คุยกับทูตโปแลนด์ ‘วาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้’ มุมมองถึง “การเลือกตั้งไทย” / ประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม

คุยกับทูต วาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ โปแลนด์แดนมหัศจรรย์แห่งนกอินทรีขาว (จบ)

ประวัติศาสตร์ของประเทศโปแลนด์ เริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 375

โปแลนด์เป็นดินแดนที่รุ่งเรืองมาตลอด จนถึงปี ค.ศ.1241 กองทัพมองโกลเข้ารุกรานโปแลนด์ กษัตริย์ Kazimierz III ทรงรวบรวมชนเผ่าต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จนโปแลนด์เป็นชาติที่เข้มแข็งขึ้นและแผ่อิทธิพลไปทางตะวันออก

ทำให้เป็นรัฐที่ประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติและมีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออกตั้งแต่นั้นมา

โปแลนด์เจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลมากที่สุด เมื่อรวมกับลิทัวเนียในปี ค.ศ.1386 และร่วมกันลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดือนพฤษภาคม (Constitution of 3 May 1791) ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของยุโรป และเป็นฉบับที่ 2 ของโลก (ฉบับแรกคือรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา) เพื่อเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

แต่อีกหลายปีต่อมา ประเทศที่มีอำนาจในยุโรปเข้ามารุกรานและแย่งกันปกครอง ทำให้โปแลนด์แตกเป็นเสี่ยงและถูกปกครองโดยปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย

แม้ในปี ค.ศ.1830 และ 1863 ชาวโปลได้ลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย แต่ก็ถูกกองทัพรัสเซียปราบปรามในที่สุด

หลังสงครามโลกครั้งแรก โปแลนด์ได้ยืนหยัดเป็นประเทศอีกครั้งหนึ่ง และประกาศเอกราชในปี ค.ศ.1918 สถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ที่ 2 (Second Polish Republic)

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนียึดโปแลนด์ ประมาณว่ามีชาวโปลเสียชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งนี้ถึง 6 ล้านคน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โปแลนด์กลายเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต ที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ยาวนานถึง 50 ปี

และได้ชื่อใหม่ว่า สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ (Polish People”s Republic)

การลุกขึ้นสู้ของขบวนการโซลิดาริตี (Solidarity Movement)

เมื่อประชาชนโปแลนด์ไม่พอใจการปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จึงลุกฮือขึ้นก่อการประท้วงในปี ค.ศ.1981 นำโดยพรรคโซลิดาริตี้ (Solidarity) ซึ่งเป็นพรรคสหภาพแรงงาน

รัฐบาลจึงยอมเจรจาและตกลงให้มีการเลือกตั้งทั่วไป พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ (จากชื่อเดิมคือสาธารณรัฐโปแลนด์ที่ 3) และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เริ่มจากการเปิดกว้างทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อประเทศอื่นๆ

ในปี ค.ศ.1997 พรรคโซลิดาริตี้สามารถตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคได้ ทำให้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ค่อยๆ เสื่อมถอยลง

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้โปแลนด์ต้องปฏิบัติตามหลักสากลเรื่อง การปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการรับรองข้อตกลงและมาตรการสากลในเรื่องต่างๆ

และเมื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยในโปแลนด์มั่นคง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รวมทั้งการบรรลุแนวทางเศรษฐกิจตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

โปแลนด์ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกองค์การนาโต้ เมื่อปี ค.ศ.1999

และเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียูในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2004

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย นายวาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ (His Excellency Mr. Waldemar Dubaniowski) เล่าว่า

“ขบวนการโซลิดาริตี้นี้ได้รับอิทธิพลมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (Pope John Paul หรือ Karol Wojtyla) ซึ่งเป็นชาวโปลโดยกำเนิด จะเห็นรูปปั้นของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญในประเทศไทย”

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เป็นประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เป็นชาวโปแลนด์โดยไม่ใช่ชาวอิตาเลียนในรอบ 455 ปี ที่ได้รับเลือกขณะที่มีอายุน้อยที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อีกด้วย

และเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่เสด็จเยือนประเทศไทย

สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ.2005

บุคคลสำคัญของโปแลนด์ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก

“นอกจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 แล้ว โปแลนด์ยังเป็นบ้านเกิดของนักดนตรียอดอัจฉริยะอย่าง เฟรเดอริก โชแปง (Frederic Chopin) และมารี สกวอดอฟสกา-กูว์รี (Maria Sklodowska-Curie) ซึ่งน่าสนใจมากเพราะเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้ง ต่อมาแต่งงานกับชาวฝรั่งเศส มีชื่อเป็นฝรั่งเศส หลายคนจึงคิดว่าเธอเป็นชาวฝรั่งเศส”

ทั่วโลกรู้จักมาดามมารี กูว์รี นักเคมีชาวโปแลนด์ผู้ค้นพบรังสีเรเดียม ใช้ยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีอัตราการตายของคนไข้เป็นอันดับหนึ่งมาทุกยุคสมัย

ด้วยผลงานที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติเหล่านี้ ทำให้มารี กูว์รี ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง

และเป็นศาสตราจารย์ผู้หญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์

โดยหนึ่งในลูกสาวของเธอคือ อีแรน ฌอลีโย-กูว์รี ก็ได้ค้นคว้างานวิจัยของมารี กูว์รี ต่อไปหลังเธอเสียชีวิต จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา

โปแลนด์มีผู้กำกับการแสดงที่ได้รับรางวัลออสการ์ คือ โรมัน โปลันสกี้ (Roman Polanski)

มีนักประพันธ์เรืองนามของโลกคือ โจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad)

และมีนักการเมืองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คือ นายเลค วาเลซ่า (Lech Walesa) เป็นต้น

“ผมคิดว่าการทูตในยุคนี้ค่อนข้างแตกต่างจากอดีต วันนี้เอกอัครราชทูตต้องเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีเป็นอย่างดี โดยศึกษากฎระเบียบข้อบังคับทั้งหมดที่จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมธุรกิจและการค้า เพื่อก้าวไปข้างหน้า”

“โปแลนด์มีชื่อเสียงด้านไอที และมีหลายบริษัทจากโปแลนด์เข้ามาให้บริการด้านไอทีในประเทศไทยซึ่งช่วยให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนกลยุทธ์ในโลกอนาคตได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการเปิดโรงงานผลิตไส้กรอกและถุงมือการแพทย์ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย”

ความสัมพันธ์ทางด้านสังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

“ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวโปแลนด์ นับเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวโปแลนด์เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 100,000 คนเมื่อปีที่แล้ว เพราะประทับใจในชายหาดและหมู่เกาะที่งดงาม การต้อนรับอย่างอบอุ่นของคนไทย อาหารสดจากทะเล และอาหารอร่อยตามท้องถนน (Street Food) ระยะหลังธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพร ทัศนียภาพที่สวยงามสบายตา และความเงียบสงบ ตลอดจน มวยไทย กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน”

“โปแลนด์เกือบจะเหมือนกับประเทศไทยราวกับเป็นพี่น้องกันในบางเรื่อง คนโปแลนด์หรือชาวโปลมีอัธยาศัยที่เป็นมิตรไมตรีเหมือนชาวไทย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโปแลนด์ ชาวโปลก็มักจะชื่นชอบผู้มาเยือน พวกเขาชอบพูดคุยและชอบรับประทานอาหารด้วยกัน”

“เมื่อผมเป็นเอกอัครราชทูตประจำสิงคโปร์ ผมมีโอกาสให้มีการเริ่มต้นเจรจาเกี่ยวกับเส้นทางบินของสายการบินล็อต LOT ระหว่างสิงคโปร์และโปแลนด์ ในที่สุด เมื่อปีที่แล้วก็เป็นจริง และปัจจุบัน LOT ก็มีเที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปยังรัสเซียด้วย หากมีโอกาส ผมก็จะพยายามให้มีการเริ่มต้นเจรจากันเพื่อให้มีเที่ยวบินของ LOT ระหว่างไทยกับโปแลนด์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเรามีข้อตกลงทางการบินอยู่แล้ว”

ล็อต (LOT) เป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศโปแลนด์ มีฐานบินหลักอยู่ที่กรุงวอร์ซอ เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 และเป็นหนึ่งในสายการบินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

“เมื่อเดือนที่แล้ว มีเทศกาลนวัตกรรมในประเทศไทย และมี starts up สองเรื่องที่มาจากโปแลนด์ในเทศกาลนวัตกรรมนี้ด้วย และได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะเป็นการเริ่มต้นในธุรกิจที่แปลกใหม่ทั้งสองเรื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์พิเศษสำหรับสตรี และการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)”

การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หมายถึงการจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค

ช่วยทำให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ทาง Real-time

การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย

“ผมเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีมาก เพราะคนไทยมากมายรอคอยการเลือกตั้งในปีหน้า (2562) ซึ่งจนถึงขณะนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างได้พูดถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่ใกล้จะถึงนี้ อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบันก็มั่นคงไร้ปัญหา ผมจึงคิดว่า เป็นสัญญาณที่ดีในการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อจะได้มีรัฐบาลที่ผ่านกลไกตามระบอบประชาธิปไตย”

ท่านทูตดูบันยอฟสกี้ แสดงความคิดเห็น

“ดังนั้น เรื่องสำคัญคือ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดซึ่งจะส่งผลดีในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และผมยังคิดว่า การก้าวขึ้นเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปีหน้านี้ จะยิ่งส่งผลดีต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก”