เรื่องสั้น : ห้องเก็บสุข

แม้ยามเย็นย่างก้าวเข้ามาดังเช่นทุกวัน แต่มีบางสิ่งส่งสัญญาณให้หวังได้ว่า ค่ำนี้จะดีกว่าบางคืน ก็ตรงที่ฟ้าโปร่ง เมื่อฝนไม่มา ม่านฝนไม่มี ลูกค้าก็น่าจะมี เพราะที่นี้คือห้องแห่งความสุข ความสุขของทุกเพศทุกสถานะที่รักเสียงเพลง รักการพักผ่อนด้วยการร้องเพลง

เดือนร่วมหุ้นกับเพ็ญ จับมือเพื่ออนาคตที่จะดีขึ้น จึงเลือกที่จะเปิดเป็นร้านคาราโอเกะมาเกือบปีแล้ว ตั้งชื่อให้คำจำง่ายๆ ว่า “เดือนเพ็ญ” และเป็นบันทึกว่า สองคนจะจับมือกัน ทำห้องกว้างขนาดตั้งโต๊ะได้สิบโต๊ะ ยกพื้นทำเวทีมีคาราโอเกะแห่งนี้ มิใช่แค่เพื่อดำรงชีวิตอย่างเดียว แต่ต้องการให้ทุกคนที่มาที่นี้มีความสุข แม้สองสาวจะเรียนไม่มาก ไม่รู้เรื่องเพลง แต่ก็พอจะรู้จักและเข้าใจว่าทุกคนต้องการความสุข และการได้ร้องเพลงก็เป็นความสุขอีกช่องทางหนึ่ง

เด็กๆ ลูกจ้างสามคนจากประเทศเพื่อนบ้าน หน้าตาดี พูดไทยชัดขึ้นทุกวัน อาจารย์มนตรีอดีตครูดนตรีที่มาร่วมงานกันก็เป็นพันธมิตร ที่เป็นทั้งความหวังและกำลังใจ

ในฐานะผู้ควบคุมดนตรีให้ทุกคนที่มาได้ร้องเพลงทุกเพลง ทุกแบบ ครูมนตรีมีความสุขเสมอ ผ่อนปรนให้คนร้องเพลง เปลี่ยนคีย์ให้เพื่อให้ผู้ร้องร้องได้อย่างสบายใจ

นี้คือเสน่ห์ของร้าน “เดือนเพ็ญ” ที่บางร้านไม่มี เพราะร้านเหล่านั้นใช้เพียงคอมพิวเตอร์

เมื่อใครเลือกเพลงใดก็จะเลือกไว้ให้ ปล่อยให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ไป วันแรกที่ตั้งใจจะเปิดร้าน ครูมนตรีแนะนำให้มีมูลค่าพิเศษนี้ จึงชวนไปหาเปียโนมือสองมาเพิ่ม

“ที่นี่ดีนะ มีนักดนตรีช่วยเล่นเสริมให้ด้วย บางแห่งมันกดคอมพ์แล้วนั่งเฉย บางทีนั่งหลับ หรือไม่ก็ออกไปสูบบุหรี่ข้างนอก”

คนที่แวะมาร้องเพลงที่นี่ชื่นชม…ให้สองสาวหุ้นส่วนสำคัญได้ยินเสมอมา และคำชมเหล่านั้นก็ถึงหูเป็นกำลังใจให้ครูมนตรีด้วยเช่นกัน เพราะความต้องการสูงสุดของครูที่เล่นดนตรีมาทั้งชีวิตคือ ต้องการเป็นผู้ทำให้คนมีความสุข เมื่อลูกค้าชื่นชม ครูจึงชื่นใจ

ครูมนตรีเกษียณอายุราชการแล้ว รู้จักกันกับสองสาวโดยบังเอิญ ตอนแรกอาสาจะเล่นให้โดยไม่คิดค่าเสียเวลา

“แก่แล้วอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไร้ประโยชน์” ครูมนตรีให้เหตุผล ก่อนจะสรุปสั้นๆ ว่า “เอาเวลาที่เหลือมาให้ความสุขกับผู้คนดีกว่า”

แล้วครูมนตรีก็มาเป็นส่วนหนึ่งของร้านนี้ด้วยกติกาที่ตกลงกันไว้ตอนแรกว่า โต๊ะหนึ่งจะมากี่คนก็ตาม ร้องได้คนละสองเพลง

“คนละเพลงดีกว่า ถ้าใครในโต๊ะไม่ร้องก็สละสิทธิ์ไป” ครูมนตรีมาสรุปกติกาไว้เช่นนั้น

และจำยอมรับในกติกาของสองสาวหุ้นส่วนว่า “ครูต้องรับเงินนะ อย่าเล่นฟรี เอาเป็นว่าคืนละเจ็ดร้อยไหวไหม”

ครูมนตรีโบกมือตัดบทข้อเสนอนั้นด้วยรอยยิ้ม

“ไม่ต้องกังวล ไปตั้งไว้อย่างนั้น ก็จะเป็นค่าใช้จ่าย จะไปกำหนดค่าใช้จ่ายโดยยังไม่เห็นรายรับที่ชัดเจนทำไม”

ครูมนตรีจึงเล่นดนตรีในร้าน “เดือนเพ็ญ” อย่างมีความสุข และอยู่เบื้องหลังให้ทุกๆ คนมีความสุขโดยรับเงินในวันที่มีรายได้ดี “ถือว่าเป็นค่าน้ำมันรถนะครู” เดือนบอก

“ถ้าลูกค้าพอใจ ทิปทั้งหมดที่เขาติดดอกไม้มา หรือให้ครูก็ต้องเป็นของครูหมดเลย” เจ้าของร้านตั้งกติกาแสดงน้ำใจ

“เอาแบ่งให้เด็กเสิร์ฟบ้างก็ได้นา” ครูแสดงน้ำใจเช่นกัน

“เด็กๆ เขามีทิปรวมของเขาแล้วค่ะ คุณครูรับดอกไม้จากคนที่ร้องเพลงเท่าไร เป็นของครูหมดเลย”

ครูมนตรียอมรับในกติกา แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม เพราะความสุขของครู คือได้ออกจากบ้านมาเล่นดนตรี ทำงานที่ตนรัก มาทำให้คนอื่นมีความสุข

ภายใต้กติกาที่กำหนดขึ้น ร้าน “เดือนเพ็ญ” ก้าวเดินมาได้ดีเรื่อยๆ ลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลูกค้าระดับรักความสงบ มาแล้วก็ร้องเพลง มาคุยเรื่องงาน มาพักผ่อนหลังงาน ลูกค้าบางรายก็มีอดีตที่มีตำแหน่งใหญ่ในประเทศใช้ร้านเดือนเพ็ญเป็นที่พบปะสังสรรค์ฉลองวันคล้ายวันเกิดให้ลูกน้อง

ช่วง…การเมืองเว้นวรรคก็เป็นแหล่งพักผ่อนรอเวลาให้การเลือกตั้งกลับมา และเมื่อมีแนวโน้มว่าจะมีการเลือกตั้งก็ยิ่งคึกคัก

เพ็ญที่นั่งเล่นไลน์อยู่หลังเคาน์เตอร์เก็บเงิน รับไลน์จองโต๊ะ แต่ครู่หนึ่งก็เดินหน้าเครียดมาหาเดือน

“มีอะไรเพ็ญ”

“ท่านจองโต๊ะยี่สิบที่นั่ง” เพ็ญบอก เดือนรับรู้ดีว่า “ท่าน” ที่เพื่อนรักเอ่ยถึงนั้นคือลูกค้าประจำ เป็นอดีตผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งสำคัญมาในหลายรัฐบาล

ใกล้เลือกตั้งแล้ว ถ้ามีรายการของคนมีกำลังจ่ายต่อเนื่อง นั่นเป็นโอกาสดีที่ว่าร้านของเธอจะมีรายได้แน่นอน เพราะลูกค้ารายนี้มีต้นทุนสูง ทั้งสถานะทางสังคมและการเงิน

“หนักใจว่ะ” เพ็ญสารภาพสอดรับกับสีหน้าที่เดือนก็รับรู้ได้

“ท่านถามว่า คนนั้นมาหรือเปล่า”

คนที่เพ็ญพูดถึงก็คือกลุ่มที่มากันครึ่งรถตู้ มีผู้หญิงสาวหน้าตาดีมาด้วยหลายคน ที่เป็นปัญหาค้างคาอยู่ก็คือ ผู้ชายวัยเกษียณคนที่เป็นหัวหน้าทีมนำมา เขาเป็นคนเดียวที่ดื่มจัด และไม่ทำตามกติกา ขึ้นเวทีแล้วจะร้องหลายเพลง แถมทุกครั้งจะลากหญิงสาววัยรุ่นอวบอั๋นขึ้นไปขนาบซ้าย-ขวา ขณะร้องเพลงที่เป็นพลังของความมึนเมาเพลงแล้วเพลงเล่า เขาก็จะกอดฟัดเด็กสาวตลอดเวลา ร้องเพลงเพื่อต้องการร้องมีสุขกับการร้องโดยไม่ใส่ใจใคร

“แล้วแกตอบว่าไง” เดือนถาม

“ก็จะตอบยังไงล่ะ ทุกคนก็จ่ายเงินเหมือนกัน ก็ต้องตอบไปตามความจริง ท่านก็เลยจะไปร้านอื่น”

“เราก็ต้องเสียลูกค้ารายใหญ่ไปน่ะซี มันสองครั้งแล้วนะ” เดือนสรุปได้ในนาทีนั้น

“ไม่รู้จะทำยังไง แกมีวิธีไหมล่ะเดือน”

เดือนนั่งคิดด้วยท่าทีหนักอกหนักใจ ความรู้สึกหนักกว่าตอนเริ่มเปิดร้านที่ต้องการลูกค้า แต่นี่ลูกค้าชั้นดีและกำลังจะหนีจากไป เธอรักษาเรื่องส่วนตัวของลูกค้าตลอดมา ลูกค้าจึงวางใจเชื่อถือว่า นอกจากจะพยายามให้เป็นห้องแห่งความสุขแล้ว ร้านของเธอยังเป็นที่เก็บความลับอีกด้วย อาหารอร่อยตามใจลูกค้า และเก็บความลับคือนโยบายสำคัญ

“จะลองคุยดูนะ” เดือนกดโทรศัพท์หาลูกค้าผู้ใหญ่ เรื่องสำคัญอย่างนี้ เธอเลือกที่จะโทร.คุยแทนการใช้ไลน์ เพ็ญมองด้วยความห่วงใย และเอาใจช่วย

“เดือนขออภัยท่านด้วยนะคะ ลูกค้าที่เป็นปัญหาคนนั้น เขาเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เวลามาร้องเพลงเลยปล่อยเต็มที่ เพราะเขาคิดว่า เขาเหลือเวลาน้อยแล้วที่จะหาความสุข” เดือนจำใจเอาความลับลูกค้ามาเปิด

“แต่จะมามีอภิสิทธิ์หาความสุขบนความทุกข์คนอื่นก็ไม่ถูกนะ มาแล้วก็ไม่ทำตามกติกาด้วย”

“หนูควรทำอย่างไรคะ ท่าน กรุณาแนะนำด้วย”

“บอกเขาสิ”

“เกรงใจเขาอ่ะค่ะ สงสารเขาด้วย”

“โอเคก็เป็นความดีงาม มีน้ำใจ”

“แล้วท่านมาใช่ไหมคะ จะจัดโต๊ะให้ท่านค่ะ เลือกที่ไกลๆ เวที”

“ยังก่อน เราต้องการความเงียบปรึกษางานกันบ้าง อาจขึ้นร้องเพลงด้วย ปล่อยให้เขาสนุกไปเถอะ”

“ท่านกรุณาอย่าโกรธ อย่าทิ้งร้านเราไปนะคะ หนูขออภัยจริงๆ”

“โอเคนะ เข้าใจกัน” ท่านตัดบทนิ่มๆ

แล้ว “เดือนเพ็ญ” ก็กลายเป็นห้องของผู้ชายมีเงินคนนั้น ซึ่งเขาเชื่อว่า เขาเหลือเวลาน้อยเต็มทีกับการมีชีวิตอยู่ จึงได้ปลดปล่อย ระเบิดระบายโดยไม่สนใจใคร กลายเป็นละเมิดกติกา

ครูมนตรีต้องเล่นสนองทุกเพลงที่เขาร้อง ร้องคร่อมจังหวะก็ต้องตามตะครุบ ร้องเพี้ยนก็ต้องยอม ต้องช่วยเต็มที่ เขาดึงเด็กสาวเข้ามากอดมาฟัด ครูมนตรีก็ต้องทำใจ แม้มิใช่ลูกสาวของครู แต่ครูก็ไม่เห็นด้วยกับการข่มเหงรังแก ครูเข้าใจ เพราะเงินค่าจ้าง เด็กเหล่านั้นจึงยินยอม

