วิเคราะห์ : “พปชร.” โดนรุมกินโต๊ะ ระวังความได้เปรียบทำแพ้ศึก

กลายเป็นหมู่บ้านตำบลกระสุนตกอยู่ในเวลานี้ สำหรับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคใหม่ ดีกรีผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในศึกเลือกตั้ปี 2562

เพราะนับตั้งแต่ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม

ตามมาด้วยการปลดล็อกทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนคีย์แมนของพรรค พปชร. จะอ่านใจทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คสช.ได้แม่นยำกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ

เพราะหลังจากยื่นขอ กกต.และ คสช. เพื่อจัดระดมทุนหารายได้เข้าพรรคด้วยโต๊ะจีนเมนูหรู โต๊ะละ 3 ล้านบาท จำนวน 200 โต๊ะ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เงินเข้าพรรค พปชร.ด้วยตัวเลขกลมๆ ไม่มากไม่น้อย 650 ล้านบาท

ชนิดที่ทางสะดวก ผ่านทุกด่านที่ขออนุญาต

แต่ประเด็นร้อนที่พรรค พปชร.คาดไม่ถึงว่าจะเป็นประเด็นเรียกแขกให้พรรคการเมืองคู่แข่งมารุมกินโต๊ะได้ นั่นก็คือ ดันมีรายชื่อผังการจองโต๊ะจีนของผู้สนับสนุนพรรค พปชร.หลุดออกมาผ่านสื่อ

ที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ อย่างกระทรวงการคลังและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมจองโต๊ะจีนระดมทุนมีตัวเลขกลมๆ รวมกันเกือบ 100 ล้านบาทโผล่มาด้วย

จนเป็นประเด็นงานเข้าให้พรรคการเมืองต่างๆ ดาหน้าออกมาทั้งวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียน พร้อมกับยื่นเรื่องให้ กกต.เร่งตรวจสอบการจัดโต๊ะจีนระดมทุนของ พปชร. ว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่

เริ่มจาก “อดีต กกต.ไซเบอร์” อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ที่หันมาสวมเสื้อสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชี้ช่องให้ กกต.ป้ายแดง สอบการระดมทุนของ พปชร. ว่าสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 76 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรม” หรือไม่

และหากมีความผิดจริง อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนประเด็น 4 รัฐมนตรีที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. และร่วมงานจัดโต๊ะจีนระดมทุน “อดีต กกต.สมชัย” ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 73 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า ห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือ ส.ส.

แต่การจัดงานระดมทุนของพรรค พปชร. มีข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้อง 4 รายการ คือ กรณีโต๊ะจีนในนามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีจำนวน 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท อดีต กกต.สมชัยชี้ว่า ตรงนี้ต้องตรวจสอบว่าได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเรี่ยไรหรือไม่

หรือหากตัวรัฐมนตรีเป็นผู้บริจาคเอง ตามกฎหมายระบุว่า จะบริจาคให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท

ดังนั้น อีก 2 ล้านบาทเป็นเงินที่ได้มาจากไหน ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนด้วย

ขณะที่นักร้องขาประจำอย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) มุ่งเป้ามายื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบกรณีคลิปที่มีการเผยแพร่อ้างว่ามีการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แลกกับการให้สมัครเข้าเป็นสมาชิก พปชร.ในพื้นที่ จ.ยโสธร ว่า ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 30 ที่ห้ามพรรคการเมือง หรือบุคคลใด จูงใจหรือโน้มน้าวให้ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรค หากกระทำการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว มีโทษหนักถึงขั้นยุบพรรค

พร้อมกับดักคอว่า หาก กกต.ไม่รับลูกการตรวจ อาจเข้าข่ายความผิดอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นำมาซึ่งการเด้งรับของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ออกแอ๊กชั่น สั่งให้คณะกรรมการบริหาร พปชร.ส่งรายงานการระดมทุนของพรรคภายใน 30 วัน

ส่วนประเด็นเรื่องคลิป อ้างว่ามีการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแลกกับการให้สมัครเป็นสมาชิก พปชร.นั้น เลขาธิการ กกต.ได้สั่งการให้ กกต.จังหวัดยโสธรได้ตรวจสอบในการสรุปข้อเท็จจริง 30-60 วัน จะทราบว่าเป็นความผิดตามข้อกฎหมายใด

แม้นัยยะในทางกฎหมาย หลายฝ่ายต่างมองกันออก ฟันธงกันล่วงหน้าได้เลยว่าคณะกรรมการบริหารและฝ่ายกฎหมายของ พปชร. ย่อมสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ได้ผ่านฉลุย ไม่ถึงขั้นแพ้ฟาล์วก่อนลงสนามเลือกตั้ง

แต่ปมทางการเมืองที่เป็นประเด็นร้อนดังกล่าวที่ถาโถมใส่ “พรรค พปชร.” ย่อมเป็นแรงเสียดทานและสั่นคลอนทางการเมืองไม่น้อย ก่อนที่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะประกาศใช้ตามไทม์ไลน์ ในวันที่ 2 มกราคม 2562

เพราะพรรคการเมืองคู่แข่งและประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต่างรับรู้ได้ถึง “ความได้เปรียบ” ของพรรค พปชร.ที่เพียบพร้อมทุกกลไก ทั้งอำนาจรัฐ งบประมาณ และสปอนเซอร์ จนปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการ “เอาเปรียบ” คู่แข่งจากพรรคอื่นๆ ในเวลานี้ ซึ่งหนีไม่พ้นคำครหาที่ว่า “ทำอะไรก็ไม่ผิด”

แต่กลยุทธ์การ “เอาเปรียบ” ทางการเมือง อาจไม่ได้ผลเสมอไปในทางปฏิบัติ เพราะหากเดินเกมผิดพลาด จากที่จะเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพรรค พปชร. แต่อาจเจอ “แรงเหวี่ยงมุมกลับ” จนทำให้คะแนนนิยมถึงขั้นติดลบก็เป็นได้

ยิ่งหากมาดูผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้งจากต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ล่าสุด แบบไม่เข้าข้างใคร ที่สอบถามว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกพรรคใด ประชาชนร้อยละ 38.3 เลือกพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 24.4 เลือกพรรคอนาคตใหม่ และร้อยละ 22.8 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้นที่เลือกพรรค พปชร.

นัยยะตัวเลขของผลโพลล่าสุดที่ประชาชนยังเลือก “พรรค พปชร.” แค่เพียง 4.7% เข้าป้ายมาเป็นอันดับที่ 4 จากบรรดาพรรคการเมืองที่ประกาศตัวลงสู่สนามเลือกตั้ง

หากคีย์แมนพรรค พปชร.ยังฟังไม่ได้ยิน และไม่ปรับกลยุทธ์ทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562

จากที่คิดว่าได้เปรียบทุกประตูจนถึงขั้นชนะเลือกตั้ง

แต่ระวังผลที่ออกมาอาจตรงกันข้ามก็เป็นได้