บทวิเคราะห์ : โรดแมป “เศรษฐกิจดิจิตอล” อนาคตของ “ประชาคมอาเซียน”

คําว่า “เศรษฐกิจดิจิตอล” ในเมืองไทย ไม่ใช่คำแปลกใหม่อีกแล้ว เพราะกลายเป็นคำหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงขนาดมีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมารองรับ

คนไทยส่วนใหญ่ถึงได้รู้จักคำนี้กันแพร่หลายและพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับมันไป แม้ว่าเรื่องการทำความเข้าใจ เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากคำนี้ จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ตามที

ถอยห่างออกมาอีกนิด เพื่อมองให้เห็นกรอบใหญ่ในระดับภูมิภาคอย่างอาเซียน หรือกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำนี้ยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศอย่างสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นประธานของกลุ่มอาเซียน มีการผลักดันจนเกิดความตกลงในอันที่จะนำพาประชาคมอาเซียนไปสู่ความเป็นประชาคมดิจิตอลในอนาคตได้หลายประการด้วยกัน

 

ตัวอย่างเช่น ความตกลงว่าด้วยพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งอาเซียน หรืออาเซียน อีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีการลงนามกันในปีที่แล้ว

โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการใช้อีคอมเมิร์ซ เป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของภูมิภาคขยายตัว

ซึ่งคาดหวังกันว่าจะทำให้การทำธุรกิจผ่านอินเตอร์เน็ตและโลกออนไลน์ทั้งหลายขยายตัวได้ถึงระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025 นี้

อีกความตกลงหนึ่งก็คือ “เครือข่ายเมืองอัจฉริยะแห่งอาเซียน” หรือ “อาเซียน สมาร์ต ซิตีส์ เน็ตเวิร์ก” เรียกย่อๆ ว่า “เอเอสซีเอ็น” ที่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะใช้การเชื่อมต่อเชิงดิจิตอลทำหน้าที่เป็น “แพลตฟอร์ม” สำหรับให้บรรดาเมืองใหญ่ทั้งหลายทั่วอาเซียนร่วมมือร่วมใจ ทำงานร่วมกัน ในการพัฒนาเมืองของตนให้ “สมาร์ต” และมีพัฒนาการที่ “ยั่งยืน” ยาวนานได้ต่อไป

เศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลจึงมีความหมายสูงมากสำหรับอนาคต ทั้งของไทยและของอาเซียน

สูงถึงขนาดนักวิชาการอย่างฟีเดล ไวน์เลส นักวิเคราะห์อาวุโสจากสำนักการต่างประเทศศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสังกัดมหาวิทยาลัยนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ชี้ว่าพัฒนาการด้านนี้ของอาเซียนยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว และยังไม่รวดเร็วเพียงพอต่อการตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นซึ่งจะมาถึงในอนาคต

 

ในข้อเขียนชื่อ “การทำให้เศรษฐกิจดิจิตอลอาเซียนรุดหน้า” เผยแพร่ผ่านอีสต์เอเชียฟอรั่มเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ฟีเดล ไวน์เลส เสนอให้เพิ่มเติม “เศรษฐกิจดิจิตอล” เป็นเป้าหมายหลักสำคัญที่ต้องบรรลุไปถึงไว้ใน “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน-เออีซี” ที่เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของอาเซียนนั่นเอง

เพราะเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยสร้าง “กรรมวิธี” ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้นโยบายที่จำเป็น “เพรียวลม” มากขึ้นสำหรับเสริมสร้างสมรรถนะในการแข่งขันเชิงดิจิตอลของอาเซียน

อันที่จริงนอกจากความตกลงข้างต้นแล้ว อาเซียนยังมีกรอบการทำงานและข้อกำหนดอีกบางประการที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของภูมิภาคขึ้น

ตัวอย่างเช่น “แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน ปี 2563” หรือที่นิยมเรียกกันว่าอาเซียนไอซีที 2020 ที่เน้นให้น้ำหนักต่อบทบาทของไอซีที ในการสนับสนุนการเชื่อมต่อและพัฒนาการของอาเซียน และแม้แต่ในพิมพ์เขียวเออีซี ปี 2025 ก็มี “อีคอมเมิร์ซ” บรรจุไว้ในวัตถุประสงค์หลักในการเชื่อมต่อและภาคความร่วมมือสำคัญ

แต่ไวน์เลสเชื่อว่า การแยกออกมาเป็นหัวข้อหลักสำคัญอีกประการของเออีซี นอกจากจะช่วยนำไปสู่การ “ปฏิบัติ” ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแล้วยังช่วยให้วิสัยทัศน์ว่าด้วยเรื่องนี้มีความแม่นยำและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ฟีเดล ไวน์เลส เสนอว่า เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายในการพัฒนาอาเซียนให้กลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจดิจิตอล จำต้องกำหนดวัตถุประสงค์สำคัญขึ้นในหลายๆ ด้านแล้วยกตัวอย่างเอาไว้ว่า หนึ่งในจำนวนนั้นคือการดำเนินการให้ทั่วทั้งภูมิภาคสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างถ้วนหน้า ทั้งยังเสนอแนะวิธีการเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ควรจัดตั้งยูนิเวอร์ซัล เซอร์วิส ฟันด์ (ยูเอสเอฟ) ขึ้น โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมและการสื่อสารในภูมิภาคทั้งหลาย สำหรับนำมาใช้เป็นทุนในการพัฒนา “ฟรี บรอดแบนด์” ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งผู้ให้บริการไม่สนใจให้บริการ ให้สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนั้นยังเสนอแนะให้มีการจัดทำ “โครงการเพื่อการเรียนรู้ดิจิตอล” ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านดิจิตอลสำหรับผู้บริโภคและวางกฎเกณฑ์ว่าด้วยความเป็นส่วนตัวสำหรับองค์กรธุรกิจ เพื่อสร้างความไว้วางใจของประชาชนทั่วไปในภูมิภาคต่อโลกออนไลน์ ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลในอนาคต

และย้ำไว้ว่า ต้องไม่ลืมการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เป็นภาคธุรกิจหลักของอาเซียน และส่งเสริมสตาร์ตอัพระดับ “ดิจิตอล ทาเลนต์” ให้แพร่หลายในภูมิภาคอีกด้วย