จัตวา กลิ่นสุนทร : ศิลปินแห่งชาติ กับความเข้าใจเรื่อง “ปฏิรูปการเมือง”

ผ่านไป 2 ทศวรรษ จากได้รับการเชิดชูเกียรติ “เป็นศิลปินแห่งชาติ” (พ.ศ.2540) ทั้งๆ ที่มีถิ่นพำนักในนครลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeles-USA) ในฐานะศิลปินร่วมสมัยอิสระมีชื่อเสียง ที่เชื่อมโยงกับประเทศไทยไม่เคยขาดหาย

กิจกรรมต่างๆ ของคนไทยที่อาศัยอยู่ในนครลอสแองเจลิส กมล ทัศนาญชลี ไม่เคยปฏิเสธ ในฐานะคนขยันกับการทำงานอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่เฉพาะแต่เพียงงานศิลปะเท่านั้น งานสังคมต่างๆ เขาไม่เคยละเลย

บ้านพักในนครลอสแองเจลิส เชิงเบเวอรี่ฮิลล์ มิได้เคยว่างเว้นนักเดินทางจากเมืองไทยไปเยี่ยมเยือน

ระยะแรกๆ เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงศิลปะ ศิลปิน นักเขียน กวี ซึ่งสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปพักพิงเพื่อการท่องเที่ยวศึกษาหาความรู้

นักศึกษาศิลปะจากประเทศไทยหลายสถาบันก็ได้รับการแนะนำจากครูอาจารย์ของเขาซึ่งรู้จักมักคุ้นกันดีกับกมลได้ฝากฝังไปให้ช่วยสนับสนุน

บ้านของเขากับคู่ชีวิตเปิดตลอดเวลาสำหรับคนไทย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องที่พัก และอาหารระหว่างเดินทางเยือน Los Angeles, CaliFornia, USA

หลายสิบปีที่ผ่าน กมลซึ่งยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่นแข็งแรงจะเป็นผู้ที่ขับรถพาคณะคนไทย นักร้อง นักเขียน กวี ดาราภาพยนตร์ ศิลปินร่วมสมัยท่องเที่ยวไปยังรัฐต่างๆ รอนแรมพักค้างคืนกันอย่างสนุกสนาน เช่น พักตามแคมป์ อาบน้ำซักผ้ากับตู้หยอดเหรียญ ฯลฯ

เวลาต่อๆ มามีนักศึกษาศิลปะจากประเทศไทยเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐ เพิ่มจำนวนมากขึ้น

หลายคนลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวทำงานอยู่ในรัฐใกล้เคียง เช่น รัฐเนวาดา เมือง Entertain อย่างลาสเวกัส (Las Vegas) ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักเดินทางต้องการไปเยือน และบางโอกาสได้อาศัยพักแรมเมื่อเดินทางแวะผ่านโดยไม่ต้องเสียค่าโรงแรมราคาแพงๆ

เคยเดินทางสู่สหรัฐหลายรูปแบบมาแล้ว เช่น ในช่วงเวลายังหนุ่มแน่นแข็งแรง แต่ฐานะทางครอบครัวกลับไม่แข็งแรง ต้องแอบเข้าไปนอนอัดในห้องเดียวกันของโรงแรมราคาถูกๆ

และในเวลาต่อมาอีกเกินกว่า 10 ปี เมื่อทำงานเก็บหอมรอมริบทรัพย์สินได้มากขึ้นกว่าเก่าจึงได้เดินทางไปย่ำซ้ำรอยเดิม ซึ่งมีกำลังพอสามารถพักโรงแรมได้บ้าง

แต่ก็กลับได้ไปพักยังบ้านนักศึกษารุ่นน้องที่ลาสเวกัส ซึ่งมันกลับอบอุ่นสนุกสนานแตกต่างด้วยรสชาติไปอีกแบบหนึ่ง

ทุกครั้งที่ไปเยือนสหรัฐอเมริกา กมล ทัศนาญชลี ถึงจะสับสนวุ่นวายด้วยกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวด้วยเรื่องของคนในแวดวงศิลปะ การทำงานศิลปะไม่เคยว่างเว้นหยุดหย่อน รวมทั้งคนไทยอื่นๆ เช่น กัปตันจากการบินไทย ขณะนั้นสายการบินแห่งชาติยังบินตรงสู่ลอสแองเจลิส ก็ชอบที่จะมาพักที่บ้านของเขาด้วยความรักในศิลปะ ข้าราชการ นักการเมือง จนถึงระดับรัฐมนตรี ฯลฯ ก็เช่นเดียวกัน

แต่เขากลับมิเคยละเลยกับการต้อนรับครอบครัวของเรา ทั้งที่พัก อาหาร และการขับรถพาออกตระเวนไปตามต่างรัฐ

เคยมีคำถามว่าศิลปินทั้งหลายเขาสนใจเรื่องการเมืองหรือไม่?

ตอบกันตรงๆ ว่าเขาไม่ละเลยในการรับรู้ความเคลื่อนไหวเป็นไปของบ้านเมือง เพียงแต่จะให้ความสนใจอย่างลึกซึ้งถึงขนาดลุกขึ้นมาสนับสนุน ต่อต้านหรือเปล่า ไม่อยากจะสอบถาม

สำหรับกมล ทัศนาญชลี ไม่เคยหลุดหายไปจากแวดวงศิลปะร่วมสมัย การศึกษา การเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย

เขาทำงานสร้างสมบารมี ศึกษาค้นคว้าจนมีชื่อเสียงสักเพียงไหน ก็จะหอบหิ้วรวมทั้งเดินทางมาสร้างผลงานเพื่อเปิดแสดงเดี่ยวเป็นประจำทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง

หลังจากเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว เขาเดินทางไปกลับ “สหรัฐ-ไทย” ปีละไม่น้อยกว่า 2-3 ครั้ง อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี สร้างผลงานเป็น “ประติมากรรมร่วมสมัย” ปรากฏไว้ในวาระโอกาสสำคัญๆ ต่างๆ เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ ทำโครงการเกี่ยวกับศิลปะ ทั้งยังเป็นแม่งานเรื่อง “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ไปทำเวิร์กช็อป (Work Shop) หลายจังหวัด คิดว่าน่าจะครบทุกภาคของประเทศแล้ว

ล่าสุดกลุ่ม “ศิลปินแห่งชาติ” หลายสาขาเพิ่งสัญจรไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อวันที่ 20-21 ธันวาคม เป็นรายการ–ส่งท้ายปี พ.ศ.2561 ก่อนจะเริ่มโครงการอื่นๆ ในปีใหม่ 2562 ต่อไปอีก

จําได้ว่าเคยเดินทางร่วมคณะ “ศิลปินแห่งชาติ” ไป “บ้านดำ นางแล” จังหวัดเชียงราย ขณะนั้น (ท่านพี่) “ถวัลย์ ดัชนี” ปราชญ์วาดรูป ยังมีชีวิตอยู่ และอนุญาตให้ใช้ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” เป็นสถานที่สำหรับเหล่า “ยุวศิลปิน” จากทุกภาคของประเทศได้สร้างงานให้คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานยัง สหรัฐอเมริกา

กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพได้จัดการจองสถานที่พักซึ่งเป็นรีสอร์ตในจังหวัด ไม่ห่างไกลจากบ้านดำ และสนามบินเชียงรายมากนัก

ยามดึกค่ำคืนหนึ่งมีใครไม่รู้เข้ามาร้องตะโกนเรียกชื่อคนซึ่งตรงกับศิลปินแห่งชาติคนหนึ่ง ไปตามบ้านที่พักซึ่งเป็นหลังๆ คณะผู้ร่วมเดินทางตกอกตกใจคิดว่าคนอีกสีเสื้อหนึ่งเข้ามาตามหาเพื่อจะทำร้าย เนื่องจากว่ามีศิลปินแห่งชาติท่านไปทำนกหวีดทองคำสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่ออกมา “ปิดกรุงเทพฯ”

ปรากฏว่ามันคือเรื่องบังเอิญเพียงเขาเข้าไปตามหาเพื่อนซึ่งชื่อพ้องกัน

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่าน ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมศิษย์เก่าอันเกี่ยวข้องด้วยกิจกรรมการศึกษาทางด้านศิลปะ หลังจากห่างมาพอสมควรเนื่องจากก้าวผ่านจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นมานานจนเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัยแล้ว กลับได้ซึมซับรับรู้ว่าเหล่าศิลปินอาจารย์ ศิลปินระดับศิษย์เก่าส่วนใหญ่ให้ความสนใจความเป็นไปทางด้านการเมือง

โดยให้การสนับสนุนกลุ่มที่ออกมา “ปิดกรุงเทพฯ-ไล่รัฐบาล” ซึ่งมาจากการ “เลือกตั้ง” รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2557 กระทั่งทหารออกมา “ยึดอำนาจ”—

ไม่ทราบว่าทุกวันนี้ วันเวลาเปลี่ยน เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป ความจริงต่างๆ เริ่มปรากฏจนพอมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น จะมี “ศิลปิน” เข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากขึ้นบ้างหรือไม่?

สิ่งที่ต้องการคือ “การปฏิรูปการเมือง” ก่อนการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่?

เฉียด 5 ปีที่ผ่าน หลังจากกลุ่มดังกล่าวนั้นเปิดทางกวักมือให้ “ทหาร” ออกมา “ยึดอำนาจ” และไม่คิดกลับเข้ากรมกอง ต้องการจะอยู่ในอำนาจต่อไป วางแผนสร้างกติกา ร่างรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี–อะไรต่อมิอะไรแบบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และบริหารประเทศจนเศรษฐกิจทรุดต่ำย่ำแย่ ประชาชนยากจน ขณะที่การโกงกินยังคงเต็มบ้านเต็มเมือง—

ถึงจะเปิดให้มีการเลือกตั้งในอีก 2 เดือนข้างหน้าที่จะถึง (24 กุมภาพันธ์ 2562) กลับเป็นไปแบบเอาเปรียบผู้อาสารับใช้ประชาชนมาลงสมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองต่างๆ อย่างน่าเกลียด

ส่อเค้าว่าอาจเกิดการคดโกงจนกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

มีผู้สรุปไว้อย่างสั้นๆ แบบกระชับว่า เป็นการเลือกตั้งที่เอาผู้แทนสัดส่วนไปมอบให้กับพรรคการเมืองที่แพ้ เพื่อตัดคะแนนพรรคการเมืองใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้ง เอาสมาชิกวุฒิสภาที่ตัวเองแต่งตั้งมา เพื่อเลือกตัวเองให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” เราจะยอมรับกันไหมว่า การเลือกตั้งกับกติกาแบบนี้เป็น “ประชาธิปไตย”?

โครงการเชื้อเชิญศิลปินมีชื่อเสียงของประเทศไทยเดินทางไปเปิดนิทรรศการศิลปะ พาคนในวงการศิลปะ นักศึกษา อาจารย์ เดินทางไปท่องเที่ยว ศึกษาดูงานหาประสบการณ์ ที่ดำเนินกันมายาวนานอย่างไม่เป็นทางการ โดยใช้บ้านของกมลเป็นที่พัก

แม่บ้านเป็นผู้จัดการเรื่องอาหาร รวมทั้งทรัพยากรทุกอย่าง การติดต่อประสานงานกับสถานที่ต่างๆ ศิลปินมีชื่อเสียงของสหรัฐ สตูดิโอ (Art Studio) แกลเลอรี่ (Art Gallery) กมลดำเนินการเองทั้งหมดโดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว

กว่า 2 ทศวรรษ โครงการจึงได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม การคัดเลือกเป็นไปอย่างมีระบบ ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ทั้งนักศึกษาศิลปะ และครู อาจารย์ผู้สอนศิลปะ รวมทั้งมีกำหนดการแน่ชัดในทุกๆ ปี แต่ผู้ที่เป็นไกด์เดินทาง ผู้นำพา ผู้บรรยาย รวมทั้งเปิดบ้านให้เป็นที่พักยังเป็นกมล ทัศนาญชลี+แม่บ้าน+(น้องๆ) ทีมงาน เปลี่ยนไปก็แต่เพียงไม่ได้ขับรถตระเวนไปหลายๆ รัฐ ข้ามรัฐดังเช่นแต่ก่อน เนื่องจากวัยที่สูงขึ้น

วันเวลาของ “ศิลปินแห่งชาติ” ท่านนี้ดำเนินไปเพื่อ “ศิลปะ”–และไม่รู้ว่าได้เอาเรี่ยวแรง สติปัญญามาจากไหน เขาทุ่มเทลงทุนเกินกว่า 10 ล้านบาท สร้าง “บ้านศิลปินแห่งชาติ” เป็น “หอศิลป์ร่วมสมัย” ขึ้นในซอยราษฎร์ร่วมเจริญ วงเวียนใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น สำหรับเก็บสะสม ติดตั้งผลงานที่สร้างมาตลอดชีวิต

เพื่อเป็นการเริ่มต้นรับ “ปีใหม่ 2562” ศิลปินทั่วไป ผู้สนใจ “ศิลปะ” คงต้องแวะไปสัมผัส