ฉัตรสุมาลย์ : พระพุทธเจ้าในถ้ำหยุนกัง

ต้องบอกท่านผู้อ่านเลยค่ะ ว่างานศิลปะที่ถ้ำนี้สุดยอดจริงๆ ก็เลยตั้งใจเขียนยาวหน่อย

อาทิตย์ก่อนอธิบายถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผู้คนที่อยู่ในแถบนี้

อาทิตย์นี้ขออนุญาตพูดถึงรายละเอียดของงานศิลปะที่เขาแบ่งเป็น 3 เฟส

ในช่วงของเฟสที่ 1 และ 2 (ค.ศ.460-494) เป็นงานศิลปะที่ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์

นั่นหมายรวมถึงบรรดาขุนนางและผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามาร่วมสร้าง บ้างก็ด้วยศรัทธาจริงๆ บ้างก็ตามเสด็จ บ้างก็เอาหน้า บ้างก็ด้วยเกียรติยศและตำแหน่งค้ำคอ ดังที่เราจะเห็นได้จากความเป็นจริงแม้ในสังคมพุทธปัจจุบัน

งานศิลปะช่วงนั้นจึงงดงาม อลังการ และมีขนาดใหญ่ เพราะทุนการสนับสนุนเต็มที่

ในช่วงเฟสที่ 3 ค.ศ.494-524 นับแต่ถ้ำที่ 20 ไปจนสุดทางด้านตะวันตก เป็นถ้ำเล็กถ้ำน้อย เราไม่ลืมว่า ช่วงนี้กษัตริย์ทรงย้ายเมืองหลวงไปลั่วหยาง เมื่อศูนย์อำนาจไม่อยู่ บรรดาข้าราชบริพารก็ตามเสด็จไปด้วย กำลังทุนทรัพย์ในการสร้างถ้ำสมัยที่ 3 จึงมีเพียงประปราย

ลักษณะงานศิลปะที่ปรากฏในช่วงนี้ ก็สะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของการสร้างถ้ำหยุนกั่งด้วย นอกจากนี้ เมื่อขาดการทะนุบำรุงจากกษัตริย์โดยตรง ฐานะของศาสนาพุทธเองก็พลอยตกต่ำไปด้วย

งานศิลปะในช่วงนี้จึงมาจากขุนนางท้องถิ่น และขุนนางชั้นผู้น้อย รวมทั้งชาวบ้านผู้ศรัทธาที่ช่วยให้ถ้ำบางถ้ำที่เริ่มต้นไว้ในเฟสที่สอง สำเร็จบริบูรณ์ด้วย

ถ้ำหยุนกังจึงเป็นงานรังสรรค์ของชนเผ่าต่างที่อยู่ทางจีนตอนเหนือ เป็นผลผลิตของงานศิลปะชั้นเลิศ ด้วยชาวจีนที่มีความศรัทธา

 

หลีเต้าหยวน นักภูมิศาสตร์ในศตวรรษที่ 6 ได้บันทึกไว้ว่า “ได้มีการขุดเจาะภูเขาและหน้าผา มีวิหารใหญ่อยู่ในภูเขาที่อยู่ริมแม่น้ำ”

ในขณะที่บันทึกประวัติศาสตร์อื่นระบุว่า “ทางด้านเหนือของภูเขาวูโจว มีกลุ่มถ้ำของวัดในพุทธศาสนา เรียกว่า หลิงหยาน กว้างขวางขนาดจุคนได้ 3,000 คน มีงานศิลปะแกะสลักในถ้ำที่งดงามมาก บรรดาถ้ำใหญ่น้อยเหล่านี้ยาวถึง 15 ก.ม.”

ใน ค.ศ.641 ปีที่ 15 ของเช็นกวาน สมัยราชวงศ์ถัง มีการซ่อมแซมบางถ้ำ และเข้าใจว่า พระอมิตาภะกับพระโพธิสัตว์ที่ยืนเคียงข้างอยู่ด้านหลังของถ้ำหมายเลข 3 ก็อาจจะสร้างขึ้นในสมัยนี้

ในสมัยที่วัดหลิงหยางรุ่งเรืองนี้ มีทั้งภิกษุและภิกษุณี ปรากฏในบันทึกว่า ทางตะวันออกของหมู่บ้านมีวัดหลิงหยาง มีอารามของภิกษุณีอยู่ทางตะวันตก หน้าผาที่เจาะเป็นถ้ำเข้าไปดูเหมือนรังผึ้ง ส่วนจำนวนพระพุทธรูปนั้น มีมากเหลือคณานับ

วัดถ้ำหยุนกังอยู่มาจนถึง ค.ศ.1644 ปลายสมัยราชวงศ์หมิง บรรดาอาคารที่สร้างด้วยไม้ถูกทำลายลงในสมัยที่แมนจูเข้ามาปกครองเมืองต้าถง

อารามไม้ที่เห็นในปัจจุบันที่อยู่ด้านหน้า ถ้ำที่ 5 และ 6 นั้น ซ่อมแซมขึ้นใหม่ใน ค.ศ.1651

หลังจากการปฏิวัติ ค.ศ.1949 รัฐบาลจีนจัดตั้งสถาบันเพื่อบูรณะซ่อมแซมวัดถ้ำหยุนกังให้งดงามดังเดิม

 

ลักษณะงานศิลปะที่นี่ เน้นพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

บางทีก็อยู่ตามลำพัง

บางทีสองข้างขนาบด้วยพระอานนท์และพระมหากัสสป

บ่อยครั้งจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะทรงเครื่องทั้งมงกุฎ สร้อยพระศอ ทับทรวง รัดต้นแขน มีเครื่องประดับที่ข้อพระหัตถ์ ฯลฯ

ถ้าจะดูความงามของเครื่องแต่งกายจะเป็นพระโพธิสัตว์เสียเป็นส่วนมาก ที่อัศจรรย์คือ ความสามารถที่แกะสลักราวกับพระพุทธรูปนั้น อยู่บนอาคารอย่างน้อยสามชั้น รายละเอียดยังคงอยู่ครบถ้วน งดงามจริงๆ

เราเดินเข้าเดินออกตามถ้ำต่างๆ พอรู้สึกว่าหนาวนัก ก็หลบเข้าไปในถ้ำที่มีอุณหภูมิที่อุ่นกว่าข้างนอก

 

เราไปจบเอาถ้ำเปิดที่ใหญ่ที่สุด มีพระพุทธรูปหินแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในหมู่ถ้ำหยุนกัง ทรงพระเมาลี พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ไม่สมบูรณ์ พระกรรณยาว ตามลักษณะของพระพุทธรูปทั่วไป ทรงครองจีวรแบบเปิดไหล่ ริ้วจีวรที่พาดลงมาจากบ่าตั้งใจทำเป็นรอยพับไปมางดงาม พระพักตร์งามมากจริงๆ

ข้างซ้ายพระหัตถ์ของพระพุทธรูปองค์ประธานก็เป็นพระพุทธรูปแบบเดียวกัน แต่ประทับยืน ขนาดองค์เล็กกว่า พระหัตถ์ขวายกขึ้น แบบพระห้ามญาติ ครองจีวรคลุมทั้งสองไหล่

เราถ่ายรูปหมู่กันตรงนี้ พื้นที่ที่เป็นลานหน้าถ้ำให้ความรู้สึกโล่งโปร่งสบาย แม้จะเย็นจัดก็ตามที

 

ก่อนที่คณะของเราจะกราบลาพระออกมา ปรากฏว่า คนจีนที่เราเห็นนั้น มานำเสนอทั้งภาพหมู่และภาพเดี่ยวของพวกเราที่เขาแอบถ่ายโดยที่เราไม่รู้ตัว

สำหรับภาพหมู่นั้นเราพอจะเดาออก เพราะที่ถ้ำตุนฮวางในทริปก่อน เราก็มีคนมาจัดการคณะของเราให้ถ่ายรูปหมู่ และในท้ายที่สุดก็นำมาขายเหมือนกัน ไม่ว่ากัน

พวกเราซื้อกันไปหลายคน รูปขนาด 5 x 7 เขาขอรูปละ 10 หยวน (50 บาท) ก็ช่วยๆ กันไป

ขากลับออกมา เราได้นั่งรถแบบปิด ไม่มีลมเย็นโกรกเหมือนขาไป

กลับออกมาด้วยความรู้สึกอิ่มใจกับความงามทางศิลปะที่เราได้ไปซึมซับ เมื่อเทียบความงามทางศิลปะในบรรดาถ้ำพุทธศิลป์ทั้งสี่แห่ง คือ ไม้จีซาน ตุนฮวาง หยุนกัง และหลงเหมิน (ที่เราจะไปในอีก 2 วันข้างหน้า ในทริปนี้)

ท่านธัมมนันทาท่านโหวตให้ที่นี่งามที่สุดค่ะ มีรูปมาฝาก อย่างน้อยที่สุดก็ได้ร่วมชื่นชมด้วยกัน

ครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