สุรชาติ บำรุงสุข l หกตุลารำลึก : สิ้นสงคราม สิ้นอุดมการณ์?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (12) สิ้นสงคราม สิ้นอุดมการณ์?

“มีแต่คนตายแล้วเท่านั้นที่เห็นการสิ้นสุดของสงคราม”

เพลโต

สงครามปฏิวัติไทยดำเนินมาถึงจุดจบในตอนกลางปี 2526 อย่างแทบไม่น่าเชื่อ

และหากวัดจากเส้นเวลาของชีวิตทางการเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของคนเดือนตุลาคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว สงครามมีความยาวอยู่ประมาณหนึ่งทศวรรษเท่านั้น

แต่ถ้าวัดจากจุดเริ่มต้นของการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 ที่เป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นผมหลายคนเดินทางเข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบท และตามมาด้วยปรากฏการณ์ป่าแตกที่เกิดในปี 2523 แล้ว สงครามของนักปฏิวัติในเดือนตุลามีอายุไม่นานเลย

ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสังคมไทยที่สงครามไม่ยืดเยื้อและไม่รุนแรงจนเป็นแบบสงครามเวียดนาม

สงครามไม่ยืดเยื้อในไทย

ผมเคยอ่านนิพนธ์การทหารของประธานเหมาว่าด้วย “สงครามยืดเยื้อ” ที่วางอยู่บนพื้นฐานของสังคมจีน มองเห็นด้วยความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าความอ่อนแอของฝ่ายปฏิวัติจีนที่มีสถานะเป็นด้านรอง จึงไม่อาจรบด้วยเงื่อนไขของสงครามในแบบเท่านั้น หากยังไม่สามารถคิดถึงการรบที่อิงอยู่กับทฤษฎีการทหารแบบของตะวันตก ที่ใช้ความเหนือกว่าของอาวุธและเทคโนโลยีทหารเป็นปัจจัยหลักในการชี้ขาดสงคราม

การทำสงครามยืดเยื้อยังกลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้กองทัพแดงของเหมาสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองคู่ขนานกับปฏิบัติการทางทหาร

สงครามแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีตารางเวลาของชัยชนะ แต่เชื่อว่าปัจจัยเวลาเป็นคุณกับฝ่ายปฏิวัติ…

ยิ่งยาวนานมากเท่าใด ก็ยิ่งปลุกระดมมวลชนได้มากเท่านั้น และฝ่ายปฏิวัติก็จะยิ่งเข้มแข็ง เปลี่ยนสถานะทีละขั้นจากการรับไปสู่การยันและการรุก และบรรลุชัยชนะ…

แล้วเราก็ “ฝันไปเอง” ว่าสงครามปฏิวัติไทยก็จะเป็นไปเช่นนั้น

แต่ในเงื่อนไขของสังคมไทยดูจะแตกต่างออกไป สงครามในชนบทไม่ยกระดับขึ้นเป็น “สงครามกลางเมือง” และก็ไม่ชัดเจนในความเป็นสงครามยืดเยื้อที่จะสามารถปลุกระดม “มวลชนอันไพศาล” ให้เข้าร่วมในสงครามนี้ได้จริง

ขณะเดียวกันก็ไม่ขยายบริบทของรัฐที่เกี่ยวข้อง สงครามถูกขีดวงแคบๆ อยู่ในพื้นที่ป่าเขาของไทย และก็สิ้นสุดลง

การสิ้นสุดของสงครามจึงมีนัยสำคัญกับชีวิตของคนเดือนตุลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

สำหรับผม เมื่อสงครามปฏิวัติสิ้นสุด ความเป็นคนเดือนตุลาก็สิ้นสุดตามกันไป

ในวันที่ผมต้องเรียนเรื่องสงคราม ผมมีความรู้สึกเชิงเปรียบเทียบว่า คนรุ่นผมอาจจะไม่แตกต่างจากผู้คนในหลายสังคมโดยเฉพาะในยุโรปหลังสงครามโลก ที่สงครามเป็นปัจจัยที่มีผลต่อชีวิตของผู้คน

แม้ผลของสงครามเบ็ดเสร็จในยุโรปจะมีขอบเขตใหญ่กว่ามาก แต่สำหรับคนที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางของสงครามแล้ว ทุกคนล้วนมี “บาดแผล” ทางการเมืองมากบ้างน้อยบ้างตามเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน

และในอีกด้านหนึ่งเมื่อสงครามจบ อุดมการณ์ที่พาเราเข้าสู่สงครามชุดนี้ก็จบตามไปด้วยเช่นกัน

เมื่ออุดมการณ์ที่แรงขับเคลื่อนเดิมในความเป็นนักปฏิวัติแห่งเดือนตุลาหมดพลังลง คนเดือนตุลาก็เป็นเพียง “ทหารผ่านศึก” ที่เดินทางกลับบ้าน

และเริ่มต้นชีวิตหลังสงครามด้วยความคิดชุดใหม่ทางการเมือง

ว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ชีวิตผู้คนหลังสงครามในทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป

สงครามไม่ใหญ่ในไทย

ผมออกไปเรียนต่อต่างประเทศพร้อมกับจินตนาการว่าสงครามปฏิวัติไทยน่าจะมีขนาดใหญ่ แต่พอออกไปเรียนต่อ และหันกลับมาพิจารณาด้วยมุมมองเปรียบเทียบแล้ว สงครามในไทยไม่ใหญ่อย่างที่เราคิด

ซึ่งว่าที่จริงแล้วต้องถือว่าเป็นข้อดี ตัวเลขจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันชี้ให้เห็นว่าในต้นปี 2522 พรรคคอมมิวนิสต์สามารถขยายงานได้ 35 จังหวัด (จากทั้งหมด 71 จังหวัดในขณะนั้น) และมีกำลังพลติดอาวุธประมาณ 10,000 กว่าคน แบ่งเป็นภาคเหนือ 3,700 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสานเหนือ) 2,000 ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (อีสานใต้) 840 ภาคกลาง 350 ภาคใต้ 3,400 คน (จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 45 ล้านคนในขณะนั้น) และพรรคได้รับความสนับสนุนจากจีน แต่ก็ไม่มาก

ซึ่งความช่วยเหลือนี้ ได้แก่ อาวุธและกระสุน การฝึก เงินช่วยเหลือ ที่พักพิง เส้นทางคมนาคม และการโฆษณาสนับสนุนทางการเมือง และความช่วยเหลือดังกล่าวยังมาจากพรรคอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย

ในมุมมองของนักวิชาการด้านความมั่นคงชาวอเมริกัน พรรคคอมมิวนิสต์ไทยมีขนาดเล็ก และมีคนเพียงกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้นำ

อีกทั้งพื้นที่ปฏิบัติการของพวกเขาอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ อย่างมาก หรืออยู่ในพื้นที่แถบชายแดนที่ไกลออกไป

จนมีการประเมินว่าปฏิบัติการของพรรคแทบจะไม่กระทบกับศูนย์กลางอำนาจแต่อย่างใด

และแม้พรรคจะเปิดการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองก็ได้รับความสนใจจากทางสหรัฐไม่มากนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่อเมริกันประเมินว่า สถานการณ์คอมมิวนิสต์ในไทยอยู่ในระยะ “ฟักตัว” หรือเป็นช่วงเริ่มต้นมากกว่าจะเป็นภัยคุกคามโดยตรง

แต่วอชิงตันก็ไม่ละเลยสถานการณ์ในไทย และชื่อของประเทศไทยติดอยู่ในลำดับต้นของประเทศที่สหรัฐเฝ้าติดตาม เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ปัญหานี้ขยายตัวเป็นภัยคุกคามเต็มรูป จนไม่สามารถป้องกันได้

ในมุมมองเปรียบเทียบอาจกล่าวได้ว่า การขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์ไทยมีความจำกัดอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับในเวียดนาม

หรือหากเปรียบกับปัจจัยภายในก็จะพบว่า จากวันเสียงปืนแตกในเดือนสิงหาคม 2508 จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะเห็นได้ชัดว่าการขยายตัวของสงครามยังมีขอบเขตที่จำกัดและอยู่ในบริเวณป่าเขาในชนบทที่ห่างไกลออกไป

การตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมสงครามของนักศึกษากลายเป็น “นาทีทอง” ของการปฏิวัติไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายปัญญาชนครั้งใหญ่

ซึ่งไม่แต่เพียงจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในการโฆษณาอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น หากยังจะเป็นการสร้างบุคลากรอีกรุ่นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พรรค และยังจะแสดงให้เห็นถึงแนวร่วมชุดใหม่อีกด้วย

แต่ด้วยความตึงตัวทั้งทางความคิดและวิสัยทัศน์ของพรรค

การเดินทางเข้าสู่ชนบทของนักปฏิวัติแห่งเดือนตุลาดูจะกลายเป็น “วิกฤต” มากกว่า “โอกาส”

จนสุดท้ายปัญหานี้ได้ขยายตัว จนกลายเป็นความขัดแย้งที่สำคัญ และเริ่มกลายเป็นจุดหักเหเมื่อนักศึกษาระดับนำบางส่วนเริ่มตัดสินใจที่จะเดินทางออกจากชนบท

น่าสนใจว่าตัวเลขการมอบตัวในปี 2522 (หลังสงครามเวียดนาม-กัมพูชา) เพิ่มมากจากเดิมเป็นสามเท่า และตัวเลขความสูญเสียของฝ่ายรัฐบาลลดลงเกือบร้อยละ 20

และนับจากปี 2523 อาการ “ป่าแตก” ก็เกิดขึ้น ทั้งนักศึกษาและสมาชิกพรรคบางส่วนเริ่มปรากฏการณ์ “จากวนาสู่นาคร”… เส้นทางชีวิตของคนเดือนตุลาผันผวนอีกแบบ

สงครามที่ไม่คาดคิด

ความเป็นไปในชีวิตของคนเดือนตุลาผูกพันอยู่กับสงคราม 3 ชุด ได้แก่ ในช่วงเป็นนักศึกษานั้น สงครามในเวียดนามมีส่วนอย่างมากที่กระทบต่อชีวิตพวกเรา และด้วยความกลัวโดมิโนจากผลของสงครามดังกล่าวที่กลายเป็นปัจจัยตัดสินสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และผลที่เกิดขึ้นทำให้คนเหล่านี้ตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมสงครามในชนบทไทย สงครามปฏิวัติไทยเป็นสงครามชุดที่สองที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิต ซึ่งต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบท…คนรุ่นผมไม่ได้ไปทัศนศึกษาในชนบท แต่เป็นการไปสงคราม

สงครามชุดที่สามเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน…ใครเลยจะคิดว่าในที่สุดแล้วพรรคพี่พรรคน้องในอินโดจีนจะทำสงครามกัน

เราเคยได้ยินแต่เรื่องภราดรภาพของชาวสังคมนิยม และมีแต่เรื่องเล่าถึงการหนุนช่วยของพรรคในสงครามต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน จนไม่มีพื้นที่ในทางความคิดเหลือไว้สำหรับความขัดแย้งที่เป็นปัญหาชาตินิยมของพรรคคอมมิวนิสต์

ซึ่งส่วนหนึ่งดูจะเป็นการย้อนข้อสังเกตทางทฤษฎีที่ว่า ชาวคอมมิวนิสต์ในเอเชียเป็นนักชาตินิยมโดยพื้นฐาน และในวันที่พวกเขาเป็นรัฐบาล พวกเขายังคงพกเอาความหวาดระแวงของลัทธิชาตินิยมติดตัวไว้

ฉะนั้น หากพิจารณาจากมุมมองของลัทธิชาตินิยมแล้ว ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาไม่ใช่เรื่องประหลาดใจแต่อย่างใด

และในขณะเดียวกันความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนามก็ไม่ใช่เรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ และก่อนหน้านี้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับโซเวียตก็เกิดขึ้นให้เห็นมาแล้วด้วย

ดังนั้น หลังจากการพ่ายแพ้สงครามของรัฐบาลเขมรแดงจากการบุกของกองทัพเวียดนามในตอนต้นปี 2522 แล้วตามมาด้วยการขยายอิทธิพลของเวียดนามในลาว

โจทย์สงครามชุดนี้มีผลกระทบทั้งต่อจีนและไทยอย่างมาก

และที่สำคัญยังกระทบต่อพรรคไทยโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยเงื่อนไขของการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลของความแตกแยกระหว่างโซเวียตกับจีน และเปิดโอกาสให้สหรัฐหันมา “เล่นไพ่จีน” โดยสหรัฐจับมือกับจีนต่อต้านโซเวียต

ดังนั้น เมื่อเวียดนามรุกเข้าครอบครองกัมพูชา จึงไม่ใช่เพียงการขยายอิทธิพลของเวียดนามในอินโดจีนเท่านั้น หากยังมีนัยถึงการขยายบทบาทของโซเวียตในภูมิภาคนี้อีกด้วย

โจทย์กัมพูชาจึงมีความซับซ้อนในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และโจทย์นี้ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ความมั่นคงของภูมิภาคไปจากเดิม จนกลายเป็นปัจจัยของการสร้างพันธมิตรใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ

ในสภาวะเช่นนี้รัฐบาล/พรรคจีนตัดสินใจเลือกสนับสนุนรัฐบาลเขมรแดงเพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน

แต่จะทำได้จริงก็จำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยในการเป็นเส้นทางสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง

การเดินทางเยือนปักกิ่งของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในต้นปี 2522 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นที่รับรู้กันถึงการเจรจาที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างเงื่อนไขด้านความมั่นคงใหม่

กล่าวคือ รัฐบาลไทยต้องการให้จีนยุติการสนับสนุนการออกอากาศของสถานีวิทยุของพรรคไทยที่อยู่ในจีน

ส่วนรัฐบาลจีนต้องการให้รัฐบาลไทยยุติการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธก๊กมินตั๋งในการก่อกวนจีน

ผลสำเร็จของการเจรจาทำให้ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงไทย-จีนมาถึงจุดเริ่มต้นที่สำคัญหลังจากการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2518 แล้ว

สงครามไทย-พรรคจีน

การแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นทำให้สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ยุติการออกอากาศในเดือนกรกฎาคม 2522

สหายบางส่วนอธิบายถึงคำตอบถึงพรรคไทยว่า จีนยินดีให้การสนับสนุนการปฏิวัติไทยและอยากให้สำเร็จ

แต่รูปการณ์ที่ใช้ตอนนี้ไม่มีความเหมาะสมแล้ว และจีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าที

ซึ่งสหายนำของพรรคไทยก็ดูจะมีทิศทางคล้อยไปกับคำอธิบายนี้ อันเป็นดังการ “ตามจีน” จนละทิ้งการปฏิวัติไทย

และหลังจากปิด สปท.แล้ว กระแสการปฏิวัติไทยก็ตกต่ำลง และตามมาด้วยการลดระดับความช่วยเหลือจากจีนลง เพราะจีนจำเป็นต้องพึ่งพารัฐบาลไทยในการสนับสนุนการรบในกัมพูชา

เงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นดังการ “ทิ้งพรรคไทย” เพื่อเดินหน้า “จับมือรัฐบาลไทย” สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในเวลาต่อมา และความร่วมมือเช่นนี้ได้กลายเป็นรากฐานของผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศทั้งสองจวบจนปัจจุบัน

ในอีกทางหนึ่ง พรรคไทยอาจไม่มีทางเลือกมากนัก ความหวังว่าจะยกระดับสงครามไทย-เวียดนามให้เป็น “สงครามประชาชาติ” ดังกรณีสงครามจีน-ญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริง หรือหากตัดสินใจเข้าร่วมกับเวียดนาม-ลาว และอาศัยกำลังจากประเทศทั้งสองเข้ามาปลดปล่อยประเทศไทยก็ใช่ว่าจะเป็นความสำเร็จได้จริง

หรือหากมองทางยุทธศาสตร์ทหาร การขยายสงครามของเวียดนามและเปิดแนวรบในไทย ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จดังเช่นการเข้าตีกัมพูชาในต้นปี 2522 เพราะกำลังรบของกัมพูชาในขณะนั้นอ่อนแอเกินกว่าที่จะรับมือกับการรุกของเวียดนาม

ต่างจากอำนาจกำลังรบของไทยที่สามารถต้านทานกองทัพเวียดนามได้ในระดับหนึ่ง

และถึงที่สุดแล้วพรรคไทยตัดสินใจยืนกับพรรคจีน ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พรรคลาวได้ขอให้พรรคไทยออกจากประเทศ และความสัมพันธ์กับพรรคเวียดนามก็แตกหักไปด้วย พรรคไทยจะทำสงครามอย่างไรเมื่อปราศจากหลังพิงและการสนับสนุน

ชีวิตนักปฏิวัติเดือนตุลาเดินมาถึงทางแพร่งอีกครั้ง

พรรคไทยถูกลอยแพ และพรรคจีนร่วมกับรัฐบาลไทยในสงครามต่อต้านเวียดนามในกัมพูชาอย่างชัดเจน…

สงครามปฏิวัติไทยจึงเดินมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

เส้นทางชีวิตข้างหน้าจึงเหลือแต่เพียงการเดินทางกลับภูมิลำเนา สงครามปฏิวัติของคนเดือนตุลาจบลง พร้อมกับการจบของอุดมการณ์ชุดนี้

แล้วคนรุ่นผมก็ออกเดินทางอีกครั้ง

แต่คราวนี้เส้นทางหวนกลับเป็นจากป่าสู่เมือง!