จากวิวาทะร้อน “มีชัย-สมชัย” เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ “สเปกสูง” จับตาใครอยู่-ใครไป

ปมร้อนการเมือง กรณี “เซ็ตซีโร่” กรรมการในองค์กรอิสระ เป็นอีก 1 ประเด็นที่สะท้อนความเขี้ยว ของ “เนติบริกรรุ่นใหญ่” วัย 78 ปี ที่ชื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

เป็น ความเขี้ยวลากดิน ที่แม้แต่บรรดากรรมการในองค์กรอิสระ อย่าง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ได้ชื่อว่า รู้กฎหมาย ก็ยังไม่ทันเอะใจ

โดยเฉพาะสถานะของตัวเองภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้บังคับ

อาจจะด้วยความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจหรืออาจจะมั่นใจบรรทัดฐานเดิม เมื่อครั้งระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาฉบับปี 2550 ที่ยังมีบทเฉพาะกาล เป็นเกราะคุ้มกันให้อยู่ต่อในตำแหน่งได้อย่างสบายๆ

เพราะแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ร่าง จะมี “บทเฉพาะกาล” บอกไว้เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

แต่ก็เป็นการบอกโดยมีเงื่อนไขในอนาคตเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

เห็นได้จากเงื่อนไขตามมาตรา 273 ที่ระบุให้การจะอยู่หรือจะไปของกรรมการในองค์กรอิสระ หลังรัฐธรรมนูญใช้บังคับนั้น ให้ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” ที่ กรธ. จะต้องเป็นผู้จัดทำ และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

ด้วยเหตุนี้เมื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดทำกฎหมายลูก 4 ฉบับแรกที่เสนอโดย กกต. พิจารณาไปได้ระยะหนึ่ง นอกจากจะปรากฏข่าวร้อนกรณี “เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง” แล้ว ยังมีข่าวกรณี “เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ” ที่ร้อนแรงไม่แพ้ควบคู่กันเกิดขึ้นมาด้วย

แม้จะถูกซักถามถึงประเด็นเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระเท่าไหร่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ก็จะอาศัยลูกเก๋าพูดซ้ำๆ ด้วยวลีประจำตัวที่ว่า “ขอเงี่ยหูฟังก่อน” อันเป็นท่าทีที่ว่า กรธ. ไม่มีไอเดีย ใครอยากจะให้เขียนอะไรก็บอกมาแล้วจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

จึงทำให้แก๊ง สปท.ติดยศ อย่าง “บิ๊กเอ็กซ์” พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ออกมาจุดพลุให้โละ กกต.ทั้งชุด หลังเกิดศึกแย่งเก้าอี้ประธาน กระทั่ง พล.อ.นคร สุขประเสริฐ เสนอให้รื้อใหม่ทั้งหมดทุกองค์กรแล้วสรรหากันใหม่เพื่อการปฏิรูป

ทั้งหมดจะเป็น “ธง” ที่ คสช. ส่งสัญญาณมาให้เดินหรือไม่ ก็สุดแต่จะคิดเชื่อมโยง

ขณะที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ยังยืนยันทุกครั้งว่า กรธ. ไม่มีแนวคิดเซ็ตซีโร่ เช่นเดียวกับเวลาที่กฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ใกล้จะพิจารณาแล้วเสร็จ ก็ยังยืนยันเช่นเดิม

จนกระทั่งมีคำว่า “แต่” ที่ความหมายเริ่มแปลกๆ ไป

“กรธ. ไม่ได้เซ็ตซีโร่ กกต.ใหม่ทั้งหมด แม้บางคนจะคุณสมบัติไม่ครบ เพราะเป็นสิทธิของเขา แต่คนที่คุณสมบัติไม่ครบก็ต้องรับสภาพ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีทางแก้ไขในประเด็นนี้แล้ว” คำยืนยันของประธาน กรธ. ล่าสุด

แปลกจนอาการของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต. อาการออก โดยเฉพาะอาการที่แสดงออกบนเวทีรับฟังความเห็นกฎหมายลูกของ กรธ. ด้วยการทิ้งระเบิดซึ่งหน้าใส่เนติบริกรรุ่นใหญ่ กลายเป็นวิวาทะอันร้อนแรงที่ว่า “เกิดก่อนร่างกฎหมายมาหลายฉบับกว่า ไม่ได้หมายความว่าต้องเก่งกว่า”

จากวิวาทะดังกล่าวทำให้ “สมชัย” ถูกมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า เป็นอาการ “ดิ้น” เพราะตกเป็น 1 ในข่ายที่อาจจะหลุดจากเก้าอี้ กกต. อันเนื่องมาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามใหม่ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด “สเป๊ก” ไว้สูงมาก

รวมไปถึงกรรมการองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ยืนยันเสียงแข็งว่า ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติกำหนด ยกเว้นไม่ได้ มิเช่นนั้น กรธ. จะเสี่ยงทำขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

ทั้งนี้ กรธ. ยังไม่ได้ชี้เป้าชัดว่ากรรมการองค์กรอิสระคนใดบ้างที่จะตกเก้าอี้ โดยยกหน้าที่ชี้ขาดว่า ใครจะอยู่ใครจะไปให้กับคณะกรรมการสรรหามาตรา 203 ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ

ขณะที่กรรมการ ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งอีกองค์กรละ 1 คน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากไล่เรียงดูตามรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ และ “ปูมหลัง” ของกรรมการในองค์กรอิสระแต่ละคน ก็พอเริ่มเห็นเค้าลางแห่งชะตากรรม

เริ่มจาก “ด่านแรก” คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทั่วไป ตามมาตรา 216 ที่ห้ามคน “เคย” เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใดกลับมาเป็นอีก

ห้ามคนเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา

นับเฉพาะด่านแรก ก็ชัดๆ แล้ว 2 ราย อย่าง “ประวิช รัตนเพียร” ที่ก่อนมาเป็น กกต. เคยเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” มาก่อน

หรืออย่าง “วิทยา อาคมพิทักษ์” ออกมาก้มหน้ายอมรับแต่โดยดีว่า ก่อนที่จะมาเป็น ป.ป.ช. เคยเป็น “คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” หรือ คตง. มาก่อน

ไหนจะมี “ด่านที่สอง” อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตามรายละเอียดของแต่ละองค์กรอีก

อย่าง กกต. ก็ต้องยึดตามมาตรา 222 ต้องเป็นผู้มีความรู้มีประสบการณ์ด้านกฎหมาย เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

หรือต้องเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมไม่ต่ำกว่า 20 ปี อันเป็นข้อที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ต้องหาหลักฐานมาชี้แจงว่า ทำงานในองค์กรพีเน็ตเกินตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่

 

อย่าง ป.ป.ช. ก็ต้องยึดตามมาตรา 232 ต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามการทุจริต

ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ เคยรับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกลาง อธิบดีอัยการ หรือรับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

หรืออย่างศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยึดตามมาตรา 200 โดยเฉพาะ สายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ที่กำหนดกำแพงไว้สูงว่า ต้องดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

เพราะแค่ข้อเดียวอาจทำให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” สายวิชาการไม่ต่ำกว่า 2 คนที่กำลังทำหน้าที่อยู่อาจมีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์

และเมื่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกขององค์กรนั้นๆ มีผลบังคับใช้ คณะกรรมการสรรหาคงจะมีคำสั่งเรียกข้อมูลเป็นรายคนเพื่อนำมาพิจารณากันในอนาคต แม้จะไม่ถึงขนาดยกแผง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อาจจะต้องตกเก้าอี้ไปตามรัฐธรรมนูญที่วางสเป๊กไว้สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อ นอกจากการเซ็ตซีโร่ตัวกรรมการเพื่อเปิดทางให้คนใหม่ที่มีการตั้งคุณสมบัติใหม่อย่างที่ กรธ. คิด คงต้องมีประเด็นอื่นๆ พิจารณาควบคู่กันไปด้วย

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา องค์กรอิสระต่างๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเชื้อเติมไฟก่อให้เกิดขึ้นมา

แม้ตัวรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติจะมีการเพิ่มสเป๊ก โดยการตั้งกำแพงให้กับบุคคลที่จะเข้ามารับการสรรหาเป็นกรรมการไว้แบบสูงลิ่วตามอำนาจใหม่ที่ กรธ. สถาปนาให้ แต่ถ้ายังไม่มีหลักประกันเรื่องความเป็นกลาง ลบภาพต่างๆ ที่เคยถูกข้อครหาจากสังคม ทั้ง “เลือกปฏิบัติ” และ “สองมาตราฐาน”

การเซ็ตซีโร่นำคนเก่าออกเพื่อเปิดทางให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก็คงไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นได้