สุจิตต์ วงษ์เทศ/ อโรคยศาล ไม่ใช่ ‘โรงพยาบาล’ แต่เป็นสถานบำบัดแบบบ้านๆ

"สุคตาลัย" (ภาพจำลองสภาพดั้งเดิมถ้าไม่ผุพัง) ศาสนสถานประจำ "อโรคยศาล" สร้างหลัง พ.ศ.1700 บริเวณสระมรกต นอกเมืองมโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ศาลบำบัดของอโรคยศาล เป็นเรือนไม้ไผ่เครื่องผูก ปลูกเป็นเรือนเรียงรายอยู่นอกกำแพงสุคตาลัยมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาพึ่งพาพักพิง และขนาดของชุมชนโดยรอบ [ภาพจำลองสุคตาลัย ทำโดย ปติสร เพ็ญสุต จบปริญญาตรี-โท จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะนี้กำลังทำปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

อโรคยศาล ไม่ใช่ ‘โรงพยาบาล’

แต่เป็นสถานบำบัดแบบบ้านๆ

แหล่งท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่อโรคยศาล บริเวณ “สุคตาลัย” ครอบรอยพระพุทธบาทสระมรกต เมืองมโหสถ (อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี) ทำให้งามขึ้นได้อย่างมีคุณค่าและมูลค่าด้วยการพัฒนาสถานที่โดยไม่กระทบกระเทือนซากโบราณสถาน ได้แก่

  1. มิวเซียมอโรคยศาล สร้างอาคารชั้นเดียวง่ายๆ คล้ายศาลาโถง ด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย อยู่บริเวณนอกเขตใกล้สุคตาลัย จัดแสดงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ อโรคยศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
  2. ศาลาไร้โรค เป็นศาลาโถงร่วมสมัย (เครือข่ายเดียวกับมิวเซียมอโรคยศาล) ใช้บริการชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเป็นสถานบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรและนวดแผนโบราณ (เครือข่ายโรงพยาบาลอภัยภูเบศร) มีแปลงสวนสมุนไพรปลูกรอบ

กัญชา และกระท่อม เป็นสมุนไพรที่ควรปลูกได้โดยรอบพื้นที่อโรคยศาล เมืองมโหสถ (เมื่อได้รับอนุญาตจากทางการ)

ซากสุคตาลัย (ครอบคลุมรอยพระบาทที่มีมาก่อน) มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลง น่าจะเป็นตาน้ำซับที่มีอยู่ก่อนสร้างศาสนสถานตั้งแต่เรือน พ.ศ.1000 ต่อมามีคันตาชั่งทำจากลำไม้ไผ่ใช้แขวนกระป๋องสังกะสีหรือพลาสติกตักน้ำบ่อศักดิ์สิทธิ์มาบูชาล้างหน้าประพรมทั่วตัวเหมือนน้ำมนต์ (ภาพแหล่งโบราณคดีที่สระมรกต เมืองมโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี จาก fb ของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล)

 

สถานบำบัดแบบบ้านๆ

 

อโรคยศาล ไม่แปลว่า โรงพยาบาล จึงไม่เป็นโรงพยาบาลตามความหมายปัจจุบัน (ซึ่งเป็นศัพท์ผูกใหม่ถอดจากภาษาอังกฤษว่า hospital) ที่ต้องมีหมอ, พยาบาล, คนไข้, เตียงคนไข้เรียงเป็นแถวเป็นแนว, เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ

นักวิชาการฝรั่งเศสรุ่นก่อนๆ ถ่ายถอดอโรคยศาลคือโรงพยาบาลอย่างห้วนๆ ต่อมาบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดีไทยและมัคคุเทศก์ก็รับคำแปลทั้งดุ้นไปเผยแพร่เป็นที่รู้กันกว้างขวาง แต่คลาดเคลื่อนด้วยกาลเทศะจากลักษณะสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อพูดคำว่าโรงพยาบาล คนทั่วไปคาดเดาทันทีว่าเหมือนโรงพยาบาลศิริราช หรือโรงพยาบาสมัยใหม่ทั้งหลาย ซึ่งไม่ตรงความหมายของอโรคยศาลราว 1,000 ปีที่แล้ว

อโรคยศาล (มาจากคำบาลี) แปลว่าศาลาไร้โรค หมายถึงสถานบำบัดรักษาด้วยสมุนไพร และโดยเฉพาะที่ปัจจุบันเรียกนวดแผนโบราณตามตำราฤๅษีดัดตน ให้ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุเลาลงหรือหายได้ โดยมีหมอพระ, หมอนวด, หมอตำแย, หมอ ฯลฯ และมีหินบดยา, หม้อดินเผาต้มยา, โถน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์, สมุนไพร, เครื่องเทศ ฯลฯ นอกจากนั้นพบหลักฐานจากศิลาจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และจากแหล่งอื่นๆ

พูดภาษาปากว่าอโรคยศาล เป็นสถานบำบัดแบบบ้านๆ

“ปวดท้องข้องใจไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยเมื่อยล้า” สร้างความทรมานให้ผู้คน เป็นโรคเมืองร้อนมีทั่วไป หรือมีเป็นส่วนมากในกลุ่มอุษาคเนย์ เช่น ไข้ป่า (มาลาเรีย), ท้องเสีย ฯลฯ รวมขี้ทูดกุดถัง โดยมีอโรคยศาลทำหน้าที่บำบัดโรคเหล่านี้

ศาลาบำบัดของอโรคยศาล ทำด้วยไม้ซึ่งผุพังไม่เหลือซากแล้ว อยู่นอกกำแพงสุคตาลัย (ศาสนสถานประจำอโรคยศาลที่พบเห็นตามเมืองต่างๆ) อย่างไม่มีกำหนดตายตัวว่ามีอาณาบริเวณเท่าไร

วิธีบำบัดด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศ โดยเฉพาะนวดแบบฤๅษีดัดตน เป็นพิธีกรรมตามคติพุทธศาสนามหายาน ยกย่องพระไภษัชยคุรุ [พระพุทธเจ้า ผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ (แพทย์)] ซึ่งมีรูปเคารพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในปราสาทประธานของสุคตาลัย

 

สมุนไพรและเครื่องเทศ

 

สมุนไพรและเครื่องเทศเป็นพืชป่ากลุ่มเดียวกัน ซึ่งมีเป็นธรรมชาติในโลกและในอุษาคเนย์ โดยไม่มีคนพวกหนึ่งพวกใดเป็นเจ้าของพวกเดียว ผู้รู้ทำคำอธิบายมีไว้แบ่งปันสู่สาธารณะแล้ว ดังนี้

สมุนไพร (herb) หมายถึง พืชทั้งต้นหรือส่วนของพืช ได้แก่ ใบ เมล็ด ดอก ผล ราก หรือลำต้น เช่น กระเทียม, กะเพรา, มะระ, แมงลัก, หอม, โหระพา, สะระแหน่ ฯลฯ จะสดหรือแห้งก็ได้ ใช้ปรุงอาหารเป็นยา (และปัจจุบันใช้ทำน้ำหอมด้วย)

เครื่องเทศ (spice) หมายถึง ชิ้นส่วนของพืชที่ทำให้แห้ง ได้แก่ เมล็ด ผล ราก เปลือก และใบ เช่น กระวาน, กานพลู, ขมิ้น, ขิง, งา, จันทน์เทศ, โป้ยกั๊ก, พริกไทย, มะกรูด, ยี่หร่า, อบเชย ฯลฯ รวมทั้งมหาหิงคุ์ (ภาษามลายู) เป็นพืชจากเอเชียกลาง เช่น อัฟกานิสถานและปากีสถาน

ยิ่งกว่านั้น พืชบางชนิดก็เป็นได้ทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น ผักชีที่ต้นและใบเป็นสมุนไพร แต่เมล็ดผักชีเป็นเครื่องเทศ เป็นต้น ดังนั้น ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องเทศกับสมุนไพรที่สำคัญจึงอยู่ที่กำเนิด

เครื่องเทศมีกำเนิดบริเวณเอเชียใต้และอุษาคเนย์ ซึ่งอยู่ในเขตร้อน ต้องการดิน สภาพแวดล้อม และภูมิอากาศที่เหมาะสม จึงจะเจริญเติบโตได้ดี ส่วนสมุนไพรเป็นพืชท้องถิ่น มีกำเนิดทั้งในเขตอบอุ่น และในเขตร้อน จึงพบทั่วไป