บทวิเคราะห์ : เช็กนโยบายประชานิยม 5 พรรค พปชร.ใจถึง มัดจำแสนล้าน ปชป.ชูสวัสดิการ-พท.ตอกย้ำต้นตำรับ

นับตั้งแต่ความชัดเจนโรดแม็ปการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคการเมืองใหญ่-กลาง-เล็ก ต่างงัดนโยบายมาสร้างคะแนนนิยม-ขายฝัน Voter ผู้มีสิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 8 ปี กว่า 52 ล้านคน

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในเงื้อมมือทหาร-เงาร่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คอนโทรลทุกกลไกอำนาจรัฐ ลด-แลก-แจก-แถม เทกระจาดโครงการรัฐเฉียดแสนล้าน

1 เดือนก่อนเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย-ช่วงหาเสียงเลือกตั้งนับจากร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติโครงการ-งบประมาณเกือบ 1 แสนล้าน ได้แก่ มาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 14.5 ล้านคน ใช้งบประมาณ 38,730 ล้านบาท

โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรสวนยาง แบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท คนกรีดยาง 700 บาท รายละไม่เกิน 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ วงเงิน 18,604 ล้านบาท รวมเจ้าของสวนยาง 999,065 ราย คนกรีดยาง 304,266 ราย

ออกกฎหมายเพิ่มเงิน-ช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ-กำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพให้ข้าราชการบำนาญ โดยเพิ่มเงินเบี้ยหวัดบำนาญให้ได้ถึง 1 หมื่นบาทต่อเดือน ปัจจุบัน 5.27 หมื่นคน วงเงิน 558 ล้านบาท และขยายเพดานบำเหน็จดำรงชีพอีก 1 แสนบาท เป็นไม่เกิน 5 แสนบาท ปัจจุบัน 6.59 แสนคน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท

เพิ่มเงินรายได้ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จาก 600 บาทต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อเดือน วงเงิน 12,656 ล้านบาท นอกจากนี้ยัง “ลดค่าเช่า” แผงตลาดนัดจตุจักร จากเดิมค่าเช่าแผงละ 3,157 บาท ลดเหลือแผงละ 1,800 บาท

เบ็ดเสร็จวันเดียว “ครม.ประยุทธ์” จัดโปรไฟไหม้-แจกทุกหย่อมหญ้า 90,548 ล้านบาท

 

“อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม-หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงแนวนโยบายของพรรคว่า ต้องเป็นมาตรการที่ยั่งยืน ไม่ใช่แก้แบบชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ให้ปัญหากลับมาอีก

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวมหมวกรองหัวหน้าพรรค พปชร. ฉายภาพ “สังคมประชารัฐ” โดยมี “คีย์เวิร์ด” 4 คำ ที่ถูกนำมาขายเป็นนโยบายของพรรค ได้แก่ “สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน” คือ สร้างหลักประกันสังคม เสริมความเข้มแข็งฐานราก ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

และเปลี่ยนการบริหารราชการไปสู่รัฐที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

 

ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้บุกเบิกลัทธิ “ประกันรายได้” เปิดตัวนโยบายแรกเรียกเสียงฮือฮา เมื่อประกาศ 10 นโยบายด้านการศึกษา – “เกิดปั๊บ ได้สิทธิรับเงินแสน” และ “เรียนฟรีถึง ปวส.-จบแล้วมีงานทำ”

“กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรค-ประธานกรรมการนโยบายพรรค แจกแจงที่มาของเงินที่จะใช้ว่า จะมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำของทุกปี โดยตลอดโครงการดังกล่าวที่กำหนดให้เงินอุดหนุนเด็กปฐมวัยตั้งแต่อายุ 0-8 ปีนั้น จะใช้งบประมาณสูงสุดที่ 7 หมื่นกว่าล้านบาท หรือตกปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

“กลุ่มแรกที่ได้ลงทะเบียนไว้ในโครงการรัฐบาลในปัจจุบัน จากนั้นก็ให้เด็กที่เกิดใหม่ทุกคน และตั้งใจให้ย้อนหลังตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2561 เด็กที่เกิดใหม่ทุกคนจะได้สิทธิ์ เป็นรัฐสวัสดิการ โดยภาระทางการคลังปีละ 12,000 ล้านบาท ในปีแรก จะมีเด็ก 400,000 กว่าคนได้รับสิทธิ์ บวกกับเด็กที่เกิดใหม่ ปี 2-3 จะเพิ่มขึ้นประมาณหมื่นล้านจนถึงปีที่ 8 หลังจากนั้นจะลดลง”

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจปากท้อง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค อาสาแก้ปัญหาใหญ่เศรษฐกิจไทย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ปัญหาเฉพาะหน้า-เศรษฐกิจไม่ดี-คนไม่มีกำลังซื้อ-รายได้ไม่พอ 2.ขีดความสามารถการแข่งขัน และ 3.ความเหลื่อมล้ำ

