ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /THE WIFE

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE WIFE

‘คู่ชีวิต’

 

กำกับการแสดง Bjorn Runge

นำแสดง Glenn Close Jonathan Pryce Christian Slater Max Irons Annie Starke Harry Lloyd

 

ส่งท้ายปีด้วยหนังดราม่าเยี่ยม นักแสดงยอด ซึ่งสร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของเม็ก โวลิตเซอร์ ยอดเยี่ยมขนาดที่ดูแล้วต้องสั่งซื้อหนังสือมาอ่านให้ทันทีเลย…

ไม่ได้เพื่อเปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่าอะไรหรอกค่ะ แต่อยากได้รายละเอียดของอารมณ์แบบที่จะได้จากการอ่านมากกว่าจากการดู

แค่ดูเกลนน์ โคลส เล่นบทละเมียดที่ไม่มีอะไรโฉ่งฉ่างของภรรยาคู่ชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสามีนักเขียนผู้โด่งดัง ก็คุ้มจนไม่รู้คุ้มแล้ว

หนังเปิดในช่วงเวลาสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของคู่แต่งงาน โจ แคสเซิลแมน (โจนาธาน ไพรส์) กับโจน (เกลนน์ โคลส)

เวลาขณะนั้นคือ ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535)

โจกำลังรอคอยอย่างกระวนกระวายในคืนก่อนจะมีการประกาศผลนักเขียนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี ที่สถาบันโนเบิลของสวีเดนมอบเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จสูงสุดด้านต่างๆ ของบุคคลทั่วโลกในแต่ละปี

บอกเสียเลยตรงนี้ก็ได้ว่า นี่เป็นจุดแตกต่างที่หนังเพิ่มระดับเกียรติยศให้แก่ตัวละครขึ้นไปอีกขั้น เพราะในหนังสือ รางวัลที่โจ แคสเซิลแมน ได้รับคือ “รางวัลเฮลซิงกิ” จากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นรางวัลที่มีอยู่ในโลกจริง เห็นมีก็แต่รางวัลฟินแลนเดียจากสถาบันเฮลซิงกิซึ่งมอบให้แก่ความสำเร็จด้านวรรณกรรมเท่านั้น

สงสัยว่าเพราะผู้กำกับหนัง บียอร์น รุงเก เป็นชาวสวีเดน ก็เลยแปลงสารเปลี่ยนบรรยากาศการรับรางวัลไปที่สตอกโฮล์ม บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเสียเลย และสร้างน้ำหนักให้แก่ชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่ตัวละครให้สูงขึ้นไปอีก

 

โจนอนไม่หลับเพราะความตื่นเต้น…แต่ถึงแม้ในยามปรกติที่ไม่มีเรื่องให้ตื่นเต้น โจก็นอนไม่หลับเป็นประจำอยู่แล้ว โจนผู้ภรรยารู้ใจเขาทุกอย่าง และตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายของสามี

ครั้นกลางดึก เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น นับเป็นสัญญาณบอกข่าวดี เนื่องจากโซนเวลาที่แตกต่างกันระหว่างยุโรปกับอเมริกา และถ้าไม่มีข่าวดี ก็คงไม่มีใครโทร.มาบอกข่าวร้ายหรอก

โจรับโทรศัพท์ด้วยใจระทึก และขอให้ผู้แจ้งข่าวรอสักครู่เพื่อให้ภรรยาเดินไปที่โทรศัพท์อีกเครื่องเพื่อที่จะได้รับรู้ข่าวพร้อมๆ กัน และโจนได้รับการเตือนแกมขอร้องให้ช่วยจัดการเวลาสำหรับสื่อมวลชนที่จะต้องรุมล้อมขอสัมภาษณ์แบบไม่ขาดสาย…นี่เป็นชีวิตแบบที่โจนคุ้นเคยอยู่แล้วในฐานะผู้อยู่เบื้องหลัง

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้เล่าเรื่องราวในชีวิตคู่สามีภรรยาคู่นี้ได้ดี และจะยิ่งสะท้อนกลับมาเมื่อเราได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดที่ค่อยๆ เผยออกมา

จากนั้นเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่วันระหว่างการเดินทางไปรับรางวัลเกียรติยศในเดือนอันหนาวเย็นของประเทศเล็กๆ ที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่

 

หนังเล่าเรื่องในปัจจุบันโดยสลับไปกับแฟลชแบ็กของเหตุการณ์ในอดีตเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว

ขณะที่โจนยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเรียนวิชาการเขียนแบบสร้างสรรค์ และได้พบอาจารย์หนุ่ม โจ แคสเซิลแมน เป็นครั้งแรกด้วยความประทับใจในหนุ่มรูปงามเชื้อสายยิวคนนี้

ความสัมพันธ์ของอาจารย์หนุ่มและนักศึกษาสาวผู้มีพรสวรรค์ด้านการเขียน พัฒนาไปจนถึงขั้นที่ทำให้ชีวิตแต่งงานครั้งแรกของโจภิณท์พังลง และโจนกลายมาเป็นคู่ชีวิตของเขา พร้อมกับอาชีพนักเขียนของเขารุ่งเรืองขึ้นด้วยนวนิยายเรื่องแล้วเรื่องเล่าที่ประสบความสำเร็จอย่างดี ทั้งในด้านชื่อเสียงเงินทองอันทำให้ชีวิตคู่พรั่งพร้อมไปหมด

ทั้งคู่มีลูกชายลูกสาวด้วยกัน…ตรงนี้รายละเอียดแตกต่างกันไประหว่างหนังกับหนังสือ นั่นคือ ลูกชายลูกสาวสองคนในหนัง และลูกสาวสองลูกชายหนึ่งในหนังสือ

และลักษณะนิสัยของลูกชายลูกสาวก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไปด้วย แต่ไม่พูดถึงเรื่องปลีกย่อยดีกว่านะคะ

เราพบว่าท่ามกลางความสำเร็จของสามี ภรรยาอย่างโจนต้องเสียสละอะไรไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวตนหรือความใฝ่ฝันในชีวิต

แต่ว่านี่ก็ไม่ใช่เรื่องราวของการเสียสละที่ประกอบด้วยสองฝ่ายคือผู้ร้ายและเหยื่อผู้ทนทุกข์

ถ้าเป็นอะไรซื่อๆ ทื่อๆ ตรงๆ แบบนั้น หนังก็คงไม่โดนใจเท่านี้ แต่หนังเสนอเรื่องด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่าเรื่องง่ายๆ ชัดเจนของฝ่ายที่เอาเปรียบและฝ่ายที่เสียเปรียบ

โจนขอร้องไม่ให้สามีพูดถึงเธอในคำปราศรัยตอนที่เขารับรางวัล เธอบอกว่าไม่อยากให้ใครๆ คิดว่าเธอเป็นภรรยาผู้ทนทุกข์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสามี

แต่โจนเองก็มีประเด็นในใจมากกว่านั้น

เพราะในฉากงานเลี้ยงราตรีสโมสรที่เธอได้รับเกียรติให้นั่งข้างที่ประทับของพระราชาธิบดีผู้ทรงเป็นประธานในการพระราชทานรางวัล พระเจ้าคาร์ล กุสตาฟ ตรัสถามชวนสนทนาว่าเธอทำงานอะไร

โจนอึ้งไปหน่อยก่อนจะตอบว่า “หม่อมฉันเป็นผู้สร้างพระราชา” (king-maker) ซึ่งคาร์ล กุสตาฟ ก็ทรงพระสรวลและตรัสว่า พระมเหสีของฉันก็พูดแบบนั้นเหมือนกัน

แต่เมื่อคำคำนั้นออกจากปากโจสู่สาธารณชนที่จับตามองอยู่ทั่วโลก (เขาบอกว่าไม่ทำไม่ได้ หาไม่ใครๆ จะคิดว่าเขาเป็นคนยโสและหลงตัวเองจนไม่ให้เครดิตคู่ชีวิตที่อยู่ข้างกายตลอดเวลา)

นั่นคือจุดหักเหในชีวิตของโจนและในหนังที่จะหักมุมจบ

 

หนังยังมีจุดน่าสนใจในตัวนักเขียนชีวประวัติที่ติดตามชีวิตของโจ แคสเซิลแมน และมีโครงการจะเขียนชีวประวัติของเขา คริสเตียน สเลเตอร์ เล่นบทของนาธาเนียล โบนส์ ซึ่งเพียรขอสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟจากโจและโจน และมีฉากที่มีรสมีชาติอยู่สองสามฉากที่เฉียดใกล้ความจริง

นอกจากนั้น หนังยังมีคนรุ่นลูกดาราดังสองคน คือแอนนี่ สตาร์ก เล่นบทของโจนในวัยสาว แอนนี่เป็นลูกสาวแท้ๆ ของเกลนน์ โคลส จึงมีหน้าตาละม้ายแม่อย่างมาก และยังแสดงได้อย่างแนบเนียนไร้รอยต่อในบทที่จะกลายมาเป็นโจนผู้สูงวัย

ลูกดาราอีกคนคือ แมกซ์ ไอออนส์ ลูกชายของเจเรมี ไอออนส์ แมกซ์เล่นบทเดวิด ลูกชายที่มีปัญหาของโจกับโจน

 

กล่าวโดยสรุป ชีวิตของโจนอยู่ในยุคสมัยที่ขบวนการ “สตรีนิยม” ยังไม่แข็งแกร่งเหมือนในยุคปัจจุบัน ผู้หญิงยังรู้สึกว่าถูกกีดกันโดยยังมี “เพดานกระจก” อยู่ในอาชีพการงานที่ไม่มีความเสมอภาคในโลกที่ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นช้างเท้าหน้า

แต่นี่ก็ไม่ใช่หนังแบบที่เรียกร้องสิทธิสตรี หรือเชิดชูสตรีนิยม ตัวละครปฏิเสธสภาพของการตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียสละ

นี่เป็นหนังที่มีความคิดและตัดสินชี้ผิดชี้ถูกได้ยาก

เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชาย คือ “ภรรยา” ที่คอยให้การสนับสนุน

หนังทำให้ผู้เขียนอดนึกไม่ได้ถึงนักเขียนที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในโลกวรรณกรรม คือเจมส์ จอยส์..ซึ่งโจ แคสเซิลแมน ชอบอ้างถึงบ่อยๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ตัวเอง

เคยอ่านที่ไหนก็จำไม่ได้แล้วว่า มีแฟนๆ ผู้ชื่นชมเจมส์ จอยส์ ประดุจเป็นเทพแห่งวงวรรณกรรม ถามนอราภรรยาของจอยส์ว่า รู้สึกยังไงที่ได้อยู่ข้างกายของนักเขียนฝีมือระดับเทพแบบนั้นตลอดเวลา

นอราผู้ภรรยาตอบว่า “ลองมาเป็นฉันสักวันสิ แล้วจะรู้…”

 

อีกนิดจากการได้อ่านหนังสือควบคู่ไปกับการดูหนัง นั่นคือ หนังสือซึ่งมีโจนเป็นผู้เล่าเรื่อง เขียนด้วยอารมณ์ขันอย่างเหลือเฟือ ถึงขั้นที่ทำให้ต้องหัวเราะไปกับการบรรยายอันมีสีสันของเธอ

ขณะที่หนังมีน้ำหนักของดราม่าที่หนักมากกว่า

แต่ไม่ได้หมายความว่าอะไรดีกว่าอะไรนะคะ หนังเล่าเรื่องราวได้ดีมากเลย โดยเฉพาะด้วยฝีมือการแสดงอันยอดเยี่ยมแล้ว ส่งผลให้ดูอย่างนิ่งขึงตะลึงตะไลไปเลยเชียว…