“ไตรลักษณ์” คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา ตามหลักศาสนาพุทธ

วันนี้ถึงคิวการคิดเป็นตามนัยพุทธธรรมข้อที่ 3 คือ คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดาหรือคิดแบบไตรลักษณ์

“ไตรลักษณ์” คืออะไร บางท่านอาจถามขึ้นมาอย่างนี้

ไม่แปลกดอกครับเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนา แม้ง่ายกว่าเรื่องนี้เยอะคนยังไม่รู้จักเลย

เมื่อเอ่ยคำยากๆ เช่น ไตรลักษณ์ ไตรสิกขา ย่อมจะ “เป็นงง” เป็นธรรมดา งงแล้วถามก็ดีไปอย่าง จะได้อธิบายให้หายงง แต่ส่วนมากงงแล้วเฉยนี่สิครับ ไม่รู้จะช่วยให้หายสงสัยได้อย่างไร คนไทยไม่มีนิสัยช่างซักช่างถามเสียด้วย

ลักษณะ 3 ประการที่ปรากฏแก่สังขารทั่วไปเหมือนๆ กันหมด ไม่มีสังขารไหนได้รับการยกเว้น เรียกว่า “ไตรลักษณ์”

ถามต่อไปว่า “สังขาร” คืออะไร

ตอบว่า สังขารคือ “สิ่งผสม” ทุกชนิดทุกอย่าง ทั้งที่มีใจครอง เช่น คน สัตว์ และไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา สิ่งเหล่านี้ผสมขึ้นจากองค์ประกอบอย่างน้อยก็คือ ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ

ของผสมเหล่านี้เกิดมาแล้วก็แปรเปลี่ยนและดับสลายไปตามกาลเวลา ไม่มีสิ่งไหนจีรังยั่งยืน หาตัวตนหรือหาเจ้าของมิได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถึงเวลามันก็แปรเปลี่ยนดับสลายไป

พูดภาษาพระก็ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระท่านจึงสอนให้หัดคิด หัดมองให้เห็นธรรมดาว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

เมื่อเห็นว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” ก็จะได้รู้จัก “ปลง” คือไม่ยึดมั่นถือมั่นเกินกว่าเหตุ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นเกินกว่าเหตุ ก็ไม่มีความทุกข์

ความจริง ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความเศร้าโศก อะไรเหล่านี้ มันไม่มีความหมายอะไรสำหรับคนที่เข้าใจธรรมะ และปลงได้ คนที่ไม่เข้าใจ ปลงไม่ได้ต่างหาก ที่จะเป็นจะตายวันละไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหน

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้คิดให้เข้าใจความเป็นไปของธรรมดาตั้งแต่ต้นมือ เพื่อเตรียมใจไว้ทัน เมื่อประสบเข้ากับตัวเอง ไม่ใช่รอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิด แบบ “เห็นโลงศพ ค่อยหลั่งน้ำตา” ไม่ฝึกไว้ก่อน ถึงเวลาเข้าจริงๆ มันคิดไม่ทันดอกครับ

สุภาษิตเอย คำพังเพยเอย ล้วนเป็นอุบายสอนให้ฝึกคิดรู้เท่าทันธรรมดาทั้งนั้น เช่น “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ชีวิตนี้ไม่แน่ไม่นอน ตายแล้วเอาไปไม่ได้”

แม้กระทั่งไปฟังสวดศพที่วัด ก็ยังเห็นตาลปัตรพระ คำสอนเตือนใจคล้องจองตั้งแต่ต้นแถวถึงปลายแถว “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”

ใครไม่รู้จักคิด และไม่ “ได้คิด” แต่ต้นมือ ถึงคราวประสบเข้ากับตัวเองจริงๆ จะตั้งตัวไม่ทัน กลายเป็นบ้าเป็นบอ หรือ “เบลอ” ได้ง่ายๆ

ดังเรื่องนางกีสาโคตรมีในสมัยพุทธกาล

นางมีบุตรน้อยกำลังน่ารักหนึ่งคน เคราะห์ร้ายที่ลูกน้อยเป็นไข้ตาย นางไม่ยอมรับว่าลูกตาย คือยังทำใจไม่ได้กับการตายของลูก จึงคิดหลอกตัวเองว่า “ไม่จริงๆ เป็นไปไม่ได้ ลูกข้ายังไม่ตาย” อะไรทำนองนั้น

นางอุ้มลูกน้อยเที่ยวตระเวนถามหายามาให้ลูกกิน เพื่อจะฟื้น ประชาชนต่างก็หาว่าผู้หญิงคนนี้บ้าแล้ว ลูกตายแล้วยังจะหายามาให้กิน ไม่มีคนตายที่ไหนมันฟื้นได้ดอก

นางเถียงว่า ลูกนางยังไม่ตาย เพียงแต่สลบไปเท่านั้น “จะรู้ว่าตายหรือไม่ ลองเอาสำลีแตะจมูกดูซิ มีลมหายใจออกมาไหม” ชาวบ้านคนหนึ่งแนะวิธี นางก็ไม่ยอมทำ กลัวว่าจะพบความจริง ปากก็เถียงว่า “ลูกข้ายังไม่ตาย ทำไมมาแช่งลูกข้า” ในที่สุดก็ไม่มีใครสนใจไยดีนาง เพราะเข้าใจว่านางบ้าแล้ว

วันหนึ่งบัณฑิตท่านหนึ่งบอกนางด้วยความสงสารว่า “เธอไปหาพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันวิหารสิ พระพุทธเจ้าท่านอาจบอกยาให้ลูกเธอฟื้นได้”

ได้ยินดังนั้น นางจึงรีบอุ้มศพลูกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามว่า “พระองค์มียาทำให้ลูกชายหม่อมฉันฟื้นไหม”

พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ถ้าจะสอนให้นางคิด ให้รู้เท่าทันธรรมดา ว่าทุกอย่างเมื่อถึงเวลามันก็ดับสลาย นางก็คงคิดไม่ได้ หรือไม่ได้คิด เพราะไม่เคยฝึกฝนมาก่อน จึงทรงหาอุบายให้นางคิดได้ด้วยประสบการณ์ตรงของตน จึงตรัสว่า

“ตถาคตรู้วิธีปรุงยาให้ลูกเธอ ขอให้เธอไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาสักกำมือหนึ่ง แล้วตถาคตจะปรุงยาให้”

นางแสดงสีหน้าดีใจเห็นได้ชัด กราบแทบพระบาทพระพุทธองค์ จะรีบไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาให้พระองค์ปรุงยา

พระองค์ตรัส “ต้องไปเอามาจากเรือนที่ไม่มีคนตายเลยนะ เรือนไหนมีคนตายอย่าเอามา ใช้ทำยาไม่ได้”

นางอุ้มศพลูกน้อยเข้าไปในหมู่บ้าน ขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนแรก พอเขาเอามาให้นางก็ถามว่า ในเรือนนี้เคยมีคนตายบ้างไหม เจ้าของบ้านตอบว่า ปู่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อสามเดือนที่ผ่านมานี้เอง เมื่อรู้ว่ามีคนตาย นางก็ไม่รับเมล็ดพันธุ์ผักกาด

จากหลังคาเรือนที่สอง ที่สาม ที่สี่… จนกระทั่งหมดหมู่บ้าน นางไม่ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะถามบ้านไหนเขาก็ว่ามีคนตายมาแล้วทั้งนั้น ในที่สุดนางก็ “สว่างวาบ” ขึ้นในใจ เป็นการ “ได้คิด” หรือ “ปลงตก” หรือ “ญาณหยั่งรู้” อะไรก็แล้วแต่จะเรียกเถอะครับ

เหมือนคนที่ตามืดบอดมาแต่กำเนิด มีหมอดีมารักษาหาย ลืมตาขึ้นมองเห็นแสงสีรอบตัว หรือเหมือนคนที่อยู่ในความมืด พอเปิดไฟสว่างจ้า ความมืดก็หายไปฉะนั้น

บัดนี้นางได้รู้ถึงธรรมดาของสังขารทั้งปวงแล้ว ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาแล้วก็แตกดับสลายไปตามกาล คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่ใช่ว่าตายเฉพาะบุตรชายของนาง ตัวนางก็จะตายด้วย

