เพราะ “สงคราม” เลยทำให้ “เลโก้” อยู่ได้ในทุกวันนี้!?

“เลโก้”

วันก่อน “พอดี” ลูกชายวัยสามขวบของผม

ได้รับคำชมจากคุณครูที่โรงเรียน

ว่าเป็นเด็กดี มีน้ำใจ กับเพื่อนๆ

คุณครูติดดาวให้ในหนังสือสะสมคะแนนจนครบ

และตามที่สัญญากันไว้

สุดสัปดาห์จึงต้องพาไปที่ “ห้าง”

ตรงไปที่แผนกขายของเล่น

“อ่ะ พอดี อยากได้อะไร เลือกเอาอย่างนึง”

ในฐานะของคนเป็นพ่อ

เห็นลูกเป็นเด็กดี เราก็อยากจะเน้นย้ำสิ่งดีๆ

จึงต้องมาลงเอย ณ ที่แห่งนี้

ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับกระเป๋าเงินที่แฟบลงเรื่อยๆ

ครั้นได้ยินคำถาม ที่เปิดทางให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกของเล่น

เจ้าลูกชายก็เดินปรี่เข้าไปในแผนกของเล่นอย่างรวดเร็ว

ยังไม่ทันจะวิ่งตามไปทัน

“พอดี” ก็เดินออกมา พร้อมกับกล่องของเล่นที่คุ้นเคย

เมื่อนึกถึงประเทศที่สร้างธุรกิจมากมายในระดับโลกในชั่วโมงนี้

แน่นอนว่าหลายคนคงจะนึกถึงประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี

แต่ถ้าให้นึกถึงธุรกิจที่เกิดจากประเทศ “เดนมาร์ก” ล่ะ

คุณจะนึกถึงธุรกิจอะไร

แน่นอนครับ “ฟาร์มโคนม”

ไทย-เดนมาร์ค

ล้อเล่นนะครับ แม้จะจริง แต่คงจะไม่ใช่หัวข้อของวันนี้

เดนมาร์กเป็นบ้านเกิดของบริษัทระดับโลก ที่เรารู้จักกันดี

มีชื่อว่า “เลโก้ (Lego)” ครับ

บริษัทขายเจ้าตัวต่อของเล่น ที่เด็กทั่วโลกฝันอยากจะมีไว้ในครอบครอง

ของเล่นที่ได้รับการกล่าวขาน ชื่นชม

ว่าช่วยเด็กเสริมสร้างปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีทีเดียว

หากแต่ว่า กว่าจะมาเป็นวันนี้ได้

“เลโก้” ก็ต้องผ่านวิกฤตหนักมาบ้าง

เชื่อมั้ย เลโก้ในวันแรกๆ นั้น หน้าตาแม้จะคล้ายกับปัจจุบัน

แต่วิธีการเล่นนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ลองนึกภาพเลโก้ เป็นกล่องสี่เหลี่ยม ที่มีรูๆ เหมือนปัจจุบัน

หากแต่เมื่อวางทับกันแล้ว ก็จะเหมือนกับกล่องวางทับกัน

จะรู้สึกหลวมๆ ขยับนิดหน่อยก็จะหลุด ไม่มั่นคง

ไม่เหมือนเลโก้ในปัจจุบัน ที่จะต้องกดให้แน่น

และนี่แหละ คือ “นวัตกรรม” หลักที่เลโก้คิดขึ้น

พื้นผิวทางด้านใต้เลโก้ ที่มีรูปทรงกลมๆ

เอาไว้ล็อกให้เลโก้ติดแน่นกันได้อย่างเรียบเนียน

ช่วยเพิ่มความเสถียร และ “จินตนาการ” ของผู้เล่น

จะเล่นแนวตั้ง แนวนอน แนวเอียง ก็สามารถทำได้

“สิทธิบัตร” นี่แหละ ที่เลโก้สร้างขึ้น

จนทำให้เป็น “บริษัทระดับโลก”

อีกเรื่องคือ เลโก้นั้นแม้จะมีสีสันสวยงาม ต่อได้สนุก

แต่ในช่วงเวลานั้นที่เลโก้ได้มีการผลิตออกมา

ชาวเดนมาร์กบ้านเกิดเอง จะนิยมเล่นของเล่นจากเมืองนอก

ที่ชอบกันมากคือของเล่นจากเยอรมนี

ธุรกิจของเดนมาร์กนั้น ไม่ได้เกิด

ก็มาจากต่างชาติทำของเขามาแย่งขาย

ของเล่นเองก็ไม่เว้น

จนกระทั่งเกิดสงครามโลกขึ้น

เป็นวิกฤตของชาวยุโรป ทั่วหล้าอาณาจักร

รวมถึงประเทศเดนมาร์กด้วย

ความชั่วร้ายของ “นาซี” กองทหารปฏิวัติจากเยอรมัน

ที่อยากจะยึดครองยุโรป

ทำให้ “คนเดนมาร์ก” เกลียดเยอรมันเอามากๆ

ถึงกระทั่งเลิกอุดหนุนสินค้าคุณภาพต่างๆ ที่มาจากเยอรมัน

และหันกลับมาบริโภค “สินค้าในประเทศ” มากขึ้น

อานิสงส์ของ “สงคราม” วันนั้น

เยอรมันที่คิดจะบุก ยึดพื้นที่ไปทั่วยุโรป

ทำให้ประชาชนเดนมาร์กสั่นไหว เลือดชาตินิยมไหลทะลัก

แปรเปลี่ยนเป็นความรักชาติ ฉันทำได้

ทำให้เลโก้จากที่ขายได้น้อยในประเทศของตัวเอง

กลายเป็น “ขายดียอดนิยม” ในประเทศเดนมาร์กในที่สุด

และเมื่อได้รับแรงสนับสนุนจากประเทศ

จึงสามารถออกจากประเทศตัวเอง ไปต่อกรกับคู่แข่งภายนอกได้อย่างอาจอง

สร้างเป็นธุรกิจหมื่นล้านได้

ก็ด้วย “ความคิดสร้างสรรค์” ที่มี “โชค” ปะปนอยู่ปริมาณพอดีๆ

เคยได้ยินหลายคนบ่นว่า คนนั้นเขาโชคดี คนนี้โชคดี

แล้วทำไมเราถึงไม่โชคดีแบบเขาบ้าง

เขาว่า โชคดีก็คือโอกาส กับความพร้อม รวมร่างกัน

ถ้าสงครามโลกเกิดจริง

คนเดนมาร์กอยากจะใช้ของในประเทศขึ้นมา

แต่เลโก้ไม่ได้มีการสร้าง “ของเล่น” ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเอาไว้

ก็คงจะไม่ได้ “โชคดี” อย่างที่ใครเขาว่ากัน

โชคมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ “เตรียมพร้อม” เสมอ

ลูกชายเดินกลับมาพร้อมกับกล่อง “เลโก้” ราคาแพงน่าดู

“เอาอันนี้” ลูกชายผมถามแกมสั่ง

ผมถอนหายใจ แล้วเอื้อมไปหยิบของเล่นที่มีคุณสมบัติเหมือนเลโก้ทุกประการ

ปรับได้ เปลี่ยนได้ ตามความคิด สร้างสรรค์จินตนาการ

แต่ราคาย่อมเยากว่ามาก

“ดินน้ำมัน” นี่แหละ ตอบโจทย์ที่สุด