นี่คือ “วงจรอุบาทว์” ทางการเมือง!

“กลับเข้าสู่วงจร” โดย มนัส สัตยารักษ์

ถ้าเปรียบการเลือกตั้งเหมือนละครหรือลิเก เลือกตั้งหนนี้ถือว่าเปิดโรงช้ากว่าปกติ

โดย คสช.ซึ่งครองอำนาจรัฐอยู่และไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง คิดว่าความช้าจะเป็นเหตุให้ทุกฝ่าย (รวมทั้งประชาชน) เสียเปรียบ เตรียมตัวไม่ทัน

ดังนั้น พอประกาศปลดล็อกก็ต้อง “ลุย” กันฉุกละหุกลุกลี้ลุกลน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอะไรที่ผิดพลาดบกพร่องก็ให้ “หยวนๆ” ผ่านไป

ยกตัวอย่าง เช่น กรณีของการเปิดเผยข้อเสนอของ กกต. “ไม่พิมพ์ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง” พอถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักและมากเข้า ก็แถลงข่าวเป็นว่า รองเลขาธิการ กกต.เป็นผู้เสนอ ไม่ใช่เป็นความเห็นของคณะกรรมการ กกต. ซึ่งจะลงมติในประเด็นนี้กันในวันที่ 17 ธันวาคม

ลักษณะการทำงานแบบนี้ เด็กชั้นประถมก็รู้ว่าเป็นเล่ห์ของคนขี้โกง เป็นการ “ถามทาง” นั่นเอง

ในประเด็นนี้สังเกตได้ว่า พรรคฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. บางพรรคแถลงข่าวทำนองว่า “ไหนๆ ก็ไหนๆ ยังไงก็ได้(วะ)”

พอถึงวันที่ 18 ธันวาคม กกต.ก็แถลงผลการประชุม แล้วออกข่าวว่า “กกต. ไม่ฝืนกระแส” ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้บัตรเลือกตั้งมีทั้งชื่อคน ชื่อพรรค และโลโก้ ทั้งที่เหตุผลที่แท้จริง กกต.ตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่า การมีชื่อพรรคและโลโก้เสียหายอย่างไรและตรงไหน? นอกจากบัตรยาว 2 ฟุต! และคงตอบไม่ได้อีกเช่นกันว่า บัตรยาว 2 ฟุต เสียหายกว่าบัตรยาว 1 ฟุต หรือฟุตครึ่งอย่างไร?

พูดถึงตรงนี้แล้วของขึ้น และคงจะไม่มีวันไว้วางใจ กกต.ชุดนี้อีกต่อไป

อันที่จริงถ้า กกต.จะดันทุรังยืนกรานจะไม่ให้มีชื่อพรรคและโลโก้ของพรรคการมืองอยู่ในบัตรเลือกตั้งก็ทำได้ โดยไม่มีใครมีสิทธิ์คัดค้านหรือโต้แย้งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ กกต.คงตระหนักดีว่า หลังเลือกตั้งผ่านไปแล้วไม่มี ม.44 ผลกรรมที่ทำไว้อาจจะย้อนมาสนองเช่นเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา ซึ่ง กกต.ต้องเข้าคุก

อีกทางหนึ่งก็น่าจะทำได้ โดยให้ คสช.ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ประกาศรูปแบบบัตรเลือกตั้ง เช่นเดียวกับที่ประกาศ “ผู้บริหารระดับสูงไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน” นั่นแหละ เพราะการเปลี่ยนรูปแบบบัตรเลือกตั้งน่ารังเกียจน้อยกว่าการล้างคำสั่ง ป.ป.ช.

เพียงแต่ว่า คสช. ได้ประกาศ “ปลดล็อก” ไปก่อนแล้ว จึงอาจเป็นการแทรกแซง กกต. และอาจจะเป็นข้อหาภายหลังเลือกตั้งก็ได้

ถึงจะไม่มีการแบ่งประเภทหรือฝ่ายของพรรคการเมืองอย่างชัดเจนเป็นทางการ แต่มาถึงวันนี้ เราก็สามารถแยกแยะออกได้เป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

หนึ่ง ฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งถูกขนานนามว่าเผด็จการ)

สอง ฝ่ายตรงข้ามเผด็จการ (เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย)

สาม ฝ่าย “ตาอยู่” (สื่อเป็นผู้ให้นาม) ฝ่ายนี้ไม่ผูกมัดตัวเอง พร้อมจะเป็นฝ่ายไหนก็ได้

ถ้าจะถามว่า ฝ่ายรัฐบาลกลัวพวกไหนมากที่สุด แน่นอน พวกเขาย่อมกลัวอำนาจเก่าหรือ “พรรคเพื่อไทย” มากที่สุด เพราะถ้าอำนาจเก่าได้กลับมาอย่างมีอำนาจ+บทเรียน คสช.จะไม่มีความสุข และอาจจะมี “งานเข้า”

ดังนั้น ใครมีไอเดียในการออกแบบรัฐธรรมนูญกับกฎหมายประกอบฯ ที่แปลกแหวกแนว ทะลุฟ้าทะลุดิน ผิดหลักสากล ไม่มีความเป็นนักกีฬา หรือแม้แต่ฝ่าฝืนศีลธรรม คชส. ก็ย่อมรับไว้หมด

เลือกตั้งครั้งนี้จึงมีทั้ง “แจกเงิน” โดยไม่เรียกว่าประชานิยมหรือ “ซื้อเสียง” โดยเปิดเผย

มีทั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค พปชร. ไม่ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน

อีกจุดหนึ่งที่นักเลือกตั้งและประชาชนข้องใจสงสัย นั่นคือ ทำไม กกต.จึงมีแนวคิดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจับฉลากเลือกเบอร์ให้ตัวเอง ไม่ใช้เบอร์ของพรรคเหมือนกันทั่วประเทศ

ทำให้ประชาชนสับสน เข้าใจยาก จดจำยาก และตัดสินใจยาก ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อการเลือกตั้ง นอกจากนั้นยังสร้างความสับสนจนมีช่องโหว่ให้ทุจริตในการถัวเฉลี่ยคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่ได้ง่ายขึ้น หรือกล่าวได้ว่า “มั่ว” ได้สะดวกขึ้น

ถ้าจะมีคำถาม กกต.ผู้จัดการเลือกตั้งว่าการให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตใช้หมายเลขเดียวกับเลขพรรคจะเสียหายตรงไหน?

กกต.อาจจะตอบคำถามนี้ไม่ได้เช่นกัน ก็ได้แต่ปัดไปที่ คสช. สนช. กรธ. ฯลฯ หรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ครั้นแล้วภาพที่ออกมานับแต่วัน “โหมโรง” หลายภาพเป็นภาพแบบเก่า เช่น ภาพการผสมพันธุ์ต่างสายพันธุ์ ภาพการแตกกระจายเพื่อความอยู่รอดอยู่ในเส้นทางสายการเมือง ภาพอันไม่เสถียรของพรรคการเมือง ภาพคนตอแหลหาเสียง สร้างวิมานในอากาศให้ชาวบ้านฝันค้าง

ภาพใหม่เป็นภาพของคนที่ชื่อเสียงเน่าเหม็นในยุคที่ผ่านมาจับมือกอดคอกับคนหน้าใหม่ที่ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนว่าได้สร้างคุณงามความดีต่อสังคมมาอย่างไรบ้าง ภาพของคนที่ชอบอ้างว่า “กฎหมายไม่ห้าม ไม่ต้องลาออก”

แม้ประชาชนจะไม่พอใจฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันที่เอาเปรียบฝ่ายตรงกันข้ามอย่างไม่อับอาย รวมทั้งการใช้เงินหลวงแจก “คนจนเทียม” จน คสช.เหลือคะแนนไม่พอจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญออกแบบมาให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็เท่ากับฝ่ายรัฐบาลมีคะแนนเสียงจาก ส.ว.(แต่งตั้ง) 250 เสียงรองรับอยู่แล้วในกำมือ

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 4 ปี ก็ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ปัญหาในการบริหารอาจจะมีบ้าง เพราะเป็นยุคที่มีฝ่ายค้านในสภา ตรรกะเพี้ยนๆ ประเภท “ทหารไม่โกง” อาจใช้ไม่ได้

งานสำคัญและเร่งด่วนอันดับแรกของนายกรัฐมนตรีก็คือ ในฐานะที่ท่านได้ชื่อว่าเป็นคนมี “กตัญญู” รู้จักตอบแทนบุญคุณ (ขณะนี้แม้จะยังไม่จัดตั้งรัฐบาลก็มีนักเชลียร์ทวงบุญคุณล่วงหน้ากรณี ส.ว. 250 เสียงแล้ว) ท่านต้องตอบแทนบุญคุณผู้ที่ช่วยให้ท่านได้ครองอำนาจ เช่นเดียวกับที่ท่านได้ตอบแทนบุญคุณผู้ที่ช่วยเหลือ คสช.ในยุครัฐประหารนั่นแหละ

เพียงแต่คราวนี้จะเอาเงินงบประมาณแผ่นดินมาแจกไม่ได้ ก็ต้องหาเงินจากส่วนอื่น นั่นก็คือประเทศไทยจะต้องถอยกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้ง