‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กับสถานการณ์เปราะบางใน ‘เอเชียตะวันออก’

AFP PHOTO / FREDERIC J. BROWN

กัลยาณมิตรบางคนเตือนผมแบบทีเล่นทีจริงว่า ศึกสงคราม บางทีก็เกิดขึ้นได้แบบไม่คาดฝัน ด้วยเหตุผลของ “ความบังเอิญ” ที่ทำให้ปัจจัยประกอบแห่งสงครามเกิด “ครบถ้วน” ขึ้นมา ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

เขาย้ำว่าลองไปไล่เรียงประวัติศาสตร์สงครามที่ผ่านมาดู แล้วจะเห็นว่า ศึกบางศึก สงครามบางครั้ง คงไม่เกิดขึ้นหากไม่บังเกิด “คนเพียงบางคน” ก้าวขึ้นมามีอำนาจ

ถึงตรงนี้ผมอดอุทาน “เฮ้ย” ออกมาไม่ได้ แล้วก็ยืนกรานไปตามประสา “โลกสวย” ว่า คนเราไม่หาเรื่องเข่นฆ่ากันง่ายๆ ขนาดนั้นหรอก

เรื่องนี้ยังคาอยู่ในใจผมเรื่อยมาหลังการสนทนาหนนั้น ประเด็นที่กวนใจผมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ยกเว้นในแถบตะวันออกกลางที่ทำศึกเข้าใส่กันมานานปีจนคุ้นชินแล้วล่ะก็

มีเพียงแค่ในเอเชียตะวันออกแถบๆ บ้านเรานี่แหละที่มีเงื่อนไขให้เกิดศึกสงครามขึ้นมามากที่สุด

เหมือนอย่างที่ ไซมอน ทิสดอล แห่ง การ์เดียน ว่าเอาไว้เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรียกขานว่าเป็น “ห้วงเวลาที่อ่อนไหวที่สุด” ด้าน “ความมั่นคง” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในยามนี้

ก็น่าคิดนะครับ ใครจะเชื่อว่า อยู่ๆ รัฐบาลเกาหลีใต้ ภายใต้การนำของ ปาร์ก กึน เฮ ที่เคยมั่นคงแข็งแรง ดูออกจะมั่นคงในทางการเมือง จะตกอยู่ในสภาพ “เจียนอยู่เจียนไป” ชนิดที่มีโอกาสจะพังเอามากกว่าจะยั่งยืนเอาเสียด้วย

แต่ปัญหาในเกาหลีใต้ในเวลานี้ก็คงจะจำกัดอยู่แค่เป็นเรื่องการเมืองภายใน ไม่ลุกลามกลายเป็นเรื่องเปราะบางทางความมั่นคงไปได้ ถ้าหากไม่มีเหตุพลิกผันทางการเมืองในอีกซีกโลกหนึ่ง นั่นคือการเกิดปรากฏการณ์ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นในสหรัฐอเมริกา

“ทรัมป์” พูดถึงเกาหลีใต้ไว้ในระหว่างการหาเสียงเหมือนๆ กับที่พูดถึง “ญี่ปุ่น” และ “นาโต้” หรือองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ บอกว่า 2 ประเทศและหนึ่งองค์กรนี้ควร “จ่ายเงินเพิ่ม” ให้มากขึ้นหากต้องการให้สหรัฐอเมริกาปกป้องอธิปไตยของตัวเองเอาไว้

ทิสดอล อุปมาเอาไว้ให้เห็นภาพชัดเจนว่า คล้ายๆ กับ “หัวหน้ามาเฟีย” ที่ให้ความคุ้มครองผู้คนในเครือข่ายของตน “กำลังคุกคามเรียกร้องเงิน” เพิ่มยังไงยังงั้น

ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เกาหลีใต้ตอนนี้จ่ายเงิน “ค่าคุ้มครอง” อยู่ราว 860 ล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับให้ทหารอเมริกันมาตั้งฐานทัพอยู่ในดินแดนของตัวเอง 28,000 นาย

ส่วนญี่ปุ่นนั้น มีทหารอเมริกันอยู่ราว 50,000 นาย ก็ยังต้องจ่ายเงินเพื่อการนั้นอยู่แต่ละปีสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงร่วมทวิภาคีที่ทั้งสองประเทศร่วมลงนามและบังคับใช้กันมานานปีดีดัก

ปัญหาความมั่นคงของเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นคงไม่กระไรนัก ถ้าหากเราไม่นึกถึง อาวุธนิวเคลียร์ ที่ทรงอานุภาพขนาดไหนหรือแม่นยำเพียงใด ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าเมื่ออยู่ภายใต้การควบคุมของ “วัยรุ่น” ที่มีอำนาจล้นเหลืออย่าง คิม จอง อึน นิวเคลียร์ที่ว่านั้นก็อันตรายมากขึ้นกว่าสมรรถนะที่แท้จริงมากมายหลายเท่า

ทรัมป์ถึงกับเสนอว่า ถ้ากลัวนิวเคลียร์เกาหลีเหนือมากนัก เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นก็ควรพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นเองสิ

ข้อเสนอที่ว่านี้นอกจากจะสวนทางกับความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติแล้ว

สำหรับชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศที่เป็นเพียง “ชาติเดียวในโลก” ที่เคยตกเป็นเป้าทำลายล้างของระเบิดนิวเคลียร์ ก็ถือว่าเป็นความคิดที่ถึงระดับ “น่าชิงชังรังเกียจ” กันเลยทีเดียว

นอกเหนือจากเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นยังมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับจีน ที่กำลังสร้างปัญหาให้กับสารพัดประเทศด้วย “เกาะเทียม” เพื่อการใช้งานทางยุทธการในทะเลจีนใต้ ทั้งๆ ที่โดยนัยของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการ “ฝ่าฝืนกฎหมาย” อย่างชัดเจน

นี่ยังไม่นับเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่งระหว่าง ไต้หวัน-จีน-สหรัฐอเมริกา ที่ซาๆ มาช่วงใหญ่ๆ ในลักษณะของการยอมรับซึ่งกันและกันกลายๆ แม้จะไม่เป็นทางการก็ตาม ก็ยังมีสิทธิที่จะพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้ามได้เสมอ หากสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนแปลงไป

 

ยังไม่มีใครรู้ว่า ประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จะจัดการหรือมีท่าทีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร จะยึดตามคำประกาศระหว่างการหาเสียงหรือไม่

แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า มีโอกาสไม่น้อยที่ความเปราะบางในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จะนำไปสู่การแข่งขันกันสั่งสมอาวุธร้ายแรงครั้งใหม่ขึ้นในภูมิภาค

ชิเกรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่าคือ “ทายาททางการเมือง” ของ ชินโสะ อาเบะ พูดออกมาเมื่อ 21 พฤศจิกายนนี้เหมือนยอมรับในความเป็นจริงว่า ถึงที่สุดแล้วในอนาคต ญี่ปุ่นก็คงจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเอง

นั่นคือการเรียกร้องให้ญี่ปุ่น “ติดอาวุธ” ตัวเอง ใช่หรือไม่?