จัตวา กลิ่นสุนทร : ความเคลื่อนไหว กลุ่ม “ศิลปินแห่งชาติ” ต่อการเมืองไทย

ประเทศชาติบ้านเมืองเดินทางมาถึงยังจุดต้องแจกเงินคนจน แต่รัฐบาลไม่เคยยอมรับว่าคณะของพวกเขาไร้ฝีมือ แถมขาดนโยบายอันเฉียบคมก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหา

บริหารงานอย่างนี้ หากมี “ฝ่ายค้าน” เฝ้าคอยตรวจสอบ รับรองได้ว่าจะต้องโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจและถูก “ไล่ออก” ไปแล้ว คงไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้มาเที่ยวเดินหน้าหาเสียงเพื่อจะกลับมามีอำนาจกันต่อไปอีกละ

ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชน บอกว่าจะ “ปฏิรูปการเมือง” ก่อนการ “เลือกตั้ง” เวลาผ่านไปเฉียดใกล้ 5 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น

การเมืองเรื่องเลือกตั้งยังวางแผนวนเวียนกวาดต้อนกลุ่มอดีต “ผู้แทนน้ำเน่า” มาเข้ากับพวกตัว เพื่อจะได้เป็นฐานในการสืบทอดอำนาจต่อไป

คิดอะไรแบบก้าวหน้าไม่ได้ สงสัยจะถอดแบบมาจากยุคสมัย “พรรคสามัคคีธรรม” เมื่อกว่า 26 ปี ซึ่งโยนเหยื่อล่อด้วยเงินจำนวนมากให้มารวมกันในพรรคแบบหลวมๆ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนให้ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” เป็นนายกรัฐมนตรี

ผู้แทนเก่ๆ ใช้รูปแบบเดิมๆ แถมยังมีนายทุนเจ้าประจำเดินงานทางการเมืองเพื่อต่อท่อให้กับ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งยึด “อำนาจ” รัฐบาลของประชาชน ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเครื่องต่อรองจนเกิดพรรคการเมือง รวมเอาอดีตผู้แทนหน้าช้ำๆ ซึ่งย่อมต้องเคยรับเงินเดือนจากพรรค “สามัคคีธรรม” มาบ้างเท่าที่เห็นชื่อเห็นหน้าคุ้นๆ

สุดท้ายรัฐบาลซึ่ง “นายกรัฐมนตรี” ไม่ได้มาจากการ “เลือกตั้ง” จึงล้มครืนลงกลางถนนพร้อมชีวิตประชาชนคนรักเสรีภาพ รัก “ประชาธิปไตย”

 

รัฐบาลปัจจุบันย้อนยุคมากกว่าด้วยซ้ำเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่เวลาผ่านเลยมาถึง 26 ปี ตั้งใจเอารัดเอาเปรียบนักประชาธิปไตย นักเลือกตั้ง อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู นอกจากหว่านโปรยงบประมาณลงไปในช่วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งไม่เกิน 2 เดือนอย่างมีเจตนาอื่นแอบแฝงมากกว่าการมุ่งช่วยเหลือคนจนยากไร้ ผู้สูงอายุของประเทศ

หลายกลุ่มถูกบีบกลายๆ ด้วยเรื่องคดีความติดตัวของบุพการี เพื่อให้เข้าร่วมสนับสนุนพรรคการเมืองซีก “เผด็จการ”

นึกภาพไม่ออกจริงๆ ว่า ถ้าหากฝั่ง “เผด็จการ” ได้มีโอกาสไปต่อ หมายความว่านายกรัฐมนตรี ผู้กราดเกรี้ยว ท่ามาก ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้นำต่อไป รัฐบาลจะบริหารประเทศชาติได้อย่างไร? ยังสงสัย

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาธิปไตยย่อมไม่ราบรื่นเกี่ยวกับจำนวนมือของผู้แทน ซึ่งย่อมหมิ่นเหม่ด้วยบางพรรคไม่สนับสนุน หรือว่าการเมืองของประเทศนี้จะเดินมาถึงทางตันอีกครั้งหนึ่ง ทางออกอาจหนีไม่พ้นความรุนแรงบนถนนเหมือนดังที่ผ่านๆ มาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย?

ฝากความหวังไว้กับประชาชนคนไทยผู้รักประชาธิปไตยให้ขบคิดไปพร้อมกับการเฉลิมฉลองการส่งท้ายปีเก่า 2561 เพื่อที่จะได้ตัดสินใจหย่อนบัตรหลังเสร็จสิ้นการต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2562

 

ปีพ.ศ.2561 นำเสนอเรื่องราวความเป็นไปและผลงานของ “ศิลปินแห่งชาติ” อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินสาขา “ทัศนศิลป์” ที่ค่อนข้างใกล้ชิดคุ้นเคยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

เนื่องจากส่วนใหญ่ได้ก้าวเดินออกมาจากสถาบันสอนศิลปะอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งถือกำเนิดในพื้นที่ของกรมศิลปากร และวังท่าพระ ละแวกถนนหน้าพระลาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “ศิลปินอาจารย์”

“กมล ทัศนาญชลี” ซึ่งได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (2540) กลับมิได้เคยศึกษาในสถาบันดังกล่าว แต่ว่าเขาเป็นศิลปินอย่างแท้จริงโดยสายเลือด มากกว่าจะยึดติดอยู่กับเรื่องของสถาบัน

เพราะฉะนั้น หลังจากสำเร็จการศึกษาในสถานศึกษาอันเก่าแก่ของประเทศอย่างโรงเรียน “เพาะช่าง” มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) จึงได้รับทุนเดินทางไปศึกษาต่อยัง “สถาบันโอทิส สหรัฐอเมริกา” (Otis College of Art and Design, Los Angeles, California, Usa)

ระยะแรกๆ เขาแสวงหาความเป็นตัวตนเพื่อเลือกทางก้าวเดินบนถนนศิลปะตามทิศทางที่เขารู้สึกและค้นพบ จนกระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัลในสหรัฐ ได้พยายามก่อตั้งศูนย์กลางเพื่อการพบปะแลกเปลี่ยนของ “ศิลปิน” ไทย และคนไทย ที่ได้เดินทางไปยัง ลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeles, Usa) โดยใช้บ้านพักบริเวณเชิงเบเวอรี่ฮิลล์ ซึ่งซื้อหามาอย่างชอบธรรมด้วยความมุมานะอุตสาหะ ทำงานหนัก ก่อตั้ง “สภาศิลปกรรมไทยในสหรัฐอเมริกา”

กว่า 30 ปี ศิลปินท่านนี้ได้ทุ่มเทเพื่อวงการ “ศิลปะร่วมสมัย” ของประเทศไทยให้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไป และยอมรับของศิลปินฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก่อนจะค่อยๆ ขยายแวดวงสู่หลายประเทศในยุโรป

เขาพยามเชื้อเชิญศิลปินผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยให้เดินทางไปเปิดแสดงผลงานเพื่อเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยของบ้านเรายังสหรัฐอเมริกา ศิลปินที่เขาเชื้อเชิญไปท่านใดไม่สะดวกคล่องตัวในการเดินทางเนื่องจากอยู่ในวัยสูงอายุ ก็จะนำเอาแต่ผลงานไปเผยแพร่

โดยไม่มีการเลือกค่าย เลือกสถาบันและพวกพ้องแต่อย่างใด

 

ศิลปินผู้มีชื่อเสียง โดยส่วนใหญ่เป็น “ศิลปินอาจารย์” (ท่านเหล่านั้นมีตำแหน่งทางวิชาการ แต่ขออนุญาตเรียกอาจารย์) เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของท่านศาสตราจารย์ “ศิลป์ พีระศรี” (Prof.Corrodo Feroci) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งส่วนมากเสียชีวิตแล้วเกือบทั้งหมด อาทิ ท่านอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข อาจารย์ทวี นันทขว้าง อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์พิชัย นิรันต์ อาจารย์ดำรง วงค์อุปราช และ ฯลฯ

ศิลปินอาจารย์จากทางค่ายโรงเรียนเพาะช่าง อาทิ อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ อาจารย์จิตร บัวบุศย์ รวมทั้งศิลปินอิสระอย่างประเทือง เอมเจริญ และ ฯลฯ ก่อนจะเกิดโครงการศิลปินแลกเปลี่ยนระหว่าง “ไทย-สหรัฐ” ขึ้นในระยะหลัง กระทั่งปัจจุบัน

ซึ่งนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนการแสดงผลงานแล้ว ยังมีการทำเวิร์กช็อป (Work Shop) อันเป็นที่ตื่นตาตื่นใจในแวดวงการศึกษาศิลปะและสังคมศิลปินร่วมสมัยบ้านเราเป็นอย่างมาก

 

สําหรับประเทศแถบเอเชียแม้จะใกล้ชิด แต่ไม่ค่อยจะได้เชื่อมโยงสานสัมพันธ์กันสักเท่าไร ทุกวันนี้ได้เปิดกว้างระหว่างกันขึ้น เมื่อกมล ทัศนาญชลี ได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ปี พ.ศ.2540 จึงได้พยายามรวมกลุ่ม “เพื่อนศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ และสาขาอื่นกลุ่มหนึ่งออกเดินทางเพื่อเผยแพร่พร้อมเยี่ยมเยือนศิลปินร่วมสมัยของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้องให้เครดิตกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีวิสัยทัศน์พร้อมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ

“ศิลปินแห่งชาติ” 2 ท่านเป็นระดับครูอาจารย์ ซึ่งนับว่าเป็นยอดฝีมือ อย่างเช่นอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ และ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ปราชญ์วาดรูป พยายามร่วมเดินทางไปพร้อมกับกมล ทัศนาญชลี และคณะศิลปินทั้งหลายอีกจำนวนไม่น้อยอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตของทั้ง 2 ท่านในเวลาไล่เลี่ยกัน

เพื่อเผยแพร่เชื่อมความสัมพันธ์ในเส้นทางศิลปะร่วมสมัย อย่างเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ คณะศิลปินแห่งชาติได้พากันไปเยือนเมื่อมีโอกาสเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและการสร้างงานศิลปะ

และที่นี่เอง (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งไม่ค่อยจะรับประทานอาหารอะไรมาก กลับพออกพอใจเจ้าของแกลเลอรี่ (Art Gallery) ซึ่งมีอาชีพเสริมทำซาลาเปาขาย มีรสชาติถูกปากถึงขนาดออกปากว่าจะเขียนรูปให้โดยให้นำเฟรมมา

วันรุ่งขึ้นท่านผู้นั้นแบกเฟรมมาอันใหญ่มาก และเขาได้ภาพม้ากลับไปตามสัญญา

“พม่า” (Myanma) เพื่อนบ้านข้างเคียงใกล้ชิดติดกันและมีสายสัมพันธ์กันยาวนานได้เวียนมาครบ 70 ปีเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ท่าน “พิมรวี วัฒนวรางกูร” อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม “กมล ทัศนาญชลี” และ “กลุ่มศิลปินแห่งชาติ” ร่วมมือกับท่าน “จักร บุญหลง” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง (Yangon) ขณะนั้น และภริยา ได้จัดนิทรรศการ “เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 แผ่นดิน ไทย-พม่า” (Colour of Friendship : Thailand-Myanma Art Exhibition)

โดยนำผลงานศิลปะร่วมสมัยของไทยไปเปิดนิทรรศการยังกรุงย่างกุ้ง (Yangon) ร่วมกับศิลปินพม่า

 

กมล ทัศนาญชลี เดินทางไป-กลับ ไทย-สหรัฐตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับภารกิจ หลังจากที่เขาสร้างประติมากรรมสมัยใหม่ “แว่นขยาย” ซึ่งจะติดตั้งถาวรยังจังหวัดกระบี่ ในงาน “มหกรรมศิลปะนานาชาติ” (Thailand Biennale Krabi, 2018) เสร็จเรียบร้อยได้บินไปยังสหรัฐ ก่อนจะรีบเดินทางกลับมาร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมดังกล่าวที่จังหวัดกระบี่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งขณะนี้ยังคงแสดงอยู่ทุกวันทั่วจังหวัดกระบี่ จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ส่งท้ายปีเก่า 2561-ต้อนรับปีใหม่ 2562 “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (2540) และ “ศิลปินสองซีกโลก” ยังร่วมกับ “กลุ่มศิลปินแห่งชาติ” ปฏิบัติภารกิจเพื่อวงการ “ศิลปะ” ของประเทศชาติอยู่หลายสถานที่ใน+ประเทศไทย

แต่เขาจะกลับไป “หย่อนบัตร” เลือก “ผู้แทน” บ้านเรายัง “สหรัฐอเมริกา”