เกษียร เตชะพีระ : เจ๊กสยามหันขวาหาจีน (4)

เกษียร เตชะพีระ
AFP PHOTO / SAEED KHAN

เมื่อ 17 ปีก่อน ระหว่าง อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กำลังค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่ต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือและได้รางวัล TTF Award ของมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (พ.ศ.2548) นั้น

เผอิญอาจารย์ประจักษ์ค้นพบเอกสารเก่าเก็บจำนวนหนึ่งที่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เกี่ยวกับการที่นักศึกษาธรรมศาสตร์บางรายที่มีสถานภาพเป็นคนต่างด้าวโดยเฉพาะเชื้อสายจีนได้ขอความช่วยเหลือจากผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อแปลงสัญชาติและเปลี่ยนชื่อแซ่เป็นไทย เพื่อจะได้เข้าร่วมพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรสมัยก่อน 14 ตุลาฯ

เนื่องจากท่านทราบว่าผมซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สนใจเรื่องคนจีนในเมืองไทย จึงกรุณาส่งเอกสารดังกล่าวมาให้เป็นข้อมูล

ปรากฏว่ามีจดหมายของนักศึกษาฉบับหนึ่ง เขียนด้วยลายมือ บันทึกข้อความน่าสะเทือนใจและสะท้อนฐานะอิหลักอิเหลื่อทางการเมืองวัฒนธรรมของคนจีนในเมืองไทยยุคนั้นบางตอนว่า :

คืนวันที่ 5 สิงหาคม 2507

กราบเรียน อาจารย์ที่เคารพ

ก่อนอื่นกระผมต้องขออภัยจากอาจารย์เป็นอย่างมากที่มีความจำเป็นต้องเขียนจดหมายมารบกวนเวลาของอาจารย์ เหตุที่กระผมจำต้องขอรบกวนอาจารย์ก็คือว่า จากชั่วโมงสอนของวันนี้ในลักษณะวิชาที่ว่าด้วยบุคคล บทที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อตัวบุคคล อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าใครยังมีสัญชาติเป็นต่างด้าวอยู่ในขณะนี้ก็ควรจะรีบดำเนินการขอแปลงเป็นสัญชาติไทยนั้น คำแนะนำของอาจารย์นี้ทำให้กระผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากกระผมเป็นคนมีสัญชาติเป็นต่างด้าวและได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุประมาณ 20 เดือน ความคิดที่จะขอแปลงสัญชาติของกระผมให้เป็นสัญชาติไทยนั้นมีมาหลายปีแล้ว หากแต่กระผมมองไม่เห็นทางจริงๆ ว่าจะหาผู้ให้ความช่วยเหลือแก่กระผมได้ เพราะกระผมไม่รู้จักใครเลย (ขณะนี้กระผมยังมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด)…

…เพราะฉะนั้น ที่กระผมเขียนจดหมายมารบกวนอาจารย์ก็ประสงค์ขอความเมตตาจากอาจารย์อีกครั้ง เพื่อที่จะได้แนะนำกระผมว่าควรจะทำประการ (ใด) ดีเกี่ยวกับเรื่องขอแปลงสัญชาติของกระผม ทุกวันนี้กระผมก็ยังกลุ้มใจอยู่กับเรื่องนี้ตลอดเวลา กระผมไม่สามารถที่จะเข้าร่วมสมาคมกับใครได้ ถ้าอาจารย์จะเมตตาเรียกกระผมเข้าพบอาจารย์ในเวลาว่างของอาจารย์ กระผมจะขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

แต่กระผมต้องขอร้องอาจารย์ว่า เวลาอาจารย์จะประกาศเรียกตัวกระผมในห้องเรียน โปรดขออย่าได้เรียกชื่อของกระผม ขอให้เรียกเป็นหมายเลขที่ที่นั่งเรียนหรือเลขทะเบียนนักศึกษา เพราะกระผมอายเพื่อนนักศึกษาในห้องเรียน เกรงว่าจะถูกหัวเราะ (เน้นโดยผู้เขียน)

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

นายเจียวฮั้ว แซ่เล้า
เลขที่นั่งเรียน 95
เลขทะเบียน 15…/น.
นักศึกษาปีที่ 2

ข้อความย่อหน้าสุดท้ายของจดหมายข้างต้นสะทกสะท้อนความรู้สึกอับอายแปลกแยกต่ำต้อยทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของเจ๊กสยามในอดีต ที่เราอาจเรียกว่ากลุ่มอาการความเป็นไทยบกพร่อง (Thainess deficiency syndrome)

คือรู้สึกว่าตนเองขาดตกบกพร่องที่เป็นไทยไม่เต็มที่ เป็นไทยได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะติดเชื้อชาติเจ๊กซึ่งไม่ไทยของตัวเองอยู่เสมอ – ภายใต้ระเบียบอำนาจวัฒนธรรมของอุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย (the ethno-ideology of Thainess) ได้เป็นอย่างดี

สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทสำคัญตรงจุดนี้ เพราะตามธรรมเนียมประเพณีแต่เดิม พระเจ้าแผ่นดินทรงได้รับการถวายความเคารพเทิดทูน โดยอาณาราษฎรทั้งปวงเข้าถึงพระองค์ได้ไม่เลือกว่าเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด ไม่ว่าไทย จีน มอญ ลาว เขมร พม่า ทวาย แขก พราหมณ์ ฝรั่งพุทธเกตที่เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา (พ.ศ.2502-2506) พระองค์ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ประชาชนทุกชนชั้นเชื้อชาติรวมทั้งบุคคลและคณะบุคคลจากภาคธุรกิจเอกชนได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวาระโอกาสต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เช่น ประกอบพิธีสมรสพระราชทาน, บริจาคเงินทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล หรือเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านต่างๆ เป็นต้น

มองจากมุมเจ๊กสยามในหมู่ชนชั้นนำภาคธุรกิจเอกชนและคนชั้นกลางที่มีฐานะมั่นคง พระราชกรณียกิจดังกล่าวข้างต้นนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าถึงและเข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ให้พวกเขาได้ทำหน้าที่และเสียสละเรี่ยวแรง เวลาและทรัพย์สินตามกำลังของตนเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอันเป็นที่พำนักอาศัยทำมาค้าขายสร้างเนื้อสร้างตัวจนมีฐานะมั่งคั่งมั่นคง เสมอเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทยและคนไทยโดยเต็มภาคภูมิ

มิไยว่าจะเป็นเชื้อชาติไหนชื่อแซ่ใดก็ตามที

 

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยก็จะพบว่านับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ทุกครั้งที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดและภาคเอกชนของไทยเผชิญกับการผลักดันเรียกร้องให้พลิกเปลี่ยนอย่างขุดรากถอนโคน สถาบันกษัตริย์ก็จะมีบทบาทเข้าระงับยับยั้งการพลิกผันเปลี่ยนแปลงตามความคิดสุดโต่งนั้นไว้

เช่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เมื่อมี “สมุดปกเหลือง” หรือข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าสายพลเรือนคณะราษฎร ในแนวทางสหกรณ์โดยรัฐแบบภราดรภาพนิยม (solidarist state cooperativism)

ก็ปรากฏ “สมุดปกขาว” หรือพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสนองพระบรมราชโองการโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ออกมาโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ จนเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวพับไปมิได้นำมาดำเนินการ

 

หรือกระแสการเคลื่อนไหวความคิดสังคมนิยมฝ่ายซ้ายของขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็เช่นกัน (http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.html)

สถาบันกษัตริย์จึงเสมือนเป็นหลักชัยแห่งชาติและระบบเศรษฐกิจเอกชนที่คนไทยเชื้อสายจีนในภาคธุรกิจพากันจงรักห้อมล้อมเทิดทูนเมื่อเผชิญอุปสรรคเภทภัย

เมื่อมีข้อเสนอของนักคิดนักเขียนนักวิชาการกว่าร้อยคนให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี พ.ศ.2555 ด้วยจุดประสงค์เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ข้อกฎหมายโทษอุกฉกรรจ์ดังกล่าวถูกใช้ไปเป็นเครื่องมือในความขัดแย้งทางการเมือง

บุคคลชั้นนำวงการต่างๆ และกลุ่มอนุรักษนิยมก็ออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลว่ากฎหมายมาตรานี้จำเป็นแก่การปกป้องสถาบันกษัตริย์ในบริบทและวัฒนธรรมสังคมไทย

แม้ว่าข้อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จะถูกสั่งจำหน่ายเรื่องให้ตกไปแล้วโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้วด้วยเหตุผลว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ว่าด้วยเรื่องการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายของประชาชน

แต่ข้อคิดต่างๆ กันในเรื่องนี้ก็ยังปรากฏเป็นระยะสืบต่อมา โดยทางการสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรปและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเห็นว่าควรแก้ไขมาตราดังกล่าวเพราะขัดหลักสิทธิเสรีภาพสากล

ขณะที่ทางการจีนไม่แสดงความเห็นใดในเรื่องนี้และมุ่งเน้นเสริมสร้างสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยรวมทั้งยกย่องเชิดชูพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์เรื่อยมา

(ต่อสัปดาห์หน้า)