ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ‘พลังประชารัฐ’ บนเส้นทางสู่ความขัดแย้งและความวุ่นวาย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

พลังประชารัฐเป็นพรรคซึ่งขยันพูดว่าเลือกตั้ง 2562 จะอย่างไรตัวเองก็ได้เป็นรัฐบาล และถึงแม้พฤติกรรมขี้โม้ลักษณะนี้จะพบได้ในพรรคการเมืองและนักการเมืองทั่วไป ความมุ่งมั่นของพลังประชารัฐที่จะให้โลกเชื่อแบบนี้ก็แรงกล้าจนพรรคหมกมุ่นกับการป่าวประกาศเรื่องนี้แทบจะรายสัปดาห์

นับจากวันที่คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ คุยว่าพรรคจะได้ ส.ส. 350 คน สมาชิกพรรคจากระดับนำถึงหางแถวก็ประสานเสียงตอกย้ำความเชื่อนี้ไม่หยุด

คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ คุยว่าพรรคนี้เหนือกว่าไทยรักไทย คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน โวว่าพรรคมีนโยบายเหนือกว่ารัฐบาลทักษิณ และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก็ฟุ้งว่าจะตั้งนายกฯ ร่วมกับวุฒิสมาชิกของ คสช. 250 คน

ล่าสุด หัวหน้าพรรคอย่างคุณอุตตม สาวนายน ก็ปราศรัยว่ามีแต่พลังประชารัฐที่จะนำประเทศหลุดพ้นความขัดแย้งในอดีต

คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล พูดอย่างที่พูดหลายครั้งว่าเศรษฐกิจไทยย่ำแย่เพราะพรรคอื่นทำชาติวุ่นวาย

ส่วนคุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ ก็ประกาศว่าคนอีสานจะรวยขึ้นสองเท่า หากเลือกพรรคนี้แทนพรรคอื่นอย่างที่ผ่านมา

ยิ่งใกล้เลือกตั้งมากเท่าไร มโนภาพที่พรรคพลังประชารัฐจงใจกรอกหูให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคจะได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง 2562 ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

หรือไม่อย่างนั้นก็คือการชี้นำให้ประชาชนเห็นว่าพรรคนี้ได้จัดตั้งรัฐบาลแน่ๆ ต่อให้พรรคจะไม่ชนะเลือกตั้งก็ตาม

นอกทุ่งลาเวนเดอร์แห่งความเพ้อฝันที่พรรคพลังประชารัฐสร้างขึ้นมา การสำรวจความเห็นโดยโพลสำนักต่างๆ ค้นพบเหมือนกันหมดว่าประชาชนนิยมพรรคนี้น้อยมาก

คุณอุตตมไม่เคยติดอยู่ในรายชื่อบุคคลที่สังคมเห็นว่าควรเป็นนายกฯ ด้วยซ้ำ

ส่วนคนที่พรรคหวังชูอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีคะแนนนิยมลดลงทุกวัน

ไม่เพียงโพลใหญ่ของประเทศตั้งแต่สวนดุสิตโพล, กรุงเทพโพลล์ และนิด้าโพล จะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อพรรคและ พล.อ.ประยุทธ์ตรงกัน โพลระดับรองลงมาอย่างซูเปอร์โพลหรือบ้านสมเด็จโพลก็ไม่เคยปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์คือผู้ที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ สูงเป็นอันดับหนึ่งแม้แต่ครั้งเดียว

เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคที่พลังประชารัฐยกตัวไปตีเสมออย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย จะเป็นโพลไหนก็ให้ผลเหมือนกันว่าพลังประชารัฐมีคะแนนนิยมต่ำกว่าสองพรรคใหญ่ที่ผลัดกันตั้งรัฐบาลหลังปี 2540

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงปี 2561 เป็นได้แค่ที่สองรองจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตลอดมา

พูดก็พูดเถอะ ถ้า คสช.ไม่ใช้ปืนบังคับสื่อเป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดนายพลพล่ามข้างเดียว และให้ผู้นำพรรคอื่นปรากฏตัวในสื่อเท่ากัน คะแนนนิยมต่อ พล.อ.ประยุทธ์อาจต่ำกว่าผู้ชนะเดอะวอยซ์ด้วยซ้ำไป

ถ้าเปรียบพรรคการเมืองกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ พลังประชารัฐก็เหมือนหุ้นใหม่ที่เจ้ามือขยันสร้างข่าวประเภทบริษัทเติบโตสูง ผลประกอบการดี ขายต่อได้กำไรดีแน่ๆ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการไล่ราคาจนหุ้นซื้อขายในตลาดแพงกว่าราคาที่ควรเป็นจริงๆ เมื่อคำนึงถึงมูลค่าทางบัญชีและปัจจัยพื้นฐานทั้งมวล