แขกที่ทนเห็นภาพกดขี่ข่มเหงและการละเมิดกติกาด้วยการใช้เวทีคนเดียว เริ่มเช็กบิลทยอยออกไป

ท้ายที่สุดของค่ำคืนอันเปี่ยมสุขของผู้ชายปลดปล่อยก็จบลง เขาจ่ายเงินตามกติกา มีทิปให้ครูมนตรี ให้เด็กเสิร์ฟ เขามีเงินและไม่หวงเงิน แม้เขาจะเมา เขาจะทำตัวไม่ห่วงความรู้สึกของคนอื่นเลย แต่เขาก็รู้ว่า เมื่อวันที่เขาต้องคืนลมหายใจให้ธรรมชาติ เขาจะไม่สามารถเอาเงินเยอะแยะที่มีมากมายไปได้เลย

ห้องคาราโอเกะตกอยู่ในความเงียบ ครูมนตรีนั่งกินข้าวต้มก่อนกลับบ้านเหมือนเคย

เดือนกับเพ็ญจมอยู่ในความทุกข์ใจ เด็กๆ เฝ้ามองอยู่ห่างๆ ทุกคนอยากรู้ว่าปัญหานี้จะแก้อย่างไร

“ครูว่า เราจะแก้อย่างไรดี” เดือนถาม

“เมื่อมะเร็งมาเอาเขาไป ร้านเราจะดีขึ้น แขกดีๆ ของเราก็จะกลับมา” เพ็ญแย่งตอบ

“อย่าคิดแบบนั้น คนเราต้องมีเมตตา คิดแบบนั้นเหมือนแช่งเขา เขามาที่นี่มาปลดปล่อยทุกอย่าง เพราะเขาเชื่อว่า นี้เป็นวาระสุดท้ายของชีวิต” ครูมนตรีกล่าว

“คนเรานอนคืนนี้ไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะตื่นหรือไม่ บางทีนะ เราสามคนที่ไม่เป็นมะเร็งอย่างเขา ก็อาจจะต้องไปก่อนก็ได้จริงไหม”

ครูมนตรีจบข้าวต้มคำสุดท้ายด้วยคำคมเป็นข้อคิดที่สองสาวถึงกับอ้ำอึ้งไป

“ปิดร้านกลับไปพักผ่อน พรุ่งนี้มาเปิดร้าน ทำร้านให้ทุกคนที่มามีความสุขเหมือนที่ตั้งใจแต่แรก”

“แล้วอีตาคนที่สร้างปัญหานั้นล่ะ”

“ถ้าเขามา ก็แสดงว่า เรายังเป็นที่พึ่งเขา เขามาแล้วมีความสุข ต้อนรับให้เขามีความสุขเถอะนะ”

“แล้วแขกอื่นๆ ล่ะครู”

“ก็ต้องต้อนรับให้ดีที่สุด มีปัญหาอะไรก็อธิบายความจริงให้เขาฟัง”

“แต่มันเป็นความลับของลูกค้านะ”

“ถึงคราวจำเป็นก็ต้องเปิดเผย เพื่อให้คนอื่นเข้าใจ”

“คนก็เบื่อ แล้วหนีหาย” เดือนกับเพ็ญระบายความกังวล

“ก็อาจมีบ้าง แต่ไม่ทั้งหมดหรอก พอเขาทราบความจริง เขาก็เข้าใจ ความรำคาญอาจแปลงเป็นความเมตตาก็ได้”

วันนี้ครูมนตรีพูดยาวเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะกับสิ่งที่คิดว่ามันคือปัญหา และเธอก็อึ้งไปในเหตุผล ก่อนจะปิดร้าน กลับไปนอนพักผ่อนเพื่อเปิดร้านเป็นห้องเก็บสุขในวันต่อไป

“นอนพักซะ พรุ่งนี้อย่าลืมตื่นนะ ตื่นมาให้ความสุขกับผู้คนต่อไป”

ครูมนตรียังให้กำลังใจ ก่อนแยกจากกัน และมันทำให้เธอต้องกลับมาคิดต่อ