คิดได้ดังนี้ นางก็ตรงไปยังพระเชตวันวิหาร พระพุทธองค์ประทับรออยู่แล้ว นางเข้าไปก้มกราบแทบพระยุคลบาท ด้วยใบหน้าที่มีประกายสดใส

“ได้หรือเปล่า เมล็ดพันธุ์ผักกาด” พระสุรเสียงตรัสถามเยือกเย็น

“ไม่ได้ พระเจ้าค่ะ”

“ทำไมไม่มีใครมีหรือ” ตรัสถามอีก

“มิได้ พระเจ้าค่ะ ทุกครัวเรือนมีเมล็ดพันธุ์ผักกาดทั้งนั้น แต่ทุกครัวเรือนเคยมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น” นางตอบแล้วกราบทูลต่อไปว่า

“หม่อมฉันเข้าใจแล้วว่า ทุกคนต้องตาย ไม่เฉพาะบุตรชายของหม่อมฉัน รวมถึงหม่อมฉันและคนอื่นๆ ด้วย”

ตอนแรกนางไม่เข้าใจธรรมดาของชีวิต จึงเศร้าโศกเสียใจกับการตายของบุตรชาย จนสติสตังค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ต่อมาเมื่อได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง คือ เห็นว่าคนอื่นก็ตายเหมือนกัน ทั่วทั้งหมู่บ้าน ไม่มีครอบครัวไหนที่มิมีคนตายเลย เห็นดังนี้แล้ว ก็สามารถระงับความโศกได้ ปลงได้แล้ว ก็โล่งสบาย เป็นสุข

ร้องไห้จนน้ำตาจะเป็นสายเลือดอยู่หยกๆ พลันน้ำตาแห้งหาย ยิ้มได้อย่างมีความสุขเพียงชั่วไม่กี่อึดใจ ทุกข์โศกก็คลาย กลายเป็นความสุขโสมนัส

รวดเร็วอะไรปานนั้น

วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา ท่านแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นแรก ที่สำคัญที่สุด ยอมรับความจริง คือ ให้ยอมรับว่า ความจริงมันเป็นเช่นนี้ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เกิดขึ้นจริงๆ และทุกคนก็จะพบพานอย่างนี้เหมือนๆ กันไม่มียกเว้น แม้ว่าขณะนี้ดูเหมือนว่า เราคนเดียวที่ได้รับอย่างนี้ คนอื่นก็เห็นเขาดีสบายอยู่ก็ให้เข้าใจว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาก็จะตกอยู่ในสภาพเหมือนกับเราเหมือนกัน

บางคนไม่ยอมรับความจริง หลอกตัวเองตลอดเวลาว่า เราไม่แก่ เรายังสาวยังสวย ด้วยความกลัวแก่ก็ไปดึงหน้าดึงหลังให้วุ่นวายไปหมด ก็อย่างว่าแหละครับ “ธรรมดา” ของสังขารมันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดึงยังไงๆ มันก็ยังหย่อนยานเหี่ยวย่นจนได้ กลุ้มอกกลุ้มใจที่ตัวเองแก่ลงทุกวัน เหี่ยวย่นมากขึ้นทุกวัน ไม่เหมือนสาวๆ วัยรุ่น ยิ่งดูก็ยิ่งสวย ก็เลยทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แทนที่มันจะดีขึ้น กลับแก่เร็วเข้าอีก

ถ้าเขายอมรับความจริงเสียว่า เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ไม่แก่เฉพาะเรา สาวๆ หน้าใสๆ ที่เราอิจฉานักหนานั้น ก็จะแก่ด้วยเมื่อถึงเวลา อย่างนี้ก็จะสบายใจ ไม่เป็นทุกข์

2. ขั้นที่สอง แก้ไขไปตามเหตุปัจจัย คือ รู้ว่าเป็นจริงอย่างนั้นก็ปฏิบัติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้วยใจที่เป็นอิสระ เช่น เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามกาล ก็แต่งเนื้อแต่งตัวให้เหมาะสมกับวัย จะเสริมเติมแต่งบ้างก็พองามๆ ไม่ขัดกับวัยอย่างนี้ก็จะไม่เป็นทุกข์

ไม่ใช่ประเภทเบบี้เฟซ แต่มือเท้าแม่มด ใครเห็นใครก็ทุเรศครับ