มอง พัฒนาการ ความรักของ วัลยา กับ ปีศาจ ในทาง ความคิด

ใน “ความรักของวัลยา” มีวัลยาเป็นตัวเอก เป็นตัวเด่น ขณะเดียวกัน ก็มี ยง อยู่บางยาง มาเป็นส่วนประกอบอย่างมีนัยสำคัญ

บทบาทของ ยง อยู่บางยาง เหมือนกับเป็น “ตัวประกอบ”

แต่ถ้าพิจารณาอย่างจำแนก แยกแยะ ความเป็น “ตัวประกอบ” นี้ไม่เพียงแต่ทำให้วัลยามีความโดดเด่น หากแต่ยังทำให้ปัญหาหลายปัญหาซึ่งมีการถกเถียงอย่างหน้าดำคร่ำเครียดในหมู่ปัญญาชนเพิ่มความกระจ่างมากยิ่งขึ้น

หากมองอย่างสัมผัสได้ในแนวโน้มที่เสนอเข้ามาอย่างใหม่ ไม่เพียงแต่วัลยาหรอกที่เป็นความใหม่ หาก ยง อยู่บางยาง ยิ่งเป็นความใหม่

เหมือนกับปรากฏขึ้นอย่างไร้ร่องรอย แต่ก็สามารถอธิบายได้

ยง อยู่บางยาง นั้นเองประสานระหว่าง “ปัญญาชน” ให้เชื่อมเข้ากับชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ใช้แรงงาน

ทั้งมิได้เป็นผู้ใช้แรงงานเฉพาะถิ่น หากแต่เป็นแรงงานในทาง “สากล”

การปรากฏขึ้นของ ยง อยู่บางยาง จึงเหมือนกับเป็นสินค้าตัวอย่างที่อาจสร้างความตื่นตะลึงแต่ก็ยังมิได้จำหลักอย่างหนักแน่นในทางความคิด

การมอง “ความรักของวัลยา” จึงต้องมองอย่างสัมพันธ์กับ “ปีศาจ”

เรื่อง “ความรักของวัลยา” เป็นกิจกรรมของปัญญาชน ชนชั้นกลางแท้ๆ นั่นก็คือเป็นกิจกรรมในทางความคิด ในการถกเถียง แสดงวาทกรรม

อาจมีความขัดแย้งบ้าง แต่ก็สามารถหาทางลงได้

ตัวอย่างของความเห็นต่างระหว่างวัลยากับเรวัตร ตัวอย่างของความเห็นต่างระหว่างไพจิตรกับเตือนตา

เด่นชัดยิ่งในเรื่องของ “มุมมอง” ต่อ “ชีวิต”

การสอดแทรกวิถีแห่งความคิดของจิตรกรเรอเนผู้อยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางมหานครปารีส คือภาพสะท้อนต่อวิถีดำเนินภายในโลกของศิลปะ

ความต่างระหว่าง “สัจจะ” กับ “เหนือสัจจะ”

สภาวะแห่งความตื่นรู้ของเรอเนมิได้ดำรงอยู่ภายในความครุ่นคิดเพียงด้านเดียว ตรงกันข้าม การแสดงออกของเด็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อสงครามและสันติภาพต่างหาก กลายเป็นจุดตัดนำความเปลี่ยนแปลงมาให้กับเรอเนอย่างลึกซึ้ง

เหมือนกับเป็นการตื่นรู้อย่างฉับพลันทันใด แต่ในความเป็นจริงคือการสะสมในเชิงปริมาณกระทั่งกลายเป็นคุณภาพใหม่

เหมือนน้ำกลายเป็นไอ เหมือนเมฆกลายเป็นฝน

เมื่อเขียน “ปีศาจ” การถกเถียง อภิปราย ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะระหว่างรัชนี กับ สาย สีมา หรือระหว่าง สาย สีมา กับ ท่านเจ้าคุณบิดาของรัชนี

แต่เมื่อตกมาถึง “กิ่งเทียน” กลับกลายเป็น “การปฏิบัติ”

นั่นก็คือ แปรนามธรรมในทาง “ความคิด” ให้กลายเป็นรูปธรรมด้วยการลงมือ “ทำ” อย่างเป็นจริง

นั่นก็คือ การนำเอามือหยาบกร้านให้แม่ลูบไล้

หรือแม้กระทั่งการเข้าไปสัมผัสกับความเป็นจริงในชนบท ภาวะหนี้สินและการจะถูกฟ้องร้องยึดครองที่ดินของชาวนา

การนำเอาภาพของ “ชาวนา” ในชนบทมาเปรียบเทียบกับ “คนจน” ในมหานคร

“ความรักของวัลยา” จึงแสดงออกในลักษณะตระเตรียมในทางความคิด ขณะที่ “ปีศาจ” นำเอาความขัดแย้งที่เป็นจริงมาฉายปะทะให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

รัชนีจึงมิได้มีแต่รำพึงรำพันแบบวัลยา

สาย สีมา จึงมิได้มีแต่คิดแล้วคิดอีกแบบวัลยา หากแต่ลงไปสัมผัสกับความเป็นจริงทั้งในเมืองและในชนบทแล้วตัดสินใจ

การดำรงอยู่ของ “ปีศาจ” จึงสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของ “ความรักของวัลยา” แม้มิได้ในทางตัวละคร แต่ก็ในทางความคิด

นี่เป็นพัฒนาการของ เสนีย์ เสาวพงศ์ อย่างทรงความหมาย

เป็นพัฒนาการจากระบวนท่าในแบบ “จินตนิยมใหม่” เข้าสู่กระบวนท่าในแบบ “อัตถนิยมใหม่”

เป็นการประสาน “ทฤษฎี” เข้ากับ “การปฏิบัติ”