ธงทอง จันทรางศุ : ตะรุเตา-นักโทษการเมือง

ธงทอง จันทรางศุ

ผู้ที่เป็นแฟนคลับของแม่พลอยจากหนังสือเรื่องสี่แผ่นดินของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช คงระลึกได้ดีว่า คำว่า “บางปะอิน” เป็นคำที่มีความศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาววังยุคสมัยของแม่พลอยเป็นอย่างยิ่ง

เพราะใครต่อใครก็ใฝ่ฝันที่จะได้ตามเสด็จไปพระราชวังบางปะอิน

ครั้นเมื่อพลอยอายุมากขึ้น จนพลอยเป็นม่าย และเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ผมเชื่อแน่ว่าพลอยคงเข็ดขยาดและหวาดกลัวกับคำว่า “เกาะตะรุเตา” เป็นที่สุด

เพราะเกาะที่อยู่ไกลสุดหล้าฟ้าเขียวแห่งนี้เองที่ลูกคนหนึ่งของพลอย คืออ้นต้องถูกส่งไปติดคุกติดตะรางอยู่ที่นั่น ด้วยเหตุผลต้นทางจากความขัดแย้งทางการเมือง

และใช่แต่แม่พลอยคนเดียวเสียเมื่อไหร่ละครับ คนไทยจำนวนมากล้วนมีภาพจำเกี่ยวกับเกาะตะรุเตาไปในเรื่องของความทุรกันดารและการใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษในยุคสมัยหนึ่งของบ้านเรา

อารมณ์ประมาณเกาะอัลคาทราซ ซึ่งเคยใช้เป็นเรือนจำของอเมริกาที่นอกอ่าวซานฟรานซิสโก ที่มีบริษัทหนังฮอลลีวู้ดหลายเจ้าเคยทำภาพยนตร์เกี่ยวกับการหลบหนีของนักโทษจากเกาะดังกล่าวสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างไปตามเรื่อง

ข้างฝ่ายไทยเราการคุมขังนักโทษที่เกาะตะรุเตาในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นตำนานที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

ขนาดผมไปเที่ยวเกาะตะรุเตามาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ได้ถ่ายรูปกับป้ายอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตาแล้วโพสต์ลงใน Facebook

ยังมีคนเข้ามาทักเลยครับว่ามาเยี่ยมตาอ้น ลูกของแม่พลอยหรือ ว่าเข้าไปนั่น

เมื่อพูดถึงเกาะแห่งนี้แล้วหลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าเกาะนี้อยู่ในเขตของจังหวัดอะไร

เพราะดูเสมือนหนึ่งว่าตัวเกาะเองโดดเด่นกว่าตัวจังหวัดเสียด้วยซ้ำ

เฉลยเสียก่อนก็ได้ครับว่า เกาะตะรุเตานี้อยู่ในเขตอำเภอเมืองสตูล ของจังหวัดสตูล

และอยู่ไม่ห่างไกลกันนักกับเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย

เวลาออกเดินทางโดยลงเรือออกจากแผ่นดินใหญ่ทางจังหวัดสตูลแล้ว นักท่องเที่ยวทั้งหลายนิยมไปแวะเกาะตะรุเตาเสียหน่อยหนึ่งก่อนแล้วก็มุ่งหน้าตรงไปเกาะหลีเป๊ะ

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ดำเนินการตามแผนการร้ายแบบนี้

ถามว่าที่พักบนเกาะตะรุเตามีบ้างหรือไม่ ตอบว่ามีครับ ที่พักทั้งหมดเป็นของทางราชการคือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่มีที่พักเอกชนนะครับ

ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปติดต่อจองกับทางกรมอุทยานฯ ได้โดยตรง

บริเวณที่พักก็มีผู้บอกผมว่ามีร้านอาหารรสชาติวางใจได้ให้บริการอยู่

ผู้ที่มาพักส่วนมากเป็นชาวต่างชาติครับ ฝรั่งดั้งขอทั้งหลายชอบมาพักอยู่ที่นี่มาก และมาแต่ละครั้งก็มาอยู่นานเป็นแรมเดือน สวรรค์ราคาถูกอยู่ตรงนี้นี่เอง เพราะค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้แพงเหลือใจ

