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ปลายปีเก่าต่อต้นปีใหม่ ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความคิดและมีบทสรุปไว้ เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์สำคัญๆ ที่เป็นไปกับเรื่องราวที่เคยนำเสนอในระยะที่ผ่านๆ มา ก่อนจะมุ่งมองไปข้างหน้า จากนี้จึงจะขอนำเสนอซีรี่ส์ชุด “บทสรุปปี 2561” โปรดติดตาม

บทสรุปปี 2561-ธุรกิจทรงอิทธิพล

“ธุรกิจซึ่งมีพลวัต มีพลังพิเศษ กำลังจะเผชิญความท้าทายใหม่ เชื่อว่ามีทั้งมาจากพลังธุรกิจเอง กับแรงปะทะสังคมวงกว้าง” ผมเองเคยสรุปมิติข้างต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เชื่อว่าจากนี้ก็ยังจะเป็นเช่นนั้น และย่อมเผชิญความท้าทายมากขึ้นอีก

“ธุรกิจซึ่งปรับโฉมหน้าสังคมโดยรวมกับสังคมธุรกิจ ตลอดจนวิถีชุมชน สร้างผลสะเทือนวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เริ่มก่อตัวมีพลังอย่างแท้จริงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เชื่อว่าพลังและผลสะเทือนจะขยายวงต่อไปอีก นั่นคือธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะเครือข่ายขนาดเล็ก ที่เรียกว่าร้านสะดวกซื้อ (Convenience store) เครือข่ายร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุด 7-Eleven เพียงรายเดียวครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศด้วยสาขาเกือบ 9,000 แห่ง มีอัตราการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื่อกันว่าจะมีถึงปีละประมาณ 1,000 แห่งทีเดียว”

ข้อเขียนเคยนำเสนอไว้เมื่อปลายปี 2559 เพียงปีเดียวต่อจากนั้น (ปี 2560) 7-Eleven ก็มีเครือข่ายร้านทะลุ 10,000 แห่ง

ทั้งมีแผนการอันห้าวหาญต่อไปอีกว่า ในปี 2564 จะมีเครือข่ายให้ครบ 13,000 แห่ง

ร้านสะดวกซื้อมีเครือข่ายสาขามากที่สุดในประเทศไทย มากกว่าเครือข่ายทั้งหลายทั้งปวงในสังคมธุรกิจ ซึ่งสามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีมากกว่าสำนักงานของรัฐที่ย่อยที่สุด อย่างองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.( มีแค่กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ)

และอาจเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้คนมีกิจกรรมมากกว่ามาที่วัดเสียอีก แม้ตามสถิติวัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศมีกว่า 3 หมื่นแห่งก็ตาม

“ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละ 10.9 ล้านคน” ข้อมูลของ 7-Eleven เพียงรายเดียว ให้ตัวเลขที่น่าทึ่งรายงานไว้เมื่อปี 2559 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “มีมากกว่า 11.8 ล้านคนต่อวัน” นั่นคือข้อมูลล่าสุด (อ้างจากรายงานประจำปี 2560 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน))

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า “จำนวนร้านค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ ลักษณะกลุ่มร้านย่อยภายใต้บริษัทเดียวกัน (Chain Store) ในปี 2560 มีทั้งสิ้น 15,883 สาขา เพิ่มขึ้น 1,036 สาขา โดยส่วนใหญ่มาจากการขยายสาขาของร้าน 7-Eleven ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงร้านสาขาเดิม”

เครือข่ายค้าปลีกดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับสังคมมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เนื่องมาจากสินค้าและบริการสามารถตอบสนองชีวิตพื้นฐาน เข้าถึงผู้คนวงกว้างที่สุด สินค้าและบริการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากสินค้าอุปโภคบริโภค สู่บริการพื้นฐานสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะการชำระเงินในการใช้บริการสาธารณูปโภคของรัฐไปจนถึงบริการทางธุรกิจ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่มากขึ้นๆ

ยิ่งเมื่อเครือข่ายค้าปลีกผนึกเข้ากับเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทั้งซีพีและทีซีซีด้วยแล้ว พลังอันน่าเกรงขามจึงเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก

 

เรื่องราวเข้มข้นทุกขณะ เริ่มต้นโดยเครือซีพีซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก (Convenience store) 7-Eleven ได้เข้าซื้อเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่-Makro ในประเทศไทย (ปี 2556)

มาจนถึงต้นปี 2558 กลุ่มทีซีซี ซื้อเครือข่าย Big C เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว

นอกจากให้ภาพการแข่งขันที่ดุเดือด ยังให้ภาพการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ รวมทั้งกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาใหม่ธุรกิจค้าปลีกไทย โดยเฉพาะโมเดลหลัก-Hypermarket จากเคยอยู่ในกำมือธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่าน ค่อยๆ พลิกโฉมถ่ายโอนมาอยู่ในอำนาจธุรกิจใหญ่ไทย

จากนั้นเครือข่ายค้าปลีกในมือธุรกิจยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย เกิดกระบวนการหลอมรวม ปรับโฉม ขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง อย่างหลากหลาย ที่น่าสังเกตพุ่งเป้าไปยังแผนการสร้างเครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างชัดเจน กรณี Big C ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซี ในปีที่เพิ่งผ่านพ้นเปิดสาขาขนาดเล็ก (Mini Big C) ประมาณ 150 แห่ง ขณะในปีนี้ (2562) มีแผนการเปิด Mini Big C ให้มากขึ้นถึง 300 แห่ง

“ภาพที่ซ้อนและมีพลังมากขึ้นอีก บทบาทธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่นอกจากเข้าถึงสังคมไทยกว้างมากขึ้น ลึกมากขึ้น เชื่อกันว่าไม่เพียงสร้างโอกาสและสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับชุมชน ทั้งระบบการจ้างานและห่วงโซ่การค้าที่สร้างขึ้นแวดล้อมแล้วยังได้คุกคาม ทำลายค้าปลีกแบบเก่า โดยเฉพาะร้านโชห่วยหรือตลาดสด เชื่อกันว่าปัจจุบันบทบาทค้าปลีกสมัยใหม่จะมีมากกว่ารูปแบบเดิมมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเครือข่ายที่ทรงอิทธิพลตกอยู่ในกำมือธุรกิจใหญ่ ซึ่งมีธุรกิจสำคัญอื่นๆ สัมพันธ์กับสังคมผู้บริโภคไทยอย่างแนบแน่นมายาวนาน”

ผมสรุปไว้อีกตอนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นต่อไป และมีพลังมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

 

ด้วยเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่อันซับซ้อนและหนุนเนื่อง ตามแผนการและยุทธศาสตร์เข้าถึงผู้บริโภควงกว้างมากขึ้นๆ ซีพีซึ่งมีเครือข่ายครบวงจร ผู้นำธุรกิจเกษตรกรรมและอาหาร ในฐานะผู้มีอำนาจที่สุดในตลาด และมีบริการระบบสื่อสารและมีเดียหลายรูปแบบ

ส่วนทีซีซี นอกจากเป็นผู้ควบคุมตลาดสุราขาวเบ็ดเสร็จในประเทศไทย ซึ่งยังถือว่าเป็นรายได้หลักของบริษัทไทย เบฟเวอเรจ ด้วยมีเครือข่ายเข้าถึงระดับชุมชนอย่างกว้างขวางเช่นกัน

ทั้งมีเครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มทั้งมีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอื่นๆ อีกมาก

ภาพดังกล่าวสะท้อนพลวัตสังคมไทย กับอิทธิพลเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย

เมื่อเครือข่ายค้าปลีกอันกว้างขวางครอบคลุม ผนวกกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ กลายเป็นโมเมนตัมเป็นพลังที่มีอิทธิพลมากขึ้นๆ ขณะที่แรงปะทะสำคัญเกิดขึ้นทั้งสังคมธุรกิจไทย เป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งที่น่าสนใจ “แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้าง ไม่อาจปรองดองกันได้ เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสังคมธุรกิจไทย ถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่อันซับซ้อนขึ้น จากเดิมโครงสร้างง่ายๆ ว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ แบ่งประเภทธุรกิจ เป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์ และโอกาสที่ลงตัวของบรรดาผู้ทรงอิทธิพลซึ่งมีจำนวนไม่มากราย แต่วันนี้พื้นที่และโอกาสไม่อาจจัดสรรด้วยระบบเดิม เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ต้องซ้อนทับและขัดแย้งกัน จึงตามมาด้วยแรงปะทะสั่นสะเทือนไปทั่ว”

มุมมองซึ่งเคยอรรถาธิบายไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เชื่อว่าจะเป็นภาพความเป็นไปที่ชัดเจนมากขึ้นๆ แม้จะท่ามกลางการดำรงอยู่ ความพยายามประนีประนอมระหว่างธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้วยกัน ภายใต้โครงสร้างหนึ่งซึ่งพยายามสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้มีอำนาจกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่

 

พัฒนาการขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างไม่หยุดยั้งดำเนินมาถึงระยะหนึ่งที่น่าสังเกตแล้ว จากรายงานของ 7-Eleven เอง ระบุไว้ในช่วง 2-3 ปีมานี้ รายได้เฉลี่ยต่อร้านไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนผู้เข้าร้านโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ ข้อมูลข้างต้นสะท้อนสัญญาณว่า ช่วงพีกกำลังจะผ่านไป ขณะที่เครือข่ายนั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางอย่างมีนัยยะ

พัฒนาการจากนี้ ย่อมสู่โหมดซึ่งสร้างสรรค์และซับซ้อนมากกว่าเดิม

ปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม เริ่มต้นขึ้นที่กิจการหนึ่งที่น่าสนใจ “บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส กิจการก่อตั้งเมื่อปี 2537 และซีพี ออลล์ ซื้อกิจการมาปี 2539” ธุรกิจของเคาน์เตอร์เซอร์วิสในช่วงเริ่มต้น เป็นธุรกิจการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ตลอดจนการจำหน่ายบัตรผ่านเข้าชมการแสดงต่างๆ ก่อนจะก้าวสู่ทิศทางใหม่ที่สำคัญอย่างเงียบๆ เมื่อมาเชื่อมโยง 7-Eleven นั่นคือบทบาทเชื่อมโยงกับองค์การรัฐบาล

ปี 2549 จาก “รับชำระภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์” แทนกรมสรรพากรในเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ก่อนจะมาบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในวงกว้างอย่างแท้จริง”

ในปี 2552 บริษัทได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนรับชำระตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มิใช่สถาบันการเงิน รายแรกที่ได้รับใบอนุญาต” (อ้างอิงข้อมูลบริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส)

เป็นจังหวะสอดคล้องกับพัฒนาการขั้นใหม่ธนาคารไทย พลิกโฉมจากเครือข่ายสาขาดั้งเดิม สู่โมเดลหลากหลาย รวมทั้งมีสาขาตัวแทน (Banking Agent)

จุดเริ่มต้นเล็กที่น่าติดตามคือ ความร่วมมือระหว่าง 7-Eleven กับธนาคารออมสิน เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่เพิ่งผ่านพ้น “ตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้บริการฝากเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา ไม่น้อยกว่าปีละ 5-7 หมื่นล้านบาท” ผู้เกี่ยวข้องแถลงไว้

 

บทบาทซึ่งเชื่อมโยงกับกระแสและแนวโน้มสังคมไทย มองผ่านกรณีร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ว่าไปตามบทวิเคราะห์การเติบโตทางธุรกิจโลจิสติกส์อย่างรวดเร็ว สัมพันธ์กับแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยแบบออนไลน์กำลังเติบโตในระดับภูมิภาค รวมทั้งเมืองไทยด้วย โดยเฉพาะเขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ แผนการผนึกพลังร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจจึงเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่

เป็นไปตามจังหวะและโอกาส ด้วยเครือข่ายและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่กว้างขวาง ดังกรณีที่อ้างถึง

สปีด-ดี (SPEED-D) บริการรับ-ส่งพัสดุด่วนผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จึงเกิดขึ้น

เครือข่ายร้านสะดวกซื้อยังคงเป็นธุรกิจอิทธิพล เคียงคู่กับบทบาทของธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยต่อไป โปรดติดตาม