ฉัตรสุมาลย์ : เยือนถ้ำหยุนกัง ชมงานพุทธศิลป์

เราอยู่ที่เมืองต้าถงค่ะ

ดูในแผนที่จะอยู่ทางเหนือค่อนไปทางตะวันออก เมืองนี้อยู่ในมณฑลซานซี เคยเป็นราชธานีเมื่อหลังราชวงศ์เป่ยเว่ยย้ายมาที่นี่ ค.ศ.386

เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,400 ปี

สมัยนั้นได้รวบรวมวัฒนธรรมของชนส่วนน้อย และชนชาวฮั่น อีกทั้งเป็นที่ตั้งป้อมปราการสำคัญทางทหารอีกด้วย

สองข้างทางที่เราผ่านมา แถบนี้ดินเค็ม บางแห่งจะเห็นพื้นดินเป็นสีขาวจากความเค็มของดิน พืชที่ปลูกได้ทนความเค็มคือข้าวโพด แต่ดูต้นเล็กเตี้ย แถบนี้เป็นย่านอุตสาหกรรมถ่านหิน ถ่านหินที่ได้จากมณฑลนี้นับเป็น 1 ใน 3 ของผลิตผลถ่านหินของประเทศ

ที่คณะเราสนใจคือ ถ้ำผาหยุนกัง ที่ได้รับการยกย่องเป็นถ้ำผาที่สำคัญหนึ่งในสี่ของจีนในทริปปีก่อน เราได้ไปมาแล้วสองแห่ง คือ ถ้ำโมวเกาคู เมืองตุนฮวาง มณฑลกานซู และไม้จีซาน ถ้ำนี้เป็นถ้ำพุทธศิลป์แห่งที่ 3 ของคณะเราค่ะ

ที่ต้องเดินทางขึ้นมาสูงเหนือสุดถึงเมืองต้าถง ก็เพราะถ้ำพุทธศิลป์แห่งนี้

 

ถํ้าหยุนกังสือคู ได้รับการอนุรักษ์จากรัฐบาลเมื่อ ค.ศ.1961 ได้รับจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์กรยูเนสโก มีถ้ำใหญ่น้อยที่แกะเข้าไปในภูเขา 53 ถ้ำ ในถ้ำที่ว่านี้ มีรูปประติมากรรมและพระพุทธรูปต่างๆ กว่า 51,000 รูป องค์ที่ใหญ่ที่สุดสูง 17 เมตร และเล็กที่สุด 2 นิ้วฟุต สร้างในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ

น่าอัศจรรย์ในความศรัทธาของชาวจีนเมื่อได้รับพุทธศาสนาไป และแสดงออกถึงความศรัทธานั้น โดยภาพที่อยู่เบื้องหน้าเราคือ หน้าภูเขาทั้งลูกที่ถูกเจาะโดยฝีมือมนุษย์ เป็นถ้ำใหญ่น้อยตลอดทั้งหน้าภูเขา

เมื่อกลับมานั่งดูรูปมากมายมหาศาลเพราะมีตากล้องอย่างคุณน้อยหน่าไปด้วย และการเดินทางครั้งนี้ คุณน้อยหน่าก็ถือโอกาสสอนวิทยายุทธ์ในการถ่ายภาพให้น้องๆ ในกลุ่มด้วย เราจึงมีภาพให้ดูมากจริงๆ

 

ทบทวนว่าจะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไร ไม่ให้เป็นวิชาการมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ให้ผู้อ่านได้สาระ ขออนุญาตปูพื้นประวัติศาสตร์ดินแดนแถบนี้เล็กน้อย

ประเทศจีนเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล มีชนเผ่าต่างๆ อยู่บนดินแดนผืนนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 4 จีนตอนเหนือ เผ่าโทบาสามารถครอบครองจีนตอนเหนือไว้ได้ ชนเผ่านี้ เดิมบรรพบุรุษอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาซินกัน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 1 อพยพลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงอีก 100 ปีต่อมา เคลื่อนตัวลงมาจนถึงเทือกเขายินชาน และรวมตัวเป็นอาณาจักรเรียกว่า ไท อยู่ตรงมองโกเลียใน ในช่วง ค.ศ.368

เผ่าโทบาค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น และมีกำลังแกร่งขึ้นจนในที่สุด มีเมืองหลวงอยู่ที่ปิงเชิง ซึ่งคือเมืองต้าถงในปัจจุบันนั่นเอง

ด้วยความสามารถของจักรพรรดิเต้าหวู, หมิงหยวน และไท้หวู ใน ค.ศ.439 เผ่านี้สามารถชนะเผ่าสุดท้ายในเหลียงโจว เรียกว่าสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนทางเหนือได้สำเร็จ

พวกโทบาไม่ใช่เป็นชนกลุ่มใหญ่ แต่ประสบความสำเร็จเพราะปรับเอาการปกครองของจีนเข้าไปใช้ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเซียวเหวิน ในราชวงศ์นี้มีการพัฒนาอย่างมากในดินแดนจีนทางเหนือ และเป็นสมัยเดียวกันที่พุทธศาสนาเจริญเข้ามาในจีน

ถ้ำหยุนกังเป็นผลงานของยุคนี้ที่จีนทางเหนือมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ในตอนแรก พุทธศาสนาจากอินเดียเข้ามาสู่จีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ในสมัยราชวงศ์ฮั่น แต่ในสมัยนั้น ผู้คนก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาจากประเทศอื่นอย่างผิวเผินมาก นับถือพระพุทธเจ้าแบบเดียวกับเล่าจื๊อ แต่ในสมัย 16 ราชวงศ์ที่มีการสงครามอย่างต่อเนื่อง คำสอนในเรื่องความหลุดพ้นได้รับความนิยมมากขึ้นในประชาชนระดับล่าง

เผ่าโทบาเอง แต่แรกไม่รู้จักพุทธศาสนาเลย จักรพรรดิเต้าหวูเองทรงพึงพอใจกับคำสอนของขงจื๊อ แต่ขณะเดียวกันก็รู้เรื่องในพุทธศาสนา ในช่วงที่พระองค์ปกครองเหอเป่ และชานตุง ก็ห้ามมิให้ทหารรุกรานพระในพุทธศาสนา

มีพระอาจารย์ในพุทธศาสนาชื่อ ฟากัว ยกย่องว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า อาจจะเป็นวิธีที่จะรักษาพุทธศาสนาให้อยู่รอดก็ได้

แต่จักรพรรดิองค์ที่สาม คือ ไท้หวูตี้ สั่งให้ปราบปรามพุทธศาสนาในช่วง ค.ศ.446 เป็นการปราบปรามพุทธศาสนาในแผ่นดินจีนครั้งแรก

จักรพรรดิองค์ต่อมา คือ เหว็นเชิงตี้ ผ่อนคลายการปราบปรามลง พระอาจารย์อีกรูปหนึ่งคือ หลวงจีนตันเย่า จากเมืองเหลียงโจวเป็นผู้ถวายความคิดให้จักรพรรดิเหว็นเชิงตี้ทำโครงการสร้างถ้ำพุทธศิลป์นี้ โดยหลวงจีนตันเย่าเป็นผู้ควบคุมดูแลการสร้าง

ในประวัติของเว่ยเหนือ บันทึกการขุดถ้ำ 5 ถ้ำเข้าไปในหน้าภูเขาหวูโจวใกล้เมืองหลวง โดยมีการแกะสลักพระพุทธรูป 1 องค์ไว้ในแต่ละถ้ำ องค์ที่สูงที่สุด 54 ฟุต และอีกองค์หนึ่ง 46 ฝีมืองานแกะสลักเป็นเลิศไม่มีที่เทียบเทียม

เมืองปิงเชิง (ต้าถง) ซึ่งเป็นเมืองหลวงขณะนั้น เป็นที่รวบรวมครอบครัวถึง 3 หมื่นครอบครัวทั้งข้าราชการ ชาวนา และพระสงฆ์ที่อพยพมาจากเมืองเหลียงโจว ทั้งยังมีประชากรอีก 1 แสนที่มาจากชานตุง ฉางอัน และทางตะวันออกฉียงเหนือของจีน เมื่อมีประชากรชาวพุทธมากขึ้น งานการสร้างถ้ำจึงทำได้อย่างดีที่สุด

งานการขุดเจาะและแกะสลักถ้ำหยุนกังใช้เวลากว่า 60 ปี เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.460 ไปเสร็จเอาในปี 524 จากสมัยของจักรพรรดิเว็นเชิงไปสิ้นสุดเอาในสมัยจักรพรรดิเซียวหมิง

งานที่ถ้ำหยุนกังนี้ เราอาจจะพิจารณาได้เป็นสามเฟส

ถ้ำ 16 ถึง 20 นับเป็นงานของเฟสแรก เรียกว่า 5 ถ้ำตันเหยา เป็นงานในรัชสมัยของจักรพรรดิเว็นเชิงตี้ (ค.ศ.460-465)

ถ้ำหมายเลข 1, 2, 5 ถึง 13 เป็นงานในเฟส 2 ตั้งแต่ ค.ศ.470-494 เป็นช่วงที่จักรพรรดิเซียวเหว็นย้ายเมืองหลวงไปลั่วหยาง

ถ้ำที่ 20 ไปจนสุดทางตะวันตก เป็นเฟสที่ 3 (ค.ศ.494-524)

 

เช้าวันที่เราไปถึงนั้น หนาวเย็นมากเป็นพิเศษ อุณหภูมิติดลบ ในขณะรอให้สุลิน ไกด์ของเราไปซื้อตั๋ว เราก็ได้ถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน ทางเข้าเป็นเสาสูงเป็นแนวเข้าไป แต่ละต้นมีช้าง 6 งาแบกรับ เป็นหินแกะสลักมีคน 5-6 คนสูบบุหรี่ควันโขมง

เป็นปัญหาของจีนค่ะ

โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟ เพราะเขาสูบบุหรี่ในขบวนรถไม่ได้ พอถึงสถานี ต้องรีบออกมาฆ่าตัวตายผ่อนส่งโดยการอัดบุหรี่ ทั้งควันทั้งกลิ่นจะพาเราตายไปด้วย

ปรากฏว่าช่วงที่เรานั่งรอตั๋วอยู่นั้น พวกนี้ก็ถ่ายรูปเราด้วย มารู้เอาตอนจบว่า เป็นอาชีพของเขา ก็ตอนที่เขาเอารูปที่ถ่ายเรามาขายนั่นแหละ แต่พวกนี้ทำงานกันว่องไวมาก ขายรูปละ 10 หยวน (50 บาท) พวกเราก็ซื้อไปหลายคน ทั้งที่เราก็มีรูปในกล้องทั้งสิ้น

ตั๋วพร้อมแล้วค่ะ เราขึ้นรถเล็กใช้แบตเตอรี่ พาเราไปที่ถ้ำ เนื่องจากรถเปิดนั่งเป็นแถวๆ แถวละ 3 คน มีสัก 4 แถวกระมัง ลมโกรกหนาวทีเดียว ต้องดึงเสื้อแจ๊กเก็ตให้กระชับตัว

การเข้าชมถ้ำที่นี่ เดินเข้าชมถ้ำใดอย่างใดก็ได้ ถ่ายรูปก็ได้ โดยไม่ให้ใช้แฟลช ตรงนี้ต่างจากที่ตุนฮวางอย่างสิ้นเชิง ที่ตุนฮวางทุกถ้ำปิดใส่กุญแจ จะมีเจ้าหน้าที่นำชมถ้ำ ตามที่เขาสะดวก ครั้งหนึ่ง 1 ชั่วโมง 15 นาที ได้ชมสัก 5 ถ้ำเท่านั้น ส่วนที่นี่เรามีอิสระกว่ามาก

แน่นอนที่สุด มองในทางกลับกัน การเสื่อมสภาพของที่นี่ก็จะไปเร็วกว่า อีกทั้งลักษณะถ้ำเป็นหินปนดิน รูปแกะสลักก็เป็นหินโดยใช้ดินเหนียวพอก ทำพื้นให้เรียบแล้วทาสี

ความแตกต่างน่าจะอยู่ที่ทีท่าของรัฐบาลท้องถิ่น ว่าจะเห็นความสำคัญที่จะอนุรักษ์ถ้ำอย่างไร

 

แต่ความงามของที่นี่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย ถ้ำใหญ่จะมีอยู่ 3-4 ถ้ำ เรียกว่า อลังการงานสร้างจริงๆ เมื่อเราเข้าไปยืนในถ้ำ พระพุทธรูปที่อยู่ด้านหน้า องค์ใหญ่ บางองค์ไม่เห็นหน้า ต้องออกไปนอกถ้ำ เพื่อมองดูพระพักตร์ของท่านจากช่องโหว่ที่ได้ระดับกับพระพักตร์ของท่านพอดี ผนังถ้ำตั้งแต่ด้านซ้ายที่เราเข้ามา แกะสลักเป็นสามชั้น พระพุทธรูปที่อยู่ในแต่ละช่อง มีงานศิลปะประดับทั้งกรอบ ซึ่งเป็นด้านตั้ง และพื้นในแต่ละชั้น ทำให้ดูเหมือนท่านอยู่กันคนละชั้น อย่างน้อยก็ 3 ชั้น เราต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่าทีเดียว

เราเดินไปทางซ้าย โดยให้พระพุทธรูปองค์กลางอยู่ทางขวามือของเรา เป็นการถวายความเคารพ พวกเราจะเดินเข้าไปดูในลักษณะเดียวกันแทบทุกคน ด้วยความตื่นตะลึงในความอัศจรรย์ของงานที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าของเรา

ความรู้สึกเหมือนถูกสะกด เต็มตื้นด้วยความปีติ ที่เห็นการแสดงออกของความศรัทธาอย่างเป็นรูปธรรมในงานศิลปะที่เห็นอยู่เบื้องหน้า

เราค่อยๆ เดินอ้อมไปข้างหลัง แม้พระพุทธรูปองค์ที่อยู่ตรงกลาง พอไปด้านหลังก็เป็นรูปแกะสลักพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์อีก

ตรงมุม จะมีดวงไฟส่องสว่างให้เราได้ชมความงามของงานศิลปะ อันนี้ก็เช่นกัน ต่างจากที่ตุนฮวาง ที่นั่นไม่มีแสงไฟ เราเดินในความมืดค่ะ ที่นี่เราก็เลยได้มีโอกาสถ่ายรูป พวกเราบางคนมีกล้องคุณภาพก็สามารถถ่ายรูปดีๆ ไว้หลายรูป

เฉพาะถ้ำหยุนกัง ขอต่ออีกตอนหนึ่งนะคะ