สุรชาติ บำรุงสุข : สงครามจบ ประวัติศาสตร์จบ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (จบ) สงครามจบ ประวัติศาสตร์จบ

“สิ่งที่เราเป็นพยาน ไม่ใช่แต่เพียงเห็นการสิ้นสุดของสงครามเย็นหรือเห็นการเดินผ่านของระยะเวลาในประวัติศาสตร์ในยุคหลังสงครามเท่านั้น หากแต่[ยังเห็นถึงสิ่งที่]เป็นเสมือนกับการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์อีกด้วย”

ฟรานซิส ฟูกูยามา

The End of History and the Last Man, 1992

ถ้าจะอธิบายอย่างคนบางส่วนที่เชื่อว่า การเข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบทเป็น “แฟชั่น” ของการแห่แหนตามกันแล้ว ผมคิดว่าคำอธิบายเช่นนั้นออกจะดูแคลนชีวิตของคนหนุ่มสาวในยุคแห่งเดือนตุลาอย่างมาก…

การเข้าป่าเพื่อร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ไม่ใช่การไปเที่ยวทัศนศึกษาที่มีแต่ความสุขและสนุกสนานเหมือนตอนเป็นนิสิตนักศึกษาแต่อย่างใด

ผมเคยเปรียบเทียบเสมอว่า การเข้าป่าของคนรุ่นผมไม่ใช่ไปเที่ยวป่าเขาใหญ่ และมีแคมป์ไฟตอนกลางคืนเป็นเวลาสันทนาการรอรับอยู่

แต่เป็นการเข้าป่าด้วยเงื่อนไขของ “การปฏิวัติ” และมีสงครามรออยู่เบื้องหน้า การเดินทางเช่นนี้ทำให้เพื่อนหลายคนมีตารางเดินทางไป แต่ไม่มีตารางเวลากลับ และมิตรสหายของผมเหล่านี้ฝากร่างไว้กลางป่าเขา

ชีวิตของความเป็นคนในยุคแห่งเดือนตุลานั้น ผูกพันอยู่กับอุดมการณ์ชุดที่ใหญ่ที่สุดคือการปฏิวัติ

การจบลงของสงครามปฏิวัติในชนบทไทยที่มีอาการ “ป่าแตก” และตามมาด้วย “วันเสียงปืนดับ” เป็นจุดจบของสงครามเย็นในไทย

จึงเป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ในยุคสมัยหนึ่งและของคนรุ่นหนึ่ง

การสิ้นสุดของสงคราม

สงครามชีวิตคนเดือนตุลาที่ปิดฉากลงพร้อมลงพร้อมการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ย่อมไม่ใช่เรื่องของการตายในทางกายภาพ แต่เป็นการสิ้นสุดของชีวิตในทางการเมืองชุดหนึ่ง ที่ความเป็น “คนเดือนตุลา” จบลง และหลังจากนี้แต่ละคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง เท่าๆ กับที่มีความคิดทางการเมืองเป็นของตัวเอง นับจากการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติจนถึงปัจจุบัน คนเหล่านี้จะมีชีวิตทั้งในทางการเมืองและในทางส่วนตัวที่หลากหลายกันออกไป และดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

ดังนั้น การศึกษาทางวิชาการที่มาบอกเล่าว่า คนพวกนี้ปัจจุบันทำอะไร หรือมีบทบาทเป็นอะไรในสังคม จึงเป็นเพียงรายงานสำรวจแบบสำมะโนประชากร ที่ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร เพราะชีวิตการเมืองของคนที่ผ่านเดือนตุลาเป็นเพียงเรื่องราวในอดีต แต่ชีวิตของแต่ละคนหลังจากนั้นล้วนมีเส้นทางการเมืองเป็นของตัวเอง และถูกหล่อหลอมด้วยเงื่อนไขและปัจจัยของชีวิตอีกชุดที่แตกต่างไปจากยุคสมัยของเดือนตุลา

และที่สำคัญเป็นชีวิตที่ไม่ได้ถูกกำหนดโดย “จัดตั้ง” อีกต่อไป

หรือที่ผมกล่าวสัพยอกเสมอว่า หลังสิ้นสงครามปฏิวัติแล้ว ชีวิตพวกเราเป็นตัวของตัวเองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เพราะไม่ต้องมีจัดตั้งมาคอยกำกับชีวิต และไม่ต้องมีพรรคมาชี้นำ

ซึ่งก็คือการบอกว่านับจากนี้เป็นต้นไป พวกเราต่างมีทิศทางทางการเมืองเป็นของตัวเอง และจะผูกพันกับใครหรือกับขบวนใดก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำอีกต่อไป

