ศิลปะในฟาร์ม โครงการศิลปะกลางแจ้ง สร้างปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และอาหารการกิน ของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อย่างที่บอกว่า ปี 2018 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ เป็นปีทองสำหรับคอศิลปะจริงๆ

อะไรจริง

ปลายปีนี้เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมามากมายหลายนิทรรศการและเทศกาลดังที่นำเสนอไปในหลายตอนที่ผ่านมา

ในตอนนี้เราเลยจะขอนำเสนอนิทรรศการศิลปะที่เราได้ไปดูมาเป็นการส่งท้ายปีเลยก็แล้วกัน

แถมนิทรรศการที่ว่านั้นก็ไม่ได้จัดกันในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ตามปกติทั่วไป

หากแต่จัดกันในทุ่งนาป่าเขา

หรือที่เรียกทับศัพท์เก๋ๆ ว่า “ฟาร์ม” นั่นแหละ

Breast Stupa Topiary Jim Thompson Farm
ภาพจาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

โดยนิทรรศการศิลปะที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน กับจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ร่วมมือกันจัดขึ้นในชื่อ “อาร์ต ออน ฟาร์ม” (Art on Farm) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552

โดยเชื้อเชิญกลุ่มศิลปินต่างๆ มาสร้างสรรค์และจัดแสดงผลงานตามพื้นที่จุดต่างๆ ของจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

ในช่วงที่มีการจัดงาน “จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ทัวร์” ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมฟาร์ม ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี

ศิลปินที่ถูกเชิญมาได้รับการส่งเสริมให้ใช้แนวคิดเชิงนิเวศเกษตร และใช้วัฒนธรรมอีสานเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

โครงการศิลปะที่เกิดขึ้นชั่วคราวนี้เปิดโอกาสให้ศิลปินสร้างผลงานที่นำเสนออิทธิพลของวัฒนธรรมอีสาน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม, เกษตรกรรม, สถาปัตยกรรม หรือวิชาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อย่างการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทำนาปลูกข้าว และการทำเกษตรกรรมต่างๆ

โครงการนี้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็น “โครงการศิลปิน ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม” (The Artist Project at Jim Thompson Farm) ที่มีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอเรื่องราวของธรรมชาติ ศิลปะและวัฒนธรรม ให้แก่ผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

Breast Stupa Topiary Jim Thompson Farm
ภาพจาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

โดยเชื้อเชิญศิลปินมาสร้างผลงานศิลปะขึ้นเฉพาะในพื้นที่ของฟาร์ม

เริ่มต้นจากนิทรรศการ “หลงฟาร์ม” (Lost on the Farm) ของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา

และในปลายปี พ.ศ.2561 นี้ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากลอีกคนอย่าง พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ก็ถูกเชิญให้มาแสดงนิทรรศการศิลปะในโครงการนี้

Breast Stupa Topiary Jim Thompson Farm
ภาพจาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

โดยเธอทำผลงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์และหมู่บ้านอีสานอันเปี่ยมเอกลักษณ์ในฟาร์ม

พินรีเป็นที่รู้จักจากผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากสรีระของผู้หญิงอย่าง “เต้านม” ซึ่งเป็นรูปทรงอันเรียบง่ายที่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องในผลงานของเธอ ดูๆ ไปรูปทรงนี้ก็มีความคล้ายคลึงกับสถูปเจดีย์ในสถาปัตยกรรมของพุทธศาสนา หรือบางครั้งก็คล้ายกับภาชนะถ้วยชามสำหรับถวายของบูชา หรือเป็นภาชนะของประสบการณ์และการรับรู้ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แทนอารมณ์ความรู้สึกของเพศหญิง

พินรีสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันประณีตละเอียดลออผ่านสื่อต่างๆ ทั้งงานปะติด (collage), วาดเส้น, ภาพวาด, ภาพพิมพ์, ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง ด้วยวัสดุอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผืนผ้าใบ, สิ่งทอ, กระดาษ, แก้ว, เซรามิก, โลหะ ไปจนถึงอาหาร เป็นต้น

เธอสร้างรูปทรงและสัญลักษณ์ต่างๆ จากสรีระของผู้หญิงที่ผันแปรบอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าสามสิบปี

หลังจากปี พ.ศ.2543 เธอสนใจเรื่องการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ในงาน และสร้างผลงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสทางกาย กลิ่น รสอาหาร เสียง หรือการเคลื่อนไหว

ในนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์มในครั้งนี้ พินรีนำเสนอโครงการศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับชื่องานและแนวคิดของฟาร์มทัวร์ในปีนี้อย่าง “แซ่บนัว หัวม่วน – อีสานโอชา” (แซ่บนัว = อร่อยกลมกล่อม, หัวม่วน = สนุกสนานบันเทิง) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอาหารการกินและวิถีชีวิต โดยผลงานของเธอแบ่งเป็นสามโครงการ

โครงการแรกมีชื่อว่า “Breast Stupa Topiary Jim Thompson Farm”

Breast Stupa Topiary Jim Thompson Farm
ภาพจาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

ผลงานประติมากรรมกลางแจ้งรูปเต้านมขนาดใหญ่ ในทุ่งดอกคอสมอส ที่พินรีทำขึ้นร่วมกับทีมงานของจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม โดยนำเอาความหมายของความเป็นผู้หญิงและแม่ผ่านรูปทรงของนม เชื่อมโยงกับเรื่องราวของความมั่นคงและความศักดิ์สิทธิ์ของสถูป สร้างออกมาเป็นโครงสร้างเหล็กเส้นสเตนเลสโปร่งตา ปกคลุมด้วยพืชผักสวนครัวกินได้ เช่น น้ำเต้า, บวบ, อัญชัน และพวงชมพู

ผลงานประติมากรรมที่รองรับการเจริญเติบโตของพืชอย่างเป็นธรรมชาติของพินรีชิ้นนี้ เป็นผลงานเริ่มต้นของโครงการผลงานศิลปะถาวรของฟาร์มแห่งนี้

“เราเริ่มทำผลงานชุดเต้านมมาตั้งแต่ปี 2537 พอราวปี 2544 ก็กลายเป็น Breast Stupa เป็นงานที่ทำด้วยผ้าไหม คือดึงไหมออกจนเป็นรูปทรงคล้าย “เต้านม” กับ “สถูป” รวมกัน เป็นการเอา “ความเย้ายวน” กับ “ความศักดิ์สิทธิ์” มาผสมผสานกัน งานของเราเป็นเรื่องที่มาจากความเป็นส่วนตัว จากประสบการณ์ชีวิตของตัวเองในช่วงต่างๆ เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองในช่วงนั้นๆ แล้วพอช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าชีวิตมันนิ่งขึ้น สงบขึ้น งานช่วงนั้นก็เลยเป็นเหมือน Sanctuary (สถานที่ศักดิ์สิทธิ์) ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง เรื่องความเป็นแม่เป็นลูก เพราะว่าตอนนั้นเป็นจังหวะที่เรามีลูกพอดี เราทำงาน Breast Works ออกมาหลังจากที่คลอดลูกได้สองเดือน”

“ที่เราเลือกใช้เต้านม ก็เพราะมันเป็นอวัยวะที่เราใช้งานมากในช่วงนั้น เพราะเราให้นมลูกอยู่สองปี เป็นความรู้สึกถึงความเป็นแม่ ที่เป็นผู้ให้และผู้รับ แล้วตอนนั้นเราตั้งใจว่าจะเลือกร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นเพศหญิง เราก็เลยเลือกหน้าอก เพราะเรารู้สึกว่าอวัยวะนี้มันสวยและลงตัวที่สุด”

“แต่งานของเราก็ไม่ได้นำเสนอแต่เรื่องของความเป็นแม่แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของผู้หญิงมากกว่า เพราะว่าคนมักจะเชิดชูและให้เกียรติแม่ แต่ไม่ค่อยให้เกียรติผู้หญิงกันสักเท่าไหร่”

พินรีกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของผลงานสร้างชื่อที่แสดงในนิทรรศการในฟาร์มครั้งนี้ของเธอ

ผลงานประติมากรรมชุดนี้ นอกจากจะเป็นผลงานศิลปะที่ผสานตัวเข้ากับผืนดินและดอกไม้พืชพรรณบนลานรอบๆ พื้นที่แสดงงานได้อย่างกลมกลืนลงตัว รูปทรงเนินนมของมันยังสอดรับกับภูมิทัศน์ทางกายภาพของภูเขาพญาปราบที่อยู่เคียงข้าง

Breast Stupa Topiary Jim Thompson Farm
ภาพโดย จิราภรณ์ อินทมาศ

อีกทั้งสถานที่ตั้งผลงานที่อยู่ท่ามกลางทุ่งดอกคอสมอสสีชมพูก็ยังแฝงความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงไปถึงความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมอีกด้วย

“พอเราทำงานเกี่ยวกับเต้านม ก็จะมีความเชื่อมโยงไปถึงประเด็นเกี่ยวกับ Breast Cancer Awareness (การรณรงค์เพื่อตระหนักถึงมะเร็งเต้านม) งาน Breast Stupa Cookery ก็เคยไปจัดแสดงเพื่อหาทุนสำหรับศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เพื่อโรคมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย อีกอย่างเราเรียกงานชุดนี้ว่า Breast Stupa แต่คนที่ฟาร์มเขาจะเรียกว่า “ลานนมสาว” ซึ่งน่ารักดี แล้วพอเขาบอกว่าปีนี้เขาจะปลูกดอกคอสมอสตรงลานนี้ เราก็เลยขอให้เขาปลูกเป็นโทนสีชมพู เพื่อให้สื่อถึงประเด็นเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมด้วย” (ริบบิ้นสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สากลของการรณรงค์มะเร็งเต้านม)

Breast Stupa Topiary Jim Thompson Farm
ภาพจาก จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

ผลงานศิลปะของพินรี สัณฑ์พิทักษ์ ในโครงการอาร์ต ออน ฟาร์ม เป็นส่วนหนึ่งของจิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2561 ถึง 6 มกราคม 2562 เวลา 09.00-17.00 น. ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.jimthompsonfarm.com หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 0-2700-2566 อีเมล [email protected] ขอบคุณภาพและข้อมูลจากจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม