กายวิภาคของความเงียบ ความรุนแรงทางการเมือง ที่ฝังตัวอยู่ในภูมิทัศน์อันเงียบงัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราขอพูดถึงนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจใกล้ๆ กันอีกแห่ง ที่เราได้ไปดูมาต่อจากตอนที่แล้วเลยก็แล้วกัน

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

กายวิภาคของความเงียบ (Anatomy of Silence)

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของศิลปินชาวกรุงเทพฯ พชร ปิยะทรงสุทธิ์

ตัวนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็นสองภาคคือ ภาคแรก นาบัว (Na Bua) และภาคที่สอง ผลสืบเนื่อง (Sequence)

นิทรรศการภาคแรก “นาบัว” ประกอบด้วยผลงานภาพเหมือนจริงฝีมือจัดจ้าน ที่ดูเผินๆ ก็เหมือนภาพทิวทัศน์ชนบทธรรมดาๆ

แต่ความจริงกลับฝังแน่นด้วยประวัติศาสตร์และความทรงจำทางการเมืองที่แม้จะเงียบสงัด ไร้เสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งความหมาย

ภาพวาดทุ่งนาป่าเขาที่เราเห็นในนิทรรศการนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงภาพทิวทัศน์ชนบทสงบงามที่พบได้ดาษดื่น

หากแต่เป็นการผสมผสานระหว่างความทรงจำของหมู่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม พื้นที่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ที่ถูกปักหมุดหมายให้เป็นที่มั่นของขบวนการคอมมิวนิสต์ จากเหตุการณ์ “วันเสียงปืนแตก” ในปี พ.ศ.2508

ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่รัฐ

จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และนำไปสู่การประกาศสงครามในเขตชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับฝ่ายรัฐอย่างเป็นทางการ

โดยฝ่ายรัฐส่งกองกำลังผสม ทหาร ตำรวจ และพลเรือนอาสา เข้าไปตั้งค่ายที่นาบัวและหมู่บ้านใกล้เคียง

โดยใช้วัดบัวขาว วัดเก่าแก่ในหมู่บ้าน เป็นจุดคุมขังและสอบสวนชาวบ้านในพื้นที่ด้วยความแข็งกร้าวรุนแรง

ในอีก 53 ปีต่อมา พชรเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลที่หมู่บ้านนาบัว และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้

“ก่อนหน้านี้ผมทำงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม แล้วก็ค่อยๆ ไล่ไปถึงการที่นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ไล่มาถึงหมู่บ้านนาบัว ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประกาศตัวตน และประกาศสงครามครั้งแรกกับรัฐบาล ซึ่งเป็นที่มาของวันเสียงปืนแตก พอไปลงพื้นที่จริง ในหมู่บ้านก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปมาก ยังมีร่องรอยที่เรายังสามารถสืบค้นได้อยู่” พชรกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ของเขา

ร่องรอยที่ว่านี้ปรากฏในผลงานอันเรียบง่ายแต่ก็แปลกประหลาด

อย่าง “สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี” ภาพวาดประตูวัดที่ตั้งอยู่กลางท้องทะเลที่มีคลื่นซัดสาด ท่ามกลางท้องฟ้าเมฆครึ้มทะมึน บนประตูวัดมีถ้อยคำจารึก “สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี” ปรากฏอย่างรางเลือน

สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี

ซึ่งในความเป็นจริง หมู่บ้านนาบัวไม่มีทะเล และซุ้มประตูที่เห็นก็เป็นซุ้มประตูวัดบัวขาว สิ่งก่อสร้างในปี พ.ศ.2520 โดยฝีมือทหารที่ดูแลความมั่นคงในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนมในยุคนั้น

จุดประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่

“การที่ทหารเข้าไปสร้างซุ้มประตูวัด ก็เหมือนเป็นการเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลงความทรงจำและความเชื่อที่นั่น เพราะประตูของวัดซึ่งเป็นเหมือนจุดศูนย์รวมและที่พึ่งทางใจแห่งเดียวของคนในหมู่บ้าน รวมถึงมีการสร้าง “สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม” ในบริเวณวัด ในปี พ.ศ.2522 ซึ่งในยุคนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก จนในปี พ.ศ.2523 พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี และออกนโยบาย 66/23 ที่ลดความแข็งกร้าวและอภัยโทษผู้ร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ที่ออกจากป่ามามอบตัว สำหรับผม สิ่งเหล่านี้มันเหมือนเป็นการชำระล้างประวัติศาสตร์ ไม่ต่างอะไรกับการตบหัวแล้วลูบหลังประชาชน ด้วยการสร้างอะไรสักอย่างให้ แล้วบอกว่า เรามาสงบสุขกันเถอะ”

(พูดแบบนี้แล้วก็ทำให้เราอดนึกไปถึงกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ที่จัดให้คนออกมาทำความสะอาดกรุงเทพฯ หลังการนองเลือดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี พ.ศ.2553 ไม่ได้…)

หรือในผลงาน “The Sound of Silence” และ “Tale from Communism” ภาพวาดวัตถุโครงสร้างคล้ายบ้านโปร่งแสงอันแปลกประหลาด ที่ตั้งอยู่กลางท้องทุ่งและราวป่าอย่างไร้ที่มาที่ไป ซึ่งอันที่จริงพื้นที่ในภาพ เป็นจุดเกิดเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก

Tale from Communism

โดยศิลปินเข้าไปสร้างบ้านโปร่งแสงที่ว่านี้บนพื้นที่จริง แล้วเก็บความทรงจำของการติดตั้งวัตถุอันเฉพาะเจาะจงนี้ลงในภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ ด้วยการวาดมันออกมาเป็นภาพวาดบนผืนผ้าใบกลับมาให้เราได้ชม

