จีนยุคบุราณรัฐ : ปัจฉิมกถา (2)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
FRED DUFOUR / AFP

ชาติและชาติพันธุ์จีน (ต่อ)

เมื่อขยายและเข้าครอบครองดินแดนที่ตนเข้าตีได้แล้ว โจวก็ส่งวงศานุวงศ์ของตนไปเป็นผู้ปกครองดินแดนที่ยึดมาได้ พร้อมกับนำราษฎรเทครัวไปตั้งรกรากและช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมาใหม่ จนทำให้เกิดรัฐใหม่ๆ ขึ้นมาหลายรัฐ โดยบางรัฐในรัฐเหล่านี้ต่อไปที่จะกลายเป็นรัฐทรงอิทธิพล

อย่างไรก็ตาม การที่โจวขยายดินแดนออกไปเช่นนี้ ได้ทำให้ชนชั้นสูงและชนชั้นล่างของโจวมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติเดิมของดินแดนเหล่านี้ด้วย โดยส่วนหนึ่งก็คือการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ การผสมผสานในลักษณ์นี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า สายเลือดของชนชาติจีนหาได้บริสุทธิ์ผุดผ่องไปทั้งหมดไม่

ตราบจนเมื่อเข้าสู่สมัยที่โจวก้าวสู่ความรุ่งเรืองนั้น มาตรฐานหรือแบบแผนทางการเมืองการปกครองหรือทางวัฒนธรรมที่โจวตราขึ้นมาก็ดี หรือการถือเคร่งในสายเลือดเดียวกันของชนชั้นปกครองที่เป็นวงศานุวงศ์ก็ดี ได้ทำให้ชาติพันธุ์หรือความเป็นชาติจีนมีความชัดเจนขึ้นมา โดยเฉพาะแบบแผนทางจริยธรรม

กล่าวอีกอย่างคือ ใครก็ตามไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดหากยอมรับแบบแผนนี้แล้วต่างล้วนคือราษฎรแห่งโจว ซึ่งก็คือชนชาติจีน ชาติในฐานะชุมชนจินตกรรมจึงเกิดขึ้น

แต่ครั้นพอโจวอ่อนแอลงในยุคโจวตะวันออก หรืออีกนัยหนึ่งคือยุควสันตสารทไปแล้วนั้น ความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นก็ได้ทำลายแบบแผนดังกล่าวลง แบบแผนทางจริยธรรมถูกบิดเบือนและเพิกเฉย จิตวิญญาณแห่งความสมานฉันท์ที่โจวเพียรสร้างให้เกิดขึ้นในหมู่ราษฎรของตนก็สูญหายไป

จากเหตุนี้ การล่มสลายลงของโจวในด้านหนึ่งจึงหมายถึงการสลายตัวลงของชุมชนจินตกรรม อันเป็นชุมชนที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กรอบคิด “โลกของโจว” (the Zhou world) ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การล่มสลายนี้ได้นำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระของรัฐต่างๆ นับร้อยรัฐ ที่ผู้นำรัฐต่างก็ตั้งตนเป็นอธิราชหรือ ป้า เพื่อสื่อว่าตนคือกษัตริย์ที่เหนือกษัตริย์ทั้งปวง และเพื่อให้ฐานะที่ว่าเป็นจริง รัฐต่างๆ จึงทำสงครามระหว่างกันผ่านเวลาที่ยาวนานหลายร้อยปี

ควรกล่าวด้วยว่า ภายใต้พัฒนาการทางชนชาติจากที่กล่าวมานี้ ผลพวงประการหนึ่งที่ได้คลี่คลายขยายตัวตามมาด้วยก็คือ การเกิดชื่อและสกุล (แซ่) ของชนชาติเหล่านี้ ชื่อและสกุลนี้วิวัฒน์มาจากการเรียกขานชนชาติหรือชนเผ่าด้วยชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ (totem) โดยสัญลักษณ์เหล่านี้อาจเป็นสัตว์หรือธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง

และเมื่อชนเผ่าได้วิวัฒน์ต่อไปจนมีลักษณะทางสังคมมากขึ้น คำเรียกขานนั้นจึงค่อยๆ กลายมาเป็นวงศ์ตระกูลแทน และเมื่อวงศ์ตระกูลมีการสืบสายกระจายพันธุ์ต่อไปจนมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น และมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น การเรียกขานวงศ์ตระกูลก็ถูกแบ่งซอยให้เป็นหน่วยสังคมที่มีอยู่หลายหน่วย

ช่วงนี้เองที่ทำให้เกิดสกุลขึ้นมาอย่างช้าๆ จนเมื่อสกุลต่างๆ ได้เกิดขึ้นมากมายแล้ว คำเรียกขานวงศ์ตระกูลเดิมจึงได้กลายเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับสกุลไปในที่สุด

นอกจากนี้ คำเรียกขานชื่อบุคคลก็เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นเคียงคู่กับสกุลด้วยเช่นกัน ที่แต่เดิมมีคำเรียกขานที่ไม่ซับซ้อนเช่นกัน และเมื่อการเรียกขานสกุลวิวัฒน์ไปตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว การเรียกขานชื่อบุคคลก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

โดยชื่อบุคคลที่มีเรียกขานอย่างเป็นระบบนั้นเห็นได้ในสมัยโจว ที่มีการแบ่งชื่อบุคคลเป็นชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อที่เป็นฉายา ทั้งนี้ สุดแท้แต่ฐานะทางสังคมของบุคคลนั้นๆ ว่าอยู่ในฐานะใด

จากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ จะเห็นได้ว่า สังคมจีนก็คล้ายกับสังคมอารยะอื่นที่ก็วิวัฒน์ไปในทางเดียวกัน คือมียุคตำนานหรือยุคดึกดำบรรพ์เป็นของตนเอง และยุคตำนานนี้ก็มีทั้งเรื่องที่ดูเหนือจริงและสมจริง โดยสิ่งที่เคียงคู่ไปกับยุคตำนานนี้ก็คือ ความพยายามของนักโบราณคดีกับนักประวัติศาสตร์ ในอันที่จะหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาอธิบายยุคสมัยที่ว่านี้ ซึ่งในกรณีจีนก็มีทั้งที่ค้นพบและยังค้นไม่พบ

กล่าวเฉพาะในส่วนที่ค้นพบนั้นก็สามารถอธิบายได้ว่า จีนได้ผ่านสังคมหมู่ชน สังคมเผ่า และสังคมผู้ปกครองโดยลำดับมาก่อน สังคมเหล่านี้ต่างมีลักษณะของการวิวัฒน์ในตัวเอง และด้วยหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ค้นพบมาจนถึงปัจจุบันก็บอกให้เรารู้ว่า

จีนเคยผ่านสังคมที่มีแม่เป็นใหญ่กับสังคมที่มีพ่อเป็นใหญ่มาก่อน ทั้งยังผ่านสังคมที่ดำรงชีวิตด้วยการ “หาของป่า-ล่าสัตว์” ด้วยเช่นกัน

วิวัฒนาการตามลักษณ์นี้ใช้เวลาเนิ่นนานอย่างยิ่ง จนเมื่อผ่านสังคมผู้ปกครองไปแล้วนั้นเอง จีนจึงค่อยๆ ก้าวสู่สังคมที่เป็นรัฐอย่างช้าๆ ที่แม้ในยุคต้นประวัติศาสตร์จะยังไม่มีความชัดเจนในสมัยราชวงศ์เซี่ยก็ตาม

แต่ภายหลังจากราชวงศ์นี้ไปแล้วความเป็นรัฐของจีนก็ไม่เป็นที่สงสัยอีกเลย

รัฐปฐมกาลกับองค์ประกอบ

อาจกล่าวได้ว่า แม้จะมีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้วในสมัยราชวงศ์ซางก็จริง แต่รัฐในสมัยราชวงศ์โจวก็มีหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาแม้ในปัจจุบันคือหลักฐานที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ถึงการมีอยู่ของราชวงศ์เซี่ย อันเป็นราชวงศ์แรกของยุคต้นประวัติศาสตร์จีน

ปัญหานี้หากตัดประเด็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะมายืนยันถึงตัวตนของราชวงศ์นี้ออกไป แล้วยึดเอาบันทึกหรือปกรณ์มาอธิบายก็จะพบว่า สิ่งที่เซี่ยได้ทิ้งเอาไว้เป็นเสมือนมรดกสืบทอดทางการเมืองที่สำคัญก็คือ การยกเลิกระบบการสรรหาผู้นำที่เป็นมาตลอดยุคตำนาน แล้วแทนที่ด้วยระบบผู้นำที่มาจากการสืบทอดทางสายเลือดหรือสืบสันตติวงศ์

