วงค์ ตาวัน : เมื่อแนวร่วมต้านทักษิณแตก

วงค์ ตาวัน

มีกระแสข่าวที่พูดกันมากในช่วงระยะหลังระบุว่า ชนชั้นสูง ผู้ดีเมืองหลวง กลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ เริ่มไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหลังการเลือกตั้ง

โดยมีหลายเหตุผล ที่เหล่าชนชั้นสูงเริ่มปฏิเสธผู้นำ คสช. ทั้งผลงานการบริหารบ้านเมืองที่ผ่านมา ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เติบโตเฉพาะเจ้าสัวกลุ่มเดียว การควบคุมปัญหาอื้อฉาวในรัฐบาล ท่วงทำนองที่แสดงออกต่อสาธารณะ

กระแสชนชั้นนำไม่เอาประยุทธ์แล้ว เป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอันเป็นรูปธรรม

“จนกระทั่งบทความพิเศษของหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มีการตีพิมพ์เผยแพร่”

ยกเหตุผล 8 ข้อ เพื่อคัดค้านการกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ คือสัญญาณชัด

“จึงเสมือนเป็นการรองรับกระแสข่าวดังกล่าว ว่าเป็นเรื่องจริง!”

ไม่เพียงหม่อมอุ๋ยเท่านั้นที่เป็นชนชั้นสูงซึ่งเคยมีบทบาทในทางการเมือง แล้วออกโรงเปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์อย่างถึงพริกถึงขิง ร่ายยาวด้วยปมประเด็นถึง 8 ประการ

แต่ยังมีบุคคลระดับสูงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เคยมีบทบาททางการเมือง และมีอิทธิพลทางความคิดในหมู่ชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง รวมถึงกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่มักกล่าวในวงสนทนาหลายแวดวงไปในทิศทางเดียวกันกับหม่อมอุ๋ย

“คือ ไม่ยอมรับใน พล.อ.ประยุทธ์”

เท่ากับว่า บัดนี้มีคณะบุคคลในหมู่ชนชั้นนำ ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์แกนนำ คสช.อย่างหนักหน่วง และแนวความคิดนี้เริ่มแผ่กว้างไปในหมู่ชนชั้นกลางที่แห่กันไปร่วมเป่านกหวีดแล้วได้ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ

ทำให้เริ่มตระหนักถึงความผิดพลาดในการเข้าร่วมการต่อสู้ในหนนั้น

เพราะต่อสู้จนได้รัฐบาลทหาร และการแก้ไขปัญหาติดตัวของแกนนำม็อบบางรายเท่านั้นเอง ขณะที่ความเชื่อว่าจะมีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กลับเป็นเรื่องเลื่อนลอย

“กระแสที่เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงและชั้นกลางดังกล่าว น่าเชื่อว่าจะแปรมาเป็นการตัดสินใจในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในต้นปีหน้านี้”

จะเลือกพรรคไหนอย่างไร

ที่แน่ๆ คือ สิ่งที่หม่อมอุ๋ยนำเสนอ ซึ่งก็คือแนวคิดที่เห็นพ้องกันในหมู่ชนชั้นนำดังกล่าว นั่นคือปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์

กลุ่มชนชั้นกลางที่ได้รับอิทธิพลข้อเสนอนี้ คงจะตัดสินใจไปเลือกตั้ง ตามทิศทางเดียวกับที่หม่อมอุ๋ยผลักดันออกมานั่นเอง!

ในการเลือกตั้งต้นปี 2562 นี้ หากพิจารณาจากโพลต่างๆ รวมทั้งจากการสัมผัสคะแนนนิยมในหมู่ชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ จะพบว่า พรรคการเมืองที่มาแรง ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนลดหลั่นกันลงไปนั้น พรรคเพื่อไทยแชมป์เก่าก็ยังมาแรงที่สุด รวมทั้งเครือข่าย เช่น พรรคไทยรักษาชาติ อันดับถัดมายังเป็นประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ อยู่ในพรรคที่จะสำเร็จไม่น้อยเลย รวมไปถึงพรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา

ขณะเดียวกันการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในหมู่ประชาชนนั้น แยกออกตามจุดยืนความคิดทางการเมือง

“นั่นคือ พรรคฝ่ายประชาธิปไตย กับพรรคฝ่ายสนับสนุน คสช.”

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน การแก้ปัญหายาเสพติด ก็จะเป็นอีกปัจจัยในการตัดสินใจของประชาชน

แต่ถ้าพูดเฉพาะประเด็นทางการเมืองคือ ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่าย คสช.

วันนี้ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมแล้ว จากท่าทีของกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งจะส่งผลต่อชนชั้นกลางในเมืองหลวง และกลุ่มธุรกิจต่างๆ นั่นคือ เลือกฝ่ายที่ไม่เอา คสช.

“นี่กำลังจะเป็นปัญหาใหม่สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่เตรียมดัน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ รวมไปถึงเครือข่าย เช่น พรรคเทพเทือก”

ขณะเดียวกันฝ่ายพรรคการเมืองสายประชาธิปไตยไม่เอา คสช.ที่ชัดเจน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาตินั้น มีฐานเสียงที่แน่นอนของตนเอง

ขณะที่ประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ไปจนถึงพรรคชาติไทยพัฒนา น่าเชื่อว่าจะวางตัวอยู่กึ่งกลาง พร้อมจะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ขึ้นกับสถานการณ์หลังผลคะแนนเลือกตั้งปรากฏออกมา หรือพิจารณาจากกระแสประชาชน กระแสสังคมหลังผลเลือกตั้ง

น่าสนใจว่า กระแสใหม่ที่มาแรง จุดชนวนโดยชนชั้นสูง และมีหม่อมอุ๋ยเปิดตัวออกหน้ามาแล้ว อันจะส่งผลต่อแนวคิดของชนชั้นกลางเมืองหลวงที่เคยเข้าร่วมต่อต้านระบอบทักษิณ ร่วมเป่านกหวีดชัตดาวน์

แต่วันนี้จะเริ่มหันมาในทิศทางที่ไม่สนับสนุน คสช.

“คะแนนส่วนนี้จะไปเสริมให้กับพรรคไหน!?!”

อาจจะแตกกระจายไปยังพรรคต่างๆ ที่ตนเองชื่นชอบ ขอเพียงแค่เป็นพรรคที่ไม่ไปร่วมสนับสนุน คสช.

“แต่ในจำนวนนี้กลายเป็นว่า พรรคการเมืองแนวคนรุ่นใหม่ ไม่มีผู้สมัครที่เป็นอดีต ส.ส.รุ่นเก่าเลย น่าจะกลายเป็นพรรคการเมืองที่คนส่วนนี้ให้ความสนใจมากที่สุด”

เพราะเมื่อชนชั้นนำที่มีอิทธิพลต่อตนเองแสดงความเบื่อหน่าย คสช.ออกมาชัดแจ้งแล้ว เหล่าชนชั้นกลางจะไปเลือกพรรคสายทักษิณที่ตนเองเคยร่วมต่อต้านตั้งแต่ม็อบพันธมิตรต่อเนื่องมาถึงม็อบนกหวีด ก็คงตะขิดตะขวงใจอยู่

แม้วันนี้ต้องปรับเปลี่ยนทิศทาง แต่จะหันไปเลือกพรรคสายทักษิณก็กระไรอยู่

หวยจึงน่าจะมาออกที่พรรคใหม่ มีจุดยืนการเมืองอุดมการณ์ชัดเจน สร้างการเมืองแบบยั่งยืนระยะยาว ต้องการยกระดับการเมืองไทยให้ไปสู่คุณภาพอย่างแท้จริง

พรรคอนาคตใหม่จึงกลายเป็นพรรคที่มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นไปอีก ในท่ามกลางการปรับเปลี่ยนทิศของเหล่าชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง!

การเมืองไทยที่ตกอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง อาจจะนับได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อมีม็อบพันธมิตรฯ ในปี 2548 อันเนื่องจากการแตกคอขัดแย้งระหว่างทักษิณกับคู่หูคนสนิท อันเนื่องจากปัญหาการเปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 นิวส์วัน

เกิดเป็นม็อบเสื้อเหลือง เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ

“ลงเอยเรียกร้องให้กองทัพจัดการกับรัฐบาลทุนสามานย์ ทำให้มีรัฐประหาร 2549”

หลังปี 2550 จึงเกิดเสื้อแดงขึ้นมา เป็นมวลชนที่สนับสนุนทักษิณและต่อต้านฝ่ายเสื้อเหลือง เริ่มเกิดสงครามสี

จากนั้นมีการเลือกตั้งก็ยังเป็นชัยชนะของฝ่ายทักษิณโดยตลอด

จนต้องมีม็อบนกหวีดในปี 2556 และลงเอยเกิดรัฐประหาร 2557 เพื่อล้มยิ่งลักษณ์ น้องสาวของทักษิณ

“กระบวนการล้มทักษิณนับตั้งแต่ปี 2548 และ 2549 นั้น มีกลุ่มขุนศึกขุนนางให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และมีชนชั้นสูงและกล่มธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางในเมืองหลวงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเดียวกัน เป้าหมายร่วมกันคือจัดการกับเครือข่ายทักษิณ”

เป็นการผสมผสานกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มขุนนางขุนศึกหรือฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองไทย ร่วมกับชนชั้นสูง กลุ่มผู้ดี กลุ่มธุรกิจ ที่เกลียดชังระบอบทักษิณ

“เป็นแนวร่วมเดียวกัน ทั้งยังร่วมมือกันภายใต้ม็อบนกหวีด นำมาสู่รัฐประหาร 2557 จนได้ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ”

แต่เมื่อผ่านไป 4 ปี กำลังจะมีการเลือกตั้ง ความขัดแย้งระหว่างแนวร่วมต่อต้านทักษิณเริ่มปรากฏ เพราะฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้กับ พล.อ.ประยุทธ์

ท่าทีของกลุ่มชนชั้นนำ ผู้ดีเมืองหลวง ที่ไม่ยอมรับผู้นำ คสช. ส่งอิทธิพลความคิดแผ่ไปยังชนชั้นกลาง แล้วปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านเหตุผล 8 ข้อของหม่อมอุ๋ยนั้น

“ย่อมมีผลต่อสถานการณ์การเลือกตั้ง 2562 อย่างแน่นอน”

พรรคฝ่าย คสช. ที่ต้องสู้รบอย่างหนักเพื่อโค่นเพื่อไทยแชมป์เก่าและพรรคเครือข่ายให้ได้ นับว่าไม่ใช่งานง่ายอยู่แล้ว

วันนี้ต้องเจอกับแนวรบใหม่เพิ่มมาอีก ก็คือการแตกคอของแนวร่วมต่อต้านทักษิณ เกิดฝ่ายที่หันมาปฏิเสธตัวผู้นำ คสช.

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เลือกตั้งในวันนี้ มีแต่เรื่องน่าหนักใจสำหรับการไปต่อของผู้นำ คสช.มากขึ้นไปเรื่อยๆ!