ศิลปะในฟาร์ม โครงการศิลปะกลางแจ้ง ที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และอาหารการกิน ของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ต่อเนื่องจาก ตอนที่แล้ว (คลิกอ่าน) ผลงานศิลปะของพินรี สัณฑ์พิทักษ์ ในโครงการศิลปิน ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ทัวร์ โครงการที่สองนั้นมีชื่อว่า

“The Mats and The Pillows Jim Thompson Farm”

The Mats and The Pillows Jim Thompson Farm
ภาพจากจิม ทอมป์สันฟาร์ม

ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่เชื้อเชิญให้คนดูเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผลงาน โดยติดตั้งในศาลากลางบ้าน ในหมู่บ้านอีสาน ของจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

ผลงานชุดนี้ประกอบไปด้วยเสื่อที่ทำขึ้นจากเส้นด้ายที่มีตำหนิจากโรงงานจิม ทอมป์สัน ในอำเภอปักธงชัย

และหมอนขิดที่มีเชือกผูกเข้าด้วยกันจากจังหวัดมหาสารคาม กับอุบะมาลัยดอกไม้ผ้าที่แขวนลงมาจากขื่อศาลา ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการเคลื่อนย้ายหรือจัดเรียงหมอนเหล่านี้ใหม่ รวมทั้งเข้ามาพักผ่อนในศาลาตามอัธยาศัย

ผลงานชุดนี้ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาจากผลงานศิลปะจัดวางของพินรีในปี พ.ศ.2560 ในต่างวาระ ต่างนิทรรศการ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของพื้นที่, สถาปัตยกรรม, ความเป็นสาธารณะ, การอยู่ร่วมกัน, ความร่วมมือ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและศิลปะ

The Mats and The Pillows Jim Thompson Farm
ภาพจากจิม ทอมป์สันฟาร์ม

“สองปีที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ทำงานกับพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ในนิวยอร์ก ตอนนั้นเราทำงานเป็นหลังคาที่ทำจากผ้าไหมดิบ ชื่องาน The Roof แล้วก็ทำงานแสดงที่หอศิลป์ Tyler Rollins Fine Art ในนิวยอร์ก เป็นเสื่อกับหมอน ชื่องาน The Mats and The Pillows และทำงานที่หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ ชื่อ The House is Crumbling ที่เอาหมอนขิดประมาณ 6,000 ใบ เข้าไปจัดวางในห้องแสดงงาน โดยแต่ละใบสามารถต่อเข้าด้วยกันได้ โดยให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย”

“เราก็เอางานพวกนั้นมาต่อยอดเป็นงานชิ้นนี้ ก็ทำเป็นเสื่อ, หมอน”

“ส่วนงานหลังคาเราก็เปลี่ยนเป็นเอาไหมดิบมาทำเป็นตัวมาลัยดอกไม้ซึ่งเข้ากับศาลาและบริบทของงาน”

“เราก็หาวิธีที่จะติดตั้งง่ายๆ ตอนแรกคิดว่าจะแขวนลงมาจากเพดาน แต่พอเห็นว่าศาลามีขื่อ เราก็เลยเอามาลัยพาดลงมาจากขื่อแทน”

พอคนนึกถึงพินรี ก็มักจะนึกถึงงานเต้านมใช่ไหม?

แต่งานชุดนี้เป็นรูปทรงเรขาคณิต สี่เหลี่ยม แต่มันก็ยังเป็นรูปทรงชีวภาพอยู่ เราว่างานชุดนี้อธิบายได้ด้วยตัวเองว่าเราไม่ได้ทำแค่เรื่องนม แต่เกี่ยวกับร่างกายทั้งหมด

“คือช่วงหลังๆ เราก็รู้สึกว่าเรามองข้ามประเด็นเรื่องเพศไปแล้ว ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเพศหญิงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของมนุษย์มากกว่า แต่ยังไงเราก็หนีความเป็นผู้หญิงไม่พ้นอยู่ดี เพราะเราก็เป็นผู้หญิง งานก็เลยยังมีความรู้สึกของความเป็นผู้หญิงอยู่มาก”

และผลงานศิลปะจัดวางในศาลาชุดนี้ก็ยังใช้เป็นพื้นที่สำหรับผลงานศิลปะในโครงการที่สามของพินรี อย่าง

“Breast Stupa Cookery by Samuay & Sons at Jim Thompson Farm 2018”

ผลงานศิลปะเชิงสถานการณ์ที่ผู้ชมไม่ได้เสพแค่เพียงสายตา แต่ยังสามารถลิ้มรสและรับประทานได้ด้วย

Breast Stupa Cookery by Samuay & Sons at Jim Thompson Farm 2018
ภาพจาก จิม ทอมป์สันฟาร์ม

ผลงานครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นเฉพาะกิจในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา โดยพินรีนำเสนอผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับ “อาหาร” ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดและชื่องานฟาร์มทัวร์อย่าง “แซ่บนัว หัวม่วน – อีสาน โอชา” ที่เป็นการทำงานของเธอกับเชฟหนุ่ม (ทั้งวัยและชื่อเล่น) แห่งร้าน Samuay & Sons จังหวัดอุดรธานี อย่างวีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปของอาหารมื้อค่ำ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงาน Breast Stupa Cookery

โครงการศิลปะของพินรี ที่เป็นการร่วมงานระหว่างศิลปินและเชฟผู้ทำอาหาร ที่นำเอาผัสสะความรู้สึกและความศักดิ์สิทธิ์มาอยู่รวมกันผ่านอาหาร

Breast Stupa Cookery by Samuay & Sons at Jim Thompson Farm 2018
ภาพจาก จิม ทอมป์สันฟาร์ม

โครงการนี้เป็นโครงการที่เธอทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยอาหารมื้อนี้เป็นอาหารอีสานฟิวชั่นรสชาติแซ่บนัว ที่ไม่เพียงมีรสชาติโอชาอร่อยลิ้น หากแต่ยังสวยงามจับตาจับใจทั้งอาหารและภาชนะที่ใส่มัน

“ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2543 เราเริ่มทำงานศิลปะจัดวางที่เกี่ยวกับสัมผัสต่างๆ และให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับงานมากขึ้น คืองานเราใช้วัสดุหลากหลาย ทำให้คนอยากลองจับดู แต่มันจับไม่ได้ไง”

“เราก็เลยเริ่มจากงานชุด “หนุนนม” ที่ทำเป็นประติมากรรมหมอนรูปนม ให้คนเข้ามาสัมผัสจับต้อง เข้ามานั่งนอนในงานได้เลย หรืองานชุด “Temporary Insanity” ที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเสียงและการเคลื่อนไหวของผู้ชมกับตัวงาน”

“อีกอย่างเราเป็นคนชอบทำอาหาร เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้อาหารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน”

“ตอนแรกก็ใช้แป้งขนมปังทำงาน เพราะมันก็คล้ายๆ ดินปั้นอยู่เหมือนกัน แต่รู้สึกว่ายังไม่ค่อยลงตัว”

Breast Stupa Cookery by Samuay & Sons at Jim Thompson Farm 2018
ภาพจาก จิม ทอมป์สันฟาร์ม

“จนวันหนึ่งเราปั้นเซรามิกอยู่ ก็รู้สึกว่าเราทำภาชนะหรืออุปกรณ์อย่างแม่พิมพ์ทำอาหารดีกว่า แล้วก็เชิญให้เชฟเอาอุปกรณ์เหล่านี้ไปทำอาหาร คือเราจะไม่บอกว่าเชฟต้องทำอะไร แต่จะส่งอุปกรณ์ ส่งพิมพ์อาหารพวกนี้ไป”

“แล้วก็เปิดโอกาสให้เขาตีความว่าเขารู้สึกอย่างไร และคิดว่าจะทำอาหารอะไรออกมา”

“พอตัดสินใจว่าจะทำประติมากรรม Breast Stupa Topiary ในฟาร์ม และทำศิลปะจัดวาง The Mats and The Pillows ในศาลานี้ เราก็อยากจะจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำในศาลา และอยากเลือกเชฟที่มาจากอีสาน

พอดีเชฟหนุ่ม เขาเคยมาทำโปรเจ็กต์ที่ฟาร์ม เราก็เลยไปลองกินอาหารที่ร้าน Samuay & Sons ของเขาที่อุดรธานี ก็เลยได้รู้ว่าเขาเคยฝึกงานที่ร้านอาหาร โบ.ลาน ซึ่งเราเคยทำโครงการศิลปะที่นั่น

Breast Stupa Cookery by Samuay & Sons at Jim Thompson Farm 2018
ภาพจาก จิม ทอมป์สันฟาร์ม

แล้วร้าน Samuay & Sons เองก็มีแฟนคลับ มีคนตามเยอะ เชฟหนุ่มก็เป็นเชฟรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ เราก็เลยไปเชิญเชฟหนุ่มมาทำอาหารให้ในงานนี้ เขาก็ตกลง ทำงานด้วยกันสนุกดี เราเชิญเขาเข้าไปดูในสตูดิโอของเราที่กรุงเทพฯ แล้วก็เลือกโน่นเลือกนี่มาใช้ทำเป็นอุปกรณ์และภาชนะทำอาหาร

เชฟหนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ แห่งร้าน Samuay & Sons
ภาพจาก จิม ทอมป์สันฟาร์ม

การจัดวางอาหารในงาน เราก็เลือกให้มันผสมผสานกัน ไม่ได้เป็นอีสานแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเชฟหนุ่มก็ทำอาหารที่มีที่มาหลากหลาย”

“เราเองก็เกิดในกรุงเทพฯ ไปโตที่เชียงใหม่ พอจบ ป.6 ก็ย้ายไปอยู่ที่ขอนแก่น 5-6 ปี พอ ม.ศ.5 ก็ได้ทุนไปเรียนที่ญี่ปุ่น แล้วก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ ชีวิตเราก็จะผสมกันแบบนี้ เราก็เลยเลือกที่จะนำเสนอวัฒนธรรมหลายแบบ แล้วด้วยความที่เรากินเลี้ยงกันในศาลา ก็เลยไม่อยากใช้โต๊ะ-เก้าอี้ แต่ให้นั่งกินกับพื้นแทน ก็เลยเลือกใช้โตกแทน ทั้งโตกแขก, (ขัน) โตกของภาคเหนือ, โตกลาว, โตกภาคกลาง ซึ่งเอามาจากที่เราสะสมไว้แล้วก็ยืมมา”

“นี่ก็กำลังคุยกับเชฟว่าอยากให้เขาเอาเมนูนี้ไปอยู่ในร้าน Samuay & Sons ที่อุดรธานี ด้วย ก่อนหน้านี้เคยมีร้านที่ฝรั่งเศสเคยเอางาน (ที่เป็นอาหาร) ของเราไปขึ้นเมนูอยู่สามเดือน คือเปิดเป็นสาธารณะให้คนทั่วไปสั่งกินจริงๆ เลย คนที่เข้าไปกินในร้านก็จะไม่รู้ว่ามันเป็นงานศิลปะ”

พินรี สัณฑ์พิทักษ์
ภาพจากจิม ทอมป์สันฟาร์ม

“การทำงานเกี่ยวกับอาหารทำให้เราไม่จำกัดตัวอยู่แต่ในโลกของศิลปะ มันทำให้เราได้เจอคนหลากหลาย ได้มีเพื่อนเป็นเชฟ และอาหารเองก็เป็นสื่อที่ยอดเยี่ยม เข้าถึงคนได้ง่าย เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องกินอยู่แล้ว”

“อย่างที่บอกว่างานของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวเยอะ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเอาอะไรมาแชร์ ออกมาเปิดเผยให้คนเห็น อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนกับการเขียนหนังสือ แต่แทนที่เราจะเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ เราก็ทำออกมาเป็นงานศิลปะ ซึ่งเป็นไวยากรณ์อีกอย่างในแบบของเรา”

พินรีกล่าวทิ้งท้าย

ผลงานศิลปะของพินรี สัณฑ์พิทักษ์ ในโครงการ อาร์ต ออน ฟาร์ม เป็นส่วนหนึ่งของจิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2561 ถึง 6 มกราคม 2562 เวลา 09.00-17.00 น. ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.jimthompsonfarm.com

หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 0-2700-2566 อีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม