ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ศักราช กับระบบปฏิทิน ในนามของอำนาจรัฐ และศาสนา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้เราจะมีระบบปฏิทิน หรือศักราช ที่คนไทยรู้จักกันดีอยู่อย่างน้อย 3 แบบคือ พุทธศักราช (พ.ศ.) ซึ่งใช้เป็นหลักเฉพาะในประเทศไทย แบบไทยแลนด์โอนลี่, คริสต์ศักราช (ค.ศ.) ซึ่งใช้กันโดยทั่วไปอย่างสากลของชาติส่วนใหญ่ และฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) ที่ใช้กันในหมู่พี่น้องชาวมุสลิม และใช้เป็นหลักในประเทศมุสลิมบางประเทศ

แต่ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นการนับปีศักราช ที่มีที่มาที่ไปจากอะไรที่เรียกว่า “ศาสนา” เหมือนกันทั้งสิ้นนั่นเอง

“พุทธศักราช” ตั้งต้นมาจากปีที่เชื่อกันว่าเป็นปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ซึ่งสำหรับในไทยที่เชื่อตามอรรถกถาจารย์จากลังกาทวีปแล้วก็ตรงกับเมื่อ 543 ปีก่อน ค.ศ. เพราะนับว่าปีนั้นคือ พ.ศ.0

แต่ในศรีลังกา รวมถึงพม่า ลาว และกัมพูชา เขาไม่นับอย่างเรานะครับ เพราะพวกเขาถือตรงกันว่า ปีที่เสด็จปรินิพพานนั้นเป็น พ.ศ.1 ดังนั้น ปีพุทธศักราชสำหรับชนชาติที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทอื่นๆ นั้น จึงมากกว่าของไทยเราอยู่ 1 ปี

และเอาเข้าจริงแล้ว ในภายหลังก็มีการเสนอกันว่า พวกอรรถกถาจารย์ในลังกาทวีปนั้น ได้คำนวณปีศักราชที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานคลาดเคลื่อนไป 60 ปี คืออันที่จริงแล้ว พระองค์ควรที่จะปรินิพพานไปเมื่อ 483 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อ พ.ศ.60 ถ้านับแบบด้วยวิธีแบบไทยต่างหาก

 

“คริสต์ศักราช” หรือ ค.ศ. ฝรั่งใช้ตัวอักษรย่อว่า “AD” เป็นตัวย่อมาจากคำในภาษาละตินยุคกลาง (Medieval Latin) ที่ว่า “anno Domini” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ในปีของท่านลอร์ด” (Lord)

แต่ในโลกของภาษาอังกฤษนั้น คำว่า “ลอร์ด” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเจ้า, เจ้านาย, เจ้าของที่ดิน, บรรดาศักดิ์ชั้นสูงของขุนนาง หรือบรรดาศักดิ์ของพระในคริสต์ศาสนาเท่านั้น เพราะในภาษาเขียน เมื่อสะกดตัวอักษรนำคือตัว “L” ด้วยตัวเขียนใหญ่ หรือตัวพิมพ์ใหญ่แล้ว ก็จะมีความหมายถึง “พระเยซูคริสต์” หรือ “พระผู้เป็นเจ้า” เป็นการเฉพาะ

และเอาเข้าจริงแล้วคำว่า “anno Domini” นั้น ก็เป็นคำพูดย่อๆ มาจาก “anno Domini nostri Jesu Christi” คือ “ในปีของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นเจ้า”

โดยนับเริ่ม ค.ศ.1 ตั้งแต่ปีที่พระเยซูประสูติที่เมืองนาซาเร็ธ (Nazareth) ในเขตประเทศอิสราเอลปัจจุบัน

 

ส่วน “ฮิจเราะห์ศักราช” นั้น ท่านอุมัรที่ 1 (Umar I) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลิฟะห์ (หรือที่มักเรียกว่า กาหลิบ, Caliph) ท่านที่ 2 เมื่อระหว่าง พ.ศ.1177-1187 (แน่นอนว่า พ.ศ.ในที่นี้นับตามแบบไทย) ได้ประกาศว่า วันแรกของเดือนมุฮัรรอม (Muharram) พ.ศ.1165 (ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.1165) เป็นวันที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม ได้อพยพผู้คนจากเมืองมักกะฮ์ ไปยังเมืองยาธริบ (คือเมืองมะดีนะฮ์ ในปัจจุบัน)

ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในศาสนาอิสลาม

จึงถือเป็นวันเริ่มต้นของฮิจเราะห์ศักราช โดยได้กำหนดเอาไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า ระบบการนับปีศักราชเหล่านี้ ล้วนแต่ใช้เหตุการณ์สำคัญในศาสนาของตนเองเป็นที่ตั้ง แต่ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้แล้ว พวกเขาจะนับปีศักราชอย่างไรกันเล่าครับ?

ในกรณีของคริสต์ศาสนานั้น มีบันทึกเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.1068 พระสันตะปาปาเซนต์พอลที่ 1 (St. Paul I) ได้มอบหมายให้คุณพ่อ (abbot, เทียบได้กับเจ้าอาวาส) ไดโอนิซิอุส เอ็กซิกุอุส (Dionysius Exiguus) ผู้ลืมตาขึ้นมาดูโลกในพื้นที่แถบที่เรียกว่า ซิเถียนไมเนอร์ (Scythia Minor/Lesser Scythia) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศโรมาเนีย และบัลแกเรียในปัจจุบันนี้ ได้คำนวณวันอีสเตอร์ (คือวันที่เชื่อกันว่า พระเยซูฟื้นคืนชีพหลังถูกตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์) ให้ถูกต้องแม่นยำที่สุด

ผลจากการคำนวณคุณพ่อเอ็กซิกุอุสในครั้งนั้นก็ทำให้โลกได้รู้จักกับอะไรที่เรียกว่า “คริสต์ศักราช” เป็นครั้งแรก เพราะการคำนวณในครั้งนั้น ทำให้คุณพ่อคนนี้ต้องระบุลงไปอย่างชัดเจนให้ได้ว่า พระเยซูได้ประสูติ-ดำรงพระชนม์ชีพ-สิ้นพระชนม์ (แล้วฟื้นคืนชีพใหม่) ในช่วงปีศักราชใดกันแน่?

จนทำให้คุณพ่อเอ็กซิกุอุสได้แนะนำให้ชาวคริสต์ (ซึ่งเป็นคนหมู่มากในยุโรปยุคนั้น) หันมาใช้ระบบปฏิทินแบบคริสต์ศักราชแทนระบบปฏิทินแบบเดิม

 

แต่กว่าที่ปฏิทินแบบที่เรียกว่า คริสต์ศักราช จะได้รับความนิยมจนทั่วก็ใช้เวลาอยู่นานโขทีเดียว

เพราะถึงแม้ว่าจะเริ่มมีการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ.1219 แต่สำนักวาติกัน (ในโทษฐานที่เป็นผู้ให้กำเนิดระบบปฏิทินแบบคริสต์ศักราชเองนั่นแหละ) จะหันมาใช้ระบบคริสต์ศักราชในเอกสารทางการของพวกเขา ก็ต้องรอมาจนถึงสมัยของพระสันตะปาปาจอห์นที่ 13 (John XIII) ที่ดำรงตำแหน่งโป๊ปอยู่ระหว่าง พ.ศ.1508-1515 โน่นเลย

การคำนวณของคุณพ่อเอ็กซิกุอุสในครั้งนั้น ทำให้ท่านมั่นใจว่า พระเยซูประสูติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ปี 753 AUC (ส่วนจะถูกต้องตามที่คุณพ่อท่านนี้ว่าหรือเปล่านั้น? ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

แต่เนื่องจากในยุคของคุณพ่อท่านนี้ก็มีธรรมเนียมเริ่มนับขึ้นปีใหม่ในทุกวันแรกของเดือนมกราคม ในแต่ละปีแล้ว จึงทำให้ท่านถือเอาวันที่ 1 มกราคม ปี 754 AUC เป็นการเริ่มต้นปีที่ 1 แห่งคริสต์ศักราช

และก็เป็นเจ้าระบบปฏิทินแบบ AUC ที่ว่านี่แหละ ที่สำนักวาติกันยังใช้ในหนังสือราชการของตนเอง จนเปลี่ยนมาใช้ระบบการนับเป็นคริสต์ศักราชในสมัยของโป๊ปจอห์นที่ 13

“AUC” นั้นเป็นตัวย่อมาจากภาษาละตินที่ว่า “ab urbis condita” ที่แปลว่า “นับตั้งแต่การสร้างโรม” (บ้างก็ว่ามาจาก “ab urbis conditae” ที่แปลว่า “นับตั้งแต่ปีที่สร้างโรม”)

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่สำนักวาติกัน ที่อยู่ติดกับกรุงโรม จะใช้ระบบการนับปีศักราชแบบที่ว่านี้

 

ไม่ต้องสังเกตอะไรให้มากความก็คงจะเห็นกันได้ชัดๆ อยู่แล้วนะครับว่า ระบบปฏิทิน AUC นี้ ไม่ได้อ้างอิงอยู่กับเหตุการณ์สำคัญในศาสนาเหมือนอย่างคริสต์ศักราช พุทธศักราช หรือฮิจเราะห์ศักราช แต่อ้างอิงอยู่กับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองการปกครองของรัฐ ซึ่งก็คือการสร้างกรุงโรม

แต่วิธีการนับปีศักราชโดยอ้างอิงจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองการปกครองนั้น ก็ไม่ได้มีเฉพาะแบบที่อ้างจากปีสถาปนารัฐเท่านั้น

แต่ยังมีวิธีการอ้างอิงอีกแบบหนึ่งที่พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ ในกระแสธารของประวัติศาสตร์โลก และน่าจะเป็นแบบที่เก่าแก่ยิ่งกว่าคือ การนับเป็น “รัชศก” หรือ “รัชศักราช”

หรือการนับตามปีที่กษัตริย์แต่ละพระองค์ขึ้นครองราชย์ เช่น ปีที่ 1 ในรัชกาลของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ หรือปีที่ 5 ในรัชกาลของพระจักรพรรดิถังไท่จง เป็นต้น

ควรจะสังเกตด้วยว่า วิธีการนับแบบเป็นรัชศกนี้ อาจจะไม่ได้ยุ่งยากในกรณีของลำดับราชวงศ์ หรือการปกครองภายในรัฐเดียว เพราะสามารถนำลำดับรัชสมัยของกษัตริย์มาเรียงต่อกันก็จะได้ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ไม่ยาก แต่คงจะ (โคตร) ยุ่งยากและวุ่นวายจะตายชัก เมื่อต้องพูดถึงรัฐตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป (และจะยิ่งวุ่นขึ้นไปอีกถ้ามีหลายๆ รัฐ ซึ่งมักจะจดบันทึกเหตุการณ์บางอย่าง โดยมีรายละเอียดไม่ต้องตรงกันนัก)

เมื่อคิดในแง่นี้แล้ว การอ้างอิงศักราชจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองการปกครอง อย่างเดียวกับพวกโรมัน ก็ดูจะชวนให้ปวดกะโหลกน้อยกว่าการอ้างอิงจากมหาบุรุษ ผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวในแต่ละยุคสมัย

ซึ่งระบบปฏิทินของโรมนั้น ก็ไม่ได้อยู่ๆ จะเกิดขึ้นมาเอง แต่ก็ผ่านกระบวนการปรับปรุงเรื่อยมาทั้งจากปฏิทินของพวกกรีก หรือพวกบาบิโลนโบราณ (ที่ก็จะถูกปรับปรุง และสืบสายอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง จนถูกแทนที่ด้วยฮิจเราะห์ศักราช เมื่อศาสนาอิสลามมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคแห่งนี้)

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าระบบปฏิทินแบบรัชศก จะต้องถูกแทนที่ด้วยปฏิทินที่อ้างอิงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองการปกครองเสมอไป เพราะหลายครั้ง รัชศกของกษัตริย์ผู้มีบารมีมหาศาลก็จะกลายเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ ที่ใช้สำหรับอ้างอิงในระบบปฏิทิน เช่น พระเจ้ากณิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ เป็นต้น

ราชวงศ์กุษาณะนั้น เป็นราชวงศ์ของพวกซิเถียน ซึ่งเป็นพวกเร่ร่อน แต่ชนชาวชมพูทวีปเรียกคนพวกนี้ว่า “ศกะ” แต่เดิมมีศูนย์กลางอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ต่อมาได้แผ่อำนาจลงมายึดครองพื้นที่ละแวกลุ่มน้ำคงคา-ยมุนา ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียได้เกือบทั้งหมดในรัชสมัยของพระเจ้ากณิษกะ เมื่อ พ.ศ.621 จึงถือว่าเป็นปีเริ่มต้นรัชศกของพระเจ้ากณิษกะ ที่ชาวอินเดียเรียกว่า “ศกาพทะ” แปลว่า “ปีของชาวศกะ” นั่นเอง (บางทีเรียก “ศาลิวาหนะกาล” เพราะบางตำนานเล่าว่า เป็นปีเริ่มต้นรัชกาลของกษัตริย์อีกพระองค์ที่ทรงพระนามว่า ศาลิวาหนะ)

การนับศักราชที่ชาวอินเดียเรียกว่า “ศกาพทะ” ได้แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มรับวัฒนธรรมศาสนา (และสารพัดศาสตร์อื่นๆ) จากชมพูทวีป

จนในที่สุดก็ถูกนำมาใช้เป็นหลักแทนระบบปฏิทินแบบพื้นเมืองต่างๆ ที่เคยมีอยู่ แต่รู้จักกันในชื่อ “มหาศักราช” (ม.ศ.) และใช้กันทั่วไปในราชสำนักต่างๆ ของภูมิภาคแห่งนี้

 

ความสำคัญของมหาศักราชในภูมิภาคอุษาคเนย์นี้ก็ไม่ต้องไปดูที่ไหนให้ไกล แค่คำว่า “ศักราช” ที่ใช้เรียกระบบนับปีนั้น ก็มาจากคำว่า “ศกะ” คือพวกศกะ กับคำว่า “ราชะ” ซึ่งก็คือกษัตริย์กันอยู่เห็นๆ แล้วนี่ครับ

หลังจากรับระบบปฏิทินเหล่านี้มาจากอินเดียแล้ว ก็คงจะมีการปรับเปลี่ยนไปตาม “อำนาจ” ความสำคัญของเหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย เช่น ระบบปฏิทินแบบ “จุลศักราช” (จ.ศ.) ที่มีใช้อยู่ทั้งในพม่า ล้านนา สุโขทัย และอยุธยานั้น ก็มีผู้สันนิษฐานว่า นับตามปีที่พระเจ้าสุริยวิกรม ของพวกพิว (Pyu, ที่เอกสารไทยมักจะถอดเสียงออกมาว่า ปยู หรือ พยู) แห่งศรีเกษตร ในประเทศพม่าปัจจุบัน มีพระชนม์ครบ 16 ชันษา แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.1181

ในกรณีของไทยก็มีการแปลงศักราชเพื่ออ้างอิงถึงศูนย์กลางอำนาจที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยเช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สยามกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากเจ้าอาณานิคม ก็ได้ทรงประกาศให้ประเทศเปลี่ยนมาใช้ระบบ “รัตนโกสินทร์ศก” (ร.ศ.) ที่เริ่มนับจาก พ.ศ.2325 ปีสถาปนากรุงรัตรโกสินทร์ (ไม่ต่างอะไรกับปฏิทินแบบ AUC ที่นับจากปีสร้างกรุงโรม)

หรือในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงประกาศให้ประเทศเปลี่ยนมาใช้ระบบปฏิทินแบบ “พุทธศักราช” ซึ่งก็คือปฏิทินที่อ้างอิงจากเหตุการณ์สำคัญในศาสนา ไม่ต่างไปจากคริสต์ศักราช ซึ่งชาติที่ถือตนว่าเป็นอารยะใช้กันโดยทั่วไป โดยทรงให้เหตุผลว่า พุทธศักราชจะช่วยเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้

เอาเข้าจริงแล้ว ระบบปฏิทิน หรือชื่อเรียกศักราช จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ใช้สำหรับลำดับ หรือบอกเวลาให้กับเราเท่านั้นหรอกนะครับ เพราะยังใช้ในการหลอมรวมผู้ที่ใช้ระบบปฏิทินเหล่านั้นให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผ่านทางเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง หรือศาสนา เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างเหมือนๆ กันไปเกือบทั้งหมดนั่นแหละ