บทวิเคราะห์ : “บิ๊กตู่” ถอดรหัสเปรมโมเดล เพิ่มมิตร ลดศัตรู ฝ่าคลื่นนั่งนายกฯ ยาวไป!!

2ปีที่ผ่านมา

มี 2 คำเตือนจาก “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” อย่าง “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในการเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. นำรัฐมนตรี-ผบ.เหล่าทัพเข้าอวยพรและขอพรวันปีใหม่

ตั้งแต่ปี 2560 ที่ “ป๋าเปรม” ได้เตือน พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องกองหนุนลด

ก่อนจะเข้าปี 2561 ที่ “บิ๊กตู่” และองคาพยพได้เดินเกมทางการเมืองมากขึ้น นับจากการตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยให้ 4 รัฐมนตรีไปปูทางเตรียมการไว้ อีกทั้งการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นการเปิดฉากชนกับฝ่ายการเมืองเต็มๆ

“ตู่ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีที่มีต่อประชาชนชาวไทย กองหนุนจะมาเอง” พล.อ.เปรมกล่าวเมื่อธันวาคม 2560

ที่สำคัญ “ป๋าเปรม” ได้มองไปถึงสภาวะหลังเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร รวมทั้งกระแส “บิ๊กตู่” จะดีหรือไม่ หากพรรคพลังประชารัฐได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “แคนดิเดตนายกฯ” อย่างเป็นทางการ หลัง “บิ๊กตู่” เองก็ได้เปิดช่องไว้แล้วให้มีการมาเชิญอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ไปพูดผ่านสื่อ รวมทั้งเมื่อมาทาบทามก็ต้อง “ตัดสินใจ” อีกครั้ง

เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะถ้าไม่รับการทาบทาม ก็จะต้องรอไปเป็น “นายกฯ คนนอก” จากบัญชีรายชื่อพรรคนั่นเอง ที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ส.-ส.ว. เปิดช่องให้มีการโหวตเลือกนายกฯ คนนอกได้ แน่นอนว่า “ความสง่างาม-การยอมรับ” จะไม่เท่ากับการลงในบัญชีรายชื่อของพรรค เพื่อเป็น “นายกฯ คนใน” ให้ประชาชนได้ตัดสิน

อีกทั้งพรรคพลังประชารัฐก็ได้ทุ่มแรงและทรัพยากรไปจำนวนมาก นับจากปรากฏการณ์ “พลังดูดอดีต ส.ส.” มาร่วมพรรค ที่ดูดมาได้จากทุกขั้วและทุกระดับ ทั้งอดีต ส.ส.แถวหน้า แถวสองและสาม เพราะงานนี้ทุกพรรคหวัง “คะแนนเททิ้งน้ำ” มาดึงเก้าอี้ “บัญชีรายชื่อ” ที่นับจากคะแนน ส.ส.เขตนั่นเอง จึงเกิดปรากฏการณ์ “แตกพรรค” ขึ้น

ซึ่งหลายพรรคก็กลายเป็น “พรรคแตก” ไปด้วย

แม้แต่พรรคพลังประชารัฐเอง ที่ “พลังดูด” เริ่มออกฤทธิ์ ทำให้เกิด “ก๊ก” ขึ้นในพรรค การทำงานไม่เป็นเอกภาพ มีความสับสนกันเองของคนในพรรคในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ

ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ยากที่จะมีพรรคใดชนะขาด หรือแลนด์สไลด์ ด้วยระบบการเลือกตั้งและการนับคะแนน

ภาพของ “รัฐบาลผสม” จึงมีโอกาสเกิดขึ้นสูง

หากในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ก็ต้องทำงานกับ “นักการเมือง” ที่กรำศึกการเมืองมานาน แน่นอนว่าย่อมมีประสบการณ์มากกว่า

จึงเป็นโจทย์สำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะต้องรับมือให้ได้

โดยเฉพาะสิ่งที่สังคมอยากเห็นคือการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์ จะอดทนไหวหรือไม่ รวมทั้งในวันที่ไม่มี ม.44 ไว้ใช้เป็นดาบอาญาสิทธิ์แบบด่วนทันใจ มีอำนาจล้นมือได้อีก

แต่โจทย์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะมีการเสนอกันมานานแล้วในการใช้ “เปรมโมเดล” นั่นคือการยึดแบบอย่าง “ป๋าเปรม” ในการเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่ง “ป๋าเปรม” ดำรงตำแหน่งยาว 8 ปีครึ่ง แต่ “ป๋าเปรม” ก็ต้องกล่าว “ผมพอแล้ว” ช่วงปี 2530 ที่จะมีการเชิญให้เป็นนายกฯ ต่อ หลังกลุ่มปัญญาชนและนักวิชาการยุคเดือนตุลาฯ ได้เข้าชื่อถวายฎีกา คัดค้านไม่ให้ “ป๋าเปรม” เป็นนายกฯ สมัยที่ 4

ซึ่งช่วง 8 ปีครึ่งที่ “ป๋าเปรม” เป็นนายกฯ ก็ต้องเจอกับการกรำศึกการเมืองระหว่างกลุ่มทหารหนุ่มที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จปร.7 หรือ “ยังเติร์ก” ที่หนุน “ป๋าเปรม” และ จปร.5 ที่ไม่พอใจการโตข้ามหัวรุ่นพี่ของ จปร.7

แต่สุดท้ายผู้คิดก่อการรัฐประหารเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กลายเป็นกบฏเมษาฮาวาย 2524 และกบฏ 9 กันยาฯ 2528 นั่นเอง

อีกทั้งบุคลิกของ “ป๋าเปรม” ที่ไม่นิยมตอบโต้ นิ่งสุขุม จึงทำให้ยากจะอ่านใจ “ป๋าเปรม” จึงทำให้ได้รับฉายาว่า “เตมีย์ใบ้” เช่น การกล่าวกับสื่อที่รอสัมภาษณ์ว่า “กลับบ้านเถอะลูก” เป็นต้น รวมทั้งการไม่ออกมาพูดบ่อยนัก

แต่การออกมากล่าวแต่ละครั้งก็ล้วนเป็น “แรงสะกิด” หรือ “สัญญาณสำคัญ” ที่ต้องรับฟังด้วย

โดยล่าสุด “ป๋าเปรม” ได้กล่าวกับ “บิ๊กตู่” ให้มองคนเห็นต่างอย่างเป็นมิตร แน่นอนว่าการที่ “ป๋าเปรม” กล่าวเช่นนี้ ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ปี 2562 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น รวมทั้ง คสช.ได้ปลดล็อกพรรคและกลุ่มการเมือง ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นทันที หลังถูกแช่แข็งมาตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งการแบ่งขั้วในปัจจุบันหมดยุค “เสื้อแดง-เสื้อเหลือง” หรือ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” แต่เป็นระหว่างขั้ว “เอา-ไม่เอา คสช.” แทนไปแล้ว โดยพรรคการเมืองก็ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วไปด้วย ซึ่งก็ยังมีพรรคกลางๆ ที่พร้อมกระโดดไปหาฝั่งที่ชนะอยู่เสมอ

“ผมคิดว่าถ้านักการเมืองที่เรียกว่าเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลเห็นแก่ความเป็นมิตรทุกอย่างก็จะราบรื่นและเดินไปได้อย่างสวยงาม ท่านพูดว่าเห็นต่างกันด้วยความเป็นมิตร ก็จะดีมาก เพราะทุกคนก็เป็นมิตรกัน แต่เห็นต่างกันเท่านั้น” พล.อ.เปรมกล่าวธันวาคม 2561

“ผมอยากให้นายกฯ ทำเป็นตัวอย่างว่า ผมเห็นต่างกับคุณ แต่ผมก็ยังเป็นเพื่อนกับคุณนะ เรื่องนี้น่าจะทำให้กิจการต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น ขอฝากนายกฯ อาจจะจำไปใช้ ตามที่ผมพูดนี้ก็ได้ เพราะผมเคยใช้มาแล้วได้ผลดีมาก” พล.อ.เปรมกล่าวเมื่อธันวาคม 2561

แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก การเติบโตของขบวนการประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวทางสังคม เทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ต้องมาดูกันว่า “เปรมโมเดล” ยังใช้ได้ผลหรือไม่?

แต่สิ่งที่ “ป๋าเปรม-บิ๊กตู่” มีความแตกต่างกันอย่างมากคือ “บุคลิก” ที่ “ป๋าเปรม” มีความประนีประนอม

ส่วน “บิ๊กตู่” ขึงขัง มุทะลุดุดัน ใช้ปากสร้างศัตรู จึงทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องกลับมาปรับบทบาทใหม่ ระมัดระวังตัวเองในเรื่องการพูด การวางตัว และหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องการเมือง

รวมทั้งการเปิดโซเชียล 3 ช่องทาง เพื่อเป็น “ลุงตู่” ที่เข้าถึงง่าย รวมทั้งการลงพื้นที่ ครม.สัญจร หรือลงพื้นที่ตามวาระงานของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ถี่ขึ้นและมีภาพเป็น “นักการเมือง” มากขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกปูทางมาโดยตลอด หากสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำแล้วได้ผล จึงเป็นอีกปรากฏการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ โดยเฉพาะการศึกษาพัฒนาการทางการเมืองไทย

ที่สะท้อนว่า “2 ป.โมเดล” นี้มีการปรับตัวอยู่เสมอ ในการ “ปูทาง” ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน จึงทำให้แม้ผ่านมา 30-40 ปีแล้ว แต่ “โมเดล” นี้ก็ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ เพื่อเป็น “ประตูฉุกเฉิน” ของกลุ่มอำนาจเดิม