ชื่อเดือนในภาษาไทย มีรากที่มาเก่าแก่จากจักรราศี ที่มีครั้งแรกในบาบิโลน เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถึงแม้ว่าในโลกตะวันตกจะมีนักวิชาการบางท่านออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ในกลุ่มภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 17,000 ปีมาแล้วที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อย่างที่ถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux) ประเทศฝรั่งเศสนั้น จะมีร่องรอยของการเขียนรูปกลุ่มจุดไข่ปลา อยู่ที่บริเวณเหนือต้นคอของรูป “วัวกระทิง” ที่ถูกเขียนอยู่ทางด้านล่าง อาจจะเป็นรูป “กลุ่มดาวลูกไก่”

(ตามเทรนด์แนวสันนิษฐานของนักโบราณคดียุโรป ในช่วงไม่หลายปีที่ผ่านมานี้ที่ว่า ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ตามถ้ำต่างๆ ในยุคน้ำแข็งที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงหลักหมื่นปีขึ้นไป อาจจะเกี่ยวข้องกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ของมนุษย์ในยุคโน้น)

จนทำให้มีการสันนิษฐานตามน้ำต่อๆ กันไปว่า ภาพของเจ้าวัวกระทิงข้างล่างนี่ก็อาจจะหมายถึง “กลุ่มดาววัว” ไม่ใช่แค่รูปของวัวกระทิงธรรมดาทั่วไปด้วย

“กลุ่มดาววัว” ที่ว่านี้ก็คือ “กลุ่มดาวพฤษภ” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Taurus” ซึ่งถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสิบสองราศี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวจะชวนให้ใครบางคนพานคิดไปด้วยว่า มนุษย์ยุคหินในทวีปยุโรปผู้วาดภาพเขียนสีเหล่านี้จะรู้จักจักรราศีทั้ง 12 ไปอีกเช่นกัน

แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรกันเล่าครับ เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรกันครับว่าพวกมนุษย์ถ้ำเหล่านั้นเขาเห็นกลุ่มดาวที่เราๆ ท่านๆ ในปัจจุบันนี้เรียกกันว่ากลุ่มดาวพฤษภเป็นรูปวัวกระทิง จนได้นำมาวาดเป็นรูปวัวเอาไว้ข้างในผนังถ้ำ?

ก็ขนาดในสังคมไทยยุคก่อนจะรับศาสตร์จากโลกตะวันตกอย่างเต็มตัวนั้น ยังไม่เห็นกลุ่มดาวนี้เป็นรูปวัวเลยเสียหน่อย แต่เรียกเฉพาะตรงส่วนของที่ชาวตะวันตกเห็นเป็นส่วนหน้าของวัวว่า “ดาวธง” ต่างหาก ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานยืนยันได้เลยเช่นกันว่า มนุษย์ยุคหินที่ถ้ำลาสโกซ์นั้นจะเห็นดาวกลุ่มนี้เป็นรูปวัวกระทิง

และนี่ยังไม่นับด้วยว่า เจ้ารูปจุดไข่ปลากลุ่มนั้นจะเป็นรูปกลุ่มดาวลูกไก่ ตามอย่างข้อสันนิษฐานที่ว่าจริงหรือเปล่า? (ถึงแม้ทั้งสองกลุ่มดาวนี้จะอยู่ใกล้กันจริงๆ ก็เถอะ) อีกด้วยต่างหาก

 

เอาเข้าจริงแล้ว หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มดาวกับระบบปฏิทิน ที่ดูจะเป็นต้นเค้าของจักรราศีประจำเดือนทั้ง 12 นั้น ปรากฏอยู่ในจารึกบนแผ่นดินเหนียวที่รู้จักกันในชื่อ “MUL.APIN” ในอารยธรรมบาบิโลน

(เนื่องจากเป็นคำที่บาบิโลนยืมพวกสุเมเรียนมาใช้อีกทอด และก็แน่นอนว่า ผมอ่านภาษาโบราณในกลุ่มวัฒนธรรมเมโสโปเตเมียไม่ออกเลยสักนิด ดังนั้น จึงขออนุญาตเขียนถึงชื่อต่างๆ ของภาษานี้ในข้อเขียนชิ้นนี้ด้วยตัวอักษรโรมัน เพื่อไม่ให้เกิดผิดเพี้ยนจากการถ่ายเสียงออกมาด้วยตัวอักษรไทย)

ซึ่งแม้จะเก่าไม่ถึงขนาดภาพเขียนสีที่ถ้ำลาสโกซ์ แต่ก็ถึง 687 ปีก่อนคริสตกาล ร่วมสมัยกับพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่เลยทีเดียว

ที่จริงแล้ว ส่วนใหญ่ของนักวิชาการสารพัดสาขาที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับเจ้าจารึกดินเหนียว MUL.APIN นี่ มักจะเชื่อกันว่า ถึงแม้จารึกฉบับคัดลอกที่เก่าแก่ที่สุดจะมีศักราชระบุอายุตรงกับ 687 ปีก่อนคริสตกาลก็ตาม แต่เนื้อหาต่างๆ ก็น่าจะถูกรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นตั้งแต่เมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล คือเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับยุคสำริดของเมโสโปเตเมียในช่วงราชวงศ์แรกของพวกบาบิโบนเลยทีเดียว

และโปรดอย่าลืมว่า ที่จริงแล้วชื่อดาวเหล่านี้เป็นภาษาสุเมเรียน ที่เก่าไปกว่าพวกบาบิโลน ในระดับวัฒนธรรมแรกที่มีตัวอักษรใช้ในเมโสโปเตเมียอีกต่างหาก

ดังนั้น ในระยะแรกของการศึกษาเจ้าจารึกหลักนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่ามันเริ่มเรียบเรียงกันมาตั้งแต่เมื่อ 4,300 ปีมาแล้วเลยนะครับ

แต่ทำไปทำมามันก็ลดลงเหลือแค่ 3,000 ปีก่อนอย่างที่ว่านี่แหละ (ใครเคยผ่านตาตัวเลข 4,300 ปีจึงอย่าได้สับสนไป เพราะอันนั้นคือข้อสันนิษฐานเก่ากึ้ก) แต่ก็ยังมีข้อเสนออื่นๆ อีกด้วย เช่น ข้อเสนอใหม่เมื่อราวสิบปีที่ผ่านมานี้ 3,370 ปีมาแล้ว

โดยสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในแคว้นอัสสูร (Assur) ของพวกอัสซีเรียโบราณ

 

คําว่า “APIN” ในภาษาบาบิโลนนั้นแปลว่า “คันไถ” ส่วนคำว่า “MUL” นั้นก็หมายถึง “ดาว” หรือ “กลุ่มดาว” ก็ได้นี่แหละ ชื่อของจารึกที่ว่าด้วยตำราดาราศาสตร์ดังกล่าวนี้จึงหมายถึง “ดาวไถ” แต่ดาวไถของชาวบาบิโลน ไม่ใช่ดาวไถเดียวกันกับของไทย พวกเขาหมายถึง “กลุ่มดาวสามเหลี่ยม” ต่างหาก

และก็เป็นด้วยโทษฐานที่เจ้าจารึกดังกล่าวนี้ได้บันทึกตำราดาราศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งในโลกนี่เอง จึงทำให้ได้กล่าวถึงรายชื่อของดวงดาวต่างๆ รวมถึงกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มดาวกับระบบปฏิทิน อย่างที่ผมได้เกริ่นถึงไว้แล้วนี่แหละ

แต่กลุ่มดาวทำนองอย่างนี้ใน MUL.APIN ไม่ได้มีเพียง 12 กลุ่มดาวเท่านั้น แต่มีถึง 18 กลุ่มดาว

นับไล่ตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่ไปยันช่วงส่งท้ายปีเก่า ตามลำดับ ได้แก่ MUL.MUL คือกลุ่มดาวลูกไก่, GU.AN.NA หรือกลุ่มดาวพฤษภในปัจจุบัน ควบกับกลุ่มดาวกระจุกหน้าวัว, SIPA.SI.AN.NA คือกลุ่มดาวโอไรออน หรือกลุ่มดาวนายพรานใหญ่, SU.GI คือกลุ่มดาวเพอร์ซีอุส, ZUBI หรือกลุ่มดาวออริกา, MAS.TAB.BA คือกลุ่มดาวมิถุน, AL.LUL หรือกลุ่มดาวกรกฎ, UR.GU.LA กลุ่มดาวสิงห์, ABSIN กลุ่มดาวกันย์

ZI.BA.AN.NA กลุ่มดาวตุล, GIR.TAB กลุ่มดาวพิจิก, PA.BIL.SAG กลุ่มดาวราศีธนู, SUHUR.MAS กลุ่มดาวราศีมกร, GU.LA กลุ่มดาวกุมภ์, KUN กลุ่มดาวมีน, SIM.MAH กลุ่มดาวมีน ควบกับกลุ่มดาวเอปไซลอน, A.NU.NI.TUM กลุ่มดาวมีน ควบกับแอนโดรมีดา และสุดท้าย HUG กลุ่มดาวเมษ

(อันที่จริงแล้วชื่อกลุ่มดาวในภาษาสุเมเรียนที่คัดมานี้ หลายชื่อมีเครื่องหมายที่ใช้กำกับในการอ่านออกเสียงที่ซับซ้อนมากกว่านี้มาก แต่ผู้เขียนขออนุญาตคัดมาเพียงสังเขปเท่านี้)

 

นอกเหนือไปจากที่จะมีจำนวนกลุ่มดาวประจำในแต่ละช่วงของปีมากกว่า 12 กลุ่มดาว ที่จะกลายเป็น 12 ราศีในภายหลังแล้ว สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างก็คือ ช่วงเริ่มต้นของปีจะสัมพันธ์อยู่กับดาวราศีพฤษภ (ดาวลูกไก่ กับดาวนายพรานใหญ่ ที่ขนาบอยู่หน้า และหลังดาวพฤษภ มีตำแหน่งบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กัน)

ซึ่งนั่นเป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว (ต้น-กลางยุคสำริดของเมโสโปเตเมีย) วันวสันต์วิษุวัต (vernal equinox) คือช่วงที่ดวงอาทิตย์จะทำฉากตรงกับโลกพอดี จนทำให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ประจำช่วงฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปี ซึ่งชาวเมโสโปเตเมียในยุคนั้นถือเป็นช่วงขึ้นปีใหม่นั้น โลกอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวพฤษภ ในขณะที่ในปัจจุบันนี้ ช่วงวันวสันต์วิษุวัตโลกจะอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวราศีเมษ จึงทำให้หลายวัฒนธรรมจึงนับช่วงเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนั่นเอง

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้คนในเมโสโปเตเมียก็จินตนาการถึงรูปร่างของกลุ่มดาวต่างไปจากปัจจุบันด้วย เช่น พวกเขาเห็นกลุ่มดาวราศีกรกฎเป็นกุ้งแดง (crayfish) ไม่ใช่ปู, ราศีกันย์คือผู้หว่านเมล็ดพันธุ์ มากกว่าที่จะเป็นหญิงสาวพรหมจรรย์ (ถึงแม้ว่าโดยนัยยะแล้วจะมีความหมายไม่ต่างกันก็ตาม), ราศีมกร คือแพะครึ่งปลา ไม่ใช่แพะเฉยๆ

หรือราศีเมษ คือรูปชาวไร่-ชาวนา ไม่ใช่แกะภูเขา เป็นต้น

 

ว่ากันว่าการจัดแบ่งกลุ่มดาวที่สัมพันธ์กับแต่ละช่วงเวลาของปีให้เหลือเพียง 12 กลุ่มดาว เกิดขึ้นคือในช่วงปลายของศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล (ราว 2,400 ปีมาแล้ว) ซึ่งก็เกิดในบาบิโลนอีกนั่นแหละ โดยจะสัมพันธ์กับพัฒนาการทางดาราศาสตร์ โดยเฉพาะการคำนวณแบบปฏิทินสุริยคติ ที่ทำให้แต่ละปีมีจำนวนวันเท่ากับ 365.25 วัน (จนทำให้เกิดปีอธิกสุรทินขึ้นทุกๆ 4 ปีอย่างในระบบปฏิทินปัจจุบันนั่นเอง) เป็นครั้งแรก จึงทำให้เหลือกลุ่มดาวจักรราศีเพียงแค่ 12 กลุ่มดาวเท่านั้น ก่อนที่ระบบปฏิทินและจักรราศีแบบนี้จะแพร่หลายเข้าไปในวัฒนธรรมกรีก

และพวกกรีกก็ค่อยปรับรูปร่างหน้าตากลุ่มดาวจักรราศีจนมีหน้าตาคล้ายๆ กับปัจจุบันนี่แหละครับ (เช่น เปลี่ยนราศีกรกฎให้เป็นราศีปู ไม่ใช่กุ้งแดงอย่างพวกบาบิโลน เป็นต้น) ก่อนที่จะส่งทอดต่อให้พวกโรมันอีกต่อหนึ่ง แล้วกลายเป็นรากฐานของระบบปฏิทินในโลกตะวันตกมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในกรณีของอินเดียนั้น มีลักษณะที่ผสมผสานมาจากทั้งบาบิโลนและกรีก-โรมัน เช่น มีราศีมกร ที่เป็นแพะผสมสัตว์น้ำ (ตามศัพท์คำว่า มกร ที่หมายถึงสัตว์ผสมที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ) ไม่ใช่แพะภูเขาอย่างกรีก

ในขณะเดียวกันก็แปลงลักษณะพื้นถิ่นบางอย่างเข้าไป เช่น เป็นราศี Gemini ที่ทั้งบาบิโลนและกรีกเห็นเป็นฝาแฝด ให้กลายเป็นราศีมิถุน ที่เกี่ยวข้องกับการสังวาส เป็นต้น

ชื่อเดือนของไทย ที่รับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของอินเดียเข้ามาแล้ว จนทำให้เปลี่ยนจากการนับเดือนอ้าย ยี่ สาม สี่ ไปจนกระทั่งถึงเดือนสิบสอง จึงกลายมาเป็นชื่อเดือนตามราศี พร้อมรับคติเรื่องราศีและกลุ่มดาวพวกนี้มาด้วย จึงมีที่มาเก่าแก่ไม่ใช่แค่จากอินเดียเท่านั้น

เพราะหลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในบาบิโลน ซึ่งก็เก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้วเลยทีเดียว