อุดมการณ์ชุดเดิมที่เคยผูกโยงคนเดือนตุลาเข้าไว้ด้วยกันได้สิ้นสภาพลง…

เช่นนี้แล้ว ยังจะคิดว่าพวกผมเป็น “คนเดือนตุลา” แบบไม่จบทั้งชีวิตเลยหรือ

โลกภายนอกที่ล้อมรอบการปฏิวัติไทย

สงครามปฏิวัติไทยไม่ได้เกิดโดยไม่มีบริบทของการเมืองโลกกำกับไว้

เพราะความขัดแย้งชุดใหญ่ในโลกสังคมนิยมที่เกิดขึ้นจากปัญหาระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีน ไม่ว่าจะอธิบายจากมุมมองของการแข่งขันระหว่างประเทศและปัญหาผลประโยชน์แห่งชาติ

หรือมองจากมุมของการตีความอุดมการณ์ ตลอดรวมทั้งทัศนะต่อโลกทุนนิยมที่แตกต่างกัน อันนำไปสู่คำถามสำคัญว่า โซเวียตหรือจีนจะเป็น “ผู้นำการปฏิวัติโลก”

ปัญหาเช่นนี้เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในปี 2503 ด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวโจมตีกันอย่างเปิดเผย

และตามมาด้วยการถอนความช่วยเหลือของโซเวียตจากจีน

ต่อมาในปี 2505 ความสัมพันธ์ทางการทูตของประเทศทั้งสองก็ยุติลงอย่างเป็นทางการ

และในปี 2512 ความขัดแย้งปรากฏชัดขึ้นในรูปของการปะทะตามแนวชายแดน และความขัดแย้งของสองรัฐมหาอำนาจของโลกสังคมนิยมกลายเป็นหนึ่งในปัญหาของนักปฏิวัติทั่วโลกด้วย

ความขัดแย้งเช่นนี้มีผลกระทบโดยตรงกับบรรดาพรรคในภูมิภาค เช่น จีนไม่ไว้ใจความสัมพันธ์เวียดนาม-โซเวียต เพราะจะเป็นปัจจัยปิดล้อมจีน

และยังเปิดโอกาสให้โซเวียตขยายอิทธิพลในภูมิภาค

แต่ในขณะเดียวกันเวียดนามก็กลัวจีนรุกราน และจำเป็นต้องหาความสนับสนุนจากโซเวียตเพื่อเป็นปัจจัยในการคานกับจีน

ในอีกด้าน จีนให้ความสนับสนุนโดยตรงต่อกลุ่มเขมรแดง แต่เวียดนามไม่พอใจต่อเขมรแดงที่เปิดปฏิบัติการโจมตีและสังหารชาวเวียดนามอันเป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งในประวัติศาสตร์

และเวียดนามก็หันไปสนับสนุนเขมรเฮงสัมริน และใช้กำลังรบโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง

อันเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณความขัดแย้งกับจีนโดยตรง

และเวียดนามยังขยายอิทธิพลเข้าไปในลาวอีกด้วย ซึ่งก็คืออิทธิพลของเวียดนามขยายไปครอบคลุมทั้งอินโดจีน คำถามสำคัญประการต่อมาจากสภาวะเช่นนี้ก็คือ แล้วเวียดนามจะขยายสงครามจากกัมพูชาเข้ามาในไทยหรือไม่

ในทางการข่าวระบุว่า เวียดนามได้เตรียมกำลังขนาดใหญ่เพื่อตีออกจากกัมพูชาเข้าไทย ไทยจะกลายเป็นโดมิโนอีกแบบ

แต่ถ้าต้องต่อสู้ครั้งนี้ จีนจำเป็นต้องแสวงหาความสนับสนุนจากไทย เพื่อเป็น “สะพานทางบก” ให้แก่การส่งกำลังบำรุงที่จีนจัดให้แก่ฝ่ายเขมรแดง

ในทางกลับกันไทยจะร้องขออะไรเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนจากรัฐบาลจีน

ดังได้กล่าวแล้วว่าจุดพลิกผันใหญ่ของการปฏิวัติไทยเกิดขึ้นจากสงครามของเวียดนามต่อกัมพูชาในเดือนมกราคม 2522 และนำไปสู่ “การแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคง” ระหว่างประเทศทั้งสอง

แต่จีนน่าจะประมาณสถานการณ์ก่อนพนมเปญแตกแล้วว่า เขมรแดงคงรับมือกับการเข้าตีของเวียดนามไม่ได้

จีนได้หันมาให้ความสนใจไทยมากขึ้นเพราะรัฐบาลขวาจัดหลังปี 2519 ถูกโค่นลง และเปิดโอกาสให้รัฐบาลทหารสายปฏิรูปปรับนโยบายต่างประเทศไทยให้ลดโทนของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ลง

ทางฝ่ายไทยก็มองเห็นสถานการณ์ในกัมพูชาไม่แตกต่างกัน

ส่งผลให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ต้องเดินทางเยือนปักกิ่งในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2521

อันเป็นจุดเริ่มต้นสานสัมพันธ์ครั้งสำคัญหลังจากการสถาปนาทางการทูตในปี 2518

และตอนปลายปี 2521 รองนายกฯ เติ้งเสี่ยวผิงได้เดินทางเยือนไทยเป็นการตอบแทน และได้รับพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมงานทรงผนวชของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ซึ่งทางฝ่ายจีนมีความประทับใจในการต้อนรับของฝ่ายไทยอย่างมาก

เพราะในขณะนั้นเติ้งเสี่ยวผิงเป็นเพียงรองนายกฯ แต่ได้รับเกียรติเสมือนเป็นนายกฯ

อันส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนกระชับแน่นขึ้น

และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐก็ลดระดับลงหลังจากสงครามเวียดนาม

เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาด้วยกำลังทหารเต็มรูป ทำให้ภัยคุกคามของเวียดนามประชิดแนวชายแดนไทยโดยตรง

จีนกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงไทยมากกว่าสหรัฐไปโดยปริยาย

และการแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคงเริ่มเห็นชัดเจนเมื่อจีนยุติการสนับสนุนสถานีวิทยุของพรรคไทยที่ตั้งอยู่ในจีนในเดือนกรกฎาคม 2522 สงครามปฏิวัติไทยไม่ใช่ทิศทางหลักของนโยบายจีนอีกต่อไป

การต่อสู้กับลัทธิครองความเป็นเจ้าในเวทีโลก (หมายถึงโซเวียต) และลัทธิครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค (หมายถึงเวียดนาม) เป็นด้านหลักของจีน

และผลจากการนี้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางทหารของทั้งสองประเทศในเวลาต่อมา

และเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างมาก

จนถึงขั้นมีการจัดงานเลี้ยงให้แก่เอกอัครราชทูตในกรมทหารจีนที่ปักกิ่ง

และหลังจากปี 2524 เป็นต้นมา ผู้นำทางทหารของไทยได้เดินทางเยือนจีนอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การนำเอาอาวุธจีนเข้ามาประจำการ เช่น ปืนใหญ่ 130 ม.ม. รถถังแบบที-69 มาร์ก2 รถสายพานลำเลียงพล และปืนต่อสู้อากาศยาน และยังขยายไปสู่การสั่งต่อเรือรบจากจีนอีกด้วย

ความสัมพันธ์เช่นนี้เป็น “เงื่อนตาย” ของพรรคไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อพรรคไทยตัดสินใจเดินแนวทางจีน ราคาที่ต้องจ่ายคือการต้องปิดฐานที่มั่นในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา การสูญเสียเช่นนี้ไม่อาจทดแทนได้

และจีนไม่สามารถให้การสนับสนุนพรรคไทยได้โดยไม่ผ่านเวียดนามและลาว ตามทฤษฎีแล้วการสูญเสีย “หลังพิง” คือจุดจบของสงครามก่อความไม่สงบ และจุดจบอีกประการมาจากการลดลงของความช่วยเหลือหลักเมื่อจีนหันไปจับมือกับรัฐบาลไทยเพื่อสู้ศึกเวียดนาม จีนทิ้งพรรคไทยเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตน

และสงครามปฏิวัติไทยเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งในการเมืองโลก

โลกภายในของการปฏิวัติไทย

สงครามปฏิวัติไทยเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2508

แต่จะเห็นได้ว่าจากช่วงเวลาดังกล่าวจนถึงก่อนปี 2519 พรรคไทยไม่สามารถขยายสมาชิกและแนวร่วมได้มาก

สงครามไม่ได้ขยายตัวออกมาจากชนบทที่ห่างไกล

สงครามปฏิวัติดำรงอยู่ในพื้นที่ชายขอบของรัฐไทย และไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นสงครามเวียดนาม

อีกทั้งผู้นำองค์กรก็มีลักษณะปิดลับและไม่สามารถโฆษณาเพื่อให้ผู้คนในสังคมเข้าร่วมได้จริง

จนเมื่อเกิดการล้อมปราบในปี 2519 และนักศึกษาจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบท แม้จะเป็นดังการขยายฐานสมาชิกครั้งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน

แต่ในทางกลับกันการทะลักเข้าป่าหลังปี 2519 กลายเป็นวิกฤตในตัวเอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งใหญ่ระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” หรือกล่าวแบบวิชา MBA ได้ว่า พรรคขาดทักษะสมัยใหม่ในการบริหารองค์กรและบุคลากร

