บทวิเคราะห์ : ‘มาร์ค’ ท้าเดิมพัน ต่ำ 100-ไขก๊อก หน.

แมลงวันในไร่ส้มข่าวการเมืองแรง‘มาร์ค’ ท้าเดิมพันต่ำ 100-ไขก๊อก หน.

จับความเคลื่อนไหวของสื่อต่างๆ ในห้วงวันหยุดปีใหม่ แต่ข่าวสารไม่หยุด

โดยเฉพาะข่าวการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง

สื่อต่างๆ ยังพาดหัวความเคลื่อนไหว ที่เด่นๆ ได้แก่ กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาประกาศว่า จะลาออกจากหัวหน้าพรรค ปชป. ถ้าเลือกตั้งรอบนี้ได้ ส.ส.ต่ำกว่าร้อย

และวิเคราะห์แนวโน้มการเลือกตั้งเอาไว้ด้วย โดยเตือนพรรคน้องใหม่มาแรงว่า ดูให้ดีว่าจะถึงร้อยหรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า ปชป.ยังไม่ฟันธงถึงการตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอดูช่วงเปิดรับสมัครก่อนว่าจะมีพรรคการเมือง ผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่

เพราะเท่าที่ฟังดูแม้จะมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนแล้ว 90 กว่าพรรค แต่พรรคที่สามารถส่งผู้สมัครได้จำนวนมาก ไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น เนื่องจากกฎหมายมีข้อกำหนด และหลายพรรคประกาศชัดว่าจะไม่ส่งผู้สมัครครบทุกเขต

หากคิดตามตัวเลขเดิมที่ ปชป.เคยได้ จำนวน 160 ที่นั่ง ด้วยการนำคะแนนดิบที่พรรคเคยได้ 9.8 ล้านเสียงมาเป็นฐาน และคำนวณตามระบบสัดส่วนปันส่วนผสมที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะออกมาที่ 140 ที่นั่ง

แต่ครั้งนี้มีจำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้นมากก็ต้องดูว่าจะรักษาฐานเสียงไว้ได้แค่ไหน

จำนวน 140 ที่นั่งเป็นตัวเลขอ้างอิง หากเราทำได้เยอะกว่านี้ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ถ้าถอยลงมาระดับหนึ่งคนก็คงไม่แปลกใจเพราะคู่แข่งเยอะ แต่เราก็คงไม่ถอยเยอะ ผมว่าทางบวกมีมากกว่าทางลบ มั่นใจได้เลยว่าเราไม่มีต่ำกว่าร้อยแน่นอน

หน่วยงานไหนที่มาปรามาสว่า ปชป.จะต่ำร้อยให้ไปดูแลพรรคที่อิงกับผู้มีอำนาจจะดีกว่า ว่าจะทำให้ถึงร้อยที่นั่งได้หรือไม่

ที่ผมมั่นใจว่าเราจะได้เกินร้อยเพราะเรามีคำตอบให้กับประชาชนสำหรับประเทศหลังการเลือกตั้งที่ดี ผมว่าประชาชนไม่ต้องการอยู่ในสภาพแบบนี้ เขาไม่ต้องการวนเวียนอยู่กับการทุจริตคอร์รัปชั่น จนเกิดการปฏิวัติ และเราได้ทำการบ้านกับปัญหาเหล่านี้มาอย่างเต็มที่ จึงมั่นใจว่าเรามีคำตอบให้กับประชาชน เพราะนโยบายเราไม่ได้แช่แข็งอยู่ที่เดิม แต่มันเป็นไปตามสภาพปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการเลือกตั้งออกมาพรรคได้ไม่ถึงจำนวนตามเป้าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเคยประกาศไปแล้วว่าหากไม่เกิน 100 เสียง พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

หัวหน้าพรรค ปชป.ยังระบุว่า พรรคที่ได้เปรียบในขณะนี้คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือว่าเป็นแชมป์เก่า มีฐานเสียงที่เป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด แม้จะไม่มีระดับหัวในการจ่ายท่อน้ำเลี้ยงได้มากมายเหมือนที่ผ่านมา หากพรรคมีความพร้อมส่งผู้สมัครและมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เขาก็สามารถเดินไปได้ในระดับหนึ่ง ส่วน พปชร.ก็เป็นคู่แข่งเช่นกัน เพราะยังมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ

 

อีกประเด็นใหญ่ในสื่อ ยังได้แก่กรณีพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ส่งนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร ลงสมัคร ส.ส.ชุมพร

สำหรับนายชุมพล ถือเป็นคนสนิทของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.และผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย

การที่ ปชป.จะไม่ส่งสมัคร ก็ด้วยเหตุว่า พี่ชายนายชุมพล คือนายสุพล จุลใส จะลงสมัคร ส.ส.ชุมพร ในสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย

จนเกิดการโต้แย้งภายในพรรค โดยนายชุมพลอ้างว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ นามสกุลเดียวกัน ยังอยู่คนละขั้ว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคใต้ กล่าวว่า กรณีของนายอภิสิทธิ์และนายสุรนันทน์ นายอภิสิทธิ์ก็ชี้แจงให้เข้าใจแล้วว่าไม่ได้ลงในเขตเดียวกัน ไม่ได้เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน

แต่กรณีของนายชุมพล แม้จะลงคนละเขต แต่มีข้อเท็จจริงว่าคนของเราอาจช่วยผู้สมัครต่างพรรค คือนายสุพล พี่ชายเขา แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้มีข้อเท็จจริงตรงนั้น

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ตนได้คุยกับนายชุมพล เขาบอกบังคับพี่ชายไม่ได้ ซึ่งตนก็จะนำสิ่งที่พูดคุยกับนายชุมพลไปรายงานพรรค ซึ่งที่ประชุม กก.บห.จะตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่ แต่มีแนวโน้มไม่ส่งนายชุมพลสมัคร ส.ส.

ต่อข้อถามว่า หากนายชุมพลไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.เขต มีสิทธิ์ที่จะสมัครในบัญชีรายชื่อหรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เลยเวลามาแล้ว เพราะนายชุมพลไม่ได้สมัครบัญชีรายชื่อไว้ นายชุมพลก็หลุดจากการสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้

 

ในเรื่องเดียวกันนี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับมติชน ว่า ปชป.โอกาสที่จะได้ที่นั่งต่ำกว่า 100 ที่นั่ง มี เพราะว่านายสุเทพแยกตัวออกมา มีผลกระทบต่อพรรค ปชป. ประกอบกับรัฐบาลทหารซึ่งถ้าอยู่นานแล้วคนจะเบื่อ เป็นเรื่องปกติของทุกรัฐบาล และยิ่งในช่วงหลังๆ คู่แข่งก็พยายามหาเรื่องมาโทษรัฐบาลทหาร ดังนั้น นายอภิสิทธิ์จึงได้ผลพลอยเสียไปด้วย ไม่ใช่ผลพลอยได้ แต่ไม่ได้เยอะ ทั้งนี้ พรรค ปชป.จะกลับมาได้ก็ต่อเมื่อเปลี่ยนหัวหน้าพรรค

“โดยปกติแล้วประเทศไหนเหมือนกัน เมื่อหัวหน้าพรรคแพ้การเลือกตั้งใหญ่ๆ ติดๆ กัน ในการแข่งขันระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคใหญ่ จะเปลี่ยนหัวหน้าพรรค แต่นี่ 3 ครั้งแล้วก็ยังไม่มีการเปลี่ยน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยังหาหัวหน้าที่จะมาคู่เคียงหรือใกล้เคียงไม่ได้ และที่สำคัญ ยังมีผู้ใหญ่ในพรรคสนับสนุนนายอภิสิทธิ์อยู่เสมอ ทำให้ไม่ยอมเปลี่ยน”

นายชูวิทย์ชี้ว่า เมื่อดึงดันใช้นายอภิสิทธิ์ ก็เหมือนกับพระเอกที่เรตติ้งตก ยิ่งใช้เรตติ้งก็ยิ่งตกไปเรื่อยๆ หลังๆ ก็จะออกมาด่าทหารบ้าง ต่างกับช่วงแรกที่หลบไปหมด พอใกล้จะเลือกตั้งก็ออกมาว่าทหารอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นลีลาของนักการเมืองอาชีพ

“ประเทศไทยเราควรได้นักการเมืองรุ่นใหม่ แต่หลังการปฏิรูปเรากลับได้นักการเมืองที่หน้าเก่ากว่าเดิม” นายชูวิทย์ระบุ

และนั่นคือกระแสข่าวการเมืองในห้วงเปลี่ยนศักราช จาก 2561 เป็น 2562

และข่าวการเมืองเรื่องเลือกตั้งยังมาแรง ได้รับความสนใจจากคอหนังสือ นักอ่านและผู้สนใจการเมืองอย่างต่อเนื่อง