สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปฏิรูปการศึกษาภายใต้คำสั่ง คสช.

สมหมาย ปาริจฉัตต์

สมัชชาการศึกษาจังหวัด ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ฯ

เรื่องราวความเป็นมาของสมัชชาการศึกษาจังหวัด สิ่งใหม่ตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งพูดกันมานานยังไม่จบครับ น่าจะคุยกันต่อเพื่อเป็นข้อมูล ความรู้ ประกอบการติดตามต่อไป

ว่าไปแล้วรากความคิดและการก่อตัวของสมัชชาการศึกษาจังหวัดที่เพิ่งเอามาเขียนไว้ในกฎหมายครั้งนี้เป็นครั้งแรก ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ประชาสังคมทางการศึกษาเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ย้อนหลังกลับไปปี 2553-2554 ยุคที่มีคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) 2552-2561 มีคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งคือ คณะอนุกรรมการด้านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน ได้นำร่องโครงการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (area-based) ใน 4 ภูมิภาค เดินทางไปดูของจริง 4 จังหวัด อุดรธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และนครสวรรค์

ทุกที่พบภาคประชาสังคมประกอบด้วยเครือข่ายอาสาสมัครการศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำองค์กรชุมชน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง พ่อค้า นักธุรกิจ ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บังคับการตำรวจ ผู้อำนวยการสถานพินิจ พระภิกษุสงฆ์ รวมตัวพากันมาร่วมเปิดเวทีเรียกตัวเองว่าสมัชชาการศึกษาจังหวัด

หยิบยกปัญหาการศึกษา ปัญหาสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาเด็กและเยาวชนขึ้นมาพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

จากนั้นมาแต่ละแห่งก็พัฒนากลไก กระบวนการร่วมกันแก้ปัญหาเชิงพื้นที่แบบลุ่มๆ ดอนๆ ติดต่อกันเรื่อยมาตามสภาพเงื่อนไขของสังคมและการเมืองในพื้นที่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ

จนเมื่อเกิดสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มีการรวมตัวของนักการศึกษาในนามกลุ่มเพื่อนปฏิรูป เกิดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ตลอดปี 2556-2557

ผลงานการรวมตัวของภาคประชาสังคมในหลายจังหวัด เช่น กระบี่ เชียงใหม่ ชัยภูมิ น่าน ลำพูน กาญจนบุรี ภูเก็ต พังงา น่าน สุรินทร์ จันทบุรี อำนาจเจริญ ต่างมุ่งมั่นที่จะจัดการตนเองด้านการศึกษา มีโอกาสนำสิ่งดีๆ ที่ทำมาเล่าสู่กันฟัง ถ่ายทอดออกอากาศไปทั่วประเทศ รวมตัวภายใต้ชื่อแตกต่างกันไป

มีทั้งสภาการศึกษาจังหวัด สภาการศึกษาภาคประชาชน สมัชชาการศึกษาจังหวัด สภาส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาชีวิตเด็ก ภาคีเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

 

ความเคลื่อนไหวที่ผมลำดับมา เป็นสิ่งยืนยันว่าแนวคิดการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มีมานานแล้ว สะท้อนเจตนารมณ์ของสังคมว่า การศึกษาไม่ใช่ของภาครัฐ ของกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียว แต่ภาคส่วนต่างๆ ครอบครัว ชุมชน ควรเป็นเจ้าของการศึกษา การร่วมกันสุมหัวแก้ปัญหาสามารถทำได้ตรงจุดประเด็นปัญหายิ่งกว่า

ต่อมาเกิดเป็นโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ 14 จังหวัด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ทุกจังหวัดยังคงเรียกร้องให้รัฐบาล ราชการส่วนกลางสนับสนุนให้เกิดสภาการศึกษาจังหวัดหรือสมัชชาการศึกษาจังหวัดอย่างจริงจังเรื่อยมา

ตัวอย่างจากข้อเสนอภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาในปี 2558 ให้จัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดหรือสภาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ มีกฎหมายรองรับเพื่อเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทั้งจังหวัด

ท่าทีของรัฐบาลกลาง กระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างไร

 

คําตอบปรากฏออกมาเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10 และ 11/2559 การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 ปรับโครงสร้างบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาค ยุบคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา ส่วนกลางยังไม่รับซื้อแนวคิด สภาการศึกษาจังหวัด สมัชชาการศึกษาจังหวัด ว่างั้นเถอะ

ปีต่อมา 2560 จึงมีข้อเสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ที่เป็นกลไกปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ที่รัฐบาลตั้งโดย ม.44 ทำงานเชื่อมโยงกับภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา 99 องค์กร ผ่านแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการต่อยอดและทำให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่

การประสานงานระหว่างกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มัธยมศึกษา ดำเนินต่อมา ภายใต้ช่องว่างระหว่างกันที่ยังดำรงอยู่ บทบาทของสภาการศึกษาจังหวัดและหรือสมัชชาการศึกษาจังหวัดของภาคประชาสังคมที่ยังรวมตัวกันอยู่ จึงรอติดตามความเป็นไป หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่มีผลใช้บังคับจริงภายในปี 2562 จะส่งผลให้สมัชชาการศึกษาจังหวัดมีบทบาทที่เป็นจริงในการร่วมจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายเพียงไร

ทั้งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พัฒนาโอกาสและคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้แค่ไหน อย่างไร นักการศึกษาและผู้สนใจต้องช่วยกันติดตามและมีส่วนร่วมผลักดัน เพราะการศึกษาไม่ใช่ของรัฐฝ่ายเดียวอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

ครับ ตอนหน้าจะคุยกันต่อถึงรากที่มาของคำสั่งปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค และสิ่งใหม่ๆ ที่พบในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งน่าสนใจทีเดียว