จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (18)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำนักเต้าหลังเหลาจื่อ: จวงจื่อ (ต่อ)

บทบาทของสำนักเต้าหลังยุคเหลาจื่อที่พิจารณาผ่านจวงจื่อจากที่กล่าวมานี้ ในด้านหนึ่งทำให้เห็นว่า นักปรัชญาสำนักเต้ามีความรู้เกี่ยวกับปกรณ์สำคัญในอดีตเป็นอย่างดี

เพียงแต่เมื่อรู้แล้วก็มิได้ตราเป็นหลักคิดสำหรับการปกครองบ้านเมืองและสังคม ดังที่ขงจื่อหรือสำนักหญูได้ตราขึ้นมา

แต่สำนักเต้าจวงจื่อกลับสร้างหลักคิดเฉพาะตนขึ้นมา นั่นคือ หลักคิดที่ถือธรรมชาติหรือ “ฟ้า” คือสิ่งสูงสุดที่มนุษย์พึงให้ความเคารพและขึ้นต่อ

ส่วนในอีกด้านหนึ่ง เมื่อตกมาถึงยุคของจวงจื่อ การอธิบายเรื่องธรรมชาติก็ยิ่งมีความลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะการตอกย้ำถึงความสำคัญในการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ เพราะความรู้กับความเข้าใจนี้จะนำมาซึ่งสังคมที่มีระบบและระเบียบ โดยผู้ปกครองจะได้รับการปรนนิบัติรับใช้ ผู้ถูกปกครองจะได้รับการชี้นำ

ซึ่งตามนัยของจวงจื่อแล้วก็คือสิ่งที่เรียกว่า อู๋เหวย (อกรรม) คำนี้หากแปลตรงตัวจะแปลว่า ไม่ทำ ไร้การกระทำ หรือไม่มีการกระทำ

แต่ความหมายตามนัยของจวงจื่อคือ ทำโดยมิได้ทำ

ดังนั้น ถ้าหากอยู่ในบริบททางรัฐศาสตร์แล้ว การปกครองที่ดีในทัศนะของจวงจื่อจึงคือ การปกครองโดยมิต้องปกครอง

ทั้งนี้ หลักคิดเรื่อง อู๋เหวย ที่สัมพันธ์กับการเมืองการปกครองของจวงจื่อนี้อาจดูได้จากบท “เทียนเต้า” เช่นกัน ซึ่งความตอนหนึ่งจวงจื่อได้กล่าวเอาไว้ว่า “คุณธรรมแห่งอภิราชันถือฟ้าดินเป็นบรรพชน ถือวิถีแห่งคุณธรรม (เต้าเต๋อ) เป็นนาย ถืออกรรม (อู๋เหวย) เป็นหลักอันมิอาจเปลี่ยนแปลง

“ด้วยอกรรมจักทำให้โลกมารับใช้จนได้พักผ่อน แต่ด้วยการกระทำ (โหย่วเหวย) มีแต่จักต้องปฏิบัติงานเพื่อโลกจนมิได้พัก เหตุนี้ ผองชนแต่โบราณกาลจึงยกย่องอกรรม เหตุดังนั้น หากองค์รัฏฐาธิปัตย์ดำรงอกรรม อาณาประชาราษฎร์ก็ย่อมดำรงอกรรมเฉกเช่นกัน

“ดังนี้แล้ว อาณาประชาราษฎร์กับองค์รัฏฐาธิปัตย์ก็จักร่วมคุณธรรมเดียวกัน เมื่ออาณาประชาราษฎร์กับองค์รัฏฐาธิปัตย์ร่วมคุณธรรมเดียวกัน ก็ดุจดังไร้ผู้เป็นขุนนางและราษฎร แต่หากอาณาประชาราษฎร์กับองค์รัฏฐาธิปัตย์ร่วมดำรงการกระทำ (โหย่วเหวย) ทั้งอาณาประชาราษฎร์และองค์รัฏฐาธิปัตย์ก็จักอยู่ในมรรควิธีเดียวกัน หากอาณาประชาราษฎร์กับองค์รัฏฐาธิปัตย์ร่วมอยู่ในมรรควิธีเดียวกัน ก็จักไม่มีผู้ใดเป็นอภิราชัน”

ความหมายที่อาจเข้าใจโดยง่ายของ อู๋เหวย ก็คือ หากผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองเข้าถึงฟ้าดิน (ธรรมชาติ) ก็จะเข้าถึงคุณธรรม

เมื่อเข้าถึงแล้วก็จะไม่มีฝ่ายใดที่จะประพฤติไม่ดี และเมื่อไม่มีแล้วก็ไม่จำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบมาปกครอง ซึ่งก็คือ การปกครองโดยมิต้องปกครอง อันเป็นส่วนหนึ่งของกรอบคิดใหญ่ของ อู๋เหวย หรือ อกรรม ที่หมายถึง ทำโดยมิได้ทำ

จากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้จะเห็นได้ว่า สำนักเต้าหลังเหลาจื่อที่พิจารณาผ่านจวงจื่อแต่เพียงสังเขปนี้ นับว่ามีความก้าวหน้าและลึกซึ้งชัดเจนยิ่งขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ จุดยืนและทัศนะที่มีต่อฟ้าหรือธรรมชาติที่ไม่เคยเปลี่ยนของสำนักนี้ ที่ว่าการเขาถึงฟ้าหรือธรรมชาติก็คือการเข้าถึงคุณธรรม และหากมนุษย์เข้าถึงเสียแล้วระบบการเมืองการปกครองก็มิใช่สิ่งจำเป็น

ส่วนที่สำนักอื่นๆ พยายามกระทำให้การเมืองการปกครองมีระบบตามที่ตนคิดนั้น สำนักเต้าเห็นว่าไม่จำเป็นและยากที่จะสำเร็จ

จากเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่สำนักเต้าในยุคจวงจื่อจะยังคงยืนยันที่จะหลีกลี้จากการเมือง และดำรงตนอยู่กับธรรมชาติหรือฟ้าต่อไป การดำรงตนเช่นนี้เองที่เป็นเต้าหรือวิถีที่พึงประสงค์

สำนักนิตินิยมกับหานเฟยจื่อ

ภายใต้สถานการณ์วิกฤตในยุควสันตสารทและยุครัฐศึกนั้น แม้จะผลักดันให้สังคมจีนมีนักปรัชญาที่นำเสนอหลักคิดของตนเกิดขึ้นมากมายก็ตาม แต่หลักคิดของสำนักเหล่านี้มักจะถูกวิจารณ์โดยผู้นำและขุนนางของรัฐต่างๆ อยู่เสมอ ว่าล้วนเป็นหลักคิดที่ยากจะนำไปปฏิบัติให้เกิดความสำเร็จทั้งสิ้น

เหตุผลสำคัญของคำวิจารณ์มักจะเป็นเรื่องจริยธรรมกับคุณธรรมที่ผู้นำพึงถือปฏิบัติ และสำนักที่ชูประเด็นนี้อย่างโดดเด่นก็คือสำนักหญูและสำนักเต้า โดยผู้นำรัฐส่วนมากมักเห็นพ้องกันว่า แม้ตนจะยึดถือประเด็นดังกล่าว แต่ก็ใช่ว่าผู้นำรัฐอื่นจะยึดถือตามไปด้วย

เพราะผู้นำทุกรัฐต่างมุ่งที่จะตีรัฐอื่นให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด

เมื่อไม่คำนึงถึงวิธีการเสียแล้ว ก็มิพักคำนึงว่าวิธีที่ตนใช้จะเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่หาความสัตย์ไม่ได้ และจะเหี้ยมโหดอำมหิตกระทั่งไร้ซึ่งศีลธรรมหรือไม่อย่างไร

เมื่อเป็นเช่นนี้เสียแล้ว เหล่าวิชาธรบางกลุ่มบางคนจึงเสนอหลักคิดใดก็ได้ที่ตนเชื่อว่าจะนำมาซึ่งชัยชนะ ผลจึงคือ หลักคิดที่เสนอให้ผู้นำรัฐใช้มาตรการที่เด็ดขาดจึงเกิดตามมาอย่างช้าๆ เป็นระยะๆ และนำมาซึ่งความสำเร็จที่สามารถสัมผัสได้ในที่สุด

มาตรการที่เด็ดขาดที่วิชาธรเหล่านี้เสนอขึ้นนี้เอง ที่ต่อมาได้ก่อรูปเป็นสำนักนิตินิยมขึ้นมา

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “นิตินิยม” (legalism) สามัญสำนึกโดยทั่วไปมักชวนให้เข้าใจว่าเป็นความคิดความเชื่อที่ไปในทางนิติศาสตร์

แต่กล่าวสำหรับจีนแล้วความเข้าใจนี้ถูกเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะกรณีจีนยังหมายถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจและการใช้คนอีกด้วย

เช่นนี้แล้วสำนักนิตินิยม (ฝ่าเจีย) ในบริบทของสังคมจีนจึงมีพัฒนาการเฉพาะตนออกไป

พัฒนาการของสำนักนิตินิยมในกรณีจีนเริ่มเห็นเค้าลางในยุควสันตสารท และต่อเนื่องมาจนถึงยุครัฐศึกดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงเป็นระยะในบทก่อน ดังจะเห็นได้จากบทบาทของวิชาธรอย่างหลี่คุย อู๋ฉี่ และซางยาง เป็นต้น

แต่หากกล่าวในแง่ปรัชญาแล้วนักปรัชญาจีนต่างเห็นว่า ก่อนสำนักนิตินิยมจะปักหมุดหมายของตนอย่างแท้จริงนั้น

สำนักนี้ได้เกิดอนุสำนักที่มีบทบาทสำคัญยิ่งอยู่ 3 อนุสำนักด้วยกัน

อนุสำนักแรก มีบุคคลร่วมสมัยเดียวกับเมิ่งจื่อคือ เซิ่นเต้า เป็นผู้นำ หลักคิดที่เซิ่นเต้ายึดถือคือ ซื่อ ที่หมายถึง อำนาจ ว่าอำนาจเป็นสิ่งสำคัญในการเมืองการปกครอง

อนุสำนักที่สอง บุคคลที่เป็นผู้นำคือ เซินปู๋ฮ่าย หลักคิดที่เซินปู๋ฮ่ายยึดถือคือศิลปะในการบริหารและ ซู่ ที่หมายถึง การใช้คน ว่าหากใช้ได้ถูกคนแล้ว การเมืองและการปกครองก็จักเจริญมั่นคงขึ้นมาได้

อนุสำนักที่สาม บุคคลที่เป็นผู้นำคือ ซางยาง ซึ่งก็คือวิชาธรนักปฏิรูปที่สร้างความแข็งแกร่งให้แกรัฐฉินในช่วงกลางของยุครัฐศึก ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้ว โดยหลักคิดที่ซางยางยึดถือคือ ฝ่า ที่หมายถึง กฎหมาย ซึ่งก็คือการสร้างระบบกฎหมายขึ้นมาปกครอง

ทั้งนี้ ภายหลังอนุสำนักทั้งสามนี้แล้วจึงมาถึงยุคของหานเฟยจื่อ ซึ่งเป็นนักปรัชญาสำนักนิตินิยมที่ได้รับการยอมรับและยกย่องว่าสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด

อนึ่ง เว้นไปจากซางยางที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงชีวิตและงานไปแล้วในบทก่อน ที่เห็นได้ว่าเป็นชีวิตของขุนนางหรือนักการเมืองมากกว่าที่จะเป็นนักปรัชญา ในที่นี้จะได้กล่าวถึงเซิ่นเต้าและเซินปู๋ฮ่ายจากข้อมูลของทั้งสองที่มีอยู่น้อยเต็มที

เริ่มจากเซิ่นเต้า (ประมาณ 395-315 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นนักปรัชญาสำนักนิตินิยมที่มีชีวิตอยู่ในยุครัฐศึก เป็นชาวรัฐจ้าว แต่ได้รับการศึกษาในรัฐฉี เซิ่นเต้าเชิดชูหลักคิดด้านกฎหมายอย่างโดดเด่น โดยเห็นว่ากฎหมายคือวิถีที่ยิ่งใหญ่ของรัฐ หากไร้ซึ่งกฎหมายแล้วการเมืองของรัฐก็จะวุ่นวาย

และภายใต้กฎหมายนี้เซิ่นเต้าเห็นว่า ซื่อ หรืออำนาจเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง เพราะจะมีก็แต่อำนาจเท่านั้นที่จะทำให้กฎหมายเข้มแข็ง

เอกสารสมัยราชวงศ์ฮั่นระบุว่า เซิ่นเต้ามีปกรณ์ที่สะท้อนหลักคิดของตนชื่อว่า เซิ่นจื่อ ปกรณ์นี้มีอยู่ 42 บท แต่เหลือตกทอดเพียง 7 บทที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความเป็นต้นฉบับดั้งเดิมมาจนทุกวันนี้ จากเหตุนี้ กรณีเซิ่นเต้าจึงมีที่ชัดเจนเฉพาะตัวตนที่มีชีวิตอยู่จริงและหลักคิดที่สำคัญในเรื่อง ซื่อ เท่านั้น

ส่วนตัวปกรณ์ยังมีปัญหาในทางวิชาการคล้ายกรณี เลี่ยจื่อ ของตัวเลี่ยจื่อเอง

ส่วนเซินปู๋ฮ่าย (มรณะ 337 ปีก่อน ค.ศ.) มีประวัติมากกว่าเซิ่นเต้า โดยประวัติเซินปู๋ฮ่ายที่ปรากฏใน สื่อจี้ และที่อื่นๆ พอสรุปเรื่องราวได้ว่า เซินปู๋ฮ่ายเป็นคนเมืองจิงของรัฐเจิ้ง ซึ่งคืออำเภอจิงในมณฑลเหอหนานปัจจุบัน (อำเภอจิงเป็นเมืองโบราณอยู่ในเมืองเจิ้งโจว) ยามเมื่อเกิดมาก็มีฐานะที่ยากจน ยามเมื่อเป็นขุนนางในรัฐเจิ้งก็เป็นขุนนางต่ำศักดิ์

จน 351 ปีก่อน ค.ศ. ขณะที่เซินปู๋ฮ่ายอายุได้ 44 ปี รัฐหานเข้าตีรัฐเจิ้งจนแตก เซินปู๋ฮ่ายจึงแปรพักตร์มาเป็นขุนนางของรัฐหาน ที่หานนี้เองที่เขาได้มีบทบาทสูงในการปฏิรูป จนหานมีความแข็งแกร่งทางการเมืองและการทหาร และทำให้เห็นได้ว่า เซินปู๋ฮ่ายได้เปลี่ยนแนวทางปรัชญาจากเดิมที่สมาทานสำนักเต้ามาเป็นสำนักนิตินิยม

อย่างไรก็ตาม หลักคิดที่โดดเด่นของเซินปู๋ฮ่ายอยู่ตรงที่เขาได้ขยายหลักคิด ซื่อ ของเซิ่นเต้ามาสู่หลักคิด ซู่ ที่หมายถึง การใช้คน กล่าวกันว่า เซินปู๋ฮ่ายมีผลงานที่อรรถาธิบายหลักคิดของตนคือ เซินจื่อ ซึ่งเดิมมี 2 บท แต่เหลือตกทอดมาเพียง 1 บท เซินปู๋ฮ่ายรับใช้รัฐหานอยู่ 15 ปีก็เสียชีวิต ทิ้งให้การปฏิรูปของรัฐหานยุติลงในเวลาไม่นาน หลังจากนี้ไปแล้วรัฐหานก็ค่อยๆ ตกอยู่ในความอ่อนแอ

หลักคิดเรื่อง ซู่ จึงเป็นมรดกที่เซินปู๋ฮ่ายทิ้งไว้ให้สาวกสำนักนิตินิยมได้ศึกษาต่อยอดต่อไป และสาวกคนสำคัญก็คือ หานเฟยจื่อ