ศัลยา ประชาชาติ : เปิดใจ “วิรไท” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ แจงเหตุผลถึงเวลาปรับขึ้นดอกเบี้ย

หลังจากส่งสัญญาณมาเป็นระยะๆ ตลอดปีที่ผ่านมา

ในที่สุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 : 2 เสียง เห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.25% ต่อปี

เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันเพิ่มเป็น 1.75% ต่อปี

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์กัน

แม้อาจจะมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ตาม

 

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” ชี้แจงถึงความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ว่า “ไม่ควรกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ” และต้องสอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

จากเหตุผลที่ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับใกล้ศักยภาพของประเทศไทย ไม่ได้ขยายตัวต่ำเหมือนสมัย 9-10 ปีก่อน ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปอยู่ที่ 1.25% หลังเกิดวิกฤตการเงินโลกและเศรษฐกิจไทยหดตัว -0.9%

อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับ “ต่ำเป็นระยะเวลานาน” มีต้นทุนและมีผลข้างเคียง ทั้งการทำให้เกิดพฤติกรรม “การแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร” (Search for yield) และเป็น “จุดเปราะบาง” ของระบบการเงิน

ดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้ทั่วโลกมีหนี้เพิ่มขึ้น “สูงสุดเป็นประวัติการณ์” ทั้งหนี้ภาครัฐ หนี้เอกชน หนี้ธุรกิจ หนี้ครัวเรือน

ขณะที่ผลตอบแทนการออมต่ำ ไม่มีแรงจูงใจให้คนออม

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติอธิบายถึงผลกระทบจากการที่ดอกเบี้ยต่ำมานาน ทำให้ต้นทุนของเงินในภาคธุรกิจถูกมากๆ และมีผู้นำต้นทุนที่ต่ำนั้นมาสร้างโปรดักต์ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ อย่างเรื่อง “สินเชื่อเงินทอน” ที่เริ่มเห็นธนาคารออกเช็ค 2 ใบให้ผู้ขอสินเชื่อ ใบหนึ่งให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อีกใบหนึ่งให้ผู้ขอสินเชื่อนำเงินไปใช้ส่วนตัว แต่ละคนยังมีการกู้มากกว่า 2-3 สัญญา เพื่อให้ได้เงินก้อน แล้วนำส่วนหนึ่งไปชำระหนี้บัตรเครดิต และอีกส่วนนำไปลงทุน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ช่วง 3 ปีแรกต่ำมาก

ที่สำคัญ ดอกเบี้ยถูกมากๆ เป็นแรงจูงใจให้คนไปกู้มากขึ้น และออมน้อยลง

“จริงๆ แล้วอัตราดอกเบี้ยต้องดูแลทั้งฝั่งผู้กู้และผู้ออม แต่เราไม่ค่อยได้ยินเสียงผู้ออมบ่นเท่าไหร่ เสียงหนักๆ จะเป็นของผู้กู้มากกว่า”

ในมุมมองของแบงก์ชาติยังเห็นว่าหนี้ครัวเรือนของไทยเวลานี้อยู่ในระดับสูง ส่วนหนี้ภาคธุรกิจก็มีความเสี่ยงสร้างจุดเปราะบางมากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นในปีที่แล้วที่มีการออกตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต (Unrated Bond ) แต่คนก็แห่ไปซื้อ ทั้งที่ผู้ออกตราสารหนี้เป็นบริษัทที่ไม่เคยได้ยินชื่อ และไม่รู้ว่าทำอะไร

นอกจากนี้ยังเห็นธุรกิจที่ออกตราสารระยะสั้น 6 เดือน แต่ปรากฏว่าเอาสินทรัพย์ไปลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว ทำให้เกิดการไม่สอดคล้องกัน (Mismatch) ระหว่างฝั่งระดมทุนกับฝั่งที่เอาไปใช้ลงทุน ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในบางบริษัทขึ้น

การก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากในสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยแม้ว่าตัวเลขการก่อหนี้เทียบกับ GDP จะดูลดลง แต่ภาระหนี้คนไทยโดยรวมยังสูง และเป็นจุดเปราะบาง

“เป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง ต้องมองระยะยาว และต้องแน่ใจว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จะมีเครื่องมือในการดูแลระบบเศรษฐกิจเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นได้”

 

ส่วนที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเงินยังไม่ไหลออก จะปรับขึ้นดอกเบี้ยทำไม ในมุมแบงก์ชาติมองว่า หากรอให้เงินไหลออกแล้วค่อยมาทำ (ปรับขึ้นดอกเบี้ย) จะไม่สามารถทยอยทำได้ ต้องทำแรง และทำต่อเนื่อง และจะเกิดช็อกกับระบบเศรษฐกิจ

“การใช้นโยบายการเงิน ต้องมี Impact แต่วันนี้ถ้ายังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% Policy space (พื้นที่ในการใช้นโยบายการเงินในอนาคต) ที่เรามีก็จะค่อนข้างจำกัด ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่เรามีจังหวะ มีความเหมาะสม สถานการณ์เอื้ออำนวย เราก็ใช้โอกาสในการสะสม Policy Space แต่อันนี้ต้องบอกว่า ไม่ใช่ว่าเราจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขึ้นทุกครั้ง โดยมีเป้าในใจว่าจะสะสมกระสุนไว้เท่าไหร่ถึงจะพอ อันนี้ไม่ใช่หลักคิดของเรา”

“วิรไท” ย้ำว่า การตัดสินใจของ กนง.ยังเห็นตรงกันว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย “ยังจำเป็น” สำหรับเศรษฐกิจไทย แต่ระดับการผ่อนคลายที่ “มากเป็นพิเศษ” ขณะนี้ลดความสำคัญลงไป

“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการผสมผสานนโยบายในภาพรวม ส่วน Policy Space ของนโยบายการเงิน เป็นแค่หนึ่งมิติแค่นั้นเอง และไม่ได้เป็นประเด็นหลักด้วย แต่เป็นประเด็นรองๆ ที่เราคิดว่า ถ้ามีโอกาส เราจึงจะสร้างกันชนเพิ่ม แต่แน่นอนว่าเราคำนึงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพ ดูเรื่องเงินเฟ้อ ดูเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน”

 

มองในมุมผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันว่า นโยบายการเงินไม่ใช่นโยบายที่ “กดปุ่ม” แล้วมีผลทันที โดยครั้งนี้มาจากจุดที่มี “สภาพคล่องส่วนเกิน” อยู่มาก และมาจากจุดที่นโยบายการเงิน “ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ” ไม่ใช่มาจาก “สภาพคล่องตึงตัว” เหมือนในอดีต

ซึ่ง กนง.ไม่ได้ต้องการให้เกิดผลกระทบแรง โดยจะใช้แนวทางค่อยๆ ปรับ และ กนง.ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่า ในภาวะที่มีสภาพคล่องอยู่สูง อัตราดอกเบี้ยของแบงก์ไม่ควรขยับ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นมาตรฐาน ทั้ง MLR, MRR และ MOR

ดังนั้น หากแบงก์จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็ควรปรับในส่วนสินเชื่อที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษกับพวกบริษัทขนาดใหญ่

“มีคนพยายามสร้างความเข้าใจผิดๆ ว่าการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้จะทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนกระโดดขึ้น หรือทำให้ครอบครัวมีหนี้ขึ้นอีกหลายหมื่นบาทต่อปี

เราดูเรื่องนี้ใกล้ชิด ดูละเอียด พบว่าหนี้ของภาคประชาชนเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น อีก 2 ใน 3 เป็นดอกเบี้ยคงที่ หรือสินเชื่อบ้าน ช่วง 3 ปีแรกส่วนใหญ่ก็จะดอกเบี้ยคงที่ และสัญญาก็เป็นระยะยาว จึงมีผลต่อภาระหนี้ไม่ค่อยมาก ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตส่วนใหญ่ก็คิดดอกเบี้ยตามเพดานที่กำหนดอยู่แล้ว เพดานดอกเบี้ยไม่ได้เพิ่มขึ้น”

 

สําหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2562 ผู้ว่าการ ธปท.บอกว่า ตามประมาณการของ ธปท.ก็คาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% โดยปีหน้าประเมินว่าจะขยายตัวราวๆ 4% ซึ่งยังถือว่าเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ

ผู้ว่าการแบงก์ชาติทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่จำเป็นที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเหมือนในอดีต โดยการประชุมแต่ละครั้งจะดูความเสี่ยงต่างๆ มีการใช้ข้อมูลต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ

“ไม่ปฏิเสธว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สอดคล้องกับศักยภาพ ก็ยังมีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก”