บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ ‘จาตุรนต์’ ผิดหวัง ‘ธีรยุทธ’??

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘จาตุรนต์’ ผิดหวัง ‘ธีรยุทธ’??

การปาฐกถาในหัวข้อ “มองปัญหาประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” โดยนายธีรยุทธ บุญมี อดีตคนเดือนตุลาฯ ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ยังสามารถเรียกความสนใจได้อย่างคงเส้นคงวา ถูกนำเสนอเป็นข่าวใหญ่ในสื่อเกือบทุกแขนง

สำหรับคนทั่วไป ที่ไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองสุดขั้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับปาฐกถาของนายธีรยุทธ เพราะส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่วิเคราะห์ออกมาเป็นเรื่องที่ยากจะเถียง ฟังแล้วก็ต้องพยักหน้าเห็นด้วยว่า “เออใช่…เออใช่” เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ศูนย์กลางการวิเคราะห์ของนายธีรยุทธครั้งนี้อยู่ที่สองซีกการเมืองใหญ่คือรัฐบาลปัจจุบัน กับอดีตรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการเปรียบเทียบว่ากลยุทธ์การหาเสียงของรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อชนะเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ มีวิธีการไม่ต่างไปจากสมัยรัฐบาลทักษิณ นั่นคือก่อนการเลือกตั้งมีการเอารัดเอาเปรียบ มีการใช้ประชานิยมมาสัมปทานเสียงจากประชาชน

“การเลือกตั้งปี 2562 จะเป็นการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล ไม่ใช่การซื้อเสียง คล้ายการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งพรรคของนายทักษิณทำได้เก่ง เพราะประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล มีการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ ผมขอวิงวอนว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้อย่าให้สังคมสรุปว่ามีอำนาจต่างๆ ทำให้เกิดการโกงเลือกตั้ง แบบสมัยเผด็จการทหารปี 2500”

ตอนหนึ่งของปาฐกถาระบุเอาไว้

 

หากวางใจเป็นกลาง ปาฐกถาของนายธีรยุทธ ถือเป็นการเตือนสตินักการเมืองทุกฝ่าย แต่เน้นหนักไปที่ฝ่ายรัฐบาลผู้มีอำนาจในปัจจุบันให้ระมัดระวัง อย่าให้ถูกมองว่าใช้อำนาจสร้างความได้เปรียบการเลือกตั้ง

หากเทียบน้ำหนักแล้ว คนที่ตกเป็นเป้าหลักของนายธีรยุทธน่าจะเป็นรัฐบาล คสช.มากกว่า

แต่ถึงกระนั้น สำหรับนักการเมืองอย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.-ถูกแซวว่าย่อมาจากทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรค “แบงก์ย่อย” ของพรรคเพื่อไทย กลับเป็นเดือดเป็นร้อน

เพียงเพราะนายธีรยุทธไปแตะคุณทักษิณ เรื่องที่ว่าเคยใช้วิธีประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว (ผ่านโครงการประชานิยม)

นายจาตุรนต์ออกมาตอบโต้ โดยอ้างว่าสิ่งที่นายธีรยุทธพูดเกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณเป็นการบิดเบือนข้อมูลและไม่เหลือความเป็นวิชาการอยู่เลย

และอ้างอีกว่า นโยบายและโครงการของพรรคไทยรักไทยไม่ใช่การแจกเงินหาเสียงอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน

นายจาตุรนต์ยังตั้งข้อหานายธีรยุทธว่า พูดเพื่อกลบเกลื่อนความเลวร้ายของการใช้งบประมาณหาเสียงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และส่งเสริมการสืบทอดอำนาจเผด็จการที่แฝงเร้นด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง

 

การตอบโต้ว่าสิ่งที่นายธีรยุทธพูด ขาดความเป็นวิชาการและบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกล่าวหาที่ไม่ยุติธรรมและเต็มไปด้วยอคติ เข้าข้างอดีตเจ้านายและอดีตพรรคของตัวเอง เพราะสิ่งที่นายธีรยุทธพูดนั้น ชาวบ้านเขารู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง นักวิชาการจำนวนมากก็ชี้ชัดว่าสิ่งที่คุณทักษิณทำคือประชานิยม ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำ เพียงแต่รัฐบาลนี้ต่อยอดเป็นซูเปอร์ประชานิยมมากเข้าไปอีก

รัฐบาลทักษิณให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายก็จริง แต่ผลร้ายที่ตามมาก็คือชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินกันมาก และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่น เงินกองทุนหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ก็กู้ไปกินไปใช้ ไม่ได้นำไปลงทุน สร้างอาชีพ

การกระตุ้นให้ชาวบ้านเป็นหนี้ ด้วยสโลแกนที่ว่า “ไม่เป็นหนี้ ไม่รวย” แถมในบางกรณีทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเงินที่นำมาให้เป็นเงินส่วนตัวคุณทักษิณ ก็ยิ่งก่อความเสียหายมาก

เมื่อกระตุ้นและจูงใจให้ชาวบ้านกล้าเป็นหนี้ แต่ไม่ยอมให้ความรู้หรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าก่อนจะกู้เงินต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง ต้องมีวินัยและความรับผิดชอบในการชำระหนี้ ผลลัพธ์ก็ออกมาอย่างที่เห็น คือหนี้ครัวเรือนของคนไทยพุ่งสูงมากกว่าที่เคยเป็นมา ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

นายจาตุรนต์กล้าพูดหรือไม่ว่า นโยบายคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ดีกว่ารัฐบาลอื่น หรือทำให้ชาวบ้านรวยขึ้นกว่ารัฐบาลอื่นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรูปแบบการบริหารประเทศของคุณทักษิณก็เป็นอย่างที่นายธีรยุทธกล่าว

“เป็นการปกครองโดยคนกลุ่มน้อยที่เรียกว่าคณาธิปไตย ให้นายทุนใหญ่เข้ามามีอำนาจ โดยใช้ประชานิยมเป็นหลัก มีการรวมศูนย์อำนาจและคอร์รัปชั่นแบบสุดขั้ว มีการคิดคำนวณว่าจะใช้เงินเท่าไหร่จึงจะชนะ”

 

หากสังเกตจะพบว่า นายจาตุรนต์เลือกตอบโต้ในบางประเด็น เช่น ประเด็นที่ว่านโยบายรัฐบาลทักษิณไม่ได้ใช้วิธีประมูลเสียงชาวบ้าน แต่ไม่กล้าโต้แย้งในประเด็นที่คุณทักษิณรวมศูนย์อำนาจและคอร์รัปชั่นแบบสุดขั้ว

แถมนายจาตุรนต์เคยอยู่พรรคความหวังใหม่ที่ถูกคุณทักษิณควบรวมกิจการเข้ากับไทยรักไทยเพื่อให้มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จในสภา ไม่ต่างจากการถูกสัมปทานมานั่นเอง

นายธีรยุทธไม่ได้พูดแบบสะใจ เอามัน หรือด่ารัฐบาลแบบโต้งๆ ตรงไปตรงมา เพราะนายธีรยุทธมีวุฒิภาวะ ไม่ได้อยู่บนเวทีปราศรัยของพวกฮาร์ดคอร์ทางการเมือง จึงอาจไม่ถูกใจนายจาตุรนต์

คนมีวุฒิภาวะ จะมีวิธีนำเสนอความคิดอย่างรอบคอบ มีกุศโลบาย ไม่จำเป็นต้องเอาหัวไปชนกำแพง

จะให้ธีรยุทธในวันนี้ซึ่งมีอายุ 68 ปี ใช้คำพูดหรือวิธีการแบบตอนเป็นนักศึกษาอายุ 20 ปี ก็คงเป็นเรื่องโง่เขลา เพราะเท่ากับว่าเป็นคนที่ไม่มีพัฒนาการไปตามวัยและประสบการณ์ เหมือนคนขับรถ ที่แม้จะขับมาหลายปี แต่ยังขับไม่คล่อง ชนโน่นชนนี่ ไม่ได้ต่างไปจากวันแรก ก็เป็นเรื่องน่าห่วง

คนที่มีพัฒนาการและประสบการณ์ไปตามวัยโดยทั่วไป หากวันนี้มีอายุ 50-60 ปีเมื่อมองย้อนหลังกลับมาอย่างน้อยก็จะต้องยอมรับว่าหลายเรื่องที่ทำไปตอนอายุ 20 ปีเป็นเรื่องไม่เข้าท่า ไม่น่าทำ และไม่เท่

นายจาตุรนต์อาจเข้าข่ายคนที่ไม่มีพัฒนาการ คือแช่แข็งวิธีคิดและมุมมองตัวเองไว้เหมือนตอนอายุ 20 ปี

 

หากถอดรหัสคำพูดของนายธีรยุทธให้ดี จะเห็นว่าเนื้อใหญ่ใจความคือการเตือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่าใช้อำนาจในทางที่ผิดจนทำให้ถูกมองว่าเอารัดเอาเปรียบในการเลือกตั้ง นำไปสู่การเลือกตั้งที่สกปรก เพราะจะทำให้มีความชอบธรรมต่ำแม้จะได้เป็นนายกฯ อีกสมัย แต่จะอยู่ได้ไม่นาน

สาระดีๆ เช่นนี้ทำไมนายจาตุรนต์ไม่ชมนายธีรยุทธ

หากจะขุดคุ้ยเข้าไปอีก นายจาตุรนต์ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า สมัยคุณทักษิณ ที่นายจาตุรนต์ร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย คุณทักษิณทำสิ่งที่มิชอบหลายอย่าง แต่ดูเหมือนนายจาตุรนต์ก็ไม่ได้แสดงความกล้าหาญที่จะติติง อย่างเรื่องการฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด การพูดจาแบ่งแยกเลือกปฏิบัติกับประชาชน ยังไม่นับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เงินรัฐ เงินเรา กระเป๋าเดียวกัน

เมื่อคุณทักษิณทำผิดหลายเรื่องเข้า ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยหลายคนเดินจากคุณทักษิณมาเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นนายคณิต ณ นคร (อดีตอัยการสูงสุด) ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นต้น

แต่ทำไมคนที่เชื่อว่าตัวเองมีอุดมการณ์แรงกล้าอย่าง “สหายสุภาพ” (จาตุรนต์) คนเดือนตุลาฯ ที่น่าจะมีความรู้สึกผิดถูกมากกว่าคนอื่น จึงยังอยู่ร่วมชายคาคุณทักษิณ

นายจาตุรนต์บอกว่า ไม่น่าเชื่อและพูดในทำนองผิดหวังที่นายธีรยุทธ ในฐานะคนที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ไม่แสดงการคัดค้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

การผิดหวังก็เป็นเรื่องมุมมองของนายจาตุรนต์ ที่เลือกหยิบแค่บางประเด็นที่ตัวเองไม่ถูกใจมาตำหนิ ขณะที่นายธีรยุทธเองก็ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้ใครสมหวังหรือผิดหวัง แต่วิเคราะห์ไปตามสถานการณ์ ตามข้อเท็จจริง ซึ่งนายธีรยุทธก็ทำอย่างนี้มานานแล้ว

แทนที่จะบอกว่าผิดหวังคนอื่น นายจาตุรนต์ควรหันมามองตัวเองบ้างว่า เป็นคนน่าผิดหวังในสายตาคนอื่นด้วยหรือไม่เช่นกัน