จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (19)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
the scenery at the Ming Dynasty Tombs in Changping District, on the outskirt of Beijing. AFP PHOTO / STR

สำนักนิตินิยมกับหานเฟยจื่อ (ต่อ)

อาจกล่าวได้ว่า ในบรรดานักปรัชญาภายใต้บรรยากาศ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” นั้น ตัวของหานเฟยจื่อดูจะมีประวัติที่มีสีสันแตกต่างไปจากนักปรัชญาคนอื่นในยุคเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องความอาภัพอับโชค

กล่าวคือ หานเฟยจื่อ (280-233 ปีก่อน ค.ศ.) มีชื่อว่า หานเฟย เป็นโอรสของกษัตริย์อานแห่งหาน (หานหวังอาน) ในวัยศึกษาหานเฟยมีสวินจื่อเป็นอาจารย์ และมีหลี่ซือเป็นศิษย์ร่วมสำนัก

แต่เนื่องด้วยหานเฟยเป็นคนพูดจาติดอ่าง เขาจึงมิได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่การงานจากกษัตริย์ผู้เป็นบิดา หานเฟยจึงใช้เวลาทุ่มเทไปกับการศึกษา จนทำให้เป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง

จากความรู้ที่ได้มา หานเฟยได้เสนอให้กษัตริย์ปฏิรูปการปกครองเพื่อให้หานเป็นรัฐที่แข็งแกร่ง แต่กษัตริย์ผู้เป็นบิดากลับทรงไม่ไยดี ด้วยทรงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่

เหตุนี้ได้ยังความเสียใจแก่หานเฟยเป็นที่ยิ่ง

อยู่มาคราวหนึ่ง ความเรียง 2 ชิ้นของหานเฟยคือ “กูเฟิ่น” (ความขุ่นเคืองอันเดียวดาย) และ “อู่ตู้” (เบญจกีฏ) ได้แพร่ไปถึงรัฐฉิน กษัตริย์เจิ้งแห่งฉิน (ฉินหวังเจิ้ง) ทรงได้อ่านแล้วก็ทรงพอใจยิ่ง จึงตรัสถามถึงหานเฟยซึ่งเป็นผู้เขียน

เวลานั้นหลี่ซือศิษย์ร่วมสำนักของหานเฟยกำลังเป็นขุนนางในราชสำนักฉินจึงทูลว่า หานเฟยเป็นชาวหานและเป็นโอรสกษัตริย์แห่งรัฐนี้ ทรงฟังดังนั้นก็ประสงค์จักได้หานเฟยมาช่วงใช้ราชสำนัก

จากเหตุนี้ กษัตริย์เจิ้งจึงทรงให้กรีธาทัพไปล้อมรัฐหาน พร้อมกันนั้นก็ยื่นเงื่อนไขว่า หากมิให้ทัพฉินตีชิงก็ขอให้ส่งตัวหานเฟยมาเป็นการแลกเปลี่ยน

ส่วนหานซึ่งกำลังอ่อนแอเต็มทีไม่มีทางเลี่ยง กษัตริย์อานจึงยอมส่งตัวหานเฟยให้แก่ทัพฉินไปในที่สุด โดยไม่ทรงคำนึงว่าหานเฟยเป็นโอรสของตน ขอเพียงรักษารัฐหานเอาไว้ให้ได้เท่านั้น

เมื่อฉินได้ตัวหานเฟยมาช่วงใช้แล้วก็ปรากฏว่า กษัตริย์เจิ้งทรงโปรดสติปัญญาของหานเฟยเป็นที่ยิ่ง ด้วยมีหลักคิดทางการเมืองที่สอดคล้องต้องตรงกัน โดยเฉพาะในประเด็นการรวมรัฐทรงอิทธิพลทั้งหกให้มาอยู่ใต้อำนาจของฉิน

ครั้นพอถึงเวลาวางแผนศึกเพื่อจักเข้าตี หลี่ซือมีความเห็นว่าควรตีหานก่อน แต่หานเฟยเห็นควรตีจ้าวก่อน

กล่าวกันว่า แม้ทั้งสองจะเป็นศิษย์ร่วมสำนักก็ตาม แต่หานเฟยกลับมีสติปัญญาดีกว่าหลี่ซือ จนทำให้หลี่ซืออิจฉาและเกรงว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไป อนาคตทางการเมืองของหานเฟยก็จะก้าวหน้ากว่าตน

จากเหตุนี้ หลี่ซือจึงทูลกษัตริย์เจิ้งว่า อันตัวหานเฟยนั้นเป็นโอรสกษัตริย์หาน จิตใจจึงฝักใฝ่หานมากกว่าฉิน จึงมิยอมเสนอให้ตีหาน หากปล่อยไว้เช่นนี้ย่อมยังความเสื่อมมาสู่ฉิน จึงควรขจัดหานเฟยออกไปโดยเร็ว

กษัตริย์เจิ้งทรงฟังดังนั้นก็หลงเชื่อ รับสั่งให้จองจำหานเฟยเอาไว้ ครั้นหานเฟยขอเข้าเฝ้ากษัตริย์เจิ้งเพื่อทูลข้อเท็จจริงแสดงความบริสุทธิ์ ก็กลับถูกหลี่ซือกีดกันขัดขวาง

แต่หลี่ซือก็มิยอมปล่อยให้สภาพเช่นนี้คงอยู่ต่อไป จึงได้ส่งสุราเจือยาพิษไปยังคุกให้หานเฟยดื่ม หานเฟยไม่มีทางเลี่ยงและจำยอมดื่มสุราพิษนั้นจนสิ้นใจไปในที่สุด

ภายหลังจากนั้นไม่นานกษัตริย์เจิ้งทรงสำนึกว่าได้ลงโทษหานเฟยผิดไปก็ให้เสียพระทัยเป็นที่ยิ่ง

จากประวัติดังกล่าวคงทำให้พอเข้าใจได้ถึงความอาภัพอับโชคของหานเฟยจื่อ แต่กล่าวสำหรับหลักคิดของเขาแล้วกลับตรงกันข้าม เมื่อได้รับการยกย่องว่าเป็นหลักคิดสำนักนิตินิยมที่ก้าวมาถึงขั้นสูงสุด ที่ซึ่งต่อมาได้ปรากฏอยู่ในปกรณ์ หานเฟยจื่อ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 55 บท และทั้งหมดนี้ล้วนได้ตกทอดมาให้ศึกษาอ้างอิงกันจนทุกวันนี้

ปกรณ์เล่มนี้ได้สะท้อนหลักคิดของหานเฟยจื่อในหลายด้านด้วยกัน แต่ที่โดดเด่นมากก็คือ หลักคิดด้านการเมืองการปกครอง หลักคิดในด้านนี้หานเฟยได้ทำการสานต่อจากที่เซิ่นเต้า เซินปู๋ฮ่าย และซางยางได้ตราเอาไว้แต่เดิม คือรวมเอาหลักคิด ซื่อ ซู่ และ ฝ่า ของคนทั้งสามตามลำดับมาอรรถาธิบายว่า ทั้ง ซื่อ ซู่ ฝ่า ต่างมีความสำคัญเสมอกัน จึงควรที่จะนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติทางการเมืองและการปกครอง ไม่ควรแยกใช้ดังที่ผ่านมา

โดยหลักคิด ซื่อ หรืออำนาจนั้น ในบท “อู่ตู้” (เบญจกีฏ) ในปกรณ์ หานเฟยจื่อ อธิบายว่า

“แต่ไรมาราษฎรมักศิโรราบให้แก่อำนาจ ขณะเดียวกันอำนาจในความเป็นจริงก็ง่ายต่อการนำมาเป็นเครื่องมือใช้กับบุคคล เหตุที่จ้งหนี (ขงจื่อ) ยอมรับตำแหน่งขุนนางขณะเมื่อพญาอายแห่งหลู่ (หลู่อายกง) เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์นั้น หาใช่เพราะจ้งหนีถูกพญาอายแห่งหลู่กล่อมเกลาคุณธรรมไม่ หากเพราะจ้งหนียอมศิโรราบต่ออำนาจของพญาอายแห่งหลู่โดยแท้”

จากอรรถาธิบายนี้ทำให้เห็นว่า หานเฟยจื่อไม่เพียงจะเชื่อในเรื่องอำนาจทางการเมืองอย่างมากเท่านั้น หากยังเห็นว่าการใช้อำนาจเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองพึงปฏิบัติ มิใช่เรื่องที่เสียหาย ซ้ำยังเป็นคุณอีกด้วย

และยังเชื่อด้วยว่า อำนาจกับคุณธรรมเป็นคนละเรื่องกัน

ลำดับต่อมาคือหลักคิด ซู่ หรือการบริหารและการใช้คน ตัวอย่างหลักคิดนี้อาจดูได้จากที่หานเฟยจื่อเสนอในบท “ติ้งฝ่า” (ดำรงนิติ) ในปกรณ์ หานเฟยจื่อ อธิบายว่า

“ที่เรียกว่าองค์รัฏฐาธิปัตย์มีศิลปะในการทำให้ขุนนางมาช่วงใช้รัฐกิจได้ก็คือ การที่องค์รัฏฐาธิปัตย์มีบทบาทสำคัญในการมอบหมายงานตามสัมพันธภาพของรัฐกิจ โดยให้เป็นไปตามตำแหน่งขุนนางแต่ละระดับตามความเป็นจริงและคุณสมบัติของแต่ละคน ขณะเดียวกันก็สามารถใช้อำนาจที่ชี้เป็นชี้ตายแก่ขุนนางได้ ทั้งยังมีระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานของขุนนางแต่ละระดับชั้นอีกด้วย”

คำว่า “ศิลปะ” ที่ปรากฏในอรรถาธิบายนี้ก็คือคำว่า ซู่ ในคำจีน โดยคำที่ใช้จริงคือคำว่า ฉวนซู่ ที่หมายถึง แผนที่พลิกแพลงไปตามสถานการณ์ ยุทธวิธี หรือกลยุทธ์ เป็นต้น

ดังนั้น การใช้คำว่า “ศิลปะ” ในที่นี้จึงให้ความหมายที่ครอบคลุมและกระชับกว่า

อย่างไรก็ตาม หลักคิด ซู่ ตามอรรถาธิบายนี้โดยรวมก็คือ 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นหนึ่งคือ ศิลปะในการบริหารรัฐกิจหรืองานราชการ อีกประเด็นหนึ่งคือ ศิลปะการใช้คนของผู้ที่เป็นผู้นำ

ทั้งสองประเด็นนี้หานเฟยจื่อชี้ให้เห็นว่าจะต้องเป็นไปอย่างเด็ดขาด แต่ก็มีวิจารณญาณและการตรวจสอบที่จริงจัง

สุดท้ายคือหลักคิด ฝ่า ที่หมายถึง กฎหมาย หลักคิดนี้อาจดูอรรถาธิบายได้จากบท “ติ้งฝ่า” เช่นเดียวกัน ซึ่งอธิบายว่า

“ที่เรียกว่าการปกครองรัฐโดยกฎหมายก็คือ รัฐกิจทั้งปวงพึงตรากฎหมายที่ชัดเจน มีระบบการลงทัณฑ์ที่เด็ดขาดให้เป็นที่ตระหนักในหมู่ราษฎร มีระบบการปูนบำเหน็จรางวัลแก่เสนามาตย์ราษฎรที่มีความชอบอย่างรอบคอบ การลงทัณฑ์ที่เด็ดขาดจักต้องใช้กับนักโทษด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ การปกครองโดยกฎหมายเช่นนี้เป็นสิ่งที่เสนามาตย์ราษฎรเรียนรู้กันได้”

จะเห็นได้ว่า หลักคิด ฝ่า หรือกฎหมายของหานเฟยจื่อมิได้ต่างไปจากที่ซางยางเคยคิดและปฏิบัติมากนัก จะต่างก็แต่ว่าในยุคของหานเฟยจื่อมันได้ถูกนำมาอธิบายผ่านบันทึกที่ตกทอดกันมาเท่านั้น

จากหลักคิด ซื่อ ซู่ ฝ่า ดังกล่าว หานเฟยจื่อมิได้มองความสำคัญของทั้งสามหลักคิดโดยแยกออกเป็นเอกเทศ หากแต่ย้ำว่าทั้งสามหลักคิดนี้มีความสำคัญเสมอกัน และจักต้องอิงกันและกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

กล่าวอีกอย่าง ทั้งสามหลักคิดนี้คือสิ่งที่ผู้นำพึงถือปฏิบัติไปพร้อมกันอย่างเป็นเอกภาพ หาไม่แล้วก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จในทางการเมือง

ที่สำคัญคือ หลักคิดดังกล่าวแทบกล่าวได้ว่า หากผู้นำคนใดนำมายึดถือมาปฏิบัติแล้ว ผู้นำคนนั้นจักต้องละในประเด็นคุณธรรมแทบจะสิ้นเชิง เพราะลักษณะการใช้อำนาจ รัฐประศาสนการ และการใช้กฎหมายที่เด็ดขาดนั้น เห็นได้ชัดว่า หากปฏิบัติจริงแล้วก็แทบจะไม่มีส่วนใดที่จะให้อิงคุณธรรมได้มากนัก

ปรัชญาของสำนักนิตินิยมจึงมีพื้นฐานของอำนาจนิยมดำรงอยู่ค่อนข้างมาก