“ประชาชนที่น่าสงสาร” กับ “พรรคการเมือง”ที่วางแผนไว้ว่า จะมาเป็นพวกเดียวกับ “ส.ว.”

อาจจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยอะไรมากนัก สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใน 2 เดือนข้างหน้านี้ เป็นการ “สร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้สิทธิที่สุด”

ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่เลือกทั้งพรรคทั้งตัวบุคคลผู้สมัคร แต่ละคนแต่ละพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้ง เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง แล้วแต่ว่าในเขตนั้นๆ จะจับสลากได้หมายเลขอะไร

ตามด้วยการแบ่งเขตที่คนก่อความสับสนมากมาย ด้วยบ้านใกล้เรือนเคียงกันอาจจะต้องเลือกคนละเขตคนละเบอร์

รถแห่หาเสียงที่วิ่งกันวุ่น ข้ามเขตกันไปข้ามเขตกันมาจะก่อความยุ่งยากในการจดจำว่า ที่ต้องเลือกเป็นคนไหน พรรคใด เบอร์อะไร

นี่ยังไม่นับว่า เจตนาที่จะเลือกพรรคหนึ่ง แต่หากมีคนเลือกพรรคนั้นมากๆ พรรคนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ตามกฎหมายที่ว่าด้วยการนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แบบใหม่ ที่เรียกว่า “สัดส่วนผสมผสาน”

ว่ากันให้ง่ายคือ เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนควบคุมผลให้เป็นไปตามเจตนาเลือกได้ลำบากยากเย็น หรือไม่ได้เลย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงออกมาทางที่มองว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่แฟร์ เพราะทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคไม่สามารถได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่เป็นกอบเป็นกำได้

ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่จะต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค

ปิดทางพรรคใดพรรคหนึ่งจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยมีอำนาจในการต่อรองได้

ยกเว้นแต่พรรคที่วางแผนไว้แล้วว่าเป็นพวกเดียวกับ “วุฒิสมาชิก” ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่แต่งตั้งโดยมีผู้มีอำนาจ

เท่ากับล็อกไว้เรียบร้อยว่า “นายกรัฐมนตรีคนต่อไป” จะต้องเป็นคนที่ “วุฒิสมาชิก” ที่มาจากการแต่งตั้งโหวตให้

แล้วจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนที่รู้ๆ กันอยู่ว่า “รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อพรรคเรา”

เกิดเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในยุคสมัยนี้จึงเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกสวนว่า “เลือกตั้งไม่เป็น” ไม่มีความรู้ ความสามารถที่จะใช้สิทธิของตัวเองอย่างถูกต้อง

จนถึงถูกย้อนถามว่า “เป็นประชาชนที่เหมาะกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่”

อันเป็นคำถามที่ยืนยันสมมุติฐานของ “ม็อบล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” ว่าเป็นเรื่องจริง

ยิ่งดูผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ล่าสุดแล้ว ยิ่งน่าสงสารอย่างยิ่ง

ด้วยในคำถามที่ว่า “ปัญหาที่พบในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคืออะไร”

ร้อยละ 32.55 ตอบว่า ไม่ทราบขั้นตอนและวิธีการใช้สิทธิเลือกตั้ง

ร้อยละ 30.35 บอกว่า หน่วยเลือกตั้งอยู่ไกล ไปผิดหน่วย เสียเวลา

ร้อยละ 24.11 บอกว่า ต้องกลับไปเลือกที่บ้านเกิด เดินทางลำบาก เสียค่าใช้จ่าย

ร้อยละ 21.59 กาผิด ลืมชื่อ ลืมเบอร์ จำรายชื่อผู้สมัครไม่ได้

ขนาดว่าเป็นการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีเจตนาอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเกิดความเข้าใจโดยง่าย ยังก่อความสับสนได้เพียงนั้น

หากมาเจอเจตนาพิสูจน์ว่า “ความไม่รู้เรื่องรู้ราวของประชาชนมีอยู่จริง” ด้วยการทำให้วิธีการลงคะแนยุ่งยากในการทำความเข้าใจดังที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น

เสียงเรียกร้องในโพลนี้จากคำถามที่ว่า “อยากให้บัตรเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นอย่างไร” ในคำตอบร้อยละ 48.13 ให้มีชื่อผู้สมัครและโลโก้ ชื่อพรรคที่ครบถ้วน ชัดเจน ร้อยละ 22.77 ให้ใช้กระดาษสีสด ตัวหนังสือชัด ร้อยละ 21.11 ให้มีช่องกากบาทสะดวก ตัวเลือกไม่สับสน เข้าใจง่าย ร้อยละ 11.92 มีความเป็นสากล มีมาตรฐานเหมือนต่างประเทศ และร้อยละ 7.72 ให้มีการชี้แจงบอกวิธีการเลือก และรายละเอียดครบถ้วน

จึงเป็นเรื่องน่าสงสารยิ่ง สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ทำเหมือนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า “ประชาชนเลือกตั้งไม่เป็น”

ซึ่งจะเป็นข้ออ้างที่ดีว่า “ประเทศนี้ไม่เหมาะที่จะปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสากล”