ความสงบ จุดขาย ? ของ “พลังประชารัฐ” – “ประชาธิปัตย์” คือ ตัวประกอบ ?

“ถูกใจ” อาจ “ผิดยุค”

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมพบปะประชาชนได้ การลงพื้นที่หาเสียงเริ่มคึกคัก

มีภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าแต่ละพรรคนำเสนอเรื่องราวใดเป็นจุดขาย

และความน่าสนใจอยู่ที่ใครจะนำเสนอจุดขายที่ตรงใจ ตรงความต้องการของประชาชนมากกว่ากัน

เพราะการเลือกตั้งเที่ยวนี้ต่างกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่ “พรรคไทยรักไทย” หรือ “พลังประชาชน” หรือ “เพื่อไทย” ต่อสู้กับ “ประชาธิปัตย์” เป็นหลัก

แม้จะมีความพยายามเข้ามาเกี่ยวข้องของอำนาจฝ่ายต่างๆ แต่เป็นเพียงป้องกัน “เสียของ” ช่วยลุ้นให้ “ประชาธิปัตย์” ชนะเท่านั้น

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่สำเร็จ ด้วยแม้จะทุ่มเทมากมายแค่ไหน “เสียของ” ยังคงเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะทุ่มแรง ทุ่มใจ ร่วมลุ้นมากมายแค่ไหน “ประชาธิปัตย์” ก็ยังพ่ายแพ้คู่ต่อสู้

เป็นเหตุให้ในที่สุดแล้ว สถานการณ์บังคับให้ต้องทำรัฐประหาร

และนั่นจึงเป็นที่มาของการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่การต่อสู้แปรเปลี่ยนไปเป็น “เพื่อไทย” กับ “พลังประชารัฐ” ที่ประกาศตัวว่าเป็นพรรคของฝ่ายอำนาจในปัจจุบัน

โดย “ประชาธิปัตย์” พรรคเก่าแก่ถูกเขี่ยไปให้เป็นเพียงพรรคตัวประกอบ ที่มีราคาแค่ “รอว่าต้องใช้เสียงมาสนับสนุนความเข้มแข็งของรัฐบาลหรือไม่”

ซึ่งเช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ ที่การไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะยืนอยู่ฝ่ายไหน เป็นประโยชน์ในช่วงร่วมรัฐบาลมากกว่า

เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร” ที่ “อาศัยอำนาจทุกรูปแบบเป็นปัจจัยนำสู่ชัยชนะ” กับ “ฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้แค่อาศัยอำนาจการตัดสินใจเลือกของประชาชนเป็นปัจจัยแห่งชัยชนะเท่านั้น”

การนำเสนอจุดขายที่ตรงกับการ “ความคิด ความต้องการของประชาชน” จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

แม้ฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่เห็นความสำคัญมากนัก เพราะวางกลไกอำนาจไว้ให้ควบคุมเกมแบบไม่ให้พลาดเป้าอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การไม่ทำให้ “อำนาจประชาชน” เทไปฝ่ายตรงกันข้ามมากจนเกินอธิบายถึงความชอบธรรมก็มีความจำเป็น

ขณะที่ “อำนาจประชาชน” มีความสำคัญต่ออีกฝ่ายเต็มที่ เพราะหากประชาชนไม่เทเสียงให้ ย่อมไม่มีโอกาสที่จะนำประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นกลับคืนมาได้

การนำเสนอจุดขาย จึงต้องตรงเป้าอย่างที่สุด

ปี่กลองการเลือกตั้งที่เริ่มขึ้น

“เพื่อไทย” เสนอ “ความเป็นมืออาชีพในการบริหารเศรษฐกิจ ที่พิสูจน์ให้เห็นจากผลงานในอดีตแล้วว่าคิดดี และทำได้”

โดยชี้ให้เห็น “อาการทุลักทุเลของการทำมาหากิน และความหวาดวิกตกในปัญหาปากท้องของคนทั่วไปในยุคนี้มาเปรียบเทียบให้เห็นว่าใครทำงานเป็น ใครทำไม่เป็น”

ขณะที่ “คู่ต่อสู้” คือ “พลังประชารัฐ” ขึ้นเวทีโดยชี้ชวนให้เห็นแก่ “ความสงบเรียบร้อยของประเทศ” โดยนำเสนอภาพให้เห็น “ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตมาสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กังวลว่าบ้านเมืองจะกลับไปเหมือนเก่า หากประชาชนเลือกในทางเปลี่ยนฝ่ายบริหาร”

จะว่าต่างคนต่างมีจุดขายที่น่าสนใจก็ได้

แต่อย่างที่บอก ประเด็นอยู่ที่ใครมีจุดขายที่ “ตรงใจประชาชนมากกว่ากัน”

ในเรื่องนี้ “นิด้าโพล” ล่าสุดที่สำรวจความคิดของคนอายุ 40 ขึ้นไป ซึ่งว่าไปก็คือผู้นำครอบครัว มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของสมาชิกในบ้าน

ในคำถาม เรื่องที่ไม่ถูกต้องและรับไม่ได้ที่สุดคืออะไรมากที่สุด ร้อยละ 47.76 ตอบว่าเศรษฐกิจตกต่ำ มีร้อยละ 11.52 ที่ตอบว่าความขัดแย้งทางการเมืองของคนในประเทศ

จากคำตอบในคำถามนี้

ความน่าสนใจอยู่ที่ แม้จะวางนโยบายได้ตรงใจประชาชนกว่า แต่ที่สุดแล้ว การจัดตั้งรัฐบาล อำนาจของประชาชนมีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปได้แค่ไหน