จรัญ พงษ์จีน : ว่าแล้ว “เลื่อนเลือกตั้ง” จนได้! แต่เพราะอะไร?

จรัญ พงษ์จีน

แม้นาทีนี้ยังไม่มีใครคอนเฟิร์มว่าโปรแกรมเลือกตั้ง “จำเป็น” จะต้องเลื่อนอีกครั้ง จากกำหนดเดิมคือวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ขยับออกไปอีกนิดหนึ่ง หน่อยเดียว ตามที่ “ลึกแต่ไม่ลับ” เมื่อฉบับที่แล้ว “ฟันธง” ล่วงหน้า ส่งท้ายปี 2561

ซึ่งระบุไว้ล่วงหน้าว่า ท้ายที่สุดแล้ว ศึกเลือกตั้งจะต้องเจอ “โรคเลื่อน” อีกครั้ง โดยยืนยันว่าทั้งนี้มิใช่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หรือ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มี “ใบสั่ง”

หรือแอบส่งซิก กดสัญญาณผ่านใครเพราะ “กลัวแพ้” แต่ประการใด

โปรแกรมเลือกตั้งต้องขยับอีกครั้ง ทั้งๆ กรอบเวลาได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อกลางเดือนกันยายน และมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2561

สอดรับกับการที่ “กกต.” ได้นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการตามภารกิจทั้งการให้ได้มาซึ่ง ส.ว. และการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้ทุกกระบวนการจะสามารถขับเคลื่อนได้ทันทีทันใด

จึงประมาณการกันว่า ศึกเลือกตั้ง ส.ส. จุดลงตัวจะอยู่ที่จุด “เร็วที่สุด” คือวันอาทิตย์ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่น่าจะ “ช้าที่สุด” คือวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562

“ปฏิทินเลือกตั้ง” จะเดินตามเข็มนาฬิกาบอกเวลาดังต่อไปนี้ พลันที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 กันยายน 2561

13 พฤศจิกายน 2561 กกต.ออกประกาศเขตเลือกตั้ง และจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง จากนั้นพรรคการเมืองเริ่มเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวต 11 ธันวาคม 2561 และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้วันที่ 2 มกราคม 2562 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเรียบร้อย วันที่ 14-18 มกราคม 2562 กกต.จะเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมืองจะต้องแจ้งชื่อผู้จะเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 คือวันเลือกตั้ง โดยฟันธงว่า แต่เนื่องจาก “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” เจออุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ถูกร้องเรียนการแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งถูกคัดค้านจากพรรคการเมืองน้อยใหญ่ ว่าไม่ใส่โลโก้พรรคในบัตรใช้สิทธิลงคะแนน ทำให้เกิดความสับสนทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง

“กกต.” จึงต้องเป็นห้องเครื่องให้โปรแกรมเลือกตั้ง ที่กำหนดไว้แต่เดิม 24 กุมภาพันธ์ ต้องเลื่อนออกไปอีกระยะ และแค่ “เพียงเล็กน้อย” คาดว่าน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2562 มากกว่าช่วงใดๆ

 

ทีนี้ตามไปดูกรอบเวลา จุดลงตัวของการเลือกตั้ง ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ กับวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่จะลงเอยตามรัฐธรรมนูญ “มาตรา 84” หมวด “สภาผู้แทนราษฎร” ที่กำหนดว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้ว

หากมีความจำเป็นจะต้องเรียกประชุมรัฐสภา ก็ให้เรียกดำเนินการประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกครบตามจำนวนโดยเร็ว

ให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง กกต.ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว “แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง”

ทั้งนี้ การประกาศผลดังกล่าวไม่เป็นการตัดหน้าที่และอำนาจของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ก็ตาม

เช่นว่านี้ หากกำหนดวันเลือกตั้งตามเดิม คือวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 “กกต.” ต้องเปิดสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ หลังเลือกตั้ง ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2562 “กกต.” ต้องประกาศผลเลือกตั้งร้อยละ 95 ตามกรอบ “ต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน”

เดือนพฤษภาคมเปิดประชุมสภาครั้งแรก เลือกประธานสภา จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเรียกประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนนี้จะแล้วเสร็จทุกบริบท มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์ราวกลางเดือนมิถุนายน 2562 เป็นวันที่คณะรัฐมนตรี และ “คสช.” พ้นตำแหน่ง

กรณีโปรแกรมเลือกตั้งเลื่อนไปเป็นวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2562 “กกต.” เปิดรับสมัครเลือกตั้งวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ ต้องประกาศผลเลือกตั้งร้อยละ 95 ภายในเวลา 60 วัน ช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 เดือนมิถุนายนจึงสามารถประชุมสภานัดแรก เพื่อเลือกประธานสภา จึงสามารถเรียกประชุมเพื่อลงมติเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นขั้นตอนกรณีนี้ เป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2562

ไม่ว่าศึกเลือกตั้งจะลงตัววันไหน ที่เท่าไหร่ แต่ “คสช.” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” และดาบอาญาสิทธิ์ คือ “มาตรา 44” ยังคงดำรงอยู่และมีอิทธิฤทธิ์ถึงก๊อกสุดท้าย

ตามกรอบรัฐธรรมนูญ “มาตรา 264” ที่กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีและ คสช.จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

เท่ากับว่า “คสช. และมาตรา 44” ทาง “บิ๊กตู่” ยังสามารถเรียกใช้บริการได้ จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์เป็นที่เรียบร้อยจึงสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที

แต่ระหว่างที่ศึกเลือกตั้งยังไม่ลงตัวเรียบร้อย หรือกรณีที่เลือกตั้งแล้วส่อเค้าเล่าอาการว่าจะไม่ลื่นไหล ไม่มีจุดลงตัว ฟอร์มรัฐบาลไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่จุดเสี่ยงอีกครั้ง

ทาง “พล.อ.ประยุทธ์” ยังงัดมาตรา 44 มาจัดการได้ ไม่ว่าจะเลื่อน ยกเลิก ยุบ จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะลงตัว

สรุปว่า ศึกเลือกตั้ง จะเลื่อนหรือล้มเลิก ก็ยังใช้มาตรา 44 เช็กบิลได้อยู่