The Sound of Silence

“พื้นที่ในภาพคือพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดในหมู่บ้านนาบัว บ้านโปร่งแสงที่เห็นเป็นเหมือนบ้านที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ที่มีคนตาย ในความหมายหนึ่งก็เหมือนเป็นการแสดงการบูชาให้กับคนเหล่านั้น แบบเดียวกับความเชื่อของคนจีนที่เผาบ้านกงเต็กไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว”

หรือในผลงาน “Host” ภาพวาดจีวรที่ปลิวสะบัดอยู่ในแนวป่าอย่างน่าพิศวง นั้นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ศิลปินแสดงออกถึงความสัมพันธ์อันแปลกปร่าระหว่างพุทธศาสนาและพรรคคอมมิวนิสต์แบบไทยๆ ในหมู่บ้านนาบัว ที่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ ซึ่งโดยปกติยึดถือหลักการของลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) ที่มองว่าศาสนาเป็นยาเสพติดมอมเมา หรือปรสิตเกาะกิน ขูดรีดสังคม

Host

“ผมมองว่าจีวรก็เหมือน Host หรือที่พักอาศัย ที่พึ่งพิงเหมือนบ้าน แต่ในอีกความหมายหนึ่งมันก็เหมือนที่เกาะเกี่ยวของปรสิต ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้ผมพบว่าคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านนาบัวนับถือศาสนาพุทธกันอยู่ เพราะพรรคอยากเข้าถึงคนทั่วไป กลมกลืนไปกับชาวบ้านได้ โดยไม่น่ากลัว”

“เพราะในสมัยนั้นรัฐก็สร้างภาพคอมมิวนิสต์ให้เป็นผี เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอยู่แล้ว”

ในส่วนของนิทรรศการภาคสอง “ผลสืบเนื่อง” พชรขยับเรื่องราวในภาพวาดของเขามาสู่ประเด็นของความตายอันเกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองที่เกี่ยวพันและเกี่ยวเนื่องกับบทโหมโรงที่หมู่บ้านนาบัว

ถึงแม้สงครามเย็นจะจบไปสามสิบกว่าปี แต่ความขัดแย้งในการเมืองไทยอันเป็นปัญหาที่หยั่งรากอยู่ในโครงสร้างชนชั้นทางสังคม และวาทกรรมเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติก็ยังดำรงอยู่ ผลงานในภาคนี้กล่าวถึงบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2519, 2549 และ 2553

What a Wonderful World: Parallel Side of the Red Gate

ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด “What a Wonderful World : Parallel Side of the Red Gate” ที่พาดพิงถึงการพบศพของชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกศศรีพงษ์ศา พนักงานการไฟฟ้าและสมาชิกแนวร่วมประชาชน ที่ถูกแขวนคอที่ “ประตูแดง” จังหวัดนครปฐม หลังจากออกไปติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับเข้าเมืองไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ในคราบสามเณร ในปี พ.ศ.2519 อันเป็นชนวนหนึ่งที่นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดเหี้ยมในวันที่ 6 ตุลาคม

พชรนำเสนอภาพที่ดูเหมือนให้ผู้ชมมองจากสายตาของศพไปยังทิวทัศน์ฝั่งตรงข้ามของประตู ที่อาจดูสวยงาม แต่เบื้องหลังคือความสยดสยองน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต

หรือภาพวาด “The Sun is Gone but I Have a Light” ซึ่งเป็นภาพสะพานลอยบนถนนวิภาวดีรังสิต ที่นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่แขวนคอฆ่าตัวตายในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2549 เพื่อประท้วงรัฐประหาร

The Sun is Gone but I Have a Light

พชรวาดภาพสะพานลอยยามกลางคืนจากสี่มุมผสานเข้าด้วยกัน และวาดทับทั้งหมดด้วยคราบสีขาวจนเราแทบมองภาพดั้งเดิมไม่ออก

หรือภาพวาด “Undergrowth with the Lovers” ถ้าใครยังพอจำกันได้ ก็อาจจะทราบว่าเป็นภาพของอำพล ตั้งนพกุล และรสมาลิน ตั้งนพกุล หรืออากงกับป้าอุ๊ อากงเป็นชายวัย 61 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในคดีอาญา มาตรา 112 จนต้องจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตในเรือนจำในปี พ.ศ.2555

Undergrowth with the Lovers

พชรเลือกภาพถ่ายเก่าของทั้งคู่ในวันแต่งงานมาวาดเป็นจุดเด่นท่ามกลางทิวทัศน์ในป่า ที่ดูสวยงามเหมือนความฝันอันผ่านเลยไปแล้วไม่หวนกลับ ให้เราได้เป็นประจักษ์พยานของอดีตที่ไม่มีวันคืนมาของคู่รักที่ต้องพลัดพรากเพราะความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมในสังคม

“ที่ผมตั้งชื่อว่า กายวิภาคของความเงียบ ก็เพราะผมคิดว่า กว่าที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความสงบเงียบและเปี่ยมสุขอย่างที่เห็นนี้ เราต้องจ่ายไปด้วยราคาที่แพงแค่ไหน”

กายวิภาคของความเงียบ ภาคนาบัว จัดแสดงระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2561 และภาคผลสืบเนื่อง จัดแสดงและเปิดตัวหนังสือรวมผลงานและแนวคิดของนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม – 20 ธันวาคม 2561 ที่หอศิลป์ ARTIST+RUN ซอยนราธิวาส 22 สอบถามข้อมูลได้ที่ @artistrungallery2016

ขอบคุณภาพจาก พชร ปิยะทรงสุทธิ์, ARTIST+RUN GALLERY