สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ขุนบรมในตำนาน สัญลักษณ์ไต-ไท ทางภาษาและวัฒนธรรม

ขุนบรม เป็นทายาทแถนที่ไม่มีกำเนิดจากน้ำเต้าปุง (ภาพกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง วาดโดย สุรเดช แก้วท่าไม้ อยู่ในห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขุนบรมในตำนาน

สัญลักษณ์ไต-ไท

ทางภาษาและวัฒนธรรม

 

คนไทย มีขึ้นจากการขยายอำนาจทางการเมืองของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท แล้วดูดกลืนคนพูดภาษาอื่นๆ (ได้แก่ มอญ, เขมร, มลายู ฯลฯ) บางกลุ่มกลายตนเองเป็นคนไทย [สรุปจากหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2559]

ตำนานเรื่องขุนบรม เป็นคำบอกเล่าเชิงสัญลักษณ์ แสดงการขยายอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท จากทางใต้ของจีน และทางเหนือของเวียดนามเข้าสู่ลุ่มน้ำโขง, สาละวิน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

บ้านเมืองต่างๆ ที่ลูกชายขุนบรมแยกย้ายไปสร้างแปลงไว้รวม 7 แห่ง หรือ 7 ทิศทาง หมายถึงเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปที่ไปมาหาสู่กันนานมากแล้ว ต่อมาภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ขยายอำนาจไปตามนั้น แล้วมีอำนาจมากขึ้นในสมัยต่อๆ ไป เป็นเหตุให้ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้า

[ทางใต้ของจีน หมายถึงพื้นที่ราวมณฑลยูนนานลงไปทางทิศใต้ถึงคาบสมุทร ซึ่งสมัยโบราณเป็นหลักแหล่งของคนหลายเผ่าพันธุ์ที่ไม่ฮั่น ไม่จีน จึงเรียกในเอกสารจีนเมื่อ 2,000 ปีมาแล้วว่า พวกป่าเถื่อน (หมาน, เย่ว์) มีวัฒนธรรมกลองทอง (มโหระทึก) อย่างเดียวกับอุษาคเนย์ คนส่วนมากปลูกเรือนเสาสูง (มีใต้ถุน) กินข้าวเป็นอาหารหลักชนิดเมล็ดป้อม (ตระกูลข้าวเหนียว) ทำนาทดน้ำในหุบเขาซึ่งนักวิชาการจัดเป็นพื้นที่พิเศษ เรียก Zomia อยู่นอกเขตอำนาจของรัฐใหญ่ เช่น พุกาม หรืออะไรก็ตามที่เรียกทวารวดี]

 

ตำนานเรื่องขุนบรม

 

ขุนบรม (ลาวเรียก ขุนบูลม หรือขุนบูฮม) ในตำนานบอกว่าเป็นทายาทแถน มีศูนย์กลางอยู่เมืองแถน (บางที่เรียกเมืองแถง แต่ปัจจุบันเวียดนามเรียกเดียนเบียนฟู) อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ติดพรมแดนลาว ทางแขวงหลวงพระบางกับแขวงฟองสาลี

มีลูกชาย 7 คน เมื่อโตขึ้นขุนบรมให้แยกย้ายไปก่อบ้านสร้างเมือง (หรือสร้างบ้านแปลงเมือง) 7 แห่ง แล้วเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน ดังนี้

  1. ขุนลอ ครองเมืองชวา (คือ เมืองหลวงพระบาง ในลาว)
  2. ยี่ผาลาน ครองเมืองหัวแต (บางแห่งว่าเมืองหอแต คือ เมืองหนองแส เข้าใจว่าอยู่เขตสิบสองพันนา มณฑลยูนนาน ในจีน)
  3. สามจูสง ครองเมืองแกวช่องบัว (บางแห่งว่าเมืองแกวแท่นบัว ในเวียดนาม)
  4. ไสผง ครองเมืองยวนโยนก (คือ ล้านนา)
  5. งัวอิน ครองเมืองอโยธยา (หมายถึงอยุธยา และสุพรรณภูมิ ที่สุพรรณบุรี)
  6. ลกกลม ครองเมืองเชียงคม (คือ เมืองคำเกิด ในลาว)
  7. เจ็ดเจิง หรือเจ็ดเจือง ครองเมืองพวน (คือ เมืองเชียงขวาง ในลาว)

 

เส้นทางเคลื่อนย้าย

 

ไต-ไท ทั้งคน, ภาษา, วัฒนธรรม มีเส้นทางเคลื่อนย้ายจากทางใต้ของจีนในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ไปตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้

สอดคล้องกับหลักฐานวิชาการว่าตระกูลภาษาไต-ไท เก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณมณฑลกวางสี ต่อเนื่องเวียดนาม

บ้านเมืองต่างๆ ที่ลูกชายขุนบรมไปเป็นเจ้าครอง ล้วนอยู่ในละแวกเดียวกัน หรือ ใกล้เคียงต่อเนื่องกัน คือ สองฝั่งแม่น้ำโขง แต่ลูกชายคนที่ 5 คืองัวอิน แยกออกไปไกลถึงเมืองอโยธยาอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สมัยแรกส่วนมากตั้งหลักแหล่งทางฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา แผ่ลงไปถึงคาบสมุทร (ยังไม่แผ่ไปทางตะวันออก) เพราะฟากตะวันออกมีกลุ่มพูดภาษาเขมรอยู่หนาแน่นและมีอำนาจ แต่ต่อมาสมัยหลังพวกพูดภาษาเขมรเปลี่ยนไปพูดไต-ไท แล้วกลายตนเองเป็นไทย

จากสองฝั่งโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปได้หลายทิศทาง แต่ทางหนึ่งลงทางลุ่มน้ำเลย (จ.เลย) เข้าต้นน้ำป่าสัก สำเนียงหลวงพระบางลุ่มน้ำโขงยังตกค้างอยู่ลุ่มน้ำเลยจนทุกวันนี้

 

คน กับ ภาษาและวัฒนธรรม

 

ภาษาและวัฒนธรรมเคลื่อนย้ายแผ่ไปกว้างและไกลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ จำเป็นที่คนเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมต้องโยกย้ายตามไปด้วย

ในกรณีของตระกูลไต-ไท น่าจะมีคนจำนวนหนึ่งโยกย้ายตามเส้นทางการค้าภายในภูมิภาค ลงไปพร้อมกับภาษาและวัฒนธรรม

ดังนั้น ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ขยายอำนาจไปกับคนผู้เป็นเจ้าของเดิมจำนวนหนึ่ง กับดูดกลืนคนพื้นเมืองตระกูลอื่นๆ (เช่น มอญ-เขมร, มลายู, จีน-ทิเบต ฯลฯ) กลายตนเองเป็นไต-ไท และไทย

ส่งผลให้ในดินแดนไทยประกอบด้วยคนอย่างน้อย 2 กลุ่มใหญ่ คือ ไต-ไท-ไทย และไม่ไต-ไท-ไทย (ได้แก่ มอญ, เขมร, มลายู, ม้ง-เมี่ยน, พม่า-ทิเบต ฯลฯ) แต่นานไปก็พูดภาษาไทย แล้วเรียกตนเองเหมือนกันหมดว่าไทย