ขณะที่เป้าหมายของการปั่นหุ้นคือการทำทุกทางให้คนเชื่อว่าหุ้นน่าซื้อจนราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดที่เจ้ามือกำไรสูงสุดจนเทขาย เป้าหมายของการปั่นพรรคคือการทำให้สังคมเห็นอย่างที่พรรคอยากให้เห็นว่าพรรคมีโอกาสตั้งรัฐบาลมากที่สุด แม้ความจริงพรรคจะเผชิญอุปสรรคอีกมากก่อนจะถึงจุดนั้นก็ตาม

นอกจากการประโคมข่าวเรื่องพรรคจะได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง, ได้ตั้งรัฐบาลแน่ๆ และถึงอย่างไรคุณประยุทธ์ก็เป็นนายกฯ สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐจะสื่อสารหรือ “สร้างภาพ” มากขึ้นก็คือ มีพรรคการเมืองอยากร่วมรัฐบาลด้วยเต็มไปหมด ต่อให้ความจริงจะไม่มีพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เพิ่มขึ้นเลยก็ตาม

แน่นอนว่าพรรคที่วางตัวเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่มีวันร่วมมือกับพลังประชารัฐหรือหนุนนายกฯ ที่ฝ่ายนี้ต้องการ เพื่อไทย/ไทยรักษาชาติ/เพื่อชาติ/อนาคตใหม่ จึงไม่อยู่ในฉากที่พลังประชารัฐจะสร้างเพื่อโม้ว่ามีแนวร่วมเยอะไปหมด อย่างน้อยก็เมื่อเทียบกับประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย หรือพรรคอื่นๆ ที่มีการพูดกัน

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อเท็จจริงที่แสดงออกผ่านโพลว่าพรรคพลังประชารัฐไม่มีกระแสในประชาชน สมาชิกประชาธิปัตย์ซึ่งขยันลงพื้นที่ย่อมรู้ดีว่าสังคมเบื่อคนกักขฬะที่ทำเศรษฐกิจเสียหาย พรรคจึงวางระยะห่างกับพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์จนแทบไม่มีเงื่อนไขให้อีกฝ่ายอ้างว่าเป็นพวกเดียวกันแม้แต่นิดเดียว

พูดตรงๆ ความรู้สึกว่าประชาธิปัตย์/ภูมิใจไทย/ชาติไทยพัฒนาเป็นพวกพลังประชารัฐเกิดจากปัจจัยพื้นฐานสามข้อ หนึ่งคือ พลังประชารัฐจงใจสร้างภาพว่าเป็นมิตรกับพรรคเหล่านี้, สองคือ ทหารจงใจไม่เล่นงานพรรคกลุ่มนี้เท่าอีกกลุ่ม และสามคือ พรรคเหล่านี้จงใจให้ตัวเองมีระยะห่างกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

ถ้าประชาธิปัตย์เป็นพวกเดียวกับพลังประชารัฐจริงๆ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คงไม่ต้องออกจากพรรคไปคารวะแผ่นดินกับพรรคใหม่ที่แทบไม่มีคนเลือก, กปปส.คงไม่ส่งคุณวรงค์ เดชกิจวิกรม ชิงหัวหน้าพรรค, คุณบี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ คงไม่ไปเป็นโฆษกให้คุณประยุทธ์ และคุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คงไม่ต้องขายโต๊ะจีนให้พรรคพลังประชารัฐจนคนวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแผ่นดิน

ในภาพรวมแล้ว ประชาธิปัตย์อยู่ในสถานการณ์คล้ายพรรคเล็กกว่าอย่างภูมิใจไทย สองพรรคนี้อยู่กับพื้นที่พอจะรู้ความรู้สึกประชาชนจนไม่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์แน่ๆ

แต่ก็วางตัวไม่ให้ถูกจัดประเภทไปอยู่พรรค “ฝ่ายประชาธิปไตย” จะด้วยเหตุด้านกลยุทธ์ทางการเมืองหรือเลี่ยงการเผชิญหน้าทหารตรงๆ ก็ตาม

นับตั้งแต่ลูกน้องคุณประยุทธ์ตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจ ฝ่ายสนับสนุน คสช.ก็ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสร้างภาพว่ามีพรรคอื่นเป็นพวกเยอะไปหมด แต่พรรคที่มีระยะห่างกับเพื่อไทยไม่ได้แปลว่าเป็นฝ่ายคุณประยุทธ์ และบ่อยครั้งที่พรรคเหล่านี้กับเพื่อไทยวิจารณ์คุณประยุทธ์และพลังประชารัฐในประเด็นเดียวกัน

หากยังจำกันได้ ฝ่ายสนับสนุนคุณประยุทธ์เคยทำถึงขั้นปล่อยข่าวว่าคุณหญิงสุดารัตน์ได้ขึ้นเพื่อไทยเพราะสนิทกับทหารด้วยซ้ำไป และถึงแม้ทุกคนที่จะรู้ว่าเรื่องนี้เป็นข่าวเท็จที่ถูกสร้างเพื่อผลทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปล่อยข่าวคือความหวาดระแวงว่าเพื่อไทยอาจกลายเป็นพวกเดียวกับ คสช.

ท่ามกลางความพยายามของพรรคพลังประชารัฐที่จะสร้างภาพเรื่องความได้เปรียบจากกติกา, อำนาจรัฐ, เงินทุน, อิทธิพลต่อองค์กรอิสระ, ความช่วยเหลือของกองทัพ ฯลฯ สถานการณ์ภาคสนามที่เป็นจริงคือทั้งพรรคและ พล.อ.ประยุทธ์มีประชาชนและพรรคการเมืองสนับสนุนน้อยจนแทบไม่มีทางชนะเลือกตั้งเลย

ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองแบบนี้

หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยเสียงของพรรคที่แพ้เลือกตั้งอย่างพลังประชารัฐกับวุฒิสมาชิกที่ คสช.ตั้งเอง รัฐบาลที่เกิดขึ้นจะเป็นชนวนไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมืองที่ดึงประเทศสู่ “ช่วงยาว” ของความขัดแย้งที่อาจกินเวลานานจนเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตการเมืองที่รุนแรง

มีผู้พูดมากแล้วว่าการสืบทอดอำนาจด้วยพลังประชารัฐและวุฒิสมาชิกจะทำให้คุณประยุทธ์เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยจนบริหารไม่ได้ แต่เสียงในสภาจะมีความหมายเฉพาะช่วงผ่านกฎหมาย, เสนองบประมาณ และอภิปรายไม่ไว้วางใจ คุณประยุทธ์จึงมีโอกาสเป็นนายกฯ เสียงข้างน้อยอย่างน้อยก็เป็นเวลาหนึ่งปี

สรุปให้สั้นที่สุด คุณประยุทธ์อาจเป็นนายกฯ โดยไม่เสนอกฎหมายเลยก็ได้ ส่วนงบประมาณประจำปี 2562 ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล คสช.ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ขณะที่การอภิปรายก็ใช้วิธีให้ทหารกดดัน ส.ส.อย่างที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยเป็นนายกฯ ที่ประชาชนไม่ได้เลือกถึง 8 ปี เพราะมีคนข่มขู่จน ส.ส.ถอนญัตติอภิปรายทุกที

เมื่อคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ คุณประยุทธ์ย่อมมีอำนาจยุบสภาเมื่อไรก็ได้ตามอำเภอใจ สภาที่ขัดขวางการบริหารงานของคุณประยุทธ์จึงเสี่ยงจะถูกยุบแล้วไล่ให้ไปลงเลือกตั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ การเมืองไทยภายใต้รัฐบาลเสียงข้างน้อยจึงเป็นประตูบานแรกสู่ภาวะไร้เสถียรภาพและความวุ่นวาย

ในกรณีที่พลังประชารัฐและวุฒิสมาชิกผลักดันคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ เพื่อเสนอผลประโยชน์ให้พรรคอื่นร่วมรัฐบาล บรรยากาศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลจะถูกมองเป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลตอบแทนตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการที่คุณประยุทธ์อาจดึง ส.ส.ประชาธิปัตย์บางกลุ่มให้แยกจากพรรคไปอยู่กับตัวเอง

พล.อ.ประยุทธ์และฝ่ายสืบทอดอำนาจกำลังเดินหน้าบนสถานการณ์ที่การยุติบทบาทเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่าการมีอำนาจ ความได้เปรียบจากกติกาและอำนาจรัฐของ คสช.อยู่บนโครงสร้างการเมืองขั้นพื้นฐานที่เปลี่ยนไปแล้ว เว้นเสียแต่ฝ่ายสืบทอดอำนาจจะหวังสร้างวิกฤตการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป

ปลายปี 2561 จะครบรอบหนึ่งปีที่ พล.อ.เปรมพูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตรงๆ ว่า “กองหนุนตู่เกือบหมดแล้ว” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังคำเตือนของประธานองคมนตรีคือการสืบทอดอำนาจอย่างที่สุด ปี 2562 จึงเป็นปีที่สังคมจะเผชิญความขัดแย้งรอบใหม่ที่ประเด็นใจกลางคือตำแหน่งนายกฯ ของคุณประยุทธ์เพียงเรื่องเดียว

คำวิพากษ์วิจารณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่คุณสมบัติส่วนบุคคลของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นสึนามิลูกแรกที่ก่อตัวขึ้นบนเงื่อนไขนี้ และจากนี้ประเด็นเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์สมควรเป็นนายกฯ หรือไม่ จะเป็นประเด็นสาธารณะใหญ่ ซึ่งต่อให้มี ม.44 และกองทัพก็ไม่อาจคุ้มครอง