เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : โลกทัศน์แห่งยุคสมัยกวี

โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูขษัย กวีฤๅแล้งแหล่งสยามฯ

วรรคกวีนี้รจนาโดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส นิพนธ์ปรารภไว้ตอนท้ายเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ วรรณคดีเอกของไทยยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสมัยอยุธยา ซึ่งนิพนธ์โดยพระมหาราชครู ต่อด้วยสมเด็จพระนารายณ์ กระทั่งมาจบในรัชกาลที่สองกรุงรัตนโกสินทร์โดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสพระองค์นี้

สมุทรโฆษคำฉันท์จึงเป็นวรรณคดีเอกของไทยให้ศึกษาหาความรู้ได้ไม่จบสิ้น

ทั้งปริศนาธรรมจากชาดกเรื่องนี้

สำคัญสุดคือ ศัพท์ที่เป็น “คำกวี” และ “โวหารกวี” ตลอดจน “วิญญาณกวี”

สืบต่อมาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองหลังมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ถึง พ.ศ.2495 “นายผี” หรืออัศนี พลจันทร ได้แต่งมหากาพย์แห่งชัยชนะ เรื่อง “เราชะนะแล้วแม่จ๋า” ขึ้น

ยก “เราชะนะแล้วแม่จ๋า” ขึ้นเทียบ “สมุทรโฆษ” ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึง “วิถีกวี” ที่สืบทอดมาได้อย่างดียิ่งและเยี่ยมยอดสุด ทั้งคำกวี โวหารกวี และวิญญาณกวี อันผันแปรไปตามโลกทัศน์แห่งยุคสมัย

ตรงนี้แหละสำคัญ คือ “โลกทัศน์แห่งยุคสมัย” ที่ผันแปรไปแต่ละยุค แต่ละสมัย

สมุทรโฆษนั้นเป็นวรรณกรรมราชสำนัก

เราชะนะแล้วแม่จ๋า นั้นเป็นวรรณกรรมราษฎร

หมายถึง ราชสำนักเป็นศูนย์รวมอำนาจที่บันดาลความเป็นอารยะของสังคมอย่างแท้จริง ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง ศูนย์รวมอำนาจที่จะบันดาลความเป็นอารยะของสังคมคือสถาบันราษฎร ดังเรามีสภาผู้แทนราษฎรนั้น

โลกทัศน์อันสะท้อนในวรรณกรรมสมุทรโฆษ คือความศรัทธาในสัจธรรมแห่งพุทธศาสนา อันเป็นอุดมคติสูงสุดของสรรพชีวิต จิตวิญญาณกวีจึงอุทิศหรือมีเป้าหมายเพื่อสิ่งนี้ ซึ่งเป็นโลกทัศน์นี้อันเป็นวิญญาณกวีโดยแท้

โลกทัศน์ในเราชะนะแล้วแม่จ๋า คือการสถาปนาความเป็นราษฎรหรือประชาชนให้เป็นพื้นฐานของสังคมแท้จริง

บรรดาความขัดแย้งทั้งหลายในสังคมแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นไปเพื่อเป้าหมายนี้

เป้าหมายนี้คือความเป็นปกติของสุข ของสังคมโดยรวมซึ่งจะเป็นไปได้ก็แต่โดยประชาชนและเพื่อประชาชนเท่านั้น

การสถาปนาความเป็นราษฎรหรือประชาชนจึงเป็นโลกทัศน์ใหม่แห่งยุคสมัย ที่บรรดาผู้รังสรรค์งานศิลป์ทั้งหลายพึงใส่ใจให้ความสำคัญ โดยเฉพาะงานกวีนิพนธ์

จากบทนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ

“โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูขษัย กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม”

จากบทมหากาพย์ เราชะนะแล้วแม่จ๋าของนายผีที่แต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญการต่อสู้ของกรรมกรจนได้ชัยชนะ ตอนหนึ่งดังนี้

๐ ทุขลูกแลจะคือใครคำ– นวณหมดจดจำ

ก็จักมิได้โดยดี

๐ มาตรแม้นบมิมีกวี คือเพื่อน นายผี

มาผูกเป็นกาพยกลอนกล

๐ สำหรับขับขานทานทน ท่าวฟ้าดินดล

อันดรธานดูที ฯ

นี้เป็นสัจวจี อันเป็นปณิธานกวีของนายผีที่ตั้งใจทั้งจะสืบทอดโลกทัศน์ใหม่ ความเป็น “กวีสยาม” โดยแท้

โลกทัศน์จากสัจธรรมอันเป็นอุดมคติสูงสุดในสมุทรโฆษและโลกทัศน์ที่จะสถาปนาความเป็นประชาชนแห่งสังคมใหม่ ในเราชะนะแล้วแม่จ๋า

เพื่อจะยืนยันและขานรับวรรคกวี “กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม” ว่า “กวีไม่แล้งแหล่งสยาม”

นี้เป็นสัจวจีของกวีนายผี

ใจหายที่วันนี้ภาวะ “กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม” ดูจะกลับมาให้สำรวจท้าทายกันอีกครั้ง

อย่าว่าแต่เขียนกวีหรือแต่งกลอนเลย อ่านกลอนอ่านกวีก็ดูจะอ่านไม่เป็นหรือไม่อ่านกันแล้ว

เป็นห่วงที่ทั้งสถาบันการศึกษาและค่านิยมยุค “จอแผ่น” ที่ไม่ใส่ใจภาวะ “แล้งกวี” เท่าที่ควร

บทกวีนั้นเป็นเพชรพลอยแห่งถ้อยคำอันเจียระไนจากผลึกของความคิด

หรืออีกนัยหนึ่ง

บทกวีเป็นทางลัดสั้นสุดที่จะนำไปสู่ทางยาวอันไม่มีที่สิ้นสุดของความรู้

จากประสบการณ์บทกวีที่ปรากฏต่อสาธารณะเนื่องในวาระสำคัญๆ ซึ่งต้องควรพิถีพิถันยิ่ง มักมีสองลักษณะคือ ไร้มาตรฐาน กับต่ำกว่ามาตรฐาน

มาตรฐาน คือความเหมาะควรและมีค่าพอที่จะปรากฏต่อสาธารณะ ไม่ได้หมายถึงความจริงใจ และความตระหนักในความสำคัญแห่งวาระนั้นๆ

ผล คือผู้คนไม่สนใจอ่านเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง หาไม่ก็ “เชย” จนไม่อาจทนอ่านได้

นี้น่าจะถือเป็นการไม่ให้ความสำคัญต่อวาระสำคัญโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ประการหนึ่ง

อีกประการคือ จากเวทีประกวด ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเวทีหลักที่บรรดานักเลงกลอนจะลงมาเล่นกันเต็มที่ เรียกว่าเป็นเวที “แจ้งเกิด” เอาเลยทีเดียว

ที่น่าวิตกคือการประกวดกลายเป็นหนึ่งเดียวของการส่งเสริมงานกวีและวรรณกรรม ซึ่งที่แท้แล้วใช่ไม่

ด้านบวกของการประกวด เป็นการส่งเสริมและสืบทอดกระบวนการหนึ่งที่จำเป็นต้องมี

แต่ด้านลบก็คือ ก่อให้เกิดภาวะ “น้ำเน่าเขาวงกต” อันเป็นกิเลสในโลกวรรณกรรมอย่างสำคัญ

น่าวิตกยิ่งกว่านั้นคือพื้นฐานการศึกษาทุกระดับแทบจะไม่มีเอาเลย ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์และนักเรียน นักศึกษา

ฤๅนี้จะเป็นอมตะสัจวจีของวรรคกวีที่ว่า

กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม