คำ ผกา : อยากรวย ไม่ได้อยากลดความเหลื่อมล้ำ

คำ ผกา

เรารู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าประเทศไทยของเรามีความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินสูงที่สุดในโลก?

ฉันอาจจะผิด แต่รู้สึกว่าคนไทย “ตระหนก” ต่อข้อเท็จจริงนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

และอันที่จริงไม่ต้องรอให้ขึ้นถึงอันดับหนึ่ง แค่การเป็นอันดับสาม ก็ควรจะต้องเดือนเนื้อร้อนใจมากกว่านี้

มิใยที่นักเศรษฐศาสตร์ สื่อ พยายามจะเผยแพร่ตัวเลขว่า คนไทยที่จนที่สุดถือครองที่ดินเท่าไหร่ คนที่รวยที่สุดถือครองที่ดินเท่าไหร่ และมีส่วนต่างกันมากขนาดไหน

หรือการเปิดเผยตัวเลขเกี่ยวกับเงินในบัญชีธนาคารว่า ในขณะที่อภิมหาเศรษฐีของประเทศมีเงินเป็นแสนๆ ล้าน คนไทยโดยเฉลี่ยกลับมีเงินในบัญชีธนาคารไม่ถึงห้าหมื่นบาทเสียด้วยซ้ำ

ความน่าสนใจของการไม่ตระหนกต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนไทย ส่งผลต่อที่สำคัญมาก นั่นคือในท้ายที่สุด สังคมไทยจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ที่มุ่งไปสู่การลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนี้

แต่การไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนไทย ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่อยากรวย ซึ่งทำให้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำยิ่งแก้ยากเข้าไปอีก บน “ความฝัน” ของคนไทยส่วนใหญ่ที่อยากรวย และถ้าตัวเองรวยแล้วคนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ ถ้ามีคนจนในบ้านเมืองมากๆ เราที่เป็นคนรวยก็แค่ทำบุญ ทำทาน บริจาคเงินไปเยอะๆ ก็จบ

ยิ่งมีคนจนมาก ยิ่งขาดแคลนมาก ยิ่งเป็นโอกาสที่ทำให้คนรวยได้สำแดงบุญบารมีของการให้ทานมาก และยิ่งตอกย้ำความเชื่อเดิมในสังคมว่า – เห็นไหมล่ะ เพราะเขาใจบุญ เพราะเขาให้ทาน เขารวยทั้งชาตินี้และจะรวยต่อไปในชาติหน้า

พูดให้ถึงที่สุด การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่อุดมการณ์ และไม่อุดมคติร่วมของคนไทยและสังคมไทย ลึกๆ แล้วคนไทยและสังคมไทยอยากจะ maintain ความเหลื่อมล้ำนี้เอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ด้วยซ้ำ เพราะยิ่งเหลื่อมล้ำมาก ยิ่งมียอดพีระมิดให้เราเฝ้าใฝ่ฝันถึงและตั้งไว้เป็นหมุดหมายว่า นั่นคือความสำเร็จของชีวิต วันหนึ่งเมื่อเราขึ้นไปถึงตรงนั้น เราก็ปักธงเป็นผู้ชนะบนยอดเขา

แต่ถ้าสังคมเป็นแนวราบ ทุกคนมีฐานะใกล้เคียงกันหมด มีคุณภาพชีวิตดีคล้ายๆ กันหมด ก็ไม่รู้จะปักหมุดความสำเร็จไว้ที่ตรงไหน

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า บุคคลต้นแบบ หรือคนที่คนไทยมองไว้เป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตล้วนแต่เป็น “คนรวย” เป็นเจ้าสัว เป็นมหาเศรษฐี เป็นใครก็ได้ ที่หาเยอะได้เยอะๆ และจะยิ่งเป็นฮีโร่ของสังคม ถ้าคนเหล่านั้นรวยด้วย ใจบุญด้วย บริจาคเงินให้วัด ให้โรงเรียน ให้โรงพยาบาลเยอะๆ ด้วย

แต่เราจะไม่สนใจว่า เขารวยขึ้นมาจากอะไร รวยจากการทำสัมปทานผูกขาด ขูดรีดแรงงาน หรือทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไรหรือเปล่า ขอให้รวยและใจบุญ และทำกิจกรรมทางสังคมที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ “กระแสหลัก” ที่คนไทยยึดมั่นอยู่ – ก็เพียงพอแล้วที่จะกลายเป็น คนดีที่สุด ที่น่ายกย่องที่สุดของสังคมนี้

ความฝันที่มีร่วมกันของคนไทยโดยรวมจึงไม่ใช่การฝันว่าวันหนึ่งสังคมเราจะปราศจากความเหลื่อมล้ำ

แต่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะกลายเป็นหนึ่งในคนร้อยละ 1 ของประเทศ ฝันว่าวันหนึ่งเราจะกลายเป็นหนึ่งในคนร้อยละ 5 ของประเทศ จะด้วยวิธีไหนก็ได้

เราไม่ค่อยฝันว่าวันหนึ่งคุณภาพชีวิตของเราจะดีขึ้น และเช่นเดียวกับคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมชาติที่จะดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน

เราไม่ค่อยฝันว่าวันหนึ่งโรงเรียนรัฐบาลทุกโรงเรียนในประเทศจะมีคุณภาพดีเหมือนกันหมด แต่เราฝันว่าลูกเราจะได้เข้าโรงเรียนที่ดีกว่าลูกคนอื่นๆ ได้อย่างไร?

เมื่อเราเป็นเสียอย่างนี้มันจึงยากมากที่จะมีใครในสังคมไทยบอกว่า เฮ้ย นี่มันวิกฤตมากเลยนะ ที่ความเหลื่อมล้ำมันสูงถึงขนาดนี้ และเราจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง

ก่อนที่การทำอะไรสักอย่างมันจะวนกลับมาที่เดิมคือ ถ้าเราไม่มีตัวแทนจากพรรคการเมืองที่เชื่อมั่นในแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยเอาเสียเลย เราจะไม่มีวันเดินไปสู่การมีรัฐบาลที่วางแนวนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การปฏิรูปที่ดินทั้งหมด การปรับโครงสร้างภาษี การเก็บภาษีมรดก ฯลฯ และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ มันจะวนกลับมาที่ประเด็น – เอาแค่ให้ได้เลือกตั้ง และเอาให้ได้แค่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่โดนรัฐประหารก่อนนะ เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

คำถามที่สำคัญกว่า เมื่อไหร่เราจะมีพรรคการเมืองที่ผลักดันแนวทางเศรษฐกิจ การเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือที่คนไทยเลือกจะพูดถึงมันว่า “รัฐสวัสดิการ” น่าจะเป็นคำถามที่ว่า

เราจะเปลี่ยนความฝันของไทยอย่างไร?

เป็นไปได้ไหมที่ชนชั้นกลางผู้มีชีวิตอยู่ในสังคมเมือง แทนการฝันถึงการมีบ้าน และหากเป็นไปได้ ก็อยากมีบ้านที่หรูหรา กว้างขวาง มากขึ้นเรื่อยๆ มาฝันว่า การซื้อบ้านไม่พึงเป็นภาระของเรา

แต่การจัดหาที่อยู่อาศัยควรเป็นหน้าที่และเป็นรายจ่ายของรัฐบาล ดังนั้น นโยบายเพื่อการมีที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางในเมือง ควรออกมาในรูปของการเคหะแห่งชาติ ที่อาจให้เช่าระยะยาว เช่น 30 ปี หรือ 50 ปี

แทนที่ชนชั้นกลางผู้มีรายได้ปานกลางจะมีบ้าน มีรั้ว มีบริเวณ อันเป็นลักษณะบ้านเดี่ยว ที่ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงมาก บ้านของการเคหะสำหรับชนชั้นกลางในเมือง ควรเป็นอพาร์ตเมนต์ ในตึกสูง พร้อม “ทรัพย์สินส่วนกลาง” ที่เป็นบริการสาธารณะอย่างเพียงพอสำหรับผู้อยู่อาศัยทุกคน เช่น สนามกีฬา ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ห้องสมุด สวนสาธารณะ โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ฯลฯ

ซึ่งคือคอนเซ็ปต์ของ – sharing economy อีกแบบหนึ่ง

ที่อยู่อาศัยอันเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 นี้ยังต้องเชื่อมโยงกับการขนส่งมวลชน รถสาธารณะทุกประเภท – คำถามของฉันคือ ทำไมเราถึงจะฝันถึงการมีบ้านเดี่ยวชานเมือง อันทำให้รถยนต์กลายเป็นปัจจัยที่ 5 เพราะเมื่อบ้านอยู่ไหนก็ทำให้เราต้องมีรถเพื่อไปทำงาน และไปส่งลูกไปโรงเรียน จากนั้นเราก็ไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับสันทนาการ

เราจึงจำเป็นต้องมี community mall เพื่อไปใช้เวลาว่าง ไปสันทนาการ ซึ่งหมายถึงการช้อปปิ้ง และการกินอาหารในร้านอาหาร อันเป็นร้านสาขาของกลุ่มทุนใหญ่ๆ มากกว่าจะเป็นร้าน stand alone ของผู้ประกอบการรายย่อย

สิ่งที่ฉันพยายามจะชี้ให้เห็นคือ แค่ความฝันที่ต่างกันสองความฝัน ก็ส่งผลต่อการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มความมั่งคั่งให้ทุนใหญ่ และการทำให้ชนชั้นกลางทั้งหลายค่อยๆ ยากจนลงได้อย่างไร?

