จิตต์สุภา ฉิน : 2018 กับเรื่องแปลกๆ ของเทคโนโลยี

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ปี2018 อาจจะเป็นปีที่ดีมากๆ ของหลายคน และแย่สุดๆ ของอีกหลายคน

แต่สำหรับในแวดวงเทคโนโลยี ปีนี้ถือเป็นปีที่อลหม่านวุ่นวายมากที่สุดปีหนึ่งเลยทีเดียว และเป็นปีที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยดราม่าจนทำให้ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีหรือผู้นำประเทศหลายต่อหลายรายต้องสิ้นชื่อเสียคนกันไปเป็นแถบๆ

ในฐานะของผู้เสพข่าวอยู่ห่างๆ อย่างพวกเรา

ลองไปย้อนดูกันดีไหมคะว่าปี 2018 มีเรื่องอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในวงการนี้บ้าง

 

ข่าวที่ทำให้คนทั่วโลกงงกันเป็นไก่ตาแตกก็คือการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแต่งตั้งโยชิทากะ ซากุระดะ วัย 68 ปี ให้เป็นหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ของรัฐบาล

ฟังดูอาจจะไม่ได้มีอะไรน่ากังวลขนาดนั้น คนอายุเกือบ 70 ไม่ได้แปลว่าจะไม่เข้าใจเทคโนโลยีเสียหน่อย

แต่เรื่องมันมาเกิดตอนที่มีคนถามคำถามพื้นฐานง่ายๆ เกี่ยวกับการใช้ยูเอสบีไดรฟ์ในโรงงานนิวเคลียร์ได้ แล้วเขาตอบว่า “ผมไม่รู้รายละเอียดอะไรหรอก ไปถามผู้เชี่ยวชาญแทนก็แล้วกัน”

และพูดเสริมว่า เขาทำธุรกิจส่วนตัวมาตั้งแต่อายุ 25 ที่ผ่านมาก็สั่งให้ลูกจ้างหรือเลขาฯ เป็นคนใช้คอมพิวเตอร์แทนทั้งนั้น ตัวเขาเองไม่เคยสัมผัสแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์เลยด้วยซ้ำ

เปิดการ์ดมาแบบนี้ก็ไม่มีใครไปต่อเป็นเลยสักราย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

แล้วปล่อยให้คุณพี่คนนี้หลุดมาถึงตำแหน่งใหญ่โตที่ต้องใช้ความรู้ขั้นสูงแบบนี้ได้อย่างไร

 

อีกคนที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ก็คือเซเลบวงการเทคโนโลยีอย่างอีลอน มัสก์ ที่เริ่มต้นปีมาได้สวยหรู

ได้ภาพของการเป็นฮีโร่สำหรับคนทั้งโลกด้วยการบินมาร่วมปฏิบัติการช่วยเด็กไทยติดถ้ำด้วยตัวเอง

แต่หลังจากภารกิจเสร็จสิ้นก็ไม่รู้อีลอนไปกินอะไรผิดเพราะเริ่มเปิดศึกกับคนเขาไปทั่ว

ทั้งตำหนิทางการของไทยว่าทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ

ทั้งไปด่านักดำน้ำชาวอังกฤษผู้ช่วยชีวิตทีมน้องๆ นักฟุตบอลว่าเป็นพวกใคร่เด็ก

ซึ่งนับเป็นการกล่าวหาที่ซีเรียสมาก ไม่สามารถกล่าวหาลอยๆ ได้ จนในที่สุดก็ต้องออกมาขอโทษไปตามระเบียบ

แต่ไม่ว่าเขาจะทำเรื่องที่หลุดโลกแค่ไหน จะสูบกัญชาในระหว่างถ่ายทอดสดรายการพอดแคสต์แบบไม่แคร์ใคร หรือจะให้ความเห็นสุดโต่งไปแล้วกี่เรื่อง อีลอน มัสก์ ก็ยังมีแฟนๆ ที่จงรักภักดีและมองเห็นเขาเป็นฮีโร่ตลอดกาลอยู่เสมอและพร้อมจะปกป้องเมื่อไหร่ก็ตามที่ใครพูดถึงเขาในแง่ที่ไม่ดี

เพราะอีลอนเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความกล้าบ้าบิ่น กล้าที่จะแหกกฎ

และเป็นคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่โลกใบนี้ต้องการ

 

มาเรื่องต่อไปที่เป็นข่าวส่งท้ายปี คือข่าวการทำเรื่องร้องขอข้อมูลที่กลับกลายพลิกผันไปเป็นข้อมูลรั่วไหลเสียอย่างนั้น กรณีล่าสุดคือการที่อเมซอนส่งไฟล์ผิด ส่งไฟล์ข้อมูลส่วนตัวไปให้คนสองคนสลับกันโดยไม่ได้ตั้งใจ

ชายชาวเยอรมันชื่อมาร์ติน ทำเรื่องส่งคำขอให้อเมซอนรวบรวมข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดที่เคยเก็บไว้เกี่ยวกับตัวเขาไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เก็บได้จากอินเตอร์เน็ตหรือข้อมูลที่เก็บมาจากลำโพงส่วนตัวเอ๊กโค่ที่คอยฟังและบันทึกเสียงของผู้ใช้อยู่เสมอๆ แล้วส่งมาให้เขา

ซึ่งกฎระเบียบของสหภาพยุโรปเอื้ออำนวยให้ประชาชนมีสิทธิขอข้อมูลเหล่านี้ได้

แต่แทนที่จะได้ของตัวเองกลับมา อเมซอนกลับส่งคลิปเสียงที่เป็นข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นมาให้มากถึง 1,700 คลิป

ซึ่งแม้จะไม่ได้แนบชื่อมาด้วย แต่เมื่อเอาข้อมูลทั้งหมดมาปะติดปะต่อร้อยเรียงกันก็สามารถระบุชื่อเสียงเรียงนามของเจ้าของข้อมูลได้อย่างแม่นยำ

และคนคนนั้นก็ได้ข้อมูลของมาร์ตินไปด้วย

เรื่องเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับบริษัทอื่น อย่างเช่นกรณีที่ผู้สื่อข่าว Engadget ทำเรื่องขอข้อมูลตัวเองจากเว็บไซต์หาคู่เดตออนไลน์ สิ่งที่ได้กลับมาคือข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นที่เขาใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถเรียนรู้ตัวตน ความชอบ คนที่เคยเดต ที่อยู่ น้ำหนัก ส่วนสูง ศาสนา สิ่งที่ชอบ ฯลฯ

เหมือนได้เอาแว่นขยายไปส่องชีวิตคนแปลกหน้าอย่างใกล้ชิด

เรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้บทเรียนสั้นๆ ว่า ข้อมูลของเราไม่เคยปลอดภัย ไม่ว่าเราจะระวังแค่ไหนก็ตาม

เพราะท้ายที่สุดคนที่ประมาทเลินเล่ออาจจะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เรา ไม่มีทางใดที่เราจะป้องกันได้ เว้นเสียแต่ว่าจะไม่ใช้บริการอะไรบนอินเตอร์เน็ตอีกเลย

(ซึ่งก็ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี เพราะข้อมูลออฟไลน์ของเราอาจถูกหน่วยงานหรือองค์กรอื่นป้อนเข้าไปบนอินเตอร์เน็ตเองก็ได้)

 

ไปต่ออีกข้อค่ะ คราวนี้เป็นเทรนด์บนอินสตาแกรม เกิดปรากฏการณ์คนจำนวนมากพร้อมใจกันทยอยทิ้งคอมเมนต์ใต้ภาพเพื่อไว้อาลัยเจ้าของโปรไฟล์ด้วยคำยอดฮิตว่า RIP ทั้งที่เจ้าของโปรไลฟ์นั้น 1.ไม่ได้มีชื่อเสียง 2.ไม่ได้มีคนติดตามมากมาย และ 3.ไม่ได้ตายจริงๆ

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ ชายวัย 15 ปี คนหนึ่ง อาเหม็ด ซิมริน จู่ๆ ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าทำอย่างไรให้คนมาติดตามโปรไฟล์อินสตาแกรมของเขาเยอะๆ

เขาเริ่มด้วยการคอมเมนต์ตามภาพอินสตาแกรมต่างๆ ที่มียอดคนตามเยอะๆ แล้วเขียนว่า “สวัสดีครับทุกคน ช่วยเข้าไปคอมเมนต์ว่า RIP ใต้ภาพล่าสุดของผมหน่อยได้ไหมครับ ผมอยากให้แฟนคิดว่าผมตายไปแล้ว ผมและครอบครัวต้องย้ายที่อยู่เพราะว่าแฟนไม่ยอมเลิกกับผม และความสัมพันธ์ของเราก็เป็นพิษมากๆ”

คนบนอินสตาแกรมก็ใจดีเหลือเกิน ทยอยกันเข้าไปช่วยคอมเมนต์ RIP ให้อย่างล้นหลาม แล้วไหนๆ ก็เข้าไปคอมเมนต์แล้ว ก็กดติดตามไปด้วย ทำให้ซิมริมสามารถเพิ่มยอดคนติดตามบนอินสตาแกรมได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

หลังจากนั้นก็กลายเป็นเทรนด์ที่ถูกหยิบไปทำตาม หากไล่ดูโพสต์ของคนดังระดับโลก อย่างเช่น คิม คาแดชเชียน ก็อาจจะเห็นคอมเมนต์ขอให้คนอื่นมาพิมพ์ RIP แปะรวมอยู่ด้วย

ซึ่งเหตุผลที่ให้ก็อาจจะก๊อบปี้มาจากซิมริมเป๊ะๆ หรืออาจจะเอาไปบิดดัดแปลงใหม่ แล้วแต่ใครจะปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการไปในทางไหน

 

ทั้งหมดนี้เป็นแค่บางเรื่องเท่านั้นค่ะ

ยังมีเรื่องงงๆ ฮาๆ อีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยีตลอดปีที่ผ่านมา

ทั้งการที่เศรษฐีซิลิคอน วัลเลย์ เลือกนิวซีแลนด์ให้เป็นที่หลบภัยหลังวันสิ้นโลก หรือข่าวเรื่องซัมซุงจับมือกับแบรนด์สุพรีม “ปลอม” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน คิดเสียว่ามันเป็นเหมือนสีสันแต่งแต้มให้เราพักสมองจากเหตุการณ์ดราม่าหนักๆ อย่างเรื่องเฟซบุ๊กกับเคมบริดจ์ แอนาลิติกา หรือกูเกิลถูกสภาสอบสวนเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ที่เป็นข่าวหนักมาตลอดปีที่ผ่านมา

หวังว่า 2019 จะเป็นปีที่อ่อนโยนกับวงการเทคโนโลยีมากกว่านี้ ให้ผู้ใช้อย่างเราไม่ต้องคอยร้อนๆ หนาวๆ ว่าข้อมูลส่วนตัวเราจะหลุดเพิ่มไปอีกแค่ไหนค่ะ