วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เซียนเปยและเป่ยเว่ย

เหตุจากราชวงศ์เหนือ (ต่อ)
ราชวงศ์เป่ยเว่ย

ทว่อป๋ากุย (ค.ศ.371-409) ผู้สถาปนาราชวงศ์เป่ยเว่ย (เว่ยเหนือ, Northern Wei, ค.ศ.386-535) เป็นชนชาติเซียนเปย สกุลทว่อป๋าของเขาถือเป็นตระกูลที่มีประวัติที่น่าสนใจ

เริ่มจากความเป็นชนชาติเซียนเปยของตระกูลนี้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติมองโกล แต่ภาษาที่พูดยังมีข้อถกเถียงกันระหว่างภาษามองโกลกับภาษาเตอร์กิก (Turkic language) อันเป็นภาษาที่ใช้กันในแถบยูเรเชียจากยุโรปตะวันออกแล้วผ่านไซบีเรียมาถึงตะวันตกของจีน ถึงแม้สองภาษานี้จะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันก็ตาม

ดังนั้น ภาษาพูดของตระกูลทว่อป๋าจึงยังไม่มีมติที่แน่ชัด แต่ไม่ว่าจะเป็นภาษาใด ชาวเซียนเปยตระกูลทว่อป๋าก็นับเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรม ถึงแม้วัฒนธรรมนั้นจะต่างจากวัฒนธรรมจีนก็ตาม

ในประการต่อมา เป็นภูมิหลังทางตระกูลของสกุลทว่อป๋า สกุลนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลซันซีในปัจจุบันมาช้านาน ครั้นถึงยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐก็ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นในนามรัฐไต้

รัฐนี้ตั้งอยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ.310-376 โดยถูกรัฐเฉียนฉินที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้นโค่นล้ม และสาเหตุที่ถูกโค่นล้มก็เพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจภายในกันเอง โดยในช่วงที่ทำศึกกับเฉียนฉินนั้น บิดาของทว่อป๋ากุยเสียชีวิตในการศึกในขณะที่ตัวเขามีอายุหกขวบ

จากเหตุนี้ ผู้เป็นมารดาจึงพาทว่อป๋ากุยหลบหนีไปอยู่นอกด่านกับเครือญาติฝ่ายมารดา

 

ส่วนที่มาของราชวงศ์เป่ยเว่ยนั้นเริ่มเมื่อทว่อป๋ากุยอยู่ในช่วงวัยรุ่น ในช่วงนี้เขาได้แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำจนเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชาวเซียนเปย และเพื่อรักษาสมาชิกของตนให้รอดจากภัยภายนอก ในด้านหนึ่งเขาแสร้งสวามิภักดิ์ต่อรัฐโฮ่วเอียนด้วยการส่งม้าไปให้เป็นเครื่องบรรณาการ แต่อีกด้านหนึ่งก็แอบซ่องสุมกำลัง

จนเมื่ออำนาจของทว่อป๋ากุยเข้มแข็งขึ้นแล้วเขาจึงประกาศตนเป็นอิสระจากโฮ่วเอียน และตั้งราชวงศ์เว่ยขึ้นมา เพื่อให้แตกต่างกับราชวงศ์เว่ยที่มีมาก่อนหน้านี้และที่จะเกิดตามมาภายหลัง ประวัติศาสตร์จึงเรียกเว่ยของทว่อป๋ากุยว่าราชวงศ์เป่ยเว่ยหรือเว่ยเหนือ

หากดูจากปีที่ตั้งราชวงศ์ใน ค.ศ.386 แล้วจะเห็นได้ว่า ห้วงนั้นยังอยู่ในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ โดยหลังจากตั้งตนเป็นอิสระแล้ว เป่ยเว่ยก็หยุดส่งม้าให้กับรัฐโฮ่วเอียนและทำให้โฮ่วเอียนไม่พอใจจนต้องยกกำลังไปปราบ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงรัฐโฮ่วเอียนเอาไว้ว่า นอกจากจะเป็นหนึ่งในรัฐที่ทรงอิทธิพลในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐแล้ว โฮ่วเอียนนี้ยังมีผู้นำในสกุลมู่หญงคือ มู่หญงฉุย และมีเมืองจงซันเป็นเมืองหลวง (ปัจจุบันคือเมืองเป่าติ้งในมณฑลเหอเป่ย) อีกด้วย

 

แต่ในช่วงที่เกิดปัญหากับเป่ยเว่ยนี้ ผู้ที่จะยกทัพไปปราบเป่ยเว่ยคือมู่หญงเป่า (ค.ศ.355-398) บุตรชายของมู่หญงฉุย

ทัพโฮ่วเอียนที่นำโดยมูหญงเป่ายกกำลังพลประมาณ 90,000 นายไปตีเป่ยเว่ยใน ค.ศ.395 ขนาดของทัพโฮ่วเอียนดังกล่าวยากที่เป่ยเว่ยที่เพิ่งตั้งราชวงศ์ได้ไม่กี่ปีจะเอาชนะได้

จากเหตุนี้ เป่ยเว่ยจึงวางแผนศึกด้วยการเคลื่อนพลและอพยพราษฎรออกจากเมืองหลวงเซิ่งเล่อ ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดเหอหลินเก๋อเอ่อ นครโฮฮอท (จีนกลางอ่านว่า ฮูเหอเฮ่าเท่อ) เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน

จากนั้นเป่ยเว่ยก็ใช้ยุทธวิธีหลอกล่อให้ทัพโฮ่วเอียนถลำเข้าไปในชัยภูมิของตน แล้วตัดขาดการสื่อสารระหว่างทัพโฮ่วเอียนกับเมืองหลวงจงซัน ครั้นเมื่อทัพทั้งสองยกมาตั้งคุมเชิงกันคนละฝั่งของแม่น้ำเหลืองแล้ว ทัพเป่ยเว่ยก็ปล่อยข่าวว่ามู่หญงฉุยได้เสียชีวิตแล้ว ข่าวลือนี้ทำให้ทัพโฮ่วเอียนเกิดความปั่นป่วนทั้งขุนศึกและพลทหารอยู่ไม่น้อย

ตราบจนเข้าสู่ฤดูหนาว มู่หญงเป่าก็คิดที่จะถอยทัพกลับไป แต่ตอนนั้นแม่น้ำเริ่มแข็งเป็นน้ำแข็งไปบางส่วนแล้ว มู่หญงเป่าเชื่อว่าทัพเป่ยเว่ยคงไม่กล้าย่ำแม่น้ำที่เป็นน้ำแข็งไปบางส่วนนี้มาไล่ตีทัพตนเป็นแน่

แต่เขาคิดผิด เพราะตอนที่เขาถอยทัพนั้นเอง ทว่อป๋ากุยได้สั่งให้ทัพของตนบุกข้ามแม่น้ำน้ำแข็งเข้าโจมตีทัพโฮ่วเอียนทันที ส่วนทัพโฮ่วเอียนมิคาดคิดว่าจะพบกับการบุกเช่นนี้จึงมิทันได้ตั้งตัวและได้พ่ายแพ้ไปในที่สุด ทหารที่ถูกจับเป็นเชลยราวสี่หมื่นนายถูกฝังทั้งเป็น ตอนที่ถอยทัพกลับไปยังจงซันนั้นโฮ่วเอียนเหลือกำลังพลเพียงไม่กี่พันนายเท่านั้น

ศึกนี้ต่อมาถูกเรียกว่าศึกตลิ่งชันเหอ (ชันเหอเปยจือจั้น, Battle of Canhe Slope) ตามชื่อบริเวณที่ทำศึกนี้ในเวลานั้น ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเหลียงเฉิงในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน

 

ครั้นในปีถัดมา ค.ศ.396 มู่หญงฉุยซึ่งมิได้เสียชีวิตจริงตามข่าวลือกับมูหญงเป่าได้ยกทัพมาตีเป่ยเวยอีกครั้ง แต่มู่หญงฉุยในวัยชรากลับป่วยลงจนเสียชีวิต มู่หญงเป่าจึงถอยทัพกลับ จน ค.ศ.397 เป่ยเว่ยซึ่งแข็งแกร่งมากกว่าเดิมก็เป็นฝ่ายยกทัพเข้าตีและยึดโฮ่วเอียนมาได้ในที่สุด

นับแต่นั้นโฮ่วเอียนก็มิอาจฟื้นได้ดังเดิม ในขณะที่เป่ยเว่ยก็ยึดครองภาคเหนือของจีนตลอดแนวแม่น้ำเหลืองด้านตะวันออกเอาไว้ได้ และกลายเป็นราชวงศ์แรกที่ทรงอิทธิพลขึ้นมาในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ

การที่ทว่อป๋ากุยมีภูมิหลังเป็นชนชาติเซียนเปย แต่เติบโตขึ้นมาโดยได้เห็นความเจริญของชนชาติฮั่นนั้น นับว่ามีผลอย่างมากที่ทำให้เขาแสดงภาวะผู้นำในสองด้าน ด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเหี้ยมโหดดังจะเห็นได้จากการฝังเชลยทั้งเป็น ซึ่งเป็นวิธีการโดยทั่วไปของชนชาติที่มิใช่ฮั่น แต่อีกด้านหนึ่ง แสดงการยอมรับวัฒนธรรมของชนชาติฮั่น

เมื่อเขาก้าวขึ้นมาและตั้งตนเป็นจักรพรรดิแล้ว ภาวะผู้นำทั้งสองด้านนี้จะติดเป็นบุคลิกภาพของเขาต่อไป

ซึ่งสามารถดูได้จากการปกครองของเขาเองในกาลข้างหน้า

 

หลังจากที่ราชวงศ์เป่ยเว่ยมีความมั่นคงแล้ว ทว่อป๋ากุยได้หันมาจัดระบบการปกครองขึ้นมาใหม่ เริ่มจากการย้ายและสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่เมืองผิงเฉิง (ซึ่งปัจจุบันคือเมืองต้าถงในมณฑลซันซี) ให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน

จากนั้นก็จัดตั้ง “ชนชาติแปดกลุ่มงาน” (eight artificial tribes) ขึ้นมา อันเป็นชนชาติที่ได้มาตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่รอบนอกเมืองหลวง ชนชาติแปดกลุ่มงานนี้มีการจัดตั้งเหมือนหน่วยทหาร มีหน้าที่ในการจัดหาเสบียงจากสัตวบาลและเกษตรกรเป็นหลัก

ส่วนในด้านการทหารก็ได้นำเอาระบบสืบสายเลือดมาใช้ นั่นคือ บรรดาขุนศึกที่ล้วนเป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นสามารถให้บุตร-หลานสืบทอดตำแหน่งของตนได้ ทั้งให้ขุนศึกที่จงรักภักดีย้ายเข้ามาในเมืองหลวงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับราชวงศ์

นอกจากนี้ ทว่อป๋ากุยยังไม่ปฏิเสธที่จะรับเสนามาตย์ที่เป็นชนชาติฮั่นอีกด้วย

แต่การปกครองที่ยอมรับเอาวัฒนธรรมจีนมาใช้นี้ถือเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในบั้นปลายชีวิตของทว่อป๋ากุยนั้น เขามีอาการทางจิตประสาทจนหวาดระแวงคนแวดล้อมไปทั่ว แม้แต่บุตรของตน เขาได้ประหารเสนามาตย์และวงศานุวงศ์ไปไม่น้อยโดยไร้เหตุผล

จน ค.ศ.409 อาการดังกล่าวทำให้ทว่อป๋ากุยคิดประหารภรรยา (มเหสี) ของตนในวังหลวง แต่บุตรของเขาได้ชิงลงมือสังหารตัวเขาเสียก่อน

ยุคของทว่อป๋ากุยจึงจบลงเพื่อนำเป่ยเว่ยไปสู่อีกยุคหนึ่ง

 

หลังทว่อป๋ากุยไปจนถึงผู้นำคนที่เจ็ดของเป่ยเว่ยคือทว่อป๋าหง (ค.ศ.467-499) จีนาภิวัตน์ (sinicization) ของเป่ยเว่ยจึงเป็นรูปธรรมขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยก่อนและหลังทว่อป๋ากุยเสียชีวิตจนถึง ค.ศ.450 นั้น เป่ยเว่ยสามารถขยายเขตแดนของตนได้กว้างไกลออกไปตลอดแนวแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำหยังจื่อ

ดังนั้น พอถึงสมัยของทว่อป๋าหงที่เป่ยเว่ยมีความมั่นคงแล้วนั้น เขาได้ใช้นโยบายจ่ายเงินเดือนให้แก่เสนามาตย์ แทนการให้เสนามาตย์กำหนดรายได้ด้วยตนเองจากการเรียกเก็บเงินจากราษฎร ซึ่งในสมัยของเขาถือเป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาด

ส่วนในด้านการเกษตร เขากำหนดให้ชาย-หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปมีสิทธิขอที่ดินทำกินจากรัฐ โดยชายหนึ่งคนขอที่ดินร้างได้ 40 หมู่ ถ้าเป็นที่ดินจัดสรรจะได้ 20 หมู่ ส่วนหญิงหนึ่งคนขอได้ 20 หมู่ กรณีที่เป็นที่ดินร้างสามารถให้บุตร-หลานสืบต่อได้

แต่ที่ดินจัดสรรจะต้องคืนให้หลวงหลังผู้ถือสิทธิเสียชีวิต