ยิ่งเมื่อเทียบกับค่าเงินของเขาแล้วต้องบอกว่าราคาถูกเลยทีเดียว

น้ำทะเลก็ลงเล่นได้สบายใจเฉิบ ขณะที่น้ำทะเลเมืองนอกของฝรั่งนั้นเย็นเหมือนแช่น้ำแข็งก้อนยักษ์เอาไว้

ผมเคยลงเล่นน้ำทะเลเมืองฝรั่งมาสองครั้ง ที่รอดตายมาได้นี่ก็นับว่าบุญมากแล้ว

เกาะตะรุเตานี้เป็นเกาะขนาดใหญ่ไม่ใช่เล่น

ดูเหมือนจะครองอันดับห้าของประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ

มีพื้นที่ถึง 150 ตารางกิโลเมตรเศษ แถมยังเป็นเกาะที่มีน้ำจืดเสียด้วย

เมื่อประมาณพุทธศักราช 2480 ภายหลังจากการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายได้ไม่นาน กรมราชทัณฑ์ซึ่งครั้งนั้นยังสังกัดอยู่กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้หลวงพิธานทัณฑนัย เป็นผู้มาสำรวจและบุกเบิกเพื่อจัดตั้งทัณฑสถานสำหรับใช้เป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย

ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้เกาะนี้เป็นที่ตั้ง ผมเดาว่าน่าจะมาจากขนาดของเกาะที่ใหญ่โตพอสมควร มีน้ำสำหรับใช้สอย

และข้อสำคัญคืออยู่ห่างจากประชุมชนพอที่จะเป็นเครื่องประกันและวางใจได้ว่านักโทษจะไม่หลบหนีได้ง่ายๆ

ถ้าเป็นแบบนี้แล้วก็ประหยัดผู้คุมไปได้เหมือนกัน

เห็นไหมครับว่าแรกทีเดียวเกาะตะรุเตาไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะไว้คุมขังนักโทษการเมือง เพียงแต่มีฐานะเป็นคุกธรรมดาที่เรียกเสียให้ไพเราะเพราะพริ้งว่า “นิคมฝึกอาชีพ”

เมืองไทยเราเก่งมากนะครับเรื่องการประดิษฐ์คำแบบนี้

น้ำท่วมเราก็เรียกว่าน้ำรอระบาย

ดังนั้น การติดคุกเราก็เรียกเสียใหม่ว่าการฝึกอาชีพก็แล้วกัน เรียกแล้วสบายใจดี

แต่อยู่ไปอยู่มาจะเป็นด้วยดำริของท่านผู้ใดผมก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน ได้เกิดความคิดที่จะนำนักโทษทางการเมืองที่มีคดีความเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เรียกกันว่ากบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ ซึ่งเกิดขึ้นในพุทธศักราช 2476 และ 2478 ตามลำดับ บรรดาที่คดีถึงที่สุดแล้ว แทนที่จะควบคุมเอาไว้ในเรือนจำที่อยู่ในพระนคร ท่านให้ส่งมาไว้ที่เกาะตะรุเตานี้ครับ

การส่งมานั้นก็ส่งแบบฉับพลันไม่ได้บอกกันให้รู้ตัวล่วงหน้าเนิ่นนาน

อยู่ดีๆ กลางเดือนกันยายน พุทธศักราช 2482 นักโทษการเมืองก็ถูกพาตัวขึ้นรถไฟมาแล้วมาต่อรถยนต์แล้วลงเรือ หลายตกหลายต่อกว่าจะมาถึงเกาะตะรุเตา

จำนวนนักโทษกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 70 คน

ส่วนนักโทษจริงๆ ที่เป็นเรื่องอื่นนั้นมีจำนวนประมาณ 2,500 คน แต่เขาไม่ได้อยู่ปะปนกันนะครับ มีการแยกที่อยู่เป็นอีกแดนหนึ่งโดยเฉพาะ อยู่กันคนละมุมเกาะเลยทีเดียว

เพียงแต่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักโทษเกาะตะรุเตาเหมือนกันเท่านั้น

หนึ่งในบรรดานักโทษที่ถูกพามาปล่อยเกาะที่นี่คือ สอ เสถบุตร หรือหลวงมหาสิทธิโวหาร เจ้าของผลงานปทานุกรมอังกฤษไทยฉบับโด่งดัง

ซึ่งท่านผู้แต่งพจนานุกรมท่านนี้ได้ใช้เวลาว่างขณะถูกคุมขังอยู่ที่คุกบางขวางเป็นเวลานานร่วมเจ็ดปี แต่งปทานุกรมมาได้จนถึงตัวอักษร S แล้วอยู่ดีๆ ก็ต้องย้ายมาเกาะตะรุเตาเสียแล้ว

เมื่อเดินทางย้ายมาครั้งนั้น สอ เสถบุตร จึงเป็นผู้ที่มีสมบัติพะรุงพะรังมากที่สุดเพราะต้องขนหนังสือประกอบการเขียนปทานุกรมมาทำงานต่อที่เกาะแห่งนี้

ส่วนนักโทษคนอื่นๆ ที่เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังก็ยังมีอีกหลายท่าน เช่น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

ท่านสิทธิพรองค์นี้ทรงมีความรู้ด้านการเกษตรและทรงสนพระทัยในเรื่องการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำไร่เป็นพิเศษ ก่อนจะส่งต้องคดีการเมืองทรงมีฟาร์มบางเบิดเป็นขององค์เอง

ที่เกาะตะรุเตานี้ทางราชการอนุญาตให้นักโทษปลูกกระท่อมและมีกิจกรรมได้ตามอัธยาศัย ไม่เคร่งครัดเหมือนอย่างเวลาอยู่ในคุกบางขวาง

ท่านชายก็ทรงบัญชาการชักชวนเพื่อนนักโทษด้วยกันทำการเกษตรเพื่อเสริมเรื่องอาหารการกินที่อัตคัดขาดแคลนอยู่เป็นธรรมดา

เมื่อนักโทษชุดนี้ได้มาอยู่ที่เกาะตะรุเตาได้เพียงแค่ประมาณหนึ่งเดือน ในวันที่ 17 ตุลาคม พุทธศักราช 2482 นักโทษการเมืองห้าคนได้แก่ พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยพิพัฒน์) พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) นายหลุย คีรีวัต นายแฉล้ม เหลี่ยมเพชรรัตน์ และขุนอัคนีรถการ (อั้น ไชยพฤกษ์) ได้วางแผนหลบหนีจากเกาะตะรุเตาโดยได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวของชาวเกาะครอบครัวหนึ่งช่วยจัดหาเรือเป็นพาหนะให้

วันเวลาที่หลบหนีนั้นดูฤกษ์ผานาทีว่าเป็นยามปลอด หมอดูก็ไม่ใช่ใครอื่นครับ คือนายแฉล้มหนึ่งในคณะหลบหนีนั่นเอง

นายแฉล้มผู้นี้เป็นผู้ให้ฤกษ์การลงมือทำกบฏบวรเดช ผมนึกในใจว่าคราวนั้นพลาดไปแล้ว คราวนี้คงไม่ยอมพลาดซ้ำสองอีกเป็นอันขาด

และก็ได้ผลดีครับ นักโทษทั้งห้าคนสามารถหลบหนีไปยังเกาะลังกาวีซึ่งเป็นดินแดนของมลายูที่อยู่ในปกครองของอังกฤษ และอยู่ห่างจากลังกาวีเพียงแค่ไม่ถึง 5 กิโลเมตร

เมื่อไปถึงปลายทางแล้วนักโทษทั้งห้าคนก็ได้รายงานตัวต่อทางการของประเทศนั้นในฐานะนักโทษทางการเมือง และได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบายตามสมควรแก่ฐานะ

จนกระทั่งการเมืองภายในประเทศของเราคลี่คลายไปและมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองเมื่อประมาณพุทธศักราช 2489 บุคคลทั้งห้าจึงได้เดินทางกลับประเทศไทย

ส่วนคนที่ไม่สบายคือคนที่อยู่ข้างหลังสิครับ

นักโทษที่เหลืออยู่ถูกจำกัดตัดสิทธิลงไปกว่าแต่ก่อน เช่น ลดอาหารลงเหลือเพียงแค่สองมื้อคือมื้อเช้ากับมื้อเย็น และต้องอยู่ในความดูแลของผู้คุมโดยเคร่งครัดมากขึ้น

ถัดมาอีกไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความเป็นอยู่ที่เกาะตะรุเตายิ่งทวีความยากลำบาก เกาะตะรุเตาแทบจะถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ ของมีค่าและหายากมากที่สุดคือยารักษาโรค (เหตุการณ์น่าจะเหมือนอย่างที่อ้นลูกของแม่พลอยเล่าไว้ในหนังสือเรื่องสี่แผ่นดิน)

นักโทษการเมืองถูกย้ายไปอยู่ที่เกาะเต่า แต่ยังเหลือนักโทษทั่วไปตกค้างอยู่ที่นี่

อยู่ไปอยู่มาผู้คุมก็หาลำไพ่พิเศษโดยการทำหน้าที่เป็นโจรสลัดปล้นเรือที่ผ่านไปมาอยู่แถวนั้นเสียเอง สนุกเหมือนนิยายนะครับ จนในที่สุดเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยและรัฐบาลอังกฤษต้องเร่งเข้าจัดการปราบโจรสลัดเหล่านี้ให้สิ้นซาก และมีการยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาไปในที่สุด

อีกหลายปีต่อมาคือพุทธศักราช 2516 จึงมีการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

วันที่ผมไปเดินทอดน่องอยู่บนเกาะตะรุเตา ในบ่ายวันหนึ่งของต้นเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2561 ตะรุเตาทุกวันนี้มีสภาพที่แตกต่างจาก “นิคมฝึกอาชีพ” ครั้งนั้นเหลือหลาย

ธรรมชาติของอุทยานแห่งนี้อุดมสมบูรณ์มากเหลือเกิน

ผมได้เห็นนกเงือกสองสามคู่บินไปมาระหว่างต้นไม้ต้นโน้นต้นนี้อย่างเสรีเริงรมย์ รอบตัวของเราไม่ว่าจะเป็นป่าเขาลำเนาไพรหรือทะเลแสนสวยที่อยู่ข้างหน้าไม่มีร่องรอยของชีวิตนักโทษเมื่อหลายสิบปีก่อนเหลืออยู่เลย

ที่นี่เขาว่ามีวัวป่าหมูป่าด้วยนะครับ

หมูป่านั้นเป็นหมูป่าจริงๆ แต่วัวป่านั้นขึ้นต้นด้วยการเป็นวัวบ้านคู่เดียวที่เจ้าของผู้เป็นชาวบ้านได้เลี้ยงไว้ใช้งานมาแต่เดิม

ต่อมาเมื่อมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ชาวบ้านต้องอพยพออกไป ทางเจ้าหน้าที่ได้ซื้อวัวคู่นี้ไว้และปล่อยไปตามธรรมชาติ ตอนนี้มีจำนวนเกือบ 200 ตัวแล้วครับ นับว่าขยันใช้ได้เลยทีเดียว

นอกจากนั้นผมได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่ดูว่าถ้าจะไปดูบริเวณอ่าวที่นักโทษการเมืองเคยตั้งถิ่นฐานอยู่จะไปได้หรือไม่

น้องๆ บอกว่าไปได้เหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลามากและไม่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวปกติ ต้องนั่งรถหกล้อไปไกล เขาบอกว่าอย่างนั้นเราก็ต้องเชื่อนะครับ

เป็นอันว่าผมเดินอยู่แถวๆ ที่ทำการอุทยานฯ เป็นหลัก เอาแต่พอได้กลิ่นอายของประวัติศาสตร์เพียงนี้ก็เห็นจะพอแก่การแล้ว

เรื่องของความเห็นแตกต่างกันทางการเมืองนี้ อันที่จริงก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์

พี่น้องท้องเดียวกันยังต่างจิตต่างใจกันได้ สำมะหาอะไรกับคนเป็นหมื่นเป็นแสนจะมาหวังให้คิดเหมือนกันทุกอย่างไปได้อย่างไร

การอยู่กับความเห็นที่แตกต่างกันแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทนและการเปิดใจกว้าง ถ้าคิดเสียว่าคนอื่นเขาก็รักบ้านเมืองไม่แพ้เรา ก็เห็นจะพออยู่ด้วยกันไหว

เพื่อนผมที่ไปเที่ยวด้วยกันไหมรอบนี้บอกว่าอยากมาติดเกาะตะรุเตาสักเดือนหนึ่งเหมือนกัน

เห็นฝรั่งมาติดเกาะกันหลายคนแล้ว ดูมีความสุขไปตามๆ กัน

ใครสนใจโปรแกรมนี้ก็นัดมานะครับ