วิกฤติศตวรรษที่21 : จีนกับโลกาภิวัตน์ที่ไม่อาจหวนกลับ

วิกฤติประชาธิปไตย (36)

สีจิ้นผิงผู้นำจีนปราศรัยในหลายที่ว่าโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งหรือหวนกลับได้ ประเทศต่างๆ ในโลกมีแนวโน้มที่จะเปิดกว้างและบูรณาการเข้าด้วยกัน เพราะว่ามันช่วยให้เศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัว

มีการสร้างและขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปาทาน ส่งเสริมการไหลเวียนของสินค้าอุตสาหกรรม ทำให้ชีวิตของผู้คนนับพันล้านคนดีขึ้น พ้นจากความยากจน และยังมีการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

ผลักดันให้โลกก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ กับทั้งมีความพยายามร่วมกันในการแก้ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก การย้อนเข็มนาฬิกาของโลกาภิวัตน์กลับไปจะทำลายห่วงโซ่เศรษฐกิจและการค้าโลกนำไปสู่ยุคสงครามเย็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งล้วนไม่เป็นผลดีแก่ผู้ใด

สำหรับจีนได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองอย่างน่าทึ่ง

ปลายปี 1976 เมื่อการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมสิ้นสุด สังคมจีนยังคงเป็นสังคมเกษตร ประชากรร้อยละ 82.6 อาศัยอยู่ในชนบท

จีนได้บ่ายโฉมใหม่จากการปฏิวัติไม่สิ้นสุดที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ไปสู่นโยบายการปฏิรูปและเปิดกว้างในปลายปี 1978

ผลพวงของการปฏิรูปในช่วง 40 ปี เห็นได้คือ ขนาดเศรษฐกิจของจีนเพิ่มจาก 153.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 1976 คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของจีดีพีโลก แต่ในปี 2016 เพิ่มเป็น 11.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 14.8 ของจีดีพีโลก

รายได้ต่อหัวในปี 1976 เพียง 165.4 ดอลลาร์ ถึงปี 2016 เพิ่มเป็น 8,123.2 ดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งนำเข้าและส่งออกในปี 1976 มีเพียง 13.43 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 5 ของมูลค่านำเข้า-ส่งออกของสหรัฐ แต่ปี 2016 เพิ่มเป็น 3.66 ล้านล้านดอลลาร์ สูงที่สุดของโลก

ทุนสำรองระหว่างประเทศในปี 1976 มีเพียง 1.26 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2016 เพิ่มเป็น 3.01 ล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดของโลก

ในปี 2016 สถาบันด้านดัชนีความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมโลก ระบุว่า จีนเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุด 220 รายการจาก 500 รายการ

ในนี้ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ถ่านหิน ซีเมนต์ อะลูมิเนียม และทองแดง เป็นต้น

อุตสาหกรรมไฮเทคของจีนก็เหนือกว่าของสหรัฐ ในแง่ของมูลค่าเพิ่ม มูลค่าการส่งออกและมูลค่าเพิ่มการส่งออก การก้าวจากสังคมชนบท-การเกษตร สู่สังคมเมือง-อุตสาหกรรมของจีนเป็นไปอย่างสมบูรณ์

ในปี 2016 สัดส่วนของภาคการเกษตรลดเหลือเพียงร้อยละ 8.6 ของมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งหมด และประชากรเมืองของจีนสูงถึงร้อยละ 57.4 ของประชากร (ดูบทความของ Hu Biliang ชื่อ China”s Key to Success ใน chinatoday.com.cn 25.12.2017)

ในบทความนี้ผู้เขียนได้เสนอเหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จไว้ห้าประการได้แก่

สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนหรือสังคมนิยมแบบจีน การปฏิรูปโดยยึดตลาด การเปิดกว้าง การเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมืองและสังคม

ความสำเร็จเหล่านี้และการเปลี่ยนแปลงในสังคมจีนอย่างลึกซึ้ง ได้ชี้ว่าการเดินไปบนหนทางโลกาภิวัตน์ของจีน เป็นสิ่งที่ไม่อาจหวนกลับได้ในหลายประการด้วยกัน ทั้งด้วยความจำเป็นและการจงใจ

ประการแรก ชาวจีนหลายร้อยล้านคนที่พ้นจากความยากจนข้นแค้น ไม่ต้องการกลับไปอยู่อย่างล้าหลังแบบเดิม และยังต้องการยกมาตรฐานการครองชีพของตนให้ดีขึ้นไปอีก

ประการต่อมา การลงทุนอย่างมหาศาลของรัฐบาลระดับต่างๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก 2008 เพื่อนำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อไป ก่อให้เกิดปัญหาการผลิตล้นเกิน มีเรื่อง “เมืองร้าง” เป็นต้น

ทั้งยังมีการขยายสินเชื่อทำให้หนี้ในภาคต่างๆ พอกพูนอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่มุ่งหน้าเปิดกว้าง ขยายขนาดเศรษฐกิจการลงทุนเหล่านี้ก็เป็นเหมือนการเล่นแชร์ลูกโซ่ หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม หนทางเดินไปข้างหน้ายากลำบากกว่าเดิมมาก

ประการแรก นโยบายพึ่งตนเองใช้ชนบทเป็นฐาน แบบที่เคยเป็นมา ใช้ไม่ได้อีกต่อไป จีนไม่สามารถใช้ชนบทเป็นที่รับแรงกระแทกจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้เหมือนเดิม

ประการที่ 2 การวางแผนจำต้องพึ่งพากลไกตลาดมากขึ้น เช่น ยุทธศาสตร์ “มุ่งตะวันตก” (เริ่มตั้งแต่ปี 2000) เพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 12 มณฑลในทางตะวันตกของประเทศ สามารถวางแผนตามลำพังตนได้เต็มที่

แต่เมื่อถึง “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง” (2013) จำต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศ จีนจะไปกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้ตามลำพัง ต้องพบปะเจรจาสร้างสัมพันธ์และการต่อรองอย่างไม่หยุดหย่อน

ประการที่สาม จีนจำต้องเปิดกว้างเศรษฐกิจภาคต่างๆ และต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น เช่น ในภาคการเงิน ที่รัฐบาลควบคุมไว้อย่างหนาแน่น และกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธนาคารของโลก ในปี 2018 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่สุด 10 แห่งในโลก สี่แห่งแรกเป็นธนาคารของจีน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน ธนาคารการก่อสร้างจีน ธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีน ธนาคารแห่งประเทศจีน ในธนาคารใหญ่ติดอันดับ 100 แห่งของโลก (คิดตามสินทรัพย์) 18 แห่งเป็นของจีน มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่สองได้แก่สหรัฐ มี 12 แห่ง

ปรากฏการณ์นี้มีด้านที่สร้างความมั่นคงทางการเงินการธนาคารแก่จีน แต่ก็มีด้านที่บิดเบือนและสร้างความไม่สมดุลในเศรษฐกิจจีนด้วยเช่นกัน นั่นคือมันทำให้กำไรส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในภาคการเงิน และสถาบันการเงินก็ปล่อยสินเชื่อแก่รัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นสำคัญ ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางธุรกิจ ไม่เปิดกว้างสำหรับการสร้างนวัตกรรม และยังไม่กระตุ้นการเพิ่มความสามารถในการผลิตของคนงานจีน ซึ่งยังคงต่ำกว่าคนงานในประเทศพัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด

ประการที่สี่ จีนต้องปฏิรูปท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอ ประชากรที่แก่ตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังดำเนินไปในท่ามกลางการผูกขาด ปัญหาช่วงว่างในสังคมอาจเกิดความขัดแย้งทางการผลิตที่เป็นแบบโลกาภิวัตน์ แต่ความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นเชิงชาตินิยม ดังที่เกิดขึ้นหนักหน่วงแล้วในโลกตะวันตกได้

ประการสุดท้าย การเติบโตของจีน ล่วงล้ำพื้นที่ครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐและตะวันตกทั้งโดยความจำเป็นและโดยเจตนา ตามความจำเป็นก็คือจำต้องทำตามความบีบคั้นดังกล่าวแล้ว โดยเจตนาก็คือต้องการสร้างโลกาภิวัตน์แบบพหุภาคี

เพราะว่าโลกาภิวัตน์ที่มีสหรัฐครองความเป็นใหญ่คนเดียว เป็นคลังสำรองของความมั่งคั่งและอำนาจแต่ผู้เดียว สามารถควบคุมการไหลของเงินทุน สินค้าและแรงงานแต่ผู้เดียว สิ่งนี้ไม่เอื้อต่อการเติบโตของจีน กระทั่งทำให้จีนต้องล้าหลัง การล่วงล้ำพื้นที่มากขึ้นทุกทีนี้ รวมทั้งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรออย่างรวดเร็ว บีบให้สหรัฐ-ตะวันตกตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย จนเกิดสงครามการค้า และการสำแดงกำลังทางทหารบริเวณทะเลจีนใต้ เป็นต้น จีนต้องการสร้างตลาดเสรีแบบจีนซึ่งสหรัฐไม่อาจยอมได้

บนหนทางที่เลือกไม่ได้นี้ ฝ่ายนำจีนได้สร้างชุดของอุดมการณ์ ความคิดชี้นำ วิสัยทัศน์ นโยบาย ยุทธศาสตร์ โครงการ ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อนำพาประเทศจีนให้ปฏิรูปและเปิดกว้างต่อไป

ที่ควรกล่าวถึงได้แก่ ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมแบบจีน “ทำในประเทศจีน 2025” โครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง การทำเงินหยวนเป็นสากล อารยธรรมนิเวศ การสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคมและการเพิ่มความสามารถในการผลิตของคนงาน และการเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามทุกรูปแบบ ทั้งสงครามการค้า สงครามการผลิตการลงทุน สงครามการเงิน สงครามทางทหาร-การทูต ไปจนถึงสงครามทางความคิด

โดยจะกล่าวถึงต่อไป

ความคิดสีจี้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมแบบจีน

สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 19 (เดือนตุลาคม 2017) มีมติรับเอาความคิดสีจิ้นผิงเป็นอุดมการณ์ชี้นำทางเศรษฐกิจและการทหารของพรรค (ชื่อเต็มว่า ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน สำหรับยุคใหม่) บรรจุไว้ในธรรมนูญพรรค เดือนมีนาคม 2018

สภาประชาชนจีนมีมติให้บรรจุความคิดสีจิ้นผิงไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ เป็นการต่อเนื่องทางอุดมการณ์ตั้งลัทธิมาร์กซ์-ลัทธิเลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง (ในสมัยประธานเหมา) ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง (เป็นความคิดสังคมนิยมแบบจีนรุ่นที่ 1 ระหว่างปี 1978-2018) ทฤษฎีสามตัวแทนของเจียงเจ๋อหมิน จนถึงความคิดเรื่องการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และสังคมสอดประสานของหูจิ่นเทา

ความคิดสีจิ้นผิงจึงเป็นทั้งการมองย้อนไปข้างหลัง และมองไปข้างหน้าถึงกลางศตวรรษที่ 21 ทั้งเป็นการช่วงชิงการนำทางอุดมการณ์ ในขณะที่สหรัฐและตะวันตกอยู่ในความระส่ำระสายทางความคิด ทิศทางและนโยบาย

ความคิดสีจิ้นผิงมีหลักพื้นฐาน 14 ข้อได้แก่

1) ประกันให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้นำในการทำงานทุกรูปแบบ

2) พรรคคอมมิวนิสต์ต้องถือประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ

3) การสืบทอดการปฏิรูปอย่างซึมลึกทั่วด้าน

4) สร้างความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ “การพัฒนาเชิงนวัตกรรม ความร่วมมือแบบสีเขียว เปิดและมีผลได้ร่วมกัน”

5) เดินตามหนทางสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนโดยถือว่า “ประชาชนเป็นหลักของประเทศ”

6) การปกครองจีนด้วยหลักนิติธรรม

7) “ปฏิบัติค่านิยมแกนกลางของสังคมนิยม” รวมทั้งลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของตน

8) ยกระดับความเป็นอยู่และความอยู่ดีของประชาชนเป็นเป้าประสงค์แรกของการพัฒนา

9) การอยู่ร่วมอย่างดีกับธรรมชาติโดยนโยบาย “อนุรักษ์พลังงานและปกป้องสิ่งแวดล้อม” และสร้างคุณูปการต่อความปลอดภัยของระบบนิเวศโลก”

10) เสริมความเข้มแข็งความมั่นคงแห่งชาติ

11) พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องเป็นผู้นำอย่างสัมบูรณ์ต่อกองทัพปลดปล่อยของประชาชน

12) ส่งเสริมระบบ “ประเทศเดียวสองระบบ” ที่ใช้กับฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อการรวมเป็นประเทศเดียวอย่างสมบูรณ์ในอนาคต และเดินตามนโยบาย “จีนเดียว” และ “ฉันทามติ 1992” ต่อไต้หวัน

13) สร้างชะตากรรมร่วมกันระหว่างประชาชนจีนและประชาชนทั่วโลกด้วย “บรรยากาศสันติภาพสากล”

14) ปรับปรุงวินัยภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ดูคำว่า Xi Jinping Thought ในวิกิพีเดีย)

การกำหนดความคิดสีจิ้นผิงไว้ในธรรมนูญพรรคและรัฐธรรมนูญนี้หมายถึงว่า จะมีการศึกษาความคิดสีจิ้นผิงอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งทั่วทั้งพรรค กองทัพ และหน่วยงานรัฐ รวมทั้งในสถานศึกษาโดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาเผยแพร่ความคิดนี้อย่างกว้างขวาง มีการพิมพ์หนังสือเล่มเล็ก ว่าด้วยความคิดสีจิ้นผิง คล้ายสมุดปกแดงของประธานเหมา แต่ไม่ได้ครึกโครมเท่า เพราะสังคมจีนขณะนี้มีความซับซ้อน มีกิจกรรมอันหลากหลาย มีนวัตกรรมที่ต้องสร้าง การแข่งขันที่ต้องเผชิญ และการบริโภคของใหม่ที่ออกมาไม่ขาดสาย

สำหรับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตกเกือบทั้งหมดเป็นด้านลบ ว่ายากจะทำได้สำเร็จในบรรยากาศการปิดกั้นทางความคิดและการแสดงออก

นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่า ความคิดสีจิ้นผิงไม่อาจประกันได้ว่าจะสามารถรักษาการนำของพรรคและของตัวเขาเองได้กี่มากน้อย ในส่วนที่จะ “ฟื้นเยาวภาพของจีน” ก็ไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จได้เพียงใด เพราะใจกลางความสำเร็จอยู่ที่การสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีหรือพลังการผลิต แต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นจากความริเริ่มของปัจเจกบุคคลจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่จากการวางแผนจากบนลงล่าง และการควบคุมจากศูนย์กลางอย่างที่จีนกระทำอยู่ (ดูบทความของ Julian Gewirtz ชื่อ Xi Jinping Thought Is Facing a Harsh Reality Check ใน foreignpolicy.com 15.08.2018)

จีนมีความสำเร็จในช่วง 40 ปีที่ผ่านการปฏิรูปและการเปิดกว้าง เพื่อยืนยันว่าจะทำงานที่ยากขึ้นให้สำเร็จได้ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนในปี 2018 จะไม่ดีนัก การขยายตัวภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในทุนคงที่ลดต่ำ ยอดขายรถยนต์ลดลงมากโดยเปรียบเทียบในรอบหลายสิบปี

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงประเด็น “ทำในประเทศจีน 2025” และอื่นๆ