ถึงแม้บันทึกหรือปกรณ์เหล่านี้จะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มารองรับ แต่ความจริงที่เราพบก็คือ ระบบสืบสันตติวงศ์นี้ได้ดำรงอยู่ในสมัยซางจนยอมรับกันได้ว่า หน่ออ่อนของรัฐจีนได้ค่อยๆ แตกตัวให้เห็นบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และบันทึกกับปกรณ์ที่ต้องตรงกัน ก็ทำให้รู้ต่อไปว่า รัฐในสมัยโจวนั้นมีความชัดเจนมากกว่าเซี่ยและซาง ความชัดเจนนี้เห็นได้จากระบบต่างๆ ที่โจวได้วางเอาไว้

ระบบนี้แสดงผ่านรูปธรรมที่หลากหลาย และได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สะท้อนถึงความเป็นรัฐไปในที่สุด

องค์ประกอบแรกสุดคือ ระบบการเมืองการปกครอง ที่นอกจากการสืบสันตติวงศ์แล้วก็คือ การกำหนดระดับชั้นของขุนนางและตำแหน่งหน้าที่ที่แน่นอนและชัดเจน โดยเฉพาะในสมัยที่โจวรุ่งเรืองนั้นมีการระบุยศศักดิ์และตำแหน่งออกเป็นกง โหว ป๋อ จื่อ และหนาน ที่อาจเทียบในกรณีของไทยสมัยราชาธิปไตยก็คือ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา พระยา และพระหรือจมื่น ตามลำดับ

และเมื่อโจวขยายดินแดนออกไปทางตะวันออก ระบบนี้ก็ถูกนำไปใช้ในดินแดนใหม่เหล่านั้นด้วย ที่มิอาจละเลยที่จะกล่าวถึงไปได้ก็คือ บรรดาชนชาติพันธุ์หรือชนเผ่าต่างๆ ที่ขึ้นต่อโจวหลังจากการขยายดินแดนไปแล้วนั้น โจวก็ยังแต่งตั้งให้ผู้นำของบางชนเผ่าเป็นขุนนางของตนดังที่ซางก็เคยทำอีกด้วย

ภายใต้ระบบดังกล่าว ขุนนางที่มียศศักดิ์ต่างๆ จะมีหน้าที่เฉพาะของตน ซึ่งหากแบ่งโดยภาพรวมแล้วจะมีทั้งขุนนางสายพลเรือนและสายทหาร ในสายพลเรือนจะมีขุนนางอยู่ 2 กลุ่มที่สำคัญ

กลุ่มหนึ่ง มีหน้าที่โดยตรงต่อราชกิจของราชสำนัก

อีกกลุ่มหนึ่ง มีหน้าที่โดยตรงต่อภาคการผลิตต่างๆ คือเป็นบทบาทที่สัมพันธ์กับราษฎรโดยตรง เช่น การดูแลการผลิตและการเก็บภาษี การรักษาความสงบเรียบร้อย การพิจารณาคดีความ เป็นต้น

จากบทบาทของขุนนางเช่นนี้ทำให้เห็นต่อไปด้วยว่า ประชากรที่ขึ้นต่อรัฐนี้มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่ง เป็นประชากรที่นับเป็นราษฎรของราชวงศ์โดยตรง กลุ่มนี้จัดเป็นเสรีชนที่มีชีวิตที่อิสระในระดับหนึ่ง โดยมีภาระผูกพันที่สำคัญต่อรัฐ (ที่ทำให้ไม่อิสระอย่างเต็มที่) เรื่องหนึ่งคือ การยอมรับที่จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในยามสงครามหรือเป็นแรงงานในยามที่จำเป็น

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นประชากรที่ยังมิอาจจัดเป็นราษฎรของราชวงศ์ได้โดยตรง ประชากรในกลุ่มนี้คือ บรรดาเชลยศึกทั้งหลายที่ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานในภาคเกษตรหรืออื่นๆ สุดแท้แต่รัฐจะกำหนดหรือสั่งการ ประชากรกลุ่มนี้นอกจากจะไร้อิสรภาพแล้วก็ยังใช้แรงงานที่อาจหนักกว่าราษฎรของราชวงศ์ และโดยมากมักถูกนำไปยังดินแดนหรือท้องถิ่นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร

ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันก็คือ เอาเข้าจริงแล้วประชากรกลุ่มนี้จัดเป็นทาสหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้วประชากรกลุ่มนี้แม้จะใช้แรงงานหนัก ไร้อิสรภาพ และอยู่ในดินแดนที่ห่างไกลก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องที่เชลยศึกจะถูกปฏิบัติเช่นนี้เป็นปกติ ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงของรัฐผู้ชนะ

ที่สำคัญ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกปฏิบัติเช่นนี้คือ นักโทษ ซึ่งก็คือราษฎรของราชวงศ์ที่กระทำความผิด