วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมในวัฏจักรจักรวรรดิแผ่นดินมังกร

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความเปลี่ยนแปลงในจักรวรรดิที่สั่นคลอน

หากนับจากที่ฮั่นตะวันออกเริ่มอ่อนแอลงจนล่มสลาย ยุคสามรัฐ ยุคจิ้น ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ จนถึงเมื่อสิ้นยุคราชวงศ์ใต้-เหนือแล้ว ภาพแรกที่เห็นก็คือ เวลาโดยส่วนใหญ่ตลอดห้วงดังกล่าวคือห้วงที่แตกแยกมากกว่าเอกภาพ

ในขณะเดียวกัน แต่ละช่วงเวลาของแต่ละยุคล้วนมีการเมืองและการปกครองที่เป็นไปตามวิถีในตัวเอง มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ด้วยดีในบางช่วงกับไม่ดีในบางช่วง และยังคงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชนชาติฮั่นกับชนชาติอื่น

ในประการหลังนี้ยังมีการเข้ามาอย่างกว้างขวางของศาสนาพุทธ ที่ซึ่งจะส่งผลต่อรากฐานทางด้านศิลปะและศาสนธรรมของจีนในเวลาต่อมาอีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละยุคนี้งานศึกษานี้ได้กล่าวเป็นการเฉพาะไปแล้ว แต่ที่จะกล่าวต่อไปคือ ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้านดังกล่าวในเชิงพัฒนาการ ซึ่งแน่นอนว่า แม้จะเป็นภาพรวม แต่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีบางภาพเกิดขึ้นเฉพาะเวลาของบางยุคหรือราชวงศ์

โดยผลที่เกิดขึ้นนี้ต่อมายังคงดำรงอยู่ หรือไม่ก็ถูกใช้เป็นประโยชน์ในยุคหลังๆ อีกยาวนาน

ต่อไปนี้คือภาพรวมที่ว่านั้นในแต่ละภาพ

 

ความมั่นคงที่ไร้ความมั่นคง

ก่อนที่ฮั่นตะวันออกจะล่มสลายใน ค.ศ.220 นั้น ภาพที่ฉายให้เห็นภาพหนึ่งคือ การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของเหล่าขุนศึกในรัฐต่างๆ ครั้นฮั่นตะวันออกล่มสลายลงแล้ว บทบาทของขุนศึกเหล่านี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น

และนับแต่ยุคสามรัฐจนถึงยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ การเมืองจีนก็ถูกปกคลุมด้วยบทบาทของขุนศึกอย่างเป็นด้านหลัก

แน่นอนว่า มิใช่ขุนศึกทุกคนที่ประสบผลสำเร็จทางการเมือง แต่ทุกคนที่ประสบผลสำเร็จมักมีภูมิหลังเป็นขุนศึกอยู่เสมอ ที่สำคัญ ขุนศึกที่เข้ามามีบทบาทดังกล่าวมิใช่ชาวฮั่นเพียงชนชาติเดียว หากยังมีที่เป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นอีกมิใช่น้อยอีกด้วย

ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยม (Military Dynasticism) ที่ปกคลุมไปทั่วแผ่นดินจีนในเวลานั้น

ปรากฏการณ์ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมดังกล่าวทำให้ทหารมีความสำคัญมากขึ้น และด้วยเหตุที่ยุคนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการศึก ระบบการทหารในยุคนี้แม้จะยังแบ่งเป็นทหารในส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นดังก่อนหน้า แต่ก็เพิ่มความสำคัญมากกว่าแต่ก่อน

โดยทหารส่วนกลางจะแบ่งเป็นกองกำลังรักษาเมืองหลวงกับรอบนอกเมืองหลวง และที่อยู่รอบนอกจะประจำการในเมืองที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ส่วนในท้องถิ่นก็มีการเพิ่มตำแหน่งทางการทหารขึ้นมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อให้ความดีความชอบแก่ทหาร

ที่สำคัญ ในยุคนี้ได้แยกทหารกับราษฎรออกจากกันในทะเบียนบ้าน ทหารกับราษฎรจึงต่างก็มีทะเบียนบ้านเป็นของตนเอง โดยสถานภาพของทหารจะมีการสืบทอดแก่กันในครอบครัว

แต่ที่ดูเป็นสถานภาพที่ไม่สู้ดีก็คือ การที่ทหารจะต้องไปใช้แรงงานในบางสมัย มีระเบียบวินัยที่เข้มงวดและทารุณ ห้ามมิให้เรียนหนังสือ ห้ามรับราชการเป็นขุนนาง ห้ามแต่งงานกับครอบครัวที่มิใช่ทหาร หากสามีหนีทหาร ภรรยาจะต้องถูกลงโทษแทน เป็นต้น

ที่สำคัญในประเด็นต่อมาก็คือ กล่าวเฉพาะทางภาคเหนือที่ชนชาติที่มิใช่ฮั่นตั้งตนเป็นใหญ่แล้ว ทหารถูกทำให้เป็นงานในระดับล่างที่ราษฎรหรือผู้อพยพเข้ามาสมัครและไต่เต้าได้ สถานภาพเช่นนี้ได้ส่งผลให้ตระกูลใหญ่ๆ เห็นว่าไม่สมฐานะ ไม่สมการศึกษา และไม่สมกับชาติตระกูล

บุคคลกลุ่มนี้จึงถอนตัวจากงานทหาร

นอกจากนี้ การศึกที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในขณะนั้นยังทำให้มีการรับสมัครทหารอาชีพ (military professionalization) มาประจำการมากขึ้น นอกเหนือไปจากที่เกณฑ์ชาวนาเข้ามา

การเปลี่ยนแปลงทางด้านการทหารเช่นนี้ทำให้เกิดช่องทางการเติบโตของผู้ที่เป็นทหาร และปูทางให้เหล่าขุนศึกตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนขึ้นดังที่เห็นได้ในกรณีราชวงศ์หลิวซ่ง เป็นต้น

 

พ้นไปจากประเด็นการทหารแล้วก็คือระบบขุนนาง ซึ่งนับแต่ที่รัฐเว่ยซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในยุคสามรัฐได้ปราบอีกสองรัฐที่เหลือแล้วผ่านยุคราชวงศ์จิ้น เรื่อยมาจนสิ้นสุดยุคราชวงศ์ใต้-เหนือนั้น ตำแหน่งสามมหาอำมาตย์เก้าขุนนางหรือ ซันกงจิ่วชิง อันเป็นระบบที่สามมหาอำมาตย์มีอำนาจสูงสุด และมีตำแหน่งสำคัญในระดับที่รองลงมาอีกเก้าตำแหน่ง ซึ่งเป็นระบบที่มีมาตั้งแต่สมัยฉินและฮั่นนั้น มาถึงยุคที่กำลังกล่าวถึงยุคนี้กลับไร้ความสำคัญลง เหลือไว้แต่เพียงตำแหน่งที่ให้ไว้เป็นเกียรติยศเท่านั้น

โดยบทบาทสำคัญจะตกไปเป็นของขุนนางที่มาจาก ซั่งซูเสิ่ง หรือกรมราชสำนัก (imperial secretariat) มีหน้าที่ดูแลงานเอกสารของจักรพรรดิ

จงซูเสิ่ง หรือกรมวัง (palace secretariat) มีหน้าที่ด้านการเมืองการปกครอง ราชโองการ ตรวจสอบคดี และราชการลับ

และ เหมินเซี่ยเสิ่ง หรือกรมจางวาง (chancellery) มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของจักรพรรดิ เช่น เครื่องทรง การเภสัช งานต้อนรับ หรือม้าทรง เป็นต้น

ระบบงานทั้งสามนี้เรียกรวมกันว่า ซันเสิ่ง หรือระบบสามกรม

ควรกล่าวด้วยว่า หากกล่าวเฉพาะคำเรียกแล้ว กรมราชสำนักกับกรมวังเป็นสำนักงานที่มีมาตั้งแต่สมัยฮั่นแล้ว จะมีก็แต่กรมจางวางเท่านั้นที่เกิดในสมัยจิ้น ดังนั้น การที่กรมทั้งสามมีความสำคัญแทนที่สามมหาอำมาตย์ในยุคนี้จึงเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเห็นบทเรียนจากการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของสามมหาอำมาตย์

โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่เป็นหนึ่งในสามของตำแหน่งนี้ ดังจะเห็นได้จากบทบาทของเฉาเชา (โจโฉ) แห่งยุคสามรัฐ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรมทั้งสามในระบบสามกรมนี้จะเห็นได้ว่า กรมที่น่าจะมีความใกล้ชิดกับจักรพรรดิมากที่สุดก็คือ กรมจางวาง

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับที่มาของขุนนาง ที่ในสมัยฮั่นได้ใช้วิธีเตรียมบุคคลที่จะเข้ารับราชการด้วยการเลือกจากผู้มีการศึกษาสูง แต่มาในยุคสามรัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเฉาพี (โจผี) แห่งรัฐเว่ยได้ใช้วิธีใหม่คือ แต่งตั้งให้ขุนนางท้องถิ่นเป็นกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ

โดยพิจารณาจากชาติตระกูลและความรู้ความสามารถ

วิธีนี้อาจจะดีตรงที่เป็นการรับบุคคลทั่วไป แต่ข้อเสียก็เกิดขึ้นในชั้นหลังต่อมาที่มักจะคัดเลือกจากชาติตระกูลเป็นหลัก และทำให้ตำแหน่งต่างๆ ถูกขาดโดยชนชั้นสูง โดยเฉพาะในสมัยจิ้นตะวันออก จนทำให้ราชวงศ์นี้เสื่อมถอยในเวลาต่อมา

 

แต่ที่ดูเหมือนว่าทั้งเว่ย จิ้น และราชวงศ์ใต้-เหนือจะสรุปบทเรียนจากยุคก่อนหน้านี้ตรงกันก็คือ การเข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของวงศานุวงศ์และขันที ดังนั้น ในยุคที่ว่านี้จึงมีการจำกัดอำนาจของบุคคลกลุ่มนี้อย่างมาก

เช่น เฉาพีแห่งรัฐเว่ยให้ขันทีอยู่แต่ในตำหนักกับนางใน และห้ามมิให้เครือญาติเข้ามามีบทบาททางการเมือง หรือในยุคหลิวซ่งก็มีคำสั่งเสียของหลิวอี้ว์ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตว่า ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทน หากจักรพรรดิยังทรงเยาว์วัย โดยห้ามญาติฝ่ายมเหสีหรือราชชนนีเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเป็นอันขาด เป็นต้น

แต่กระนั้น การจำกัดบทบาทเช่นว่าก็ไม่สู้จะได้ผลในบางสมัย เช่น ในสมัยจิ้นและราชวงศ์ใต้-เหนือที่ฝ่ายมเหสียังคงเข้ามามีบทบาทในบางครั้งอยู่ดี เป็นต้น

ที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในยุคนี้เห็นจะเป็นหน่วยปกครองท้องถิ่น ที่ยังคงสืบทอดระบบ โจว-จวิ้น-เสี้ยน หรือระบบบริหารเมืองเขตอำเภอมาจากราชวงศ์ฮั่น แต่ดังได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ในยุคสามรัฐแล้วว่า ในยุคนี้เมืองหรือโจวมีความสำคัญมากขึ้นในทางยุทธศาสตร์ จนหากเทียบกับปัจจุบันแล้วจะมีฐานะไม่ต่างกับมณฑลนั้น

จะเห็นได้ว่า ในยุคสามรัฐมีเมืองที่สำคัญในระดับสูงมีอยู่ 13 หน่วย และต่างก็แย่งชิงกันยึดครองเมืองเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด หลังยุคสามรัฐไปแล้วเมืองเหล่านี้ทวีความสำคัญมากขึ้น จนทำให้ส่วนกลางต้องส่งเสนามาตย์ที่ไว้ใจได้เข้าไปปกครองเมืองเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม จากการศึกที่เกิดขึ้นมากในยุคที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ก็ได้ทำให้เกิดหน่วยปกครองพิเศษขึ้นมาด้วย นั่นคือ เขตทหารหรือตูตู ซึ่งมีขุนศึกเป็นผู้ปกครอง

และเขตพลเรือนหรือสิงไถ ซึ่งมีขุนนางเป็นผู้ปกครอง