นอกจากนี้ ตัวเลขกำลังพลของพรรคจากการประเมินของสหรัฐในปี 2522 มีอยู่ประมาณ 10,890 คนทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าไม่มากนัก และในทางการทหาร พรรคไทยไม่มีอาวุธหนักที่จะใช้ในปฏิบัติการแต่อย่างใด

สงครามที่เกิดขึ้นจึงมีขนาดเล็กและจำกัดอยู่ในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งพรรคไทยยึดติดอย่างตายตัวอยู่กับแนวคิดของจีนแบบ “ป่าล้อมเมือง” จนละเลยแนวคิดแบบในเวียดนามหรือในละตินอเมริกาที่เป็น “ป่าประสานเมือง”

หรือในอีกด้านก็คือ พรรคไทยไม่สามารถปรับตัวรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้…

พรรคขาดความยืดหยุ่นทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ และยังมีนัยถึงฝ่ายนำไทยที่ผูกติดอยู่กับพรรคจีนอย่างแยกไม่ได้

และความหวังว่าจะรอให้เวียดนามบุกไทยเพื่อก่อให้เกิดเงื่อนไข “สงครามประชาชาติ” เช่นในแบบสงครามญี่ปุ่นบุกจีน ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขเช่นในกรณีจีนแต่อย่างใด

หากกล่าวเชิงเปรียบเทียบทางทหารจะพบว่า สงครามของพรรคไทยไม่ได้เป็นภัยคุกคามขนาดใหญ่ และเมื่อไม่สามารถปลุกระดมคนในสังคมให้เข้าร่วมได้แล้ว โอกาสขยายสงครามจึงมีความจำกัดมาก อีกทั้งเมื่อไม่มีมวลชนขนาดใหญ่เข้าร่วม โอกาสที่ยกระดับให้การต่อสู้เป็น “สงครามประชาชน” อย่างแท้จริงจึงเป็นเรื่องยาก

เมื่อเกิดอาการ “ป่าแตก” ผลที่ตามมาก็คือการสูญเสียขวัญกำลังใจของผู้ที่ยังเหลืออยู่ และหลังจากการปิดสถานีวิทยุในกลางปี 2522 ไม่แต่เพียงขาดการชี้นำทางการเมืองเท่านั้น หากยังขาดการสื่อสารภายในอีกด้วย ฉะนั้น ขบวนการเมืองที่ขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเอกภาพทางความคิดของสมาชิก จนไม่อาจดำรงความเป็นองค์กรไว้ได้

อีกทั้งเมื่อฝ่ายรัฐไทยตัดสินใจที่จะปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ในปี 2523 ที่ใช้การเมืองนำการทหารเป็นทิศทางหลัก การปรับครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการ “ตอกลิ่ม” เข้าสู่ใจกลางความขัดแย้งที่กำลังเกิดภายในพรรค อันตามมาด้วยการทยอยออกจากป่า

และจากกลางปี 2526 เป็นต้นมา นักวิชาการอเมริกันถึงกับประเมินว่า “พคท. เป็นเพียงปัญหากวนใจ มิได้เป็นภัยคุกคามเช่นเดิมอีกต่อไป…”

สงครามปฏิวัติไทยเดินมาถึงจุดสิ้นสุด และมีนัยถึงการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งของสังคมไทย

สงครามจบ การต่อสู้ไม่จบ!

แม้ว่าการสิ้นสุดของสงครามมีนัยโดยตรงถึงการสิ้นสุดของยุคสมัย และการสิ้นสุดนี้คือจุดจบของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ชุดหนึ่ง แต่ก็มิได้หมายความว่าการต่อสู้ทางการเมืองจะจบลงทั้งหมด

การสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติไทยก็คือการจบลงของประวัติศาสตร์ชุดหนึ่ง และปลดปล่อยคนเดือนตุลาออกจากอุดมการณ์ที่พวกเขาเคยผูกพันไว้

หลังจากนี้ความเป็นคนเดือนตุลาคือประวัติชีวิตของแต่ละคน เช่นเดียวกับในทางการเมืองที่นับจากนี้พวกเขาคือตัวตนของแต่ละคน ไม่ได้มีพันธะกับการต่อสู้ในสงครามชุดเดิมอีกต่อไป

และก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมีความคิดทางการเมืองแบบเดิมอีกต่อไปด้วย

การสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติจึงเป็นดังการหยิบยื่นเสรีภาพให้คนเหล่านี้เลือกเดินไปสู่อนาคตตามความคิดทางการเมืองของแต่ละคน…

ไม่มีพรรค ไม่มีจัดตั้ง และไม่มีการปฏิวัติอีกแล้ว

มีแต่อนาคตที่แต่ละคนจะต้องตัดสินใจเลือกรออยู่ข้างหน้า!