ถ้าเราฝันถึงการให้รัฐจัด public housing ให้เรา (และต้องเป็น public housing ที่มีคุณภาพ) พร้อม facilities พื้นฐาน เช่น สวนสาธารณะ ห้องสมุด ขนส่งมวลชน การเดินทางที่เป็นทางเลือก เช่น ทางจักรยาน หรือการเดิน โรงเรียนรัฐบาลในละแวกบ้านที่มีคุณภาพ

อันดับแรกคือ เงินของเราไม่ต้องเดินไปสู่มือของเจ้าสัวไทคูนเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่กี่ราย

ไม่ต้องซื้อรถยนต์ อันทำให้เงินไปสู่มือดีลเลอร์รถยนต์ไม่กี่ราย

สวนสาธารณะ สนามกีฬา สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในเมือง ที่ทำให้เราได้นั่งอ่านหนังสือ เดินเล่น เล่นดนตรี ปิกนิก ก็ทำให้เราไม่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

นั่นแปลว่า เงินของเราไม่ไหลไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาด แต่วิถีชีวิตนี้จะทำให้เราได้ไปตลาด หรือได้อุดหนุนพ่อค้า แม่ค้ารายเล็ก ที่อยู่รายล้อม ละแวกที่อยู่อาศัยของเรามากขึ้น

การเดินทางด้วยการเดิน และจักรยาน เอื้อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ต้องแวะร้านเล็กร้านน้อยระหว่างทาง ตรงกันข้ามกับการขับรถยนต์ที่ยากต่อการแวะร้านเล็ก (เพราะไม่มีที่จอดรถ) และมุ่งสู่ห้างใหญ่ ซื้อของตุนคราวละเยอะๆ – ซึ่งนั่นหมายถึงการผันเงินจากกระเป๋าเราไปสู่ทุนใหญ่อยู่นั่นเอง

ตรงกันข้าม การฝันถึงการมีบ้านเดี่ยว บ้านของตัวเอง บ้านที่ใหญ่โตขึ้น ล้วนแต่อำนวยให้เงินไหลไปสู่บรรษัทใหญ่ของเจ้าสัวทั้งสิ้น แล้วเราก็มาบ่นว่า เขาช่างรวยขึ้นๆ และเราก็จนลงๆ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำก็ถ่างกว้างขึ้นทุกที

น่าสนใจมากขึ้นไปอีกว่า ความฝันของเราไม่น่าจะเป็นเรื่องบัญเอิญ

เพราะแค่เปลี่ยนความฝัน ก็แทบจะส่งผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ

คำถามที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ ใครสอนให้เราฝันในทางที่จะทำให้เจ้าสัวรวยขึ้น หรือใครสอนให้เราฝันในทางที่เงินจะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนไม่กี่คน

ใครสอนให้เราฝันหรือเชื่อว่าความสำเร็จของชีวิตคือการมีบ้าน มีรถ ลูกได้เข้าโรงเรียนที่ดีกว่าคนอื่น เราคงต้องมาตั้งคำถามใหม่ทั้งหมดว่า

ทำไมเราต้องซื้อบ้านและผ่อนบ้านในอัตราดอกเบี้ยสูงลิบลิ่ว, ทำไมเราต้องซื้อรถ, ทำไมเราต้องซื้อประกันสุขภาพ, ทำไมเราต้องใช้เงินตัวเองในการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูกหลานในราคาแพงลิบลิ่ว, ทำไมเราต้องจ่ายค่าฟิตเนส, ทำไมการเดินห้างจึงกลายเป็นการหย่อนใจอย่างเดียวที่เราจะจินตนาการถึงมันได้, ทำไมอาหารที่เรากินเมื่อสืบสาวหาที่มาของมันแล้ว มันมาจากที่มาเดียวกันหมด บริษัทในเครือเดียวกันหมด?

ทำไมหลายๆ อย่างในชีวิตเราไม่เป็นบริการสาธารณะที่จัดหาให้เราโดยใช้เงินภาษีของเรามาบริการและทำให้พลเมืองทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีศักดิ์มีศรีเท่าๆ กัน

เราควรฝันถึงสิ่งนั้น แทนการตะเกียกตะกายแล้วฝันเอาว่า วันหนึ่งเราจะเป็น “คนรวย” และ “คนส่วนน้อย” ของสังคม และนั่นอาจนำมาซึ่งความไม่ยี่หระต่อการเหยียบหัวคนอื่นเพื่อไต่ไปสู่ความมั่งคั่งที่ยอดปลายสุดของพีระมิดแห่งชนชั้น

ส่วนฉันก็ฝันว่า วันหนึ่งความฝันของคนไทยคือการฝันถึงความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ

ฝันถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้มีแค่ชีวิต เราแค่หมายถึงชีวิตของเพื่อนร่วมชาติทุกคน แทนการฝันว่า วันหนึ่งเราจะรวยกว่าคนอื่นๆ

ความฝันของคนไทยเปลี่ยนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละที่ “ความเหลื่อมล้ำ” จะเป็นคำที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจอย่างสูง

ไม่ใช่คำที่พูดแล้วก็ผ่านเลยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้