“กลุ่มเกษตรกร” แก้ปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีหลักประกันที่อยู่อาศัย โดยการยกระดับการถือครองที่ดิน สร้างโอกาส-หลักประกันในการกู้ยืม ภายใต้ “โครงการโฉนดสีฟ้า” ภาคของโฉนดชุมชน ยกระดับที่ดิน ส.ป.ก. ของเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึง “กองทุนน้ำชุมชน” สนับสนุนให้เกิดสระน้ำขนาดกลาง-เล็กในไร่นา

ฟื้นนโยบาย “ประกันรายได้” ให้กับสินค้าเกษตร รวมไปถึง “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน-กลุ่มผู้สูงอายุ” และสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-กลุ่มผู้ยากไร้ 14.4 ล้านคน “ปิดช่อง” การถูกโจมตีเรื่องการเอื้อให้ทุนใหญ่ค้าปลีก โดย “ไม่มีเงื่อนไข”

“ข้าวต้องไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเกวียน ปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ค่าแรงขั้นต่ำต้องไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปีและเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือน เติมบัตรสวัสดิการเป็นเงินสด-โอนตรงเข้าบัญชี รายละ 800 บาทต่อเดือน”

 

ฟากพรรคเพื่อไทย (พท.) เจ้าตำรับประชานิยม การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค-พวกทักษิณ “ปิดจุดดับ” ของพรรคด้วยการงดพูดนโยบายประชานิยม-โจมตีนโยบายประชารัฐแทน โดยมี “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค – “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจเป็นตัวขับ

“เพื่อไทยจะทำการ Re matching resources ของประเทศใหม่ จะใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์อย่างชาญฉลาด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช้งบฯ เยอะแต่เลอะเทอะ จะไม่มีภาษีจากการขึ้นภาษีขูดรีดประชาชน”

“ไทยอยู่ในกลุ่มกับดักรายได้ปานกลาง จะออกจากตรงนี้ไม่ได้ถ้าพึ่งพาแต่การลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาใช้ต่างชาติมาลงทุน สร้าง Eastern seaboard เอาต่างชาติมาสร้างงาน ให้เกิดการจ้างงาน ล้าสมัย อนาคตไม่ได้ใช้แรงงานมากขึ้น ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นจากคนในประเทศ ต้องสร้างเกษตรกร SMEs สร้างอุตสาหกรรมในประเทศให้เข้มแข็ง”

“สำคัญที่สุดคือประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างโอกาสจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่ไม่ใช่การแจกเงิน การแจกเงินเป็นระยะสั้น แต่ต้องสร้างโอกาส เช่น โครงการที่เคยทำมาแล้ว 30 บาทรักษาทุกโรค OTOP กองทุนหมู่บ้าน”

 

ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคที่สามของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เปิดนโยบายเป็นครั้งแรกด้วยคอนเซ็ปต์ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”

ทั้งในด้านการศึกษา โดยจะปรับโครงสร้างหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่น ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที พักหนี้ กยศ. 5 ปี รวมถึงสร้างการศึกษารูปแบบใหม่ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ “เรียนฟรี” ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงอุดมศึกษาด้วยระบบออนไลน์-สถาบันการศึกษาออนไลน์-THAILAND SHARING UNIVERSITY

ด้านการท่องเที่ยว-บริการ ชู “Buriram Model” ของเนวิน ชิดชอบ มาเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองด้วยการท่องเที่ยวและบริการเพื่อสร้างรายได้ และด้านการเกษตร สร้างระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรมากกว่า 30 ล้านคน

เรียกว่า “Profit Sharing”

 

พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคน้องใหม่ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เปิด 12 นโยบาย เปรียบเสมือนเป็นบ้าน ประกอบด้วย 3 รากฐาน-เสาหลัก 8 เสา-คาน และหลังคา และนโยบายคุณภาพการบริการภาครัฐและคุณภาพชีวิต หรือ “ไทย 2 เท่า” อาทิ ระบบรถไฟที่เดินทางโดยอุโมงค์ด้วยความเร็วเกิน 1,000 ก.ม./ช.ม. หรือ “ไฮเปอร์ลูป”

โดยเฉพาะ 8 เสาหลัก ที่เป็นการ “รื้อแปลน” โครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่หมด 1.ทำลายเศรษฐกิจผูกขาด 2.ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน 3.เกษตรกรก้าวหน้า 4.เศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อประชาชน 5.เปิดเผยข้อมูลรัฐกำจัดทุจริต 6.โอบรับความหลากหลาย 7.สิ่งแวดล้อมยั่งยืน 8.ปฏิรูปกองทัพ

กว่าจะถึงวันหย่อนบัตร จึงจะชัดเจนว่า นโยบายขายฝัน-ขายฝาก ประชารัฐ หรือรัฐสวัสดิการ จะเข้าเส้นชัย หรือสุดท้าย ประชานิยมต้นตำรับจะกลับมาขึ้นทำเนียบ…